รานิล วิกรมสิงเห รักษาการประธานาธิบดีศรีลังกา ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าว CNN โดยถือเป็นสื่อต่างชาติสำนักแรกที่ได้สัมภาษณ์ นับตั้งแต่ที่เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี แทนที่อดีตประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ที่ลี้ภัยออกนอกประเทศไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจและการประท้วงที่รุนแรง
โดยวิกรมสิงเหเปิดเผยข้อมูลว่า รัฐบาลก่อนหน้าภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีราชปักษา ได้ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิกฤตการเงินของประเทศที่กำลังย่ำแย่ และไม่ยอมบอกความจริงต่อประชาชน ว่าศรีลังกานั้น ‘ล้มละลาย’ จนจำเป็นต้องหันไปพึ่ง IMF
วิกรมสิงเหกล่าวว่า ศรีลังกานั้นได้ก้าวถอยหลัง และเศรษฐกิจของประเทศต้องฟื้นกลับขึ้นมา ด้วยการทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งภายในสิ้นปีหน้า เศรษฐกิจของศรีลังกาจะต้องเริ่มกลับมามีเสถียรภาพ ก่อนที่ในปี 2024 จะเริ่มเติบโตได้อีกครั้ง
“ผมอยากจะบอกประชาชน ว่าผมรู้ว่าพวกเขากำลังทุกข์ทรมาน เราก้าวถอยหลังแล้ว และเราต้องดึงตัวเองให้กลับขึ้นมาโดยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เราไม่ต้องการเวลา 5 ปี หรือ 10 ปี แต่ภายในสิ้นปีหน้า เรามาเริ่มทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ และแน่นอนว่าภายในปี 2024 เราจะมีเศรษฐกิจที่ใช้งานได้ซึ่งจะเริ่มเติบโต”
ขณะที่วิกรมสิงเหเปิดเผยต่อ CNN ว่า เขาได้พูดคุยกับอดีตประธานาธิบดีราชปักษา หลังจากที่ลี้ภัยไปยังมัลดีฟส์ และเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์ แต่ไม่ทราบว่าตอนนี้อดีตผู้นำศรีลังกายังอยู่ที่สิงคโปร์หรือไม่
ทั้งนี้ วิกรมสิงเหได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีราชปักษาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีศรีลังกาตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา แทนที่ มหินทา ราชปักษา ผู้เป็นพี่ชาย โดยถือเป็นการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 6 เพื่อทำหน้าที่แก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเลวร้ายอย่างมาก ก่อนที่ประธานาธิบดีราชปักษาจะลี้ภัยและประกาศลาออก
วิกรมสิงเหเคยประกาศคำมั่น หลังถูกกลุ่มผู้ประท้วงบุกเผาบ้านพักในกรุงโคลัมโบ โดยยืนยันว่าจะยอมลาออกภายหลังได้รัฐบาลเอกภาพชุดใหม่ แต่หลังจากนั้น เขากลับขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการและประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์ทั่วประเทศ ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่กลุ่มผู้ประท้วงที่ต้องการให้วิกรมสิงเหลาออกจากตำแหน่งเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม วิกรมสิงเหนั้นยืนยันว่า จะท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีศรีลังกาคนใหม่ในการโหวตเลือกตั้งภายในรัฐสภาศรีลังกาวันพรุ่งนี้ (20 กรกฎาคม) ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรี 6 สมัยที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรค ‘ศรีลังกา โพดูจานา เปรามูนา’ (Sri Lanka Podujana Peramuna) อันเป็นพรรครัฐบาล จะต้องเผชิญกับผู้สมัครคู่แข่งอย่างน้อย 3 คน
แต่การเสนอชื่อวิกรมสิงเหเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ถูกจับตามองว่าอาจกลายเป็นภัยคุกคามและเป็นการ ‘เติมเชื้อไฟ’ ซ้ำเติมสถานการณ์ในประเทศที่เผชิญความวุ่นวายจากการประท้วง
สำหรับเหตุการณ์กลุ่มผู้ประท้วงบุกทำเนียบประธานาธิบดีและบุกเผาบ้านพักของวิกรมสิงเหนั้นกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลกที่สะท้อนถึงความโกรธแค้นของประชาชนศรีลังกาที่มีต่อรัฐบาลราชปักษา
โดยวิกรมสิงเหเผยต่อ CNN ถึงความสูญเสึยที่เกิดขึ้น ว่าสิ่งของสำคัญส่วนใหญ่ในบ้านถูกไฟเผาทำลาย ไม่ว่าจะเป็น หนังสือกว่า 4,000 เล่ม ซึ่งหลายเล่มมีอายุนับร้อยปี และเปียโนอายุ 125 ปี
แต่ถึงแม้จะเผชิญความโกรธแค้นของผู้ประท้วง เขายังยืนกรานที่จะชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยบอกกับ CNN ว่า ‘เขาไม่เหมือนกับรัฐบาลราชปักษา’
“ผมไม่เหมือนกัน ประชาชนรู้ดี ผมมาตรงนี้เพื่อจัดการเรื่องเศรษฐกิจ” เขากล่าว
และเมื่อถูกถามว่า ทำไมเขาถึงอยากเป็นประธานาธิบดี และทำให้ตัวเองต้องกลายเป็นเป้าหมายของการประท้วง วิกรมสิงเหบอกว่า “ผมไม่ต้องการให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในประเทศ อะไรที่เกิดกับผมนั้น ผมไม่ต้องการให้คนอื่นๆ เดือดร้อน แน่นอนว่าผมไม่ต้องการให้สิ่งนั้นเกิดกับคนอื่นๆ”
ขณะที่เขาร้องขอต่อกลุ่มผู้ประท้วงว่า อย่าขัดขวางรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภาจากการทำหน้าที่โหวตเลือกประธานาธิบดีในวันพรุ่งนี้ และชี้ว่าประชาชนสามารถประท้วงได้อย่างสันติ พร้อมทั้งยืนยันว่ารัฐบาลพยายามป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ (ตำรวจและทหาร) ใช้อาวุธในการควบคุมสถานการณ์ ภายหลังมีการประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวศรีลังกายังคงเป็นไปด้วยความวุ่นวายและยากลำบาก ประชาชนยังต้องต่อแถวนานหลายชั่วโมงเพื่อรอความหวังที่จะซื้อน้ำมัน ขณะที่ร้านค้าและธุรกิจต่างๆ ต้องปิดตัว และซูเปอร์มาร์เก็ตไม่มีสินค้าวางขาย
ซึ่งวิกรมสิงเหเผยว่าเขาสามารถ ‘เข้าใจในสิ่งที่ประชาชนศรีลังกาเผชิญอยู่’
“ผมบอกพวกเขาว่ามี 3 สัปดาห์ที่เลวร้าย และระบบทั้งหมดได้พังทลาย เราจะไม่มีก๊าซ เราจะไม่มีดีเซล มันแย่นะ” วิกรมสิงเหกล่าว
แต่เขายืนยันว่าจะไม่ยอมปล่อยให้ผู้ประท้วงขัดขวางการโหวตเลือกประธานาธิบดี และจะไม่ยอมให้ผู้ประท้วงบุกเข้ารัฐสภา เพราะ ‘ต้องมีกฎหมายและความสงบเรียบร้อยในประเทศ’
แฟ้มภาพ: Photo by Tharaka Basnayaka / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง: