ทางการศรีลังกาออกคำสั่งเปิดทางให้ทหารสามารถยิงกลุ่มผู้ประท้วงที่ใช้ความรุนแรงได้ พร้อมเดินหน้าปราบปรามประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้ โกตาบายา ราชปักษา ประธานาธิบดีของศรีลังกาลาออกจากตำแหน่ง ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายมากที่สุดในประวัติศาสตร์
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มหินทา ราชปักษา พี่ชายของเขาได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยหวังที่จะลดกระแสความโกรธแค้นของประชาชน แต่ถึงเช่นนั้น การประท้วงก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างดุเดือด โดยเมื่อวานนี้รัฐบาลศรีลังกาได้สั่งการให้กองกำลังทหารสามารถยิงผู้ประท้วงที่ฉวยโอกาสปล้นหรือทำลายสาธารณสมบัติได้ รวมถึงผู้ที่ก่อเหตุรุนแรงจนอาจเป็นภัยต่อชีวิตผู้อื่น
ทั้งนี้ รัฐบาลได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารหลายหมื่นนายจากทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ออกเดินลาดตระเวนตามท้องถนนในกรุงโคลัมโบ แต่ไม่สามารถยับยั้งเหตุการณ์รุนแรงได้ โดยเมื่อวานนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงรายหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีของผู้ประท้วง ซึ่งผู้ก่อเหตุระบุว่า พวกเขาโกรธแค้นที่เจ้าหน้าที่ไม่ทำหน้าที่ปกป้องผู้ที่มาชุมนุมอย่างสงบ
สำนักข่าว BBC รายงานว่า ฝูงชนยังคงปักหลักรวมตัวประท้วง ณ สวนสาธารณะ Galle Face Green ซึ่งทอดตัวยาวไปตามแนวชายฝั่งทะเลในเมืองหลวงของศรีลังกา
เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมแล้ว 8 ราย ขณะที่โรงพยาบาลหลักของเมืองเปิดเผยว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 200 รายนับตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา โดยมีบางคนได้รับบาดเจ็บเพราะเข้าปะทะกับม็อบสนับสนุนรัฐบาล ส่วนบางคนบาดเจ็บจากการใช้แก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ โดยกลุ่มทนายความของผู้ชุมนุมเปิดเผยว่า พวกเขาได้ยื่นเรื่องดำเนินคดีกับกลุ่มผู้สนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่ก่อเหตุรุนแรงแล้ว
รัฐบาลขยายระยะเวลาเคอร์ฟิวจนถึงเช้าวันพฤหัสบดี ขณะที่เจ้าหน้าที่ยังคงหาหนทางในการยุติเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยเมื่อคืนที่ผ่านมากลุ่มผู้ชุมนุมได้ก่อจลาจลหลายพื้นที่ทั่วกรุงโคลัมโบ ทั้งเข็นรสบัสให้จมลงในทะเลสาบ ไล่ทุบกระจก และเผายางรถยนต์
ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ประท้วงมารวมตัวกันที่หน้าฐานทัพเรือตรินโคมาลี หลังมีข่าวลือว่ามหินทา ราชปักษาจะเดินทางไปหลบภัยที่นั่นพร้อมกับสมาชิกในครอบครัว ขณะที่บ้านพักของนักการเมืองกว่า 50 หลังคาเรือนถูกลอบวางเพลิงเมื่อคืนที่ผ่าน โดยประชาชนบางส่วนได้เดินทางไปปักหลักอยู่หน้าสำนักประธานาธิบดี เพื่อกดดันโกตาบายาให้วางมือจากตำแหน่ง
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประท้วงทั่วประเทศได้จุดไฟเผาบ้านเรือนที่เป็นของตระกูลราชปักษา รวมถึงบ้านพักของรัฐมนตรีและ ส.ส. อีกหลายคน ขณะเดียวกันพื้นที่ใกล้ทำเนียบประธานาธิบดีก็ถูกเผาราบ และมีรายงานว่านักการเมืองระดับเทศบาลรายหนึ่งเสียชีวิตในโรงพยาบาลหลังจากที่บ้านของเขาถูกโจมตีจากกลุ่มผู้ประท้วง
เหตุดังกล่าวส่งผลให้บรรดานักการเมืองต้องหนีไปซ่อนตัวในเซฟเฮาส์ และหลีกเลี่ยงที่จะปรากฏตัวในที่สาธารณะ โดยเฉพาะนักการเมืองที่อยู่ฝั่งรัฐบาล หนึ่งในนั้นคือ มหินทา ราชปักษา ซึ่งในอดีตเขาเคยเป็นฮีโร่ของชาวศรีลังกาจากการที่สามารถเอาชนะกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมได้ แต่บัดนี้เขากลับกลายมาเป็นวายร้ายแห่งชาติไปเสียแล้วในสายตาของประชาชน
ที่ผ่านมาสองพี่น้องตระกูลราชปักษามักจะอยู่เคียงข้างกันเสมอ แต่มาในครั้งนี้ดูเหมือนว่าพวกเขาทั้งคู่จะมีความขัดแย้งกัน ซึ่งปัญหาเกิดขึ้นหลังจากที่โกตาบายาขอให้มหินทายอมเสียสละลาออกจากตำแหน่ง เพื่อลดกระแสความร้อนแรงในสังคมลง
ตั้งแต่เดือนที่ผ่านมาสถานการณ์การประท้วงในศรีลังกาได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ราคาสินค้าที่ทะยานสูงขึ้น และปัญหาพลังงานไฟฟ้าขาดแคลน
เมื่อวันจันทร์กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลปะทะกับผู้ประท้วงอย่างรุนแรงด้านนอกที่พักของมหินทา ราชปักษา รวมถึงที่สวนสาธารณะ Galle Face Green ซึ่งเป็นจุดชุมนุมหลัก ขณะทางการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยปราบจลาจลเข้ามาในพื้นที่ พร้อมใช้แก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำแรงดันสูงยิงเข้าใส่กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล หลังจากที่พวกเขาฝ่าแนวป้องกันของเจ้าหน้าที่ และใช้เสากระหน่ำตีผู้ประท้วง
หลังจากที่มหินทาลาออก กลุ่มผู้ประท้วงก็พยายามที่จะฝ่าเข้าไปในอาคาร Temple Trees ซึ่งเป็นที่พักของมหินทาและพรรคพวก นอกจากนี้ยังมีการจุดไฟเผารถบัสนอกบ้านของเขา ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องยิงปืนขึ้นฟ้าข่มขู่ และยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมเพื่อปราบจลาจล
ทั้งนี้ มีรายงานว่ามหินทาเดินทางออกจากกรุงโคลัมโบไปยังสถานที่ปลอดภัยแล้วเมื่อช่วงเช้าวานนี้
อนึ่ง ศรีลังกาเผชิญกับพิษเศรษฐกิจที่หนักหนาที่สุดนับตั้งแต่ที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491 ขณะที่ประชาชนต่างเดือดดาลเพราะไม่สามารถรับมือกับค่าครองชีพที่ทะยานสูงขึ้นเช่นนี้ได้ เกิดความทุกข์ยากในทุกหย่อมหญ้า เพราะแม้แต่สิ่งของจำเป็นอย่าง อาหาร ยารักษาโรค และเชื้อเพลิง ก็ยังไม่สามารถซื้อหาได้
ขณะเดียวกันทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของศรีลังกาก็ร่อยหรอลง โดยรัฐบาลได้ขอความช่วยเหลือด้านการเงินฉุกเฉิน โดยระบุว่าเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดที่ทำให้ศรีลังกาขาดรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นท่อน้ำเลี้ยงสำคัญของประเทศ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายรายระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของรัฐบาล
ภาพ: Pradeep Dambarage / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง: