×

นายกฯ เผย เยือนทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส พร้อมปาฐกถาตอกย้ำความสัมพันธ์ใกล้ชิด ดึงนักลงทุนข้ามชาติ ลงทุนขนส่ง-การบิน-ดิจิทัล

โดย THE STANDARD TEAM
16.05.2024
  • LOADING...
เศรษฐา มาครง

วันนี้ (16 พฤษภาคม) เวลา 10.50 น. (เวลาท้องถิ่นกรุงปารีส ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง) ณ ศูนย์ประชุม L’Apostrophe กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมและกล่าวปาฐกถาในงาน Thailand – France Business Forum 

 

โดยระหว่างทาง นายกรัฐมนตรีเปิดเผยสั้นๆ ถึงความคาดหวังในการเดินทางเยือนฝรั่งเศสครั้งนี้ว่า มี 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ ตอกย้ำความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมระหว่างทั้ง 2 ประเทศ และหวังว่าหลังจากการประชุมครั้งนี้ที่จะมีการพูดคุยระหว่างนักธุรกิจทั้ง 2 ประเทศ จะมีการลงทุนข้ามชาติอีกมากมายตามมา 

 

จากนั้นนายกรัฐมนตรีปาฐกถาตอนหนึ่ง ระบุว่า ฝรั่งเศสถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคยุโรปที่นายกรัฐมนตรีเยือนอย่างเป็นทางการ และในครั้งนี้ถือเป็นการเยือนครั้งที่ 2 ในช่วงเวลา 3 เดือน สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างกัน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้เชิญผู้บริหารองค์กร Comité Colbert เยือนไทย เพื่อสัมผัสวัฒนธรรมและงานฝีมือของไทย ซึ่งไทยต้องการเรียนรู้ความเชี่ยวชาญ และร่วมมือกับฝรั่งเศสในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย 

 

และวันนี้ได้นำคณะนักธุรกิจชั้นนำของไทยร่วมการเยือนในครั้งนี้ด้วย ถือเป็นความมุ่งมั่นร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง เพื่อต้องการสร้างเวทีให้ภาคเอกชนชั้นนำได้พบปะ เชื่อมโยง และร่วมงานกัน ซึ่งเชื่อมั่นว่างาน Thailand – France Business Forum จะถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี 

 

ทั้งนี้ ไทยถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 3 ของฝรั่งเศสในอาเซียน ซึ่งเชื่อมั่นว่าในการนำของรัฐบาล ไทยจะเป็นพันธมิตรที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสในภูมิภาคได้ และภาคเอกชนของทั้ง 2 ประเทศมีความร่วมมือที่แข็งแกร่ง 

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลไทยเพิ่งเปิดตัววิสัยทัศน์ ‘IGNITE THAILAND’ เพื่อยกระดับไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมระดับโลก ซึ่งวิสัยทัศน์นี้นำเสนอศักยภาพมากมายสำหรับภาคเอกชนฝรั่งเศสที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทย 

 

โดยนายกรัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยนประเด็นสำคัญ 3 ด้าน คือ 1. ด้านการขนส่ง ตั้งเป้าหมายผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเมกะโปรเจกต์อย่างโครงการแลนด์บริดจ์ 

 

2. ด้านการบิน รัฐบาลต้องการผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการบิน ทั้งผู้โดยสารและสินค้า ผ่านการเร่งดำเนินแผนการสร้างสนามบินใหม่และปรับปรุงสนามบินเดิม พร้อมวางแผนพัฒนาการซ่อมบำรุงอากาศยาน 

 

และ 3. ดิจิทัล ไทยมีอินเทอร์เน็ต 5G ที่ครอบคลุม และโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ซึ่งผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค 

 

ทั้งนี้ ความสำเร็จของโครงการเหล่านี้สามารถทำให้ไทยกลายเป็นประตูสู่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของฝรั่งเศส 

 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีหวังว่าฝรั่งเศสจะสนับสนุนการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งเมื่อลงนามแล้วเสร็จ คาดว่าจะเพิ่มปริมาณการส่งออกจากสหภาพยุโรปมายังไทยกว่าร้อยละ 40 และเพิ่มปริมาณการส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรปมากกว่าร้อยละ 25 โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศจะเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุการเจรจา FTA ดังกล่าว รวมถึงเน้นย้ำเรื่องความยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านสีเขียว และในวันนี้ภาคเอกชนด้านเกษตรและอาหารของไทยจะลงนาม MOU ด้าน Sustainable Mobility ร่วมกับฝ่ายฝรั่งเศส โดยไทยต้องการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต โดยเฉพาะในห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 

 

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำ 2 ประเด็นสำคัญ คือ 

 

  1. เชื่อมั่นว่าการติดต่อและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันจะทำให้เกิดความเข้าใจ วางใจ และมั่นใจต่อกันมากขึ้น จึงเชิญชวนให้ฝ่ายฝรั่งเศสเดินทางมายังประเทศไทยมากขึ้น โดยรัฐบาลได้อำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่า และหวังอย่างยิ่งว่าไทยจะได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสในการยกเว้นการตรวจลงตราเข้าเขตเชงเก้น สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทย 

 

  1. ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับการดำเนินธุรกิจ รัฐบาลมีทิศทางนโยบายที่ชัดเจน มีแรงจูงใจที่ดี และมีความมุ่งมั่น เพื่อสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่างไทยกับฝรั่งเศสให้เจริญรุ่งเรือง และหวังว่างานนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้เข้าร่วมทุกคน 

 

ด้าน ฟรองซัวส์ กอร์แบง (François Corbin) ประธานสภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทย และรองประธานสภานายจ้างฝรั่งเศสในต่างประเทศ (MEDEF International: MEDEFi) กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าในงานนี้จะเพิ่มตัวเลขทางการค้าและเพิ่มความสัมพันธ์ในการทำธุรกิจระหว่างไทยกับฝรั่งเศสมากขึ้น 

 

ส่วน ฟรังก์ รีสเตอร์ (Franck Riester) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ด้านการค้าต่างประเทศ ความน่าสนใจทางเศรษฐกิจ และคนชาติในต่างประเทศ กล่าวว่า เชื่อว่าความร่วมมือ FTA ไทย-สหภาพยุโรป จะช่วยด้านการค้าการลงทุนมากขึ้น และความร่วมมือในด้านต่างๆ เหล่านี้จะปูทางไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน 

 

ทั้งนี้ งาน Thailand – France Business Forum เป็นผลสำเร็จจากการเดินทางเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 เป็นการจัดงานส่งเสริมการค้าระหว่างกัน และสนับสนุนให้ภาคเอกชนฝรั่งเศสเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ขยายความร่วมมือในสาขาที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจร่วมกัน ได้แก่ สาขา 1. Energy 2. Circular Industry 3. Mobility / Construction / Transportation 4. Food & Beverages 5. Hospitality และ 6. Sustainable Cities 

 

จากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางไปยังทำเนียบประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อพบปะหารือและเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันกับ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ก่อนจะเดินทางไปยังท่าอากาศยานปารีส-ออร์ลี เพื่อไปยังเมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising