×

ถอดบทเรียนวินาศกรรมศรีลังกา: ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ กระแสต่อต้านอิสลาม และการก่อการร้ายระหว่างประเทศ

08.05.2019
  • LOADING...
ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์

HIGHLIGHTS

12 Mins. Read
  • ศรีลังกามีปัญหาสงครามกลางเมืองจากสาเหตุความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ระหว่างชาวสิงหล (Sinhalese) กับชาวทมิฬ (Tamil)
  • แต่หลังกลุ่มติดอาวุธพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam) ถูกกองทัพศรีลังกากวาดล้างปราบปรามจนหมดสิ้นในปี 2009 ความขัดแย้งและความรุนแรงในลักษณะเดิมก็ปิดฉากลง
  • หากแต่ความขัดแย้งและความรุนแรงรูปแบบใหม่ได้ก่อตัวขึ้นระหว่างกลุ่มชาตินิยมพุทธสุดโต่งกับมุสลิมหัวรุนแรงในประเทศ ซึ่งหากมองจากคู่ขัดแย้งอาจกล่าวว่าเป็นปัญหาระหว่างศาสนิกชนกับศาสนิกชนมากกว่าจะเรียกว่า ‘ความขัดแย้งระหว่างศาสนา’
  • เหตุจลาจลในปี 2018 และความรุนแรงต่อชาวมุสลิม รวมทั้งเหตุก่อการร้ายเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2019 อาจนำไปสู่กระแสต่อต้านอิสลามมากขึ้นในศรีลังกา จนอาจนำพาประเทศเข้าสู่สงครามกลางเมืองอีกครั้ง ซึ่งอาจเปิดทางให้กลุ่มขบวนการก่อการร้ายภายนอกอย่างไอเอสฉวยโอกาสระดมแนวร่วมและเข้ามาก่อเหตุได้

ประเทศศรีลังกา หรือชื่ออย่างเป็นทางการ ‘สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา’ เป็นประเทศที่มีลักษณะเป็นเกาะกลางทะเล ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย โดยในทางภูมิรัฐศาสตร์จัดอยู่ในกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ มีพรมแดนติดกับอินเดียทางตะวันตกเฉียงเหนือและมัลดีฟส์ทางตะวันตกเฉียงใต้ ศรีลังกามีประชากรทั้งหมดประมาณ 22 ล้านคน ส่วนใหญ่กว่า 70.1% เป็นชาวสิงหลที่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท รองลงมา 12.6% คือชาวทมิฬนับถือศาสนาฮินดู ชาวมุสลิม 9.4% และคริสเตียน 7.4%

 

เมื่อพูดถึงปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้งของศรีลังกาในอดีต เป็นที่ทราบกันดีว่าศรีลังกามีปัญหาสงครามกลางเมืองจากสาเหตุความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ระหว่างชาวสิงหล (Sinhalese) กับชาวทมิฬ (Tamil) แต่หลังกลุ่มติดอาวุธพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam) ถูกกองทัพศรีลังกากวาดล้างปราบปรามจนหมดสิ้นในปี 2009 ความขัดแย้งและความรุนแรงในลักษณะเดิมก็ปิดฉากลง หากแต่ความขัดแย้งและความรุนแรงรูปแบบใหม่ได้ก่อตัวขึ้นระหว่างกลุ่มชาตินิยมพุทธสุดโต่งกับมุสลิมหัวรุนแรงในประเทศ ซึ่งหากมองจากคู่ขัดแย้งอาจกล่าวว่าเป็นปัญหาระหว่างศาสนิกชนกับศาสนิกชนมากกว่าจะเรียกว่า ‘ความขัดแย้งระหว่างศาสนา’

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง หรือแม้จะเกิดความขัดแย้งรูปแบบใหม่ แต่ก็ถือว่าศรีลังกามีความปลอดภัยและสงบขึ้นมาก มีเพียงชุมชนมุสลิมเท่านั้นที่ตกเป็นเป้าโจมตีและต่อต้านในรูปแบบต่างๆ ขณะที่ชุมชนคริสต์ก็ถูกก่อกวนบ้างแต่ไม่มากนัก

 

จนกระทั่งมาเกิดเหตุวินาศกรรมก่อการร้ายครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2019 หรือเหตุระเบิดฆ่าตัวตายขึ้นอย่างน้อย 8 จุด ในวันสำคัญของชาวคริสเตียนหรือในเทศกาลอีสเตอร์ที่โบสถ์คริสต์ในย่านโกชชิกาเด กรุงโคลัมโบ เมืองเนกอมโบ และเมืองบัตติคาโลอา และยังเกิดขึ้นที่โรงแรมแชงกรี-ลา โรงแรมซินนามอน แกรนด์ และโรงแรมคิงส์บิวรี ซึ่งถือเป็นโรงแรมหรูทั้งสิ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 253 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 500 คน

 

จากเหตุการณ์วินาศกรรมครั้งนี้ที่พุ่งเป้าโจมตีไปที่ชาวคริสเตียนและโรงแรมหรูหลายแห่ง โดยเฉพาะการมุ่งหวังให้เกิดความเสียหายในชีวิตให้ได้มากที่สุด ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสถานการณ์ความรุนแรงของศรีลังกาจากนี้ต่อไป ซึ่งน่าจับตามเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของความรุนแรงทางชาติพันธุ์และการต่อต้านทางศาสนา การก่อการร้ายระหว่างประเทศ เป็นต้น บทความนี้จึงสนใจที่จะนำเสนอพลวัตปัญหาความขัดแย้งในศรีลังกาจากอดีตสู่การก่อการร้ายในปัจจุบัน พร้อมถอดบทเรียน โดยอาจแยกได้เป็นประเด็นๆ ดังนื้

 

ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์

 

สงครามกลางเมืองทมิฬ-สิงหล และสถานการณ์ของชนกลุ่มน้อยในศรีลังกา

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์สิงหลกับทมิฬในศรีลังกา เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยที่ศรีลังกาอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษแล้ว ชาวทมิฬอาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ทมิฬศรีลังกา ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือและตะวันออกของประเทศ พวกนี้มีประวัติอยู่ในศรีลังกามาอย่างยาวนาน อพยพเข้ามาจากตอนใต้ของอินเดียจากการยกทัพเข้าไปรบกับชาวสิงหลในสมัยโบราณ จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 15 และ 16 ทั้งชาวทมิฬและชาวสิงหลก็สามารถดำรงอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข

 

แต่ทมิฬอีกกลุ่มหนึ่งคือ ทมิฬอินเดีย ที่อังกฤษเอาเข้ามาจากทางใต้ของอินเดียในสมัยอาณานิคมตั้งแต่ปี 1830 เพื่อมาเป็นแรงงานทำการเกษตรไร่ชากาแฟ หักร้างถางพงและขยายพื้นที่เพาะปลูกในชนบท ทั้งนี้เพราะคนสิงหลและทมิฬเดิมไม่ให้ความร่วมมือกับอังกฤษและไม่สนใจทำงานในไร่ขนาดใหญ่ (สุภัทรา วรรณพิณ, 2532 น.147) อังกฤษมักจะให้สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดีกว่าแก่ชาวทมิฬ และให้เป็นเจ้าหน้าที่บริหารชั้นผู้น้อย อีกทั้งการที่ชาวตะวันตกไปตั้งโรงเรียนมิชชันนารีอยู่ทางตอนเหนือ ก็ทำให้ชาวทมิฬมีโอกาสเรียนหนังสือและพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าชาวสิงหล

 

เมื่อศรีลังกาเป็นประเทศเอกราชในปี 1948 แม้ชาวทมิฬจะเป็นคนส่วนน้อยแต่มีฐานะดี เป็นข้าราชการและพ่อค้านักธุรกิจใหญ่ ทั้งยังผูกขาดอำนาจการบริหารประเทศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่ ในขณะที่ชาวสิงหลเป็นเพียงคณะผู้บริหารประเทศระดับสูงเท่านั้น เพราะเป็นคนกลุ่มใหญ่

 

ต่อมาชาวสิงหลเริ่มเห็นว่าตนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศควรมีอำนาจเต็มที่ในทุกๆ ด้าน จึงเริ่มกีดกันชาวทมิฬออกไปจากอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ชาวทมิฬนอกจากไม่ได้รับสิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียมกับชาวสิงหลแล้ว ยังไม่ถูกยอมรับให้เป็นพลเมืองศรีลังกาด้วย คนงานในไร่ชาที่เป็นทมิฬอินเดียประมาณ 1 ล้านคนถูกผลักดันให้กลับสู่ภาคใต้ของอินเดีย อย่างไรก็ตาม ชาวทมิฬอินเดียเหล่านี้ไม่ยอมกลับ ขณะที่ทางอินเดียก็ไม่ยอมรับว่าเป็นพลเมืองของตนเช่นกัน

 

ศรีลังกาพยายามใช้นโยบายชาตินิยมในการกีดกันชาวทมิฬและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการศึกษาก็บังคับให้ใช้ภาษาสิงหลในการเรียนการสอน (ในสมัยอังกฤษ ชาวทมิฬมีสิทธิตั้งโรงเรียนและใช้ภาษาทมิฬ) ประกาศให้ภาษาสิงหลเป็นภาษาราชการเดียว ให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ฯลฯ

 

ทั้งหมดนี้ทำให้ชาวทมิฬไม่พอใจอย่างมาก เพราะถูกลดบทบาทและตัดโอกาสในหลายๆ ด้าน ชาวทมิฬจึงอพยพไปรวมตัวกันอยู่ทางภาคเหนือหนาแน่นขึ้น และเคลื่อนไหวเพื่อแยกดินแดนเป็นอิสระจากศรีลังกาเรื่อยมา เริ่มจากตั้งขบวนการแนวร่วมปลดปล่อยทมิฬ (Tamil United Liberation Front) ในปี 1976 จนพัฒนาเป็นกองกำลังติดอาวุธที่เป็นที่รู้จักอย่างกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (LTTE) ซึ่งต่อสู้กับรัฐบาลศรีลังกาจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองอยู่หลายทศวรรษ ทำให้คนตายรวมกันทั้งหมดนับแสน กลุ่ม LTTE มีกำลังรบทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ อีกทั้งยังใช้วิธีการก่อเหตุแบบก่อการร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นต้นตำรับของการระเบิดฆ่าตัวตายด้วย

 

หลายครั้งเกิดการจลาจลทางเชื้อชาติอย่างรุนแรงเพราะความเคียดแค้นและเกลียดชังกัน เช่น กรณีการจลาจลเมื่อปี 1983 อันมีสาเหตุมาจากทหารถูกกลุ่มทมิฬสังหารชีวิตไปจำนวนหนึ่ง ชาวสิงหลโกรธแค้นมากจึงพยายามทำลายล้างชาวทมิฬโดยการฆ่าฟัน เผาบ้าน และปล้นสะดมชาวทมิฬ เป็นต้น

 

สงครามกลางเมืองในศรีลังกายุติลงในปี 2009 หลังกองทัพศรีลังกาบุกปิดล้อมปราบปรามกลุ่ม LTTE อย่างหนักจนทำให้ฝ่ายกบฏ LTTE ต้องยอมตกลงยุติการสู้รบกับรัฐบาล แม้ศรีลังกาจะถูกประณามทางด้านสิทธิมนุษยธรรมอย่างรุนแรงจากชาติตะวันตก แต่ก็นำไปสู่การสิ้นสุดการต่อสู้ที่ยาวนานได้สำเร็จ

 

อย่างไรก็ตาม แม้ความรุนแรงทางเชื้อชาติระหว่างสิงหลกับทมิฬจะจางหายไป แต่หากมองในแง่ของประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของศรีลังกาในอดีตจะพบว่ามีความแตกแยกระหว่างศาสนิกชนอยู่ด้วย ซึ่งค่อนข้างน่าวิตกว่าปัญหานี้จะปะทุขึ้นหลังยุคสงครามกลางเมืองอีก

 

ในหนังสือ ประวัติศาสตร์เอเชียใต้ อดีตถึงปัจจุบัน ของ รองศาสตราจารย์ถนอม อานามวัฒน์ พิมพ์ครั้งที่ 1 ปี 2527 ได้กล่าวถึงสภาพความขัดแย้งระหว่างผู้นับถือศาสนาต่างๆ ไว้ว่า “ชาวศรีลังกามักจะยกพวกเข้าปะทะและก่อจลาจลอยู่บ่อยๆ ซึ่งมีสาเหตุมาจากเรื่องศาสนาที่แตกต่างกันระหว่างชาวพุทธ ชาวฮินดู และชาวคริสต์ พวกชาวพุทธบางคนที่หัวรุนแรงพยายามโฆษณาให้ต่อต้านทุกศาสนาที่ไม่ใช่พุทธ โดยเฉพาะพวกฮินดูจะถูกต่อต้านมากกว่าศาสนาอื่นๆ พวกฮินดูและพวกคริสต์บางกลุ่มถูกกดมาเรื่อยๆ เมื่อมีโอกาสก็ลงมือแก้แค้นกันอย่างป่าเถื่อน เป็นเหตุให้เกิดการฆ่าฟันกันอย่างนองเลือดและเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องแก้ไขอยู่ตลอดเวลา” (ถนอม อานามวัฒน์, 2527 น.379)

 

มีรายงานข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องว่าชาวคริสต์ในศรีลังกามักถูกเลือกปฏิบัติ และถูกก่อกวนบริเวณโบสถ์ในพิธีกรรมสำคัญๆ รวมไปถึงการถูกคุกคามและใช้ความรุนแรงต่างๆ ซึ่งมีรายงานว่านับตั้งต้นปีจนถึงวันอาทิตย์ที่เกิดเหตุก่อการร้ายครั้งนี้นั้น มีกรณีคุกคามชาวคริสต์เกิดขึ้นกว่า 26 คดี รวมทั้งกรณีพระสงฆ์ก่อกวนขัดขวางพิธีกรรมทางศาสนาในวันอาทิตย์ด้วย (Emily Tamkin, 2019 www.washingtonpost.com/world/2019/04/21/christians-sri-lanka-violence-is-once-old-new/?utm_term=.92d3af2054ea)

 

อย่างไรก็ตาม มุสลิมในศรีลังกาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยอันดับสองรองจากทมิฬฮินดู ต้องเผชิญกับความรุนแรงและถูกคุกคามมากกว่าชาวคริสต์ ทั้งในช่วงระหว่างและหลังสงครามกลางเมืองที่หนักขึ้นเรื่อยๆ

 

มุสลิมศรีลังกาในยุคสงครามกลางเมือง

มุสลิมในศรีลังกามีประมาณ 2 ล้านคน ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากพ่อค้าอาหรับที่เข้ามาค้าขายเครื่องเทศตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 เรียกมุสลิมกลุ่มนี้ว่า ‘มุสลิมมัวร์’ (Moor Muslims) เข้ามาแต่งงานกับคนพื้นเมืองและตั้งถิ่นฐานทางแถบชายฝั่งทะเลตะวันออก พูดภาษาสิงหลแต่บางส่วนก็พูดทมิฬ นอกจากนี้ยังมีมุสลิมอีกจำนวนหนึ่งที่มีเชื้อสายมลายูที่เข้ามาในช่วงที่ศรีลังกาเป็นอาณานิคมของดัตช์ในศตวรรษที่ 17

 

มุสลิมส่วนใหญ่อาศัยอยู่หนาแน่นทางตะวันออกของประเทศ และส่วนหนึ่งกระจายอยู่ตามเมืองสำคัญๆ รวมทั้งในเมืองหลวงโคลัมโบ พวกนี้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี เป็นพ่อค้านักธุรกิจที่มั่นคง

 

ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมทางตอนเหนือและทางตะวันออกของประเทศ ได้สร้างผลกระทบต่อประชากรมุสลิมในพื้นที่อย่างมาก เพราะกลุ่ม LTTE ต้องการกวาดล้างกลุ่มชาติพันธุ์อื่นให้ออกไปจากพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศให้หมด โดยใช้ความรุนแรงทั้งการยิงสังหารและการบุกโจมตีมัสยิด เช่น เมื่อปี 1990 มีชาวมุสลิมมากกว่า 260 คน ถูกยิงเสียชีวิตในมัสยิดกัตตันกุดี (Kattankudy) และมัสยิดอีรวูร์ (Eravur) มุสลิมกว่า 65,000 คนไร้ที่อยู่อาศัยเพราะบ้านเรือนถูกทำลาย ต้องไปตั้งค่ายอยู่ใกล้เมืองปุตตาลัม (Puttalam) (Dennis B. McGilvray and Mirak Raheem, 2007 www.eastwestcenter.org/system/tdf/private/ps041.pdf)

 

การทำร้ายและโจมตีมุสลิมยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกันมุสลิมก็พยายามเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านพรรคมุสลิมคองเกรสแห่งศรีลังกา (Sri Lanka Muslim Congress) ซึ่งเรียกร้องการกระจายอำนาจให้สิทธิมุสลิมในการจัดตั้งสภาระดับภูมิภาคขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งในกระบวนการเจรจาและทำข้อตกลงกันระหว่างรัฐบาลกับกลุ่ม LTTE ก็ไม่ได้ให้ความสนใจต่อชาวมุสลิมในพื้นที่เลย และมุสลิมก็ได้มีตัวแทนในกระบวนการเจรจาดังกล่าวด้วย

 

ปัญหาความรุนแรงที่เกิดกับมุสลิมในยุคนี้มีสาเหตุมาจากเรื่องเชื้อชาติและเป็นปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะพื้นที่ทางเหนือและทางตะวันออกเท่านั้น แต่ในพื้นที่อื่นหรือเมืองหลวงโคลัมโบ มุสลิมไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก

 

ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์

 

กระแสต่อต้านอิสลามหลังยุคสงครามกลางเมือง

หลังสงครามกลางเมืองในศรีลังกาสิ้นสุดลงในปี 2009 ทำให้สถานการณ์ทางเหนือดีขึ้น ชาวมุสลิมที่เป็นผู้ลี้ภัยบางส่วนสามารถย้ายกลับเข้าไปในพื้นที่ แต่กระนั้นก็ตามมุสลิมในศรีลังกากลับต้องเผชิญกับปัญหาคุกคามจากกระแสต่อต้านอิสลามที่เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่ชาวพุทธชาตินิยม (Buddhist Nationalists) ซึ่งเป็นความรุนแรงที่แพร่กระจายและส่งผลกระทบต่อชุมชนมุสลิมทั่วทั้งศรีลังกา รวมทั้งในเมืองหลวงโคลัมโบด้วย

 

ศรีลังกาหลังยุค LTTE จึงไม่ได้สงบเสียทีเดียว หากแต่รูปแบบของความรุนแรงและคู่ขัดแย้งได้เปลี่ยนไปเท่านั้นเอง กลุ่มเครือข่ายพุทธชาตินิยมหลายกลุ่มพยายามปลุกกระแสต่อต้านอิสลามอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มโบดู บาลา เสนา (Bodu Bala Sena, ที่กำลังขยายปีกเข้าไปมีอิทธิพลทางการเมืองผ่านพรรคการเมืองแนวร่วมของตน) กลุ่มสิงหล ราวายา (Sinhala Ravaya) กลุ่มราวานา บาลายา ฯลฯ โดยกลุ่มเหล่านี้มีเครือข่ายสัมพันธ์กับขบวนการพุทธชาตินิยม 969 ของพระผู้ปลุกกระแสต่อต้านอิสลามในเมียนมาที่รู้จักกันในชื่อ ‘พระวีระธุ’

 

นับตั้งแต่ปี 2009 มุสลิมและศาสนสถานของอิสลามในศรีลังกาตกเป็นเป้าโจมตีหนักขึ้นเรื่อยๆ ชาวมุสลิมมักถูกเลือกปฏิบัติและถูกทำร้ายร่างกาย ถูกต่อต้านโดยกลุ่มเครือข่ายพุทธชาตินิยมหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูดด่าทออันก่อให้เกิดความเกลียดชัง การต่อต้านเครื่องหมายฮาลาล การคลุมฮิญาบ การคว่ำบาตรสินค้ามุสลิม การต่อต้านการค้าเนื้อวัว ต่อต้านการขยายหออะซาน (หอเชิญชวนให้ผู้คนมาทำละหมาดที่มัสยิด) การต่อต้านการขยายโรงเรียนสอนศาสนาของมุสลิม และการต่อต้านผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาจากเมียนมา เป็นต้น

 

อีกทั้งยังมีการโจมตี เผามัสยิด ทำลายบ้านเรือน และธุรกิจห้างร้านของมุสลิมหนักขึ้นเรื่อยๆ เช่น เมื่อปี 2011 ชาวพุทธได้บุกทำลายศาสนสถานอายุ 300 ปีของอิสลามในเมืองอนุราธปุระ (Anuradhapura) ในเดือนเมษายนปี 2012 ชาวสิงหลกว่า 2,000 คน รวมทั้งพระสงฆ์ได้บุกเผามัสยิดคอยรียะห์ในเมืองดัมบุลลา (Dambulla) โดยอ้างว่ามัสยิดแห่งนี้สร้างผิดกฎหมาย บ้างก็เชื่อว่ามัสยิดแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธ

 

ในปี 2018 สถานการณ์จลาจลหลายเมืองในพื้นที่ภาคกลางของประเทศระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมรุนแรงมาก โดยเฉพาะที่เมืองแคนดี้ (Kandy) และอัมพารา (Ampara) จนรัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สาเหตุมาจากการปล่อยข่าวลวงทางสื่อสังคมออนไลน์ว่ามุสลิมสมคบคิดกันวางยาเพื่อทำให้ชาวพุทธสิงหลเป็นหมันโดยหวังลดประชากรพุทธในประเทศ รัฐบาลสรุปผลเหตุจลาจลครั้งนี้ว่าทำให้บ้านเรือนพังเสียหายกว่า 465 หลัง ร้านค้าและยานพาหนะเสียหายอีกจำนวนมาก (www.dailymirror.lk/article/Kandy-incidents-created-new-international-challenges-PM-147104.html) เฉพาะเหตุจลาจลที่เมืองแคนดี้ทำให้มัสยิด 4 แห่ง บ้านเรือน 37 หลัง ร้านค้า 46 แห่ง และรถยนต์ 35 คันได้รับความเสียหายจากการเผาและทำลายของผู้ก่อจลาจล (www.bbc.com/news/world-asia-43300913)

 

หลังจากเหตุการณ์จลาจลต่อต้านมุสลิมครั้งนี้สงบลง ปรากฏหลักฐานจากกล้องวงจรปิดว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนหนึ่งคอยให้การช่วยเหลือผู้ก่อจลาจลด้วย และที่สำคัญคือพบว่าอดีตประธานาธิบดีมหินทรา ราชปักษา ก็อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย ซึ่งเขาอ้างว่ามาพยายามคลี่คลายสถานการณ์ แต่รัฐบาลกล่าวหาว่าพวกเขาให้การสนับสนุนช่วยเหลือผู้ก่อเหตุจลาจล ทั้งนี้ในขณะนั้นเป็นช่วงการเลือกตั้งท้องถิ่นซึ่งนายราชปักษาได้ร่วมตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่เพื่อลงสนามเลือกตั้งด้วย ชื่อพรรค Sri Lanka Podujana Peramuna (SLPP) หลังเหตุจลาจลปรากฏว่าสมาชิกของพรรคนี้บางคนพร้อมผู้สนับสนุนจำนวนหนึ่งถูกจับกุมด้วยหลักฐานจากกล้องที่บันทึกภาพขณะกำลังโจมตีมัสยิดมานิกคินนา (Manikhinna Mosque) (www.ucanews.com/news/sri-lankan-activists-allege-political-involvement-in-riots/81910)

 

คาดาร์ นีจาม (Cadar Nijam) นักสิทธิมนุษยชนและสมาชิกสภาท้องถิ่นในพื้นที่เกิดเหตุกล่าวว่า “สมาชิกพรรค SLPP หลายคนร่วมก่อจลาจลด้วยเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมือง… ยังมีสมาชิกและแนวร่วมอีกหลายคนที่ไม่ถูกจับกุม… แม้ตำรวจจะจับนักการเมืองที่มีชื่อเสียงบางคนที่ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังการก่อจลาจลครั้งนี้ได้แต่ประชาชนยังมีข้อกังขาในการสอบสวนว่าตำรวจจะปกป้องพวกเขา” นักสิทธิมนุษยชนรายนี้ยังกล่าวอีกว่า “นายราชปักษามักใช้กลุ่มพุทธสุดโต่งเพื่อเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจของตัวเอง” (เมื่อปลายปี 2018 ประธานาธิบดีไมตรีพลา สิริเสนา สั่งปลดนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห เพราะมีปัญหาในการทำงานร่วมกัน แล้วพยายามตั้งนายราชปักษาขึ้นแทน แต่ไม่สำเร็จ)

 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหลังยุคสงครามกลางเมือง ศรีลังกายังเผชิญปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ การจลาจลที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มีลักษณะที่คล้ายกับเหตุจลาจลระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬเมื่อปี 1983 และมีเหตุมาจากความเกลียดแค้นชิงชังของชาวสิงหลที่ไม่พอใจการก่อเหตุรุนแรงของกลุ่ม LTTE ซึ่งนับจากนั้นมาสถานการณ์สงครามกลางเมืองของประเทศก็เลวร้ายมาเรื่อยๆ เหตุผลหนึ่งเพราะพรรคการเมืองต่างก็โหนกระแสเกลียดชังชาวทมิฬและแข่งกันนำเสนอนโยบายชาตินิยมที่แข็งกร้าวเพื่อสร้างคะแนนนิยมในกลุ่มชาวสิงหล

 

เหตุจลาจลในปี 2018 และความรุนแรงต่อชาวมุสลิม รวมทั้งเหตุก่อการร้ายเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2019 อาจนำไปสู่กระแสต่อต้านอิสลามมากขึ้นในศรีลังกา จนอาจนำพาประเทศเข้าสู่สงครามกลางเมืองอีกครั้งหนึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม แม้ว่ารากเหง้าของปัญหาจะไม่ได้มาจากเรื่องดินแดนเหมือนในอดีตก็ตาม แต่เงื่อนไขความขัดแย้งบนฐานความแตกต่างทางศาสนาก็สามารถที่จะจุดไฟสงครามกลางเมืองในรูปแบบใหม่ที่เปิดทางให้กลุ่มขบวนการก่อการร้ายภายนอกอย่างไอเอสฉวยโอกาสระดมแนวร่วมและเข้ามาก่อเหตุได้

 

ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์

 

เมื่อมุสลิมและคริสเตียนไม่ใช่คู่ขัดแย้งในศรีลังกา: กลุ่มเนชั่นแนลเตาฮีดญะมาอัต (National Thowheeth Jama’ath) และกลุ่มไอเอส ต้องการอะไร

เมื่อการก่อการร้ายมุ่งเป้าโจมตีไปที่โบสถ์คริสต์และโรงแรมหรู ทั้งที่ชุมชนคริสเตียนไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับมุสลิม อีกทั้งยังถูกคุกคามจากชาวสิงหลเหมือนๆ กัน ในทางปฏิบัติชุมชนมุสลิมและคริสเตียนในฐานะชนกลุ่มน้อยควรต้องเห็นอกเห็นใจกันด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคำถามมากมายว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ ทำไมต้องโจมตีโบสถ์คริสต์ มีแรงจูงใจและจุดมุ่งหมายอะไร เกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้ายภายนอกหรือไม่

 

หลังเกิดเหตุ ทางการศรีลังกาสรุปว่าเป็นฝีมือของกลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นเนชั่นแนลเตาฮีดญะมาอัต หรือ NTJ และกลุ่มญาเมียอะตุล มิลลาตุ อิบรอฮีม (Jamiyyathul Millatu Ibrahim) ซึ่งเป็นกลุ่มแยกย่อยของกลุ่ม NTJ

 

นายกรัฐมนตรีวิกรมสิงเห เชื่อว่านายซาห์รัน ฮาชิม ซึ่งเป็นแกนนำของกลุ่ม NTJ และนักเผยแพร่ศาสนาที่พูดภาษาทมิฬ อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออก คือผู้วางแผนก่อเหตุครั้งนี้ ซึ่งต่อมาเขาก็ถูกทหารตามล่าและสังหารในที่สุด

 

กลุ่ม NTJ ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ The Hindu ระบุว่า กลุ่มแยกตัวออกมาจากกลุ่มญะมาอัตเตาฮีดศรีลังกา (Sri Lanka Thoweed Jamath: SLTJ) มีฐานอยู่ที่เมืองกัตตันกุดี (เมืองทางภาคตะวันออกที่มุสลิมเคยถูกกวาดล้างโดยกลุ่มทมิฬในปี 1990) ทั้งกลุ่ม NTJ และ SLTJ ถูกระบุว่าเป็นมุสลิมที่ยึดแนวคิดวะฮาบีย์ อย่างไรก็ตาม การข่าวของศรีลังกาเชื่อว่ากลุ่ม NTJ นั้นเป็นกลุ่มที่มีขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับกลุ่ม SLTJ

 

กลุ่ม SLTJ ที่ผ่านมาก็ถูกจัดว่าเป็นกลุ่มสุดโต่ง มักจะพูดต่อต้านกลุ่มพุทธสุดโต่งมานาน แต่ไม่ถึงกับใช้กำลังหรือติดอาวุธและใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด แต่กลุ่ม NTJ จะมีทั้งการจัดกิจกรรมพูดคุยสัมมนาเผยแพร่แนวคิดของกลุ่มผ่านวิดีโอ และหลังเหตุจลาจลเมื่อปี 2018 กลุ่มนี้ก็เป็นที่รู้จักขึ้นมา เพราะปรากฏว่ามีแนวร่วมของกลุ่มถูกกล่าวหาว่าลอบทำลายพระพุทธรูปที่สำคัญในเมืองเคกัลเล (Kegalle) นอกจากนี้นายอับดุล ราซัก เลขาธิการ NTJ ก็เคยถูกจับกุมมาแล้วหลายครั้งในข้อหาพยายามปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกทางศาสนา

 

อย่างไรก็ตาม กลุ่ม NTJ ไม่น่าจะมีศักยภาพในการก่อเหตุรุนแรงได้ถึงขนาดนี้ได้โดยลำพัง เพราะเป็นกลุ่มท้องถิ่นที่ค่อนข้างเล็ก เพิ่งตั้งขึ้นมาได้ไม่นาน อีกทั้งการก่อเหตุในลักษณะนี้ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าจำเป็นต้องใช้คนจำนวนไม่น้อย ต้องมีการเตรียมแผนล่วงหน้ามาอย่างดีซึ่งต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน บางสำนักข่าวรายงานว่าอาจมีการวางแผนก่อเหตุตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว

 

อีกประการที่สำคัญคือหากการก่อเหตุเป็นไปเพื่อตอบโต้หรือแก้แค้นจากเหตุการณ์จลาจลที่มุสลิมถูกโจมตีดังที่กล่าวมา คนคริสเตียนก็ไม่น่าจะตกเป็นเป้าของการโจมตี แต่หากมองรูปแบบของการก่อเหตุและองค์ประกอบอื่นๆ โดยเฉพาะเป้าหมายของการโจมตี จะพบว่ามีลักษณะคล้ายการก่อเหตุของขบวนการก่อการร้ายสากลอย่างกลุ่มไอเอสหรืออัลกออิดะห์มาก ทางการศรีลังกาก็ยืนยันว่าการก่อเหตุได้รับการสนับสนุนจากขบวนการก่อการร้ายภายนอก ซึ่งต่อมากลุ่มไอเอสได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ

 

ทางการศรีลังกาสรุปว่าการก่อเหตุครั้งนี้มีแรงจูงใจมาจากการตอบโต้เหตุกราดยิงมัสยิด 2 แห่งในเมืองไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2019 แต่กลุ่มไอเอสอ้างว่าเป็นการแก้แค้นจากที่ตัวเองเสียที่มั่นสุดท้ายในตะวันออกกลาง

 

ด้วยเหตุนี้วินาศกรรมที่ศรีลังกาครั้งนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการก่อการร้ายระหว่างประเทศของกลุ่มก่อการร้ายภายนอก มากกว่ามาจากประเด็นความขัดแย้งภายใน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนาภายในประเทศคือเชื้อไฟอย่างดีที่เปิดช่องให้กลุ่มก่อการร้ายเข้ามาขยายกิ่งก้านสาขาได้ และแน่นอนว่ามันจะส่งผลต่อสถานการณ์การเผชิญหน้ากันภายในระหว่างกลุ่มสุดโต่งมากขึ้น

 

ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์

 

การแบ่งแยกแล้วปลุกปั่น: ยุทธศาสตร์และเป้าหมายของการก่อการร้ายระหว่างประเทศ (Divide and Provoke)

แพทริก เจ. เคนเนดี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต เคยกล่าวว่า “การก่อการร้ายคือ สงครามจิตวิทยาแบบหนึ่งที่ผู้ก่อการพยายามที่จะปลุกปั่นให้พวกเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านทางการสร้างความหวาดกลัว ความไม่แน่นอนในชีวิต และการแบ่งแยกทางสังคม”

 

ไม่ว่ากลุ่มก่อการร้ายจะทำโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม การก่อเหตุโดยมุ่งเป้าไปที่ชุมชนคริสเตียนทั้งที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรงในประเทศ ผลที่จะตามมาคือการแบ่งแยกทางสังคมที่ร้าวลึกมากยิ่งขึ้นอย่างน้อยใน 3 ระดับ คือ

 

1. ตอกย้ำความขัดแย้งและการแบ่งแยกทางศาสนาในระดับสากล ซึ่งกลุ่มก่อการร้ายสากลที่ผ่านมาก็พยายามโจมตีสัญลักษณ์ทางศาสนา เช่น การวางระเบิดโจมตีโบสถ์ 3 แห่งในเมืองสุราบายา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 2018 และเหตุระเบิดโบสถ์คริสต์ในฟิลิปปินส์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา หรือการโจมตีโบสถ์และวันสำคัญทางศาสนาคริสต์ในหลายประเทศ เช่น ปากีสถาน, อียิปต์, เยอรมนี และฝรั่งเศส เป็นต้น

 

2. การโหมกระพือให้เกิดความความขัดแย้งและแตกแยกระหว่างพุทธกับมุสลิมในศรีลังกา เพราะนอกจากโบสถ์แล้วยังมุ่งโจมตีโรงแรมหรูด้วย เป็นการมุ่งทำลายเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของศรีลังกาอย่างร้ายแรง ทั้งที่หลังสงครามกลางเมืองจบสิ้นมาตั้งแต่ปี 2009 ศรีลังกาพยายามขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจที่ชูการท่องเที่ยวของประเทศ การโจมตีครั้งนี้ยังอาจหวังผลโยงไปถึงความแตกแยกของชาวพุทธกับมุสลิมในส่วนอื่นๆ ของโลกรวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

 

3. แบ่งแยกและสร้างรอยร้าวระหว่างมุสลิมกับคริสต์ในศรีลังกา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่มีปัญหาความขัดแย้งกันมาก่อน

 

เป้าหมายของการก่อการร้ายไม่ว่าจะกลุ่มใด ขบวนการมุสลิม กลุ่มขวาจัด พวกสุดโต่งในลัทธิความเชื่อคือ การแบ่งแยกทางสังคม สาสน์ของการก่อการร้ายในความหมายนี้คือยาพิษทางความคิดที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้าและต่อยอดปัญหาการก่อการร้ายอย่างไม่สิ้นสุดในลักษณะของสงครามตัวแทนของการก่อการร้าย (Terrorist Proxy War) ซึ่งหมายความว่าคนทั่วไปก็อาจถูกทำให้เป็นเบี้ยตัวหนึ่งของการก่อการร้ายสมัยใหม่ สอดคล้องกับคำพูดของนักวิชาการชื่อดังชาวสหรัฐฯ อย่างโนม ชอมสกี (Noam Chomsky) ว่า “ทุกคนเป็นกังวลว่าจะหยุดการก่อการร้ายได้อย่างไร อันที่จริงมันง่ายนิดเดียว แค่หยุดมีส่วนร่วมกับมัน”

 

ความเกลียดชังคือเชื้อไฟชั้นดีในการขยายตัวของการก่อการร้ายสมัยใหม่ หลายคนอาจสงสัยว่าการแบ่งแยกทางสังคมจะตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของกลุ่มก่อการร้ายอย่างไร ซึ่งจะเห็นได้จากหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการปรากฏขึ้นมาของกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรียตั้งแต่ปี 2014 ที่มาพร้อมปฏิบัติการอันโหดเหี้ยมและภาพความน่าหวาดกลัวที่แพร่ไปทั่วโลก

 

ในขณะที่กระแสต่อต้านและเกลียดกลัวอิสลามที่รุนแรงมากขึ้นตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 ยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสังคมยุโรปและสหรัฐอเมริกา นำไปสู่ปัญหาการแบ่งแยกทางสังคมและการกระตุ้นความเกลียดชังจากนักการเมืองขวาจัด การเลือกปฏิบัติ การเหยียดหยามทางเชื้อชาติศาสนา การละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบต่างๆ ที่สำคัญคือการก่ออาชญากรรมทำร้ายโจมตีชาวมุสลิมที่ระบาดหนักขึ้นทวีคูณในสังคมยุโรป ทำให้ชาวมุสลิมบางส่วนที่มีอัตลักษณ์แตกต่างอยู่แล้วรู้สึกไม่สามารถบูรณาการให้เข้ากับสังคมตะวันตกได้ จึงถูกกดดันจากภาวะการแบ่งแยกภายใน กลายเป็นเหยื่อของกับดักทางอารมณ์ที่รู้สึกไม่ปลอดภัยและเป็นคนนอกในสังคมของตัวเอง จากนั้นจึงปลีกตัวออกจากครอบครัวและพี่น้อง ภาวะเช่นนี้ง่ายต่อการชักจูงให้กลายเป็นพวกหัวรุนแรงและเปิดโอกาสให้กลุ่มก่อการร้ายไอเอสโน้มน้าวเข้าร่วมขบวนการ กรณีของศรีลังกาก็เช่นกัน

 

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญซึ่งอธิบายว่าเหตุใดมุสลิมจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาถึงเดินทางไปเข้าร่วมรบกับกลุ่มไอเอสในตะวันออกกลางเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ตัวเลขตามรายงานปี 2018 ของโครงการศึกษาแนวคิดสุดโต่ง มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน (George Washington University) ระบุว่า มีชาวอเมริกันไปร่วมรบกับไอเอสในอิรักและซีเรีย ประมาณ 250-300 คน และจากประเทศในแถบยุโรปประมาณ 5,000-6,000 คน (extremism.gwu.edu/sites/g/files/zaxdzs2191/f/TravelersAmericanJihadistsinSyriaandIraq.pdf)

 

สอดคล้องกับงานวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยอุปซอลา ประเทศสวีเดน (Uppsala University) ที่พบว่า มุสลิมที่เกิดและเติบโตในโลกตะวันตกมีแนวโน้มสนับสนุนความคิดสุดโต่งมากกว่ามุสลิมที่เกิดในพื้นที่อื่นๆ และที่อพยพเข้ามาอยู่ในโลกตะวันตก ปัาพวกหัวรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากภายในกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของตะวันตก โดยในงานวิจัยยังพบว่า ปัจจัยที่ทำให้มุสลิมในตะวันตกมีแนวโน้มสุดโต่งกว่าที่อื่นเป็นเพราะเกิดจากความรู้สึกเป็นเบี้ยล่างที่ถูกเอาเปรียบและถูกเหยียดหยาม งานวิจัยยกกรณีของสวีเดนที่แม้พวกเขาจะเกิดและเติบโตที่นั่นแต่ก็ถูกมองเป็นคนนอกหรือเป็นผู้อพยพซึ่งไม่ได้รับโอกาสเท่าเทียมกับคนสวีเดนทั่วไป (www.rt.com/news/454324-muslims-west-extremism-immigration)

 

ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์

 

ถอดบทเรียนก่อการร้ายศรีลังกา

การก่อการร้ายที่ศรีลังกาครั้งนี้สะท้อนความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหลายมิติที่ควรแก่การถอดบทเรียน ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์บาดแผล ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และความแตกต่างทางศาสนา ปัญหาการเมืองภายใน การข่าว และข่าวล่วงในยุคสื่อโซเชียลมีเดีย และการก่อการร้ายระหว่างประเทศ โดยอาจสรุปประเด็นสำคัญเพื่อเรียนรู้และตั้งรับได้ ดังนี้

 

1. ข่าวลวงและการจลาจล – หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ศรีลังกากลับเข้าสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่บนฐานความแตกต่างทางศาสนา จนกระทั่งนำไปสู่ความรุนแรงและการก่อจลาจลโจมตีคนที่นับถือศาสนาอิสลาม มัสยิด บ้านเรือน และห้างร้านของชาวมุสลิม ซึ่งเป็นผลมาจากข่าวลือที่พิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง แต่ถูกแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในโลกโซเชียล ข่าวลือข่าวปลอมที่นำไปสู่การจลาจลและการฆ่าสังหารจำนวนมากในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นทั้งในอินเดียและเมียนมา ดังนั้นสังคมไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญกับการรับมือข่าวล่วงที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังและแตกแยกทางศาสนา

 

2. ความแตกแยกภายในสังคม ความสุดโต่ง และการก่อการร้ายระหว่างประเทศ – จะเห็นได้ว่าปัญหามุสลิมที่มีแนวคิดสุดโต่งและการก่อการร้ายครั้งนี้ไม่ได้มีรากฐานมาจากเรื่องดินแดนหรือการเรียกร้องอำนาจการปกครองตนเองเหมือนกับกรณีกลุ่ม LTTE หากแต่เป็นแรงจูงใจอันเกิดจากปัจจัยภายนอก แต่กระนั้นก็ตาม ความแตกแยกทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นก็มีส่วนที่ทำให้กลุ่ม NTJ ซึ่งเป็นกลุ่มท้องถิ่นไปรับการสนับสนุนจากกลุ่มไอเอสที่ต้องการสร้างความแตกแยกหรือการแบ่งแยกทางสังคมอยู่แล้วดังที่กล่าวมา ดังนั้น การสร้างความเป็นเอกภาพภายในสังคมจึงน่าจะเป็นวิธีการรับมือกับปัญหาความสุดโต่งและการก่อการร้ายระหว่างประเทศได้อย่างดี

 

3. ความล้มเหลวด้านการข่าว – ศรีลังกาถูกวิจารณ์อย่างมากว่าล้มเหลวด้านการข่าว มีหลายประเทศพยายามแนะนำให้ศรีลังกาปฏิรูประบบข่าวกรองมานานแล้ว เพราะมองว่าการข่าวกรองที่ใช้ในสมัยต่อสู้กับกลุ่ม LTTE นั้นใช้ไม่ได้กับการรับมือปัญหาการก่อการร้ายสมัยใหม่ที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงทั่วโลกและมีการใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่ทันสมัย แต่ศรีลังกาก็ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะปรับปรุงระบบข่าวกรองของตนหรือไม่ได้ประสานความร่วมมือกับต่างประเทศมากนัก เหตุผลหนึ่งอาจเพราะในช่วงที่ศรีลังกามีปัญหากับชาวทมิฬและต่อสู้กับกลุ่ม LTTE ซึ่งมีเครือข่ายแนวร่วมในหลายประเทศทั่วโลก ในช่วงนั้นหลายประเทศก็มีความสัมพันธ์กับกลุ่มเหล่านี้ จึงทำให้ศรีลังกาไม่ได้ร่วมมือกันในด้านข่าวกรองมากนักตั้งแต่ยุคนั้นเพราะความไม่ไว้ใจ พอมาในยุคปัจจุบัน ศรีลังกาอาจมองว่าไม่จำเป็นที่จะต้องไปทำงานด้านข่าวกรองใกล้ชิดกับประเทศอื่นแล้วเพราะกลุ่ม LTTE ก็ถูกปราบไปแล้ว และกลุ่มสุดโต่งในประเทศก็มีขนาดเล็กมากจนไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่

 

หลายปีก่อนองค์กรมุสลิมในศรีลังกาเองก็เคยแจ้งเตือนทางการว่ามีกลุ่มมุสลิมสุดโต่งภายในประเทศให้ทางการจับตามอง ทางอินเดียกับสหรัฐฯ ก็แจ้งเตือนก่อนเกิดเหตุแล้ว โดยระบุชื่อกลุ่มหรือแม้กระทั่งสถานที่เป้าหมายของการก่อเหตุ แต่ทางศรีลังกาก็ไม่ได้ดำเนินการป้องกันหรือวางมาตราการใดๆ ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าเป็นผลมาจากความขัดแย้งภายในระหว่างประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีที่ไม่ลงรอยกัน จึงทำให้ขาดการประสานงานด้านการข่าวและการรับมือกับสถานการณ์มีปัญหา ดังนั้น จากความล้มเหลวด้านการข่าวได้ให้บทเรียนที่สำคัญเกี่ยวกับระบบข่าวกรองที่จำเป็นต้องปรับปรุงให้ทันต่อยุคสมัย ในขณะเดียวกันเรื่องความมั่นคงระหว่างประเทศควรเป็นวาระสำคัญของชาติที่ไม่ควรมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายหรือทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองภายในมากระทบต่อการป้องกันประเทศเป็นอันขาด

 

4. นักการเมืองชาตินิยมขวาจัด – ในความขัดแย้งและการแบ่งแยกทางสังคม รวมทั้งการจลาจลทางเชื้อชาติศาสนา มักมีนักการเมืองขวาจัดเข้ามาโหนกระแสเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมืองจากการปลุกกระแสชาตินิยมอิงศาสนาของคนกลุ่มใหญ่ในประเทศ เช่น กรณีที่เกิดขึ้นในอินเดียและเมียนมา ในศรีลังกาเองก็มีประสบการณ์นี้เช่นกันกล่าวคือในช่วงทศวรรษ 1980 การที่ชาวสิงหลโกรธแค้นเกลียดชังชาวทมิฬจากปฏิบัติการก่อการร้ายของกลุ่ม LTTE จนนำไปสู่การก่อจลาจลปล้นสะดมชาวทมิฬ ปรากฏว่าพรรคการเมืองที่เป็นสิงหลในยุคนั้นแข่งขันกันชูนโยบายชาตินิยมที่แข็งกร้าวต่อชาวทมิฬ จนท้ายที่สุดพอมาในยุคของอดีตประธานาธิบดีราชปักษา เขาก็ได้ใช้กำลังปราบปรามกลุ่ม LTTE อย่างหนักโดยไม่สนเสียงวิจารณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนเลย แต่นั่นทำให้เขาได้รับคะแนนนิยมและชนะในการเลือกตั้งในเวลาต่อมา ความขัดแย้งระลอกใหม่ของศรีลังกาอาจกลับไปสู่วังวนเช่นนี้ที่กระตุ้นโดยนักการเมืองขวาจัด โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่อิงศาสนา อีกทั้งนายราชปักษาก็ยังคงวนเวียนอยู่ในแวดวงการเมืองศรีลังกาอยู่ ดังนั้น ทุกสังคมในโลกขณะนี้จึงต้องเฝ้าระวังนักการเมืองขวาจัดที่จะปั่นคะแนนนิยมจากความขัดแย้งและการแบ่งแยกสังคมบนฐานความแตกต่างทางศาสนา

 

5. การปกป้องสัญลักษณ์ทางศาสนา การก่อการร้ายที่ศรีลังกาชี้ชัดว่ากลุ่มก่อการมีเป้าหมายโจมตีที่สัญลักษณ์ทางศาสนาของชนกลุ่มน้อยชาวคริสเตียน และน่าจะหวังผลสร้างความแตกแยกทางสังคมในประเทศด้วย (ด้วยเหตุผลที่อธิบายแล้ว) การโจมตีโบสถ์คริสต์ในเมืองพุทธ ไม่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งนักเพราะโดยปกติแล้วการก่อการร้ายเป็นปฏิบัติการของพวกที่อ่อนแอกว่าและมุ่งโจมตีเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์หรือผลประโยชน์ของคนกลุ่มใหญ่เพื่อส่งสัญญาณหรือสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐ หรือไม่ก็เพื่อสั่นคลอนความมั่นคงของสังคม แต่การก่อเหตุครั้งนี้กลับโจมตีโบสถ์คริสต์ซึ่งเป็นศาสนาที่มีผู้คนนับถือมากที่สุดในโลก จึงอาจจะเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของกลุ่มก่อการร้ายในการก่อกวนและสร้างการแบ่งแยกทางสังคมในเมืองพุทธ หรือไม่ก็ประเทศที่ไม่ใช่ทั้งอิสลามและคริสต์ในที่อื่นๆ ของโลกต่อไป ซึ่งองค์ประกอบและเป้าหมายของการก่อเหตุแบบนี้จะส่งสะเทือนทั้งระดับสากลลงไปจนถึงท้องถิ่นและชุมชนนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ สัญลักษณ์ทางศาสนาจึงตกเป็นเป้าของการโจมตีอย่างหวังผลเชิงยุทธศาสตร์ ดังนั้นหน่วยงานความมั่นคง ผู้นำศาสนา และสังคมควรร่วมมือกันปกป้องสัญลักษณ์ทางศาสนา เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกทางสังคม อันจะเป็นการตกหลุมพรางของกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มการเมืองขวาจัด

 

ทั้งหมดนี้คือสถานการณ์ศรีลังกาที่อาการน่าเป็นห่วงและบทเรียนที่เราไม่อาจมองข้ามได้

 

ภาพ: Getty Images

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising