×

คำต่อคำฉบับเต็ม ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เปิดใจทุกประเด็นที่ THE STANDARD ครั้งแรก หลังนั่งนายกฯ

โดย THE STANDARD TEAM
19.09.2023
  • LOADING...
เศรษฐา ทวีสิน

เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์เปิดใจทุกประเด็นที่แรกกับ THE STANDARD ภายหลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมี นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

THE STANDARD เปิดคำให้สัมภาษณ์ของเศรษฐาฉบับเต็มแบบคำต่อคำ

 

นครินทร์: ตั้งแต่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมา มีความรู้สึกแตกต่างจากตอนเป็น CEO หรือไม่

 

เศรษฐา: ความรู้สึกแตกต่างแน่นอน ยังไม่คุ้นชินกับตำแหน่งนี้ เพราะเป็นตำแหน่งที่ใหญ่มากและมีความรับผิดชอบที่สูงมาก เราไปนั่งที่ไหนที่มีป้ายอยู่ข้างหน้า เป็นอะไรที่เตือนตลอดเวลาว่ามาอยู่ตรงนี้ต่างกับ CEO บริษัท เพราะ CEO บริษัทมาด้วยผู้ถือหุ้น ถึงแม้จะเป็นบริษัทมหาชน จะมีไม่กี่หมื่นคน แต่ก็ถือเป็นภาคส่วนที่เล็กกว่าเยอะมาก พอมีป้ายชื่อนายกรัฐมนตรีมันแบกความหวัง 68 ล้านคน ไม่ว่าจะเลือกหรือไม่เลือกเราก็ตามที อันนี้เป็นสิ่งที่หนัก ไม่คุ้นชิน และอีกนานถึงจะคุ้นชินกับตรงนี้

 

นครินทร์: เท่าที่ดูเรื่องของกระแสประชาชนที่มีต่อคุณเศรษฐา ทั้งในแง่ทางการหรือโซเชียลมีเดีย เห็นแล้วเป็นอย่างไรบ้างครับ

 

เศรษฐา: ตอนก่อนที่จะรับตำแหน่งนายกฯ ที่จะพอมีเวลาอยู่บ้างก็อ่านอยู่ มีหลายความรู้สึก ก็เข้าใจได้ในบางความรู้สึก ไม่อยากใช้คำว่าไม่เห็นด้วย แต่ใช้คำว่าเห็นต่างจากการที่จะมารับตำแหน่งตรงนี้ เพราะเรื่องการรักใครชอบใคร เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ ช่วงก่อนการเลือกตั้งมีการพูดอะไรไป หลังการเลือกตั้งผลออกมาเป็นอย่างไร ถ้าเป็นการติอย่างมีเหตุมีผล ผมก็รับฟัง แล้วมาคิดว่าควรจะต้องปรับปรุงหรือทำอย่างไร ถ้าติมา บางอย่างเราทำไม่ได้จริงๆ ก็ต้องให้เวลาเป็นตัวพิสูจน์ เพื่อให้มีทางออกระยะสั้น ระยะยาว 

 

แต่หากมีการติอะไรที่เป็นการด้อยค่าหรืออาจไม่ยุติธรรมเท่าไร ผมก็พยายามที่จะกันออกไป เพื่อไม่ให้มาบั่นทอนความรู้สึก บั่นทอนกำลังใจที่มากับหน้าที่ตรงนี้ เพราะผมก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน ก็พยายามรับฟังทุกเสียง อะไรที่ไม่ยุติธรรมก็ต้องกันออกไปบ้าง

 

เศรษฐา ทวีสิน

 

มีลุงไม่มีเรา-คำมั่นสัญญา-ตระบัดสัตย์

 

นครินทร์: คุณเศรษฐาเคยให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า “มีลุงไม่มีผม” บอกว่าจะไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ตอนนี้มันข้ามขั้วไปเลย ทำให้หลายคนรับไม่ได้ นี่ผิดสัญญากับประชาชน หรือแรงกว่านั้นคือคุณกำลังตระบัดสัตย์ต่อประชาชน คุณเศรษฐามีคำตอบเรื่องนี้อย่างไร

 

เศรษฐา: ถ้าย้อนเวลาไป ผลเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมออกมาแล้ว ตัวเลขทางคณิตศาสตร์ออกมาอย่างไร เราได้ที่ 2 น้อยกว่าที่ 1 ประมาณ 10 คะแนน เราทำอย่างไร ไปจับมือกับที่ 1 ก็ไม่สามารถผ่านด่าน สว. ได้ แล้วถ้าทางพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าต่อ จะเดินต่ออย่างไร การที่จะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ การที่มีอำนาจรัฐในมือ การที่มีนโยบายดีๆ ที่จะนำเสนอต่อประชาชนคนไทยทุกคน มันต้องการผ่านกลไกของการเป็นรัฐบาล 

 

คุณเคนคิดว่าผมมีทางออกอะไรบ้าง ถ้าไม่สามารถจับมือกับพรรคก้าวไกลได้ เพราะผมจับมือเขา ผมเดินต่อไม่ได้ เพราะ สว. ไม่โหวตให้ คณิตศาสตร์มันเด่นชัด สว. มีอำนาจอยู่ ที่มาที่ไปของ สว. เราทราบดีอยู่แล้ว คุณเคนทราบจุดยืนของผมที่มีต่อ สว. ผมบอกว่าผมไม่เคยบอก สว. เป็นคนไม่ดี แต่ที่มาที่ไปอาจไม่ถูกต้อง แต่ว่าอยู่กับความเป็นจริง ณ หลังวันที่ 14 พฤษภาคม สว. มีสิทธิมีเสียงเลือกนายกฯ

 

เราให้โอกาสพรรคอันดับ 1 เดินหน้ารวบรวมเสียงเพื่อให้ได้ 376 เขาทำไม่ได้ ตัวเลือกต่อไปคือ เขาส่งไม้ต่อให้เรา แล้วถ้ายังรวมกับก้าวไกลแล้วไปขอให้เปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาลจากพิธามาเป็นผม หรือแคนดิเดตอื่นๆ ของพรรคเพื่อไทย ผมมีก้าวไกลอยู่ แต่ก้าวไกลมีนโยบายที่ สว. 250 เสียง พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติไม่เอา คณิตศาสตร์พื้นฐานอย่างไรก็ไปไม่ได้ ผมไม่มีโอกาสก้าวข้าม 375 ไปได้ มีคนอีก 10 ล้านเสียงที่อยากให้ผมเป็นรัฐบาล นำนโยบายดีๆ มาแก้ปัญหาปากท้อง ผมก็ต้องไปจับมือกับพรรคอื่น ผมอยากให้ลืมวาทกรรมเรื่องลุง 

 

นครินทร์: คุณเศรษฐาก็เป็นคนพูดเรื่องลุงเอง แล้วพูดตามตรงว่าหลายคนเลือกเพื่อไทยด้วยวาทกรรมหรือประโยคนี้

 

เศรษฐา: ส่วนหนึ่งครับ ผมคิดว่าส่วนหนึ่ง ไม่ผิดครับ แต่ผมไปต่อไม่ได้ แล้วตัวเลือกอื่นๆ ไม่มีเลยที่ให้พรรคเพื่อไทยเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลได้ บอกผมหน่อยมีตัวเลือกไหนบ้าง ผมก็ต้องเลือก เพราะคน 10 ล้านเสียงเลือกให้ผมเป็นรัฐบาล อย่างไรผมก็ต้องเป็นรัฐบาล ถ้าผมจะเป็นรัฐบาลจะเอาเสียงจากไหนมาก้าวข้าม 376 เสียงได้ ในเมื่อพรรคที่ได้อันดับ 1 มีนโยบายที่หลายร้อยเสียงไม่เห็นด้วย แล้วคุณจะให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งเขาไม่เอา มันก็ไปต่อไม่ได้ คนที่เดือดร้อนคือประชาชน เพราะไม่มีรัฐบาล ทำอย่างไรก็ทำไม่ได้ พรรคอื่นๆ เขาก็ไม่ไปจับมือกับพรรคเบอร์ 1 มันเป็นคณิตศาสตร์พื้นฐาน เป็นข้อบังคับของผลการเลือกตั้งที่ออกมา 

 

นครินทร์: คุณเศรษฐากำลังจะบอกว่าคณิตศาสตร์บีบบังคับให้ทำแบบนั้น?

 

เศรษฐา: คณิตศาสตร์บวกนโยบายของพรรคที่ได้อันดับ 1 ที่มีหลายพรรคการเมืองไม่เห็นด้วย ซึ่งทำให้เขาไม่สามารถรรวบรวมคะแนนเสียงก้าวข้ามไปได้

 

นครินทร์: แล้วกับคำสัญญาที่ให้กับประชาชนเอาไว้ ถือว่าเป็นสิ่งที่เราผิดคำสัญญาหรือโกหกกับประชาชนหรือไม่

 

เศรษฐา: ผมไม่ใช้คำว่าโกหก แต่ผลการเลือกตั้งที่ออกมามีทางออกไหนหรือเปล่า ถ้ามีก็บอกผมหน่อยแล้วกันว่าเป็นทางออกไหน คอย 9 เดือนไม่ได้แน่นอน คอยไม่ได้ครับ ประเทศชาติคอยไม่ได้ ไปเรื่อยๆ แล้วประชาชนที่เดือดร้อนหลายสิบล้านคนทำอย่างไร เรื่องค่าไฟ ค่าน้ำมัน การพักหนี้สินเกษตรกร ทำอย่างไร ถ้าจะบอกว่าผิดคำให้สัญญา อะไรก็ตามที คณิตศาสตร์ออกมามันชี้นำ มันเป็นอย่างนี้ ให้เราทำนโยบายดีๆ ให้ประชาชน จะเป็นการทำให้หลายคนสบายใจขึ้นหรือเปล่า ผมก็ไม่ทราบ ผมมีหน้าที่ที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน

 

นครินทร์: ต้องยอมรับว่าการตัดสินใจในครั้งนี้ทำให้ต้นทุนพรรคเพื่อไทย เราเห็นกระแสไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไปมาเรียกร้องแล้วบอกว่าทำแบบนี้ทำไมไม่บอกตั้งแต่แรก เราเห็นเพื่อนที่ร่วมเดินทางมากับคุณเศรษฐาหลายๆ คนก็ต้องเดินออกจากไป เพราะว่าไม่สามารถที่จะทำแบบนี้ได้ ต้นทุนที่เสียไป ความเชื่อมั่นที่เสียไป เราจะทำอย่างไร

 

เศรษฐา: เราก็ต้องเรียกศรัทธากลับมาจากการทำงานของเรา ต้องทำงานหนัก ลืมความเหน็ดเหนื่อย ต้องดูให้ดี เรื่องความซื่อสัตย์สุจริต เรื่องการบริหารงาน เข็นนโยบายดีๆ ออกมาให้เร็วที่สุด บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน ผมคิดว่าเป็นวิธีเดียวที่ทำได้ แล้วดูว่าจะสามารถเรียกศรัทธากลับมาได้หรือเปล่า

 

นครินทร์: จะเรียกได้ว่าเสียแล้วเสียไป อันนี้ก็ต้องยอมรับ

 

เศรษฐา: ยอมรับครับ ต้องยอมรับ ไม่มีเหตุผลอื่น มีหลายท่านที่เดินออกไป แต่ยังเป็นเพื่อนกันอยู่ ก็เป็นจุดยืนแต่ละคนก็ต้องยอมรับ ให้ความเคารพกับสิ่งที่เขาทำ แต่ผมไม่เคยไปว่าหรือไปถกเถียงให้เกิดประเด็น ตื่นเช้าขึ้นมาก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานกับทีมงานตลอด ก็เข้าใจว่าเราเสียต้นทุนไปเยอะ เราเองเข้ามาบริหารจัดการตรงนี้ พรรคร่วมรัฐบาลก็รู้ว่ากระแสสังคมเป็นอย่างไร ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยอย่างเดียว ดูจากสีหน้าสีตารัฐมนตรีที่เข้ามาก็รู้ มองตาผมก็รู้ว่าเรื่องการทำงาน เรื่องการที่จะเขียนนโยบายดีๆ ที่จะให้โดนใจประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ

 

นครินทร์: ถ้าคนบอกว่าคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ ซึ่งที่เรียกว่าสัญญาประชาคมที่พูดเอาไว้กลับทำไม่ได้ ความเชื่อมั่นต่างๆ เวลาคุณเจอประชาชนที่เขาเลือกคุณมาคนสุดท้าย อยากจะบอกอะไรพวกเขาไหมครับ คนที่เลือกพรรคเพื่อไทยด้วยเหตุผลนั้น หรือคนที่มองเรื่องคำมั่นสัญญาที่คุณให้ไว้แต่กลับคำพูด

 

เศรษฐา: ผมเชื่อว่าอย่างนี้ ถ้าให้โอกาสรัฐบาลทั้ง 11 พรรคมาบริหารจัดการเรื่องความทุกข์ของพี่น้องประชาชน ถ้าจะพูดแทนทั้ง 10 ล้านเสียงของพรรคเพื่อไทย เขาก็อยากให้ผมเป็นรัฐบาล พวกผมจะได้เขียนนโยบายดีๆ ออกมา ก็ต้องดูว่าผลงานที่ออกมาจะเป็นอย่างไร

 

นครินทร์: คุณเศรษฐาเชื่อว่ามีคนที่อยากให้คุณเศรษฐาเป็นรัฐบาล

 

เศรษฐา: ผมมั่นใจครับ มั่นใจใน 10 ล้านคนนี้มีจำนวนเยอะมากๆ ตอนแรกที่ไปจับมือกับฝ่ายที่เราเคยบอกว่าจะไม่จับมือ ก็อาจจะผิดหวัง ไม่สบายใจ กังวลใจ แล้วชั่ววูบอาจจะโกรธ แต่ทุกๆ คนในพรรค ท่านผู้บริหารพรรค สส. อาวุโส เขาลงพื้นที่แล้วอธิบายให้ฟังว่าทำไม เขา (ประชาชน) ก็เข้าใจ

 

นครินทร์: แล้วคนที่ไม่เข้าใจล่ะครับ มีอะไรจะบอกเขา หรือเขารับไม่ได้จริงๆ เราต้องยอมรับนะครับว่ามีกระแสแบบนั้นจริงๆ

 

เศรษฐา: ยังมีอยู่และมีอยู่เยอะด้วยครับ ก็เข้าใจครับ ก็ขอให้ดูผลงานแล้วกัน ผมไม่มีอย่างอื่นที่จะขอร้องหรือวิงวอนอะไรทั้งสิ้น ก็เป็นเรื่องการทำงาน การที่เราผิดคำพูดที่ต้องไปจับมือ เพราะเป็นคณิตศาสตร์และเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องเป็นรัฐบาล ไม่ใช่ว่าอยากจะเป็นนายกฯ จนกระทั่งต้องลืมคำมั่นสัญญาให้กับพี่น้องประชาชน แต่การที่เราต้องก้าวมาอยู่ตรงนี้ ก็ต้องการถืออำนาจรัฐเพื่อที่จะเอานโยบายดีๆ ไปให้กับพี่น้องประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอยู่

 

นครินทร์: ยืนยันว่าไม่ใช่เพราะอยากจะเป็นนายกฯ ไม่ใช่เพราะอยากจะเป็นรัฐบาล หรือพาใครกลับบ้าน ถึงตัดสินใจแบบนี้

 

เศรษฐา: ไม่เกี่ยวเลยครับ ไม่เกี่ยวเลยครับ ไม่มีแน่นอนครับ

 

เศรษฐา ทวีสิน

 

เศรษฐาพบประยุทธ์

 

นครินทร์: มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้โหมไฟกระพือมากขึ้น คือการเดินทางไปพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของคุณเศรษฐา และทางการเมืองหลายคนก็วิพากษ์วิจารณ์เยอะ แล้วก็เห็นท่าทีการชมนกชมไม้ มีการชี้โน่นชี้นี่ต่างๆ นานา ทำไมคุณเศรษฐาถึงเลือกไปพบ พล.อ. ประยุทธ์ 

 

เศรษฐา: ผมดีใจนะครับที่คุณเคนถามอันนี้มา ทีมงานของผม ผมก็ถามเพื่อนสนิท พี่น้องที่ทำงาน ว่าผมพูดมาก่อนเลยว่าไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องคณิตศาสตร์ที่ออกมาหลังเลือกตั้ง ผมบอกว่า ประเทศไทยไม่เคยเห็นเลยนะว่านายกฯ มีการส่งมอบงานซึ่งกันและกันหรือพบปะพูดคุยกัน คนเห็นต่างหรือมีปัญหากันมาแล้วมาพูดคุยกัน อย่างผู้ใหญ่ 2 คนมาพูดคุยกันวันนั้น ผมยังบอกเลยว่าอยากทำอย่างนั้น ผมเป็นคนเสนอเอง ต้องเรียนตรงๆ ว่ามีหลายคนในพรรคไม่เห็นด้วย แต่ผมคิดว่าถ้ามาต้องมาถึงจุดจุดนี้แล้ว เราเป็นผู้ใหญ่ด้วยกันแล้ว ก็โตๆ ด้วยกันแล้ว เราไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ หลายๆ เรื่องที่ท่านทำมา แต่อาจจะมีหลายๆ เรื่องที่เราอยากสานต่อและต้องการพูดคุยกับท่าน เพื่อที่จะเอานโยบายเหล่านั้นมาสานต่อเพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชน 

 

ผมก็ไปขอพบแล้วพูดคุยกัน ซึ่งการพูดคุยเกือบ 1 ชั่วโมง ไม่ได้เป็นการพูดคุยอะไร พูดคุยทั่วไปธรรมดาผู้ใหญ่ 2 คน ผมด้อยอาวุโสกว่า คุยธรรมดากับท่าน รู้ตัวตนท่าน ที่บอกชี้นกชี้ไม้ท่านก็ให้ดูตึกหนึ่งในทำเนียบรัฐบาลที่เป็นตึกเก่า แล้วท่านทำสกินขึ้นมา ประสาทขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ดูรับกับรูปแบบของตึกอื่นๆ ท่านชี้ให้ดู ผมก็ดู ท่านพาชมเท่านั้นเอง มีการพูดคุยกันหลายเรื่อง ไม่ว่าเรื่องสถาบันทหาร เรื่องงานที่ท่านทำอยู่ ตัวตนที่ท่านเป็น และสิ่งที่ท่านเตือนมา ท่านก็เตือนเหมือนตอนวันแรกที่ท่านมีอารมณ์ที่ผมจะมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ธุรกิจเป็นอย่างไร นักธุรกิจกับตรงนี้มันต่างกัน มีหลายภาคส่วน มันลำบาก ตัดสินใจอะไรก็ระวังดีๆ ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่ได้เหนือความคาดหมายของผมอยู่แล้ว 

 

ผมก็บอกว่าจะทำงานหนัก แล้วไม่แน่ใจว่าอาจจะต้องนอนทำเนียบ เพราะบ้านผมแค่ 200 ตารางวา อยู่ใจกลางเมือง ทำให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนหรือเปล่า ต้องกั้นรถเวลาเดินทางไป-มาอาจจะไม่สะดวก ผมอาจจะนอนทำเนียบ ท่านก็บอกว่าดี แต่ระวังคนจะหาว่าสร้างภาพ แล้วท่านก็บอกว่าเดี๋ยวพาไปดูทำเนียบดีกว่า พาคุณเดินไปดูดีกว่า ก็แค่นั้น ไม่ได้มีการพูดอะไรกัน เป็นผู้ใหญ่ 2 คนคุยกัน แล้วก็ฝากฝังงานแค่นั้นเอง อะไรที่ดีอยู่แล้วผมก็จะทำต่อ หลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรที่ดีๆ ผมเองไม่ได้ยึดกับคน ยึดกับความมากกว่า

 

นครินทร์: แต่ในภาพที่ออกมาหลังจากเราเปลี่ยนคำพูดจากครั้งแรก มีคนไม่พอใจส่วนหนึ่งแล้ว แล้วพบกับ พล.อ. ประยุทธ์ อีกครั้งหนึ่ง ทำให้กระแสยิ่งโหมไปมากกว่านี้ ก่อนหน้านี้คุณเศรษฐาวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ. ประยุทธ์ ค่อนข้างเยอะ วิจารณ์ทหารค่อนข้างมาก แต่กลายเป็นว่าภาพวันนั้นกลับไปเจอกันอย่างรวดเร็ว แล้วก็ดูที่ภาพมันค่อนข้าง…

 

เศรษฐา: แต่ผมวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์นะ คงไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงด้อยค่าหรือในเชิงไม่สุภาพ ท่านก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ผมได้เหมือนกัน ก็ไม่ว่าอะไร ก็ตั้งอยู่บนบรรทัดฐานของความยุติธรรมแล้วก็เป็นการติเพื่อก่อ

 

นครินทร์: รู้สึกอย่างไรที่ตอนนี้มีคนเริ่มเปรียบเทียบระหว่างคุณเศรษฐากับ พล.อ. ประยุทธ์ ว่าไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันเลย เพราะรับช่วงต่อจากกัน ทำงานเหมือนกับว่าคล้ายๆ กัน แล้วผมเห็นหลังจากถวายสัตย์ก็มีการแถลง แล้วมีคำว่ามั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลเดิมก่อนหน้านี้มีมา คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ครับ

 

ก่อนหน้านี้คุณเศรษฐาก็วิพากษ์วิจารณ์ พล.อ. ประยุทธ์เยอะมาก แต่ตอนนี้คนมองว่าเป็นการส่งต่อกันด้วยซ้ำ

 

เศรษฐา: จริงๆ แล้วคำว่าส่งต่อไม่ได้แปลว่าต้องทำเหมือนกันหมดทุกอย่าง แล้วการที่บอกว่าผมเป็นผู้นำที่คล้ายคลึงกับ พล.อ. ประยุทธ์ ท่านก็บอกว่าผมไม่ได้เหมือนท่านเลย ถ้าดูด้วยความเป็นธรรมแล้ว ลักษณะคาแรกเตอร์ หรือวิธีการทำงาน การให้ความสำคัญ หรือการบริหารจัดการแผ่นดินต่างๆ ก็มีความแตกต่างแล้ว ก็ขอความเป็นธรรม เพราะจริงๆ แล้วถึงแม้ว่าจะเป็นการพูดคุยกันอย่างผู้ใหญ่ 2 คน ถึงแม้ว่าจะมีพรรคที่ท่านเป็นแคนดิเดตนายกฯ อยู่มาร่วมรัฐบาลด้วย เราก็พูดคุยกันด้วยดี พูดคุยกันด้วยความเคารพ

 

ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงที่พรรคของท่านได้ดูแลอยู่ เช่น กระทรวงพลังงาน ผมทำงานกับท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ด้วยความเคารพ พูดจาปราศรัยกันโดยเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการลดราคาค่าไฟ น้ำมันดีเซล หรือกำลังคุยต่อ ก็จะลดอีก แล้วก็เรื่องน้ำมันเบนซินด้วย ซึ่งเป็นการพูดคุยกันโดยยึดเอาประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ถึงแม้ว่ากระทรวงนี้ไม่ได้ดูแลโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ สมมติว่าเราแลนด์สไลด์ด้วยคะแนนเอ่อ 250 กว่าหรืออะไรก็ตามแต่ เราก็คงทำแบบนี้ วันนี้เราก็ทำได้แม้ว่ามีพรรครวมไทยสร้างชาติแล้วก็ทำได้ ผมขอให้ดูที่ผลงานดีกว่า

 

เศรษฐา ทวีสิน

 

ปฏิรูปหรือพัฒนากองทัพ

 

นครินทร์: เรื่องที่เราได้เห็นกันคือเรื่องที่ในสภาก็พูดกันเหมือนกัน คือ 2 ก. โดยเฉพาะเรื่องกองทัพ ที่ก่อนหน้านี้อาจจะดุดัน แต่ตอนนี้คนมองว่าอาจจะ ‘กลัว’ แล้วก็ ‘เกรงใจ’ โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปกองทัพ การจัดการกองทัพให้อยู่ในกรมในกองให้ถูกต้อง ทำไมตอนนี้ท่าทีดูเกรงใจแล้วก็กลัว

 

เศรษฐา: ไม่ได้กลัว แต่ผมขอความเป็นธรรมนะครับ คำว่าปฏิรูปนี่ผมไปในหลายๆ เวที ผมบอกตลอดเวลาว่าไม่ชอบ คุณเคนต้องปฏิรูปตัวเอง ผมต้องปฏิรูปตัวเอง ผมไม่ชอบ ผมบอกตลอดเวลา บอก สส. ในพรรคตลอดเวลาว่าคำนี้ผมไม่ชอบ นี่คือตัวตนของผม บางคนอาจจะใช้คำนี้ก็เรื่องของเขา ผมเองยืนยันว่าไม่อยากใช้คำว่าปฏิรูป ผมใช้คำว่าพัฒนามาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนจนกระทั่งถึงหลัง (เลือกตั้ง) แต่นโยบายของพรรคเขาเขียนอย่างนั้น แต่ในส่วนตัว ผมพูดตลอดเวลาเรื่องนี้ว่าต้องการการพัฒนา แล้วจุดยืนผมก็ไม่ได้เปลี่ยน ผมโฟกัส 3-4 เรื่อง เรื่องทหารที่มาช่วยในการพัฒนา เช่น เรื่องภัยพิบัติ แต่จะขอความกรุณาจากท่านผู้บัญชาการทหารสูงสุดกับผู้บัญชาการกองทัพบก ซึ่งมีการคุยกันวันนั้นว่าจะพยายามให้ใช้กำลังทหารที่มีระเบียบวินัยดีมาช่วยพัฒนา เรื่องการต่อต้านเอลนีโญ เรื่องภาวะโลกเดือดที่จะมีปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำแล้งตลอดเวลา ซึ่งกำลังทหารมีเครื่องจักร มีบุคลากรที่ดีที่มาช่วยตรงนี้

 

เรื่อง 2 คือที่ดินทำกิน ก็ไม่ได้ผิดแผกกับนโยบายที่แถลง ทหารมีพื้นที่กี่ล้านไร่ ผมจำตัวเลขไม่ได้หรอก ก็ไปขอท่านว่าถ้าตรงไหนไม่ใช้แน่ๆ ก็ตัดออกมา แล้วดูว่าเป็นส่วนไหนที่ทำพื้นที่ให้ประชาชนสามารถทำมาหากิน แล้วคุยไปมากกว่านั้นด้วยว่าไม่ใช่แค่แปะพื้นที่แค่นั้นแล้วมาจัดการกันเอง แล้วประชาชนจะมีทุนที่ไหนในการมาทำระบบน้ำ ทำระบบชลประทาน เราเลยบอกว่าให้ทหารลองทำดูได้ไหม โดยที่ทหารบอกว่าทำได้ แต่ต้องระวังประชาชนที่จะไปปล่อยให้นายทุนเช่าต่อ ก็ต้องมีระบบดูแลที่ชัดเจน

 

เรื่องเกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ ผมไม่เคยบอกว่ายกเลิก ไม่เคยพูดคำว่ายกเลิก ผมไม่เข้าใจคำว่ายกเลิกคือไม่ให้มีทหารอีกแล้ว คนที่เกษียณหรือตายไปจะให้กำลังกองทัพไม่มีเลยเหรอ ผมไม่ทราบ ไม่รู้ แต่พรรคเพื่อไทยชัดเจน แล้วผมพูดตลอดทุกวินาทีว่าเป็นการเกณฑ์โดยสมัครใจ ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ผมก็มีการพูดคุย ทุกอย่างมีอยู่ในกรอบที่เราพูดคุยกัน การซื้ออาวุธต่างๆ ก็ต้องดูให้ดี เวลาไปซื้ออาวุธต้องดูว่าสามารถตอบแทนอย่างอื่นได้ไหม เช่น การซื้อเครื่องบินจากสหรัฐอเมริกา เราสามารถผูกโควตาข้าวไปด้วยได้ไหม ขอให้ผมเป็นคนเจรจา ผมก็พูดกับท่านผู้บัญชาการเหล่าทัพอย่างนั้น ท่านติดอะไรก็ให้รัฐบาลช่วยเจรจา ก็บอกผมว่าจุดยืนของผมกับทหารไม่ได้แตกต่าง ผมพูดเรื่องพัฒนาสถาบันทหาร แล้วผมจะไปเจอกับผู้นำเหล่าทัพไม่ได้ อย่างไรก็ต้องเจอ อย่างไรก็ต้องพูดคุยกัน ยืนยันครับ ไม่ได้เปลี่ยนจุดยืน

 

เศรษฐา ทวีสิน

 

จุดยืนเศรษฐากับรัฐประหาร

 

นครินทร์: นโยบายพรรคเพื่อไทยชัดเจนว่าจะยืนยันปกป้องเรื่องทำรัฐประหาร แต่เมื่อคุณเศรษฐามาเป็นรัฐบาล ท่าทีเปลี่ยนไปหรือเปล่า

 

เศรษฐา: เปล่าครับ ไม่เห็นด้วยการรัฐประหารเลยครับ การปกครองต้องมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อยู่ดีๆ เอาปืนมาจี้ อย่างไรผมก็ไม่เห็นด้วย ให้พูดก็พูดได้อีกว่าไม่เห็นด้วย ชัดเจนครับ ไม่ได้เปลี่ยน แต่ไม่เห็นด้วยไม่ได้แปลว่าไม่พูดคุยกัน เราต้องอยู่ร่วมกันในสังคม การเห็นต่างกับสิ่งที่เขาทำไปในอดีตก็ต้องว่ากันไป เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องปกป้องรักษาไว้ซึ่งจุดยืนที่มี ความเชื่อ แล้วไปโฟกัสในสิ่งที่เราทำได้ ที่สามารถทำร่วมกัน อะไรที่เห็นร่วมกันก็ทำกันไป ไม่มีประโยชน์ที่จะไม่พูดกัน เพราะอย่างไรเสียก็ต้องทำงานร่วมกัน ภาคราชการ ภาคทหาร ตำรวจ ทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกัน ยืนยันครับ

 

นครินทร์: ยืนยันท่าทีต่างๆ ไม่กลัว ไม่เกรงใจ

 

เศรษฐา: ไม่กลัว ไม่เกรงใจ เราอยู่ด้วยกันอย่างผู้ใหญ่ครับ ท่านผู้บัญชาการทหารสูงสุด ท่านผู้บัญชาการทหารบก ทุกคนก็อายุ 50 กว่าแล้ว ทุกคนเป็นผู้ใหญ่ผู้จัดการด้วยเหตุด้วยผล ท่านบอกไม่ได้คือไม่ได้ ทุกคนมีขอบเขตจำกัดตรงไหนก็บอกมา อาจจะไม่เห็นตรงกันทุกเรื่อง แต่ ณ เวลานี้พี่น้องประชาชนกำลังประสบปัญหาเยอะ อย่าเอาความไม่เห็นด้วยมาเป็นเหตุผลในการที่จะไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ กับบางนโยบายที่เราเห็นด้วยก็คุยกันพูดจากัน แต่อย่ามารวมเป็นเรื่องใหญ่เรื่องเดียวแล้วดันออกไปไม่ได้ ส่วนเรื่องที่ยังตกลงไม่ได้ก็คุยกันไปจนกระทั่งเห็นด้วย 

 

นครินทร์: ยืนยันว่าการจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ การเดินทางไปพบกับ พล.อ. ประยุทธ์ จุดยืนยังเหมือนเดิมกับกองทัพ

 

เศรษฐา: เหมือนเดิมครับ ก็ต้องร่วมกันพัฒนาประเทศไป ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร

 

นครินทร์: แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปเหมือนกัน

 

เศรษฐา: ผมใช้คำว่าพัฒนา ผมไม่ทราบว่าพัฒนากับปฏิรูปต่างกันอย่างไร ความคิดส่วนตัวแล้วกัน อันนี้ต้องขอเอาความคิดส่วนตัวว่า ถ้าเอาคำว่าพัฒนามันดูสร้างสรรค์มากกว่า มันคือวิธีการจากจุด ก. ไปจุด ข. แต่วิธีการนี้ก็คิดว่าไปได้เหมือนกัน ผมไม่เอาคำพูดที่โดนใจแทงใจแล้วได้คะแนนเสียง ผมเอาผลงานเป็นหลักว่าถ้าเอาคำพูดอย่างไรแล้วคิดว่าไปถึงจุดมุ่งหมายที่ดีกว่า ผมก็จะใช้คำนั้น ผมไม่ทราบว่าคนอื่นจะเห็นอย่างไร ผมก็ใช้คำนี้มาตลอด

 

นครินทร์: ฉะนั้นยืนยันว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงท่าที คำพูดใดๆ ไม่ใช่ว่า สว. ของ พล.อ. ประยุทธ์ โหวตให้แล้วเปลี่ยน ต้องขอบคุณอะไรแบบนั้นไม่มี

 

เศรษฐา: ไม่มี ผมก็ไปเจอ ไปรับประทานอาหารในห้องรับประทานอาหารของ สส. เจอท่าน สว. ก็ไหว้ พูดคุยกันเท่านั้นเอง ไม่มีอะไร วันนี้เราอยู่ตรงนี้ตำแหน่งนี้ก็ต้องพูดคุยกัน มีเรื่องอาจจะไม่เห็นด้วยก็ต้องพูดคุยกันต่อไป ไม่ใช่ว่าเดินผ่านแล้วไม่ทักทาย ไม่พูดคุย จะให้ทำอย่างไร ใช่ไหมครับ มันต้องอยู่ด้วยกัน คนเราต้องอยู่ด้วยกันก็ต้องพูดคุยกัน อะไรทำได้อะไรเห็นด้วยก็เดินหน้าต่อไป ไม่มีประโยชน์ที่จะเอาเรื่องที่ต้องการแก้ไข ยังมีความเห็นต่าง เป็นประเด็นที่ไม่ผลักดันนโยบายดีๆ หรือข้อคิดที่เราเห็นตรงกันออกไป 

 

อย่างผมจะไป UNGA ก็เชิญผู้บัญชาการทหารสูงสุดไปด้วย ก็ไปพูดคุยกันด้วย ท่านต้องไปพูดคุยกับเคาน์เตอร์พาร์ตของท่านเรื่องความมั่นคง แล้วถ้าผมไปเจอเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่จากประเทศเยอรมนี นายกฯ เยอรมนี ก็จะนำท่านเข้าไปด้วย พูดคุยเรื่องที่ค้างคาอยู่ ไม่ต้องถามผมเรื่องการซื้ออาวุธเรื่องอะไรพวกนี้ ผมเกี่ยวกับการซื้ออาวุธพวกนี้หรือเปล่า มันไม่เกี่ยวกับผม เขาซื้อไปแล้ว โอเค ผมเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยอีกเรื่องหนึ่ง แต่หน้าที่ผมคือถ้าเขาทำอยู่แล้วก็ทำให้ดีที่สุดและ Effective ที่สุด ให้ได้มาใช้งานจริง

 

เศรษฐา ทวีสิน

 

สัมพันธ์เศรษฐากับกลุ่มทุนในประเทศ

 

นครินทร์: อีกภาพหนึ่งหลังจากเราเห็นการรับตำแหน่งของคุณเศรษฐาไม่นาน คือภาพที่ถ่ายรูปร่วมกันกับนักธุรกิจ นายทุนไซส์ใหญ่มากของประเทศไทย และแน่นอนถูกวิจารณ์เยอะมากๆ เพราะก่อนหน้านี้คุณเศรษฐาพูดถึงการทลายทุนผูกขาด พูดถึงความเหลื่อมล้ำค่อนข้างเยอะ แต่เมื่อรวมกันจะเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อ GDP เท่าไร ไปคุยอะไรกัน จุดยืนของคุณเศรษฐาต่อเรื่องความเหลื่อมล้ำ-นายทุน เปลี่ยนไปหรือเปล่า มากน้อยแค่ไหนในภาพภาพหนึ่ง

 

เศรษฐา: ผมก็ต้องยอมรับนะที่ไป ไปประจำอยู่แล้ว เจอบุคคลเหล่านี้เป็นประจำอยู่แล้ว มีการพูดคุยกันเป็นประจำอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเป็นนายกฯ ดร.วิชิต (สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)) เองที่เป็นโฮสต์ให้ผม ผมก็รู้จักท่านมานานแล้ว ท่านเป็นคนเสนอให้ผมไปกินข้าวกันไหม ซึ่งเรากินข้าวเป็นประจำกันอยู่แล้ว ยังมีอีกหลายท่านที่ไม่ได้มา บังเอิญท่านเหล่านี้ว่างจึงมาพูดคุยกัน ยืนยันว่าไม่มีการพูดคุยกันเรื่องผลประโยชน์ของแต่ละภาคส่วนเลย มีการพูดคุยกันถึงปัญหาของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นหนี้รายบุคคลที่เพิ่มขึ้นว่าจะช่วยกันอย่างไรบ้าง เรื่องระบบการศึกษา ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้พูดเรื่องนี้เยอะมาก คุณศุภชัย (เจียรวนนท์) ได้พูดเรื่องการศึกษา เราจะกระจายไปตามภาคต่างๆ ให้มหาวิทยาลัยในแต่ละภาคเป็นแชมเปียนในแต่ละเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทางด้านวิศวกรรม, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องการเกษตร เรามีการพูดถึงเรื่องนี้ เรื่องบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา ท่านเหล่านั้นเข้าใจดีว่าหน้าที่และความรับผิดชอบเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีการพูดเลยว่าขอดีลตรงนั้น ยืนยันว่าไม่มีแน่นอน 

 

อันนี้เลยทำให้ผมแตกต่างจาก พล.อ. ประยุทธ์ ผมเข้าใจ พล.อ. ประยุทธ์ ท่านไม่ได้มาพบปะเพราะท่านระมัดระวังตัว แต่ที่บอกว่าผมเหมือน พล.อ. ประยุทธ์ ผมไม่เหมือน ไม่ได้บอกว่าวิธีท่านถูก-ผิด แต่ละคนมีวิธีการหาข้อมูลแตกต่างกันไป ผมคิดว่าการไปกินข้าวในวันนี้เป็นการไปหาข้อมูล ถ้าไม่มีข้อมูลก็ไม่เกิดปัญญา ไม่เกิดความคิด ไม่เกิดทางออก อันนี้เป็นสารตั้งต้นที่จะแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ ผมเชื่อว่าผมมีวุฒิภาวะพอที่จะตัดสินว่าอะไรที่ไปปรึกษาใครและตัดสินได้ว่าเมกเซนส์หรือไม่เมกเซนส์ อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะการที่มานั่งตรงนี้เป็นภารกิจอันใหญ่หลวง ผมมั่นใจว่าเข้าใจในหน้าที่ที่ปฏิบัติอยู่ ในตำแหน่งหน้าที่ว่าอะไรที่ทำแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

 

นครินทร์: มีคนตั้งข้อสังเกตว่าคุณเศรษฐาเดินทางไปพบนายทุน เจ้าสัว แทนที่จะไปพบประชาชน มีวิธีการเรียงลำดับความสำคัญที่แปลกไป ทำไมถึงไปพบกับเจ้าสัวก่อน 

 

เศรษฐา: ระหว่างนั้นผมไปพบกับพี่น้องประชาชนมาเยอะแล้ว ระหว่างหาเสียงก็ไปพบแล้ว ก่อนหน้านี้ก็ลงพื้นที่ไปเยอะ ก็ต้องขอความเป็นธรรมด้วยในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่ภูเก็ตก่อน เป็นจังหวัดแรกที่ลงไป ถึงแม้จะยังสั่งการไม่ได้ แต่ลงไปเก็บข้อมูลที่ภูเก็ต

 

พรรคเพื่อไทยมี สส. ภูเก็ตไหมครับ พรรคเพื่อไทยมี สส. ภาคใต้สักคนหนึ่งไหมครับ ไม่ใช่นะครับ ถ้าจะมาใช้คำว่าเลือกคิด ให้ผมมาเลือกมาชี้นำเรื่องเหล่านี้ ผมคิดว่ามันไม่จบ ผมมีเวลาแค่ 24 ชั่วโมง ก็อยากพบปะพี่น้องประชาชน อยากเก็บข้อมูลจากนักวิชาการ อยากจะกินข้าวกับพี่น้องสื่อมวลชน อยากไปพบปะกับอดีตนายกฯ ซึ่งผมก็ไปมา ไม่ใช่แค่ พล.อ. ประยุทธ์ ผมก็ไปขอคำแนะนำมา พยายามไปทุกภาคส่วนที่สามารถให้ข้อมูลได้ในการที่จะรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นมาเกิดปัญญา ความคิด แล้วมาหาทางออกที่ดีให้กับประเทศชาติได้  

 

ผมลงภูเก็ตที่แรก ทำไมไม่ไปอุดรธานี ขอนแก่น ทำไมไม่ไปจังหวัดอุตรดิตถ์ แพร่ หรือน่าน ที่ชนะยกจังหวัด เพราะผมเป็นนายกฯ ของประชาชน เจ้าสัวก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง ประชาชนก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง ประชาชนที่ภูเก็ตก็เป็นประชาชน สัปดาห์ที่แล้วผมลงไปอุดรธานี ขอนแก่น ก็เป็นประชาชนเหมือนกัน แต่บทบาทที่ผมลงไป หน้าที่ต่างกัน ถ้าลงไปอุดรธานี บึงกาฬ หนองบัวลำภู ผมคงลงไปช่วยเหลือ เพราะเขาต้องการความช่วยเหลือ ถ้าผมไปฝั่งนักธุรกิจทั้งหลาย ก็ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลในสิ่งที่ท่านเหล่านี้ทำอยู่ อยากช่วยประเทศชาติอย่างไรบ้าง ทำไมไม่คิดบ้างว่าท่านเหล่านั้นอยากช่วยประเทศชาติ เสนอตัวเองเข้ามาช่วยเหลือประเทศชาติแบบไหนอย่างไร คือขอให้คิดบวกกับเขาบ้าง เรื่องทุนผูกขาดเรื่องอะไรอย่างนี้ก็ต้องแก้ไขกันต่อไป อะไรที่ทำได้เราก็ทำ ค่อยทยอยออกมา ก็จะเห็นผลงานของรัฐบาลออกมาเรื่อยๆ 

 

นครินทร์: ก็มีการตั้งข้อสังเกต เมื่อมีการไปขอข้อมูลจากคนหลายๆ ภาคส่วน อาจจะทำให้คุณเศรษฐาเกรงใจหรือเปล่าที่จะทลายทุนผูกขาด อย่างนโยบายพลังงานที่แม้จะมีการลดค่าไฟต่างๆ นานา หรือการปรับโครงสร้างเรื่องไฟฟ้า

 

เศรษฐา: ปรับโครงสร้างใช้เวลาไหมครับ เอาจริงๆ ดีกว่า ผมเพิ่งเข้าไปบริหารจัดการอำนาจเต็มที่ ณ เวลา 10.30 น. ของวันจันทร์ (11 กันยายน) วันที่แถลงนโยบายจบ การปรับโครงสร้างใช้คำว่าปรับโครงสร้าง มันต้องมีเป็นเดือนเป็นอย่างน้อยในการปรับ

 

เศรษฐา ทวีสิน

 

นโยบายรัฐบาล (ไม่) ตรงปก

 

นครินทร์: 4 ปีที่เราแถลงนโยบาย หลายคนตั้งข้อสังเกตนโยบายไม่ตรงปกอย่างที่เคยให้ไว้ 

 

เศรษฐา: แต่ผมก็ลดค่าน้ำ-ค่าไฟทันที หลังจาก 2 วันครึ่ง หลังจากที่มีอำนาจหน้าที่ ผมถือว่าทำได้เร็วมากแล้ว แต่เดี๋ยวอันนี้มันไม่ใช่จุดจบ ผมจะพยายามต่อไปเรื่อยๆ ผมจะบอกวิธีการทำงานของผม อะไรที่ทำได้ทำไปก่อน ไม่ได้อยากจะพูด ไปป์ไลน์ (กระบวนการทำงานหรือขั้นตอนการทำงานที่ต่อเนื่อง) ผมกำลังทำอะไรอยู่ วิธีการผมทำอะไรอยู่ เพราะถ้าพูดไปจะเป็นประเด็นว่าติดตรงนั้นตรงนี้ ให้สำเร็จก่อนผมค่อยพูด 

 

เหมือนอย่างค่าไฟที่ 4.45 บาทต่อหน่วย ลงมา 4.20 บาทต่อหน่วย หรือเท่าไรก็ตามที เดี๋ยวจะลงไปอีกเรื่อยๆ น้ำมันเบนซิน เข้าใจว่ายังมีหลายท่านถามอยู่ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าลดค่าน้ำมันเบนซินอาจจะมีบางคนที่ไม่เดือดร้อน บางภาคส่วนตำหนิ ผมก็ต้องทำให้ดีว่าน้ำมันเบนซินจะลดตรงไหน 

 

นครินทร์: เหตุผลที่ดึงบางนโยบายออกมา ฝ่ายค้านบอก นโยบายนินจาหรือเปล่า ไม่ตรงปกเหมือนกับที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ หลักคิดคืออะไรที่ดึงบางนโยบายออกมาจากที่เคยหาเสียงไว้ ความชัดเจนเริ่มหายไป ตัวเลขเรื่องพลังงานที่ผมบอก 

 

เศรษฐา: หลายๆ เรื่องผมไม่ขอตอบระบุนะครับ ขออธิบายในเรื่องภาพรวมก่อนแล้วกันว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่โดยเฉพาะตัวของผมเอง เกือบครึ่งมาจากพรรคเพื่อไทย ผมไม่ได้เป็นนายกฯ มาก่อน 4 ปี ซึ่งผมรู้ระบบงบประมาณ ขั้นตอนการทำทั้งหมดทุกอย่าง เส้นสนกลในผมยังไม่ทราบ ผมยังไม่เป็นนายกฯ ยังไม่เข้าไปบริหารจัดการประเทศ ผมเพิ่งเข้ามามีอำนาจเต็มเหมือนอย่างที่บอก เมื่อวันจันทร์ใกล้เที่ยงแค่นั้นเอง การที่จะทำอะไรต้องชัดเจน ต้องแม่นยำในการพูด ไม่อย่างนั้นถ้าไปพูดแล้วทำไม่ได้ก็จะมีปัญหาเกิดขึ้น 

 

การแถลงนโยบายหมายถึงเราจะไปที่ไหนอย่างไรเป็นแผนปฏิบัติการ ในส่วนของตัวชี้วัดจะทยอยออกมาว่าเมื่อไร อย่างไร การประชุม ครม. นัดแรกเป็นข้อพิสูจน์แล้วว่าเราสามารถทำอะไรได้ก็จะทำ ซึ่งคุณเคนจะต้องยอมรับว่าผมทำไปในหลายๆ อย่างที่บอกจะทำ ในเรื่อง พ.ร.บ. ก็จะทยอยออกมา เรื่องนโยบายของพรรคร่วมและเราที่จะทำขึ้นมา ขอให้ใจเย็นๆ นิดหนึ่งนะครับ เดี๋ยวตัวชี้วัดทั้งหลายและงบประมาณทั้งหลายจะออกมา

 

นครินทร์: หลังจากนี้จะมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนมากกว่านี้ ตัวเลขที่มี-ที่หายไปในสัญญาประชาคมตอนหาเสียง เช่น ตัวเลขเงินเดือน ค่าแรง 

 

เศรษฐา: ไม่ได้แจ้งว่าหายไปนะครับ แต่เดี๋ยวจะมีความชัดเจนออกมาอีกทีหนึ่งในเรื่องของตัวเลขต่างๆ

 

นครินทร์: แสดงว่าการแถลงนโยบายครั้งนั้นเป็นแค่การบอกทิศทางอย่างเดียว จำเป็นไหมที่จะต้องบอกทิศทางและตัวเลขให้ครบ 4 ปี 

 

เศรษฐา: ใช่ เป็นแค่การบอกทิศทาง ผมเข้าใจความต้องการของพี่น้องประชาชนที่ต้องการจะเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ต้องการจะเห็นแผนทั้งหมด แต่ก็ขอความเห็นใจว่าผมเพิ่งจะเข้ามา ไม่อยากจะพูดอะไรแล้วทำให้เกิดความไม่แน่นอน ดูการขับเคลื่อนในตอนหลังการประชุม ครม. นัดแรก พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความชัดเจนในเรื่องตัวเลข ไม่ใช่ว่าจะลดน้ำมันดีเซล หรือว่าค่าไฟ การพักหนี้เกษตรกรก็ทำไปแล้ว มีหลายๆ ประเด็นที่เราสามารถทำได้ ทำไปก่อน อะไรที่ยังทำไม่ได้หรือยังต้องการความชัดเจนในแง่งบประมาณก็ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ

 

เศรษฐา ทวีสิน

 

คำพูดไหนของนายกฯ ที่ยังน่าเชื่อถือ?

 

นครินทร์: ที่ต้องถามแบบนี้เพราะหลายคนตั้งข้อสังเกต เพราะก่อนหน้านี้ได้ให้สัญญาไว้ว่าจะไม่ร่วมกับรัฐบาลลุง ก็มีการเปลี่ยนคำพูด พอในนโยบายที่สัญญาไว้ ตัวเลขต่างๆ ชัดเจน ในการแถลงก็ไม่มีอีก ทำให้คนรู้สึกว่าคำพูดไหนของนายกฯ ที่ยังเชื่อได้

 

เศรษฐา: ผมเรียนไว้แบบนี้ว่า เรื่องเหล่านี้ที่ยังไม่ได้พูดหรือยังไม่ชี้แจง ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำ อย่างที่เรียนไปแล้วว่าการประชุม ครม. นัดแรก เราบอกไปแล้วว่าจะทำอะไร ค่อยๆ หน่อย ใจเย็นๆ นิดหนึ่ง เดี๋ยวก็จะออกมาหมด ไม่ว่าจะเป็นเงินดิจิทัล แล้วเรื่องต่างๆ ที่จะตามมา ความชัดเจนที่ตามมา แต่ขอให้มีความชัดเจนจริงๆ ก่อน รายละเอียดจริงๆ ทุกบาททุกสตางค์ในแง่ของการทำผลิตภัณฑ์ 

 

ผมมาจากภาคส่วนที่ให้ความสำคัญกับ KPI อยู่แล้วนะครับ 

 

ถ้าพูดไปแล้วยังไม่ดี อย่างเช่น แจกเงินเดือน 2 งวด ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แถลงไปแล้ว ยอมรับว่ายังมี Execution Detail (รายละเอียดที่ยังต้องดำเนินการ) มีตัวอย่างง่ายๆ ให้เลือกเอา ถ้าคุณไม่เอาอันนี้คุณก็เอาอันนี้ มีบางเรื่องที่ยอมรับว่าอาจจะมองข้ามไป เช่น สหกรณ์ยังทำงานได้อยู่ในพื้นที่ การจ่ายเงินเดือนเป็นการเพิ่มภาระให้เขา ก็ต้องไปชี้แจงว่าจะทำอย่างไร อันนั้นอาจจะต้องค่อยๆ เฟดเข้ามาในระบบออนไลน์ที่สามารถทำได้ชัดเจน นี่ขนาดเรื่องง่ายๆ ก็ยังถูกจับตา คนที่อยากได้เงินเดือน 2 งวดผมเชื่อว่ามีเยอะมาก ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผมเองต้องระวัง พูดจาอะไรต้องระมัดระวัง มันมีหลายภาคส่วน อันนี้เป็นสิ่งที่ผมเรียนรู้จริงๆ และยอมรับว่าตกใจ 

 

นครินทร์: คุณเศรษฐาได้บทเรียนอะไรจากสิ่งนี้

 

เศรษฐา: เรียนรู้ว่าทุกอย่างจะต้องพร้อม ต้องพูดให้ได้ ต้องตอบให้ได้ครบหมด และต้องเตรียมพร้อมในการสื่อสารให้ดี เรื่องบางเรื่องที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์อย่างแน่นอน อาจจะมีบางคนที่ไม่เห็นด้วยก็เป็นไปได้ ก็ต้องพูดคุยให้เยอะกว่านี้หรือเปล่าสำหรับสิ่งที่ผมคิดว่าจะเขียนออกมา

 

รัฐบาล 11 พรรคที่มาจากประชาชนไม่ใช่จะแค่ใช้งบประมาณอย่างเดียวในการที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน นโยบายนี้จำเป็นต้องใช้งบประมาณ และผมคิดว่ามันบำบัดทุกข์บำรุงสุขได้ แต่มีอีกหลายภาคส่วนที่ไม่เห็นด้วย ก็ต้องระมัดระวัง ต้องพูดคุย จะต้องทำอะไรที่มากกว่านี้แทนที่จะพูด เวลาจะพูดทุกขั้นตอนทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนจริงๆ 

 

เช่น การแบ่งจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ ต้องตอบให้ได้หมดก่อน เพราะถ้าผมไปแถลงแบบนี้ก็จะเกิดปัญหา เราจะทำอะไรบ้าง และแต่ละกระทรวงจะแถลงออกไปเพื่อให้เข้าใจนโยบายทั้งหมด

 

นโยบายกัญชา เสรีหรือเพื่อการแพทย์

 

นครินทร์: บางคนได้พูดถึงนโยบายที่หายไป เป็นเพราะพรรคร่วมรัฐบาล 11 พรรคหรือเปล่า เพราะมีการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างของพรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยกับการที่มีรัฐบาลผสมจากหลายๆ พรรค แบบนี้จะทำอย่างไรให้เกิดการตัดสินใจเหมือนกับพรรคเพื่อไทยที่เคยสัญญาไว้ มีความเห็นที่ไม่ตรงกันที่มีการเปลี่ยนแปลงกันหรือไม่

 

เศรษฐา: ถูกต้องครับ ในยุทธศาสตร์พื้นฐาน เพราะเราไม่ได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียว การอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเรา หรือเรามาด้วยคะแนนเสียงข้างมากก็ตาม เมื่อเข้ามาสู่อำนาจแล้วก็ต้องฟังเสียงเหมือนกัน ไม่ใช่แค่พรรคร่วมอย่างเดียว เรื่องความเหมาะสมในหลายๆ อย่างเราพยายามอยู่ และยิ่งเป็นพรรคร่วมที่มาจากหลายๆ พรรค ถ้ามีนโยบายดีๆ ออกมา ก็ต้องมาเกลี่ยงบประมาณให้ชัดเจนก่อน และค่อยมาแปลงเป็นแต่ละกระทรวง

 

นครินทร์: เช่น นโยบายกัญชา 

 

เศรษฐา: อ้อ ชัดเจน กัญชาใช้เพื่อการแพทย์ ขอยืนยัน 

 

นครินทร์: แม้ว่าพรรคภูมิใจไทยเอง คุณอนุทินจะได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี เราจะต้องทำให้เป็นการแพทย์เท่านั้นใช่ไหมครับ

 

เศรษฐา: คุณอนุทินไม่เคยมาพูดกับผมด้วยตนเองอย่างชัดเจน ไม่เคยมาขอร้อง พี่ ผมทำเรื่องนี้ไว้พี่จะต้องให้ ทางพรรคภูมิใจไทยไม่เคยมาพูดเรื่องคมนาคม ฝากด้วย ไม่มี ยังไม่มีการพูดคุย เราให้เกียรติซึ่งกันและกันนะครับ

 

นครินทร์: ยืนยันอีกครั้งไหมครับในเรื่องกัญชา

 

เศรษฐา: ยืนยันกัญชาจะใช้เพื่อการแพทย์เท่านั้น ผมมองว่าถ้ามีการแพร่หลายออกไปก็จะกลายเป็นปัญหายาเสพติด ซึ่งยาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่อยู่แล้วของประเทศชาติ เรื่องนี้มีคนพูดน้อยไปนิดหนึ่ง เราลงพื้นที่ไปในต่างจังหวัดไม่ใช่แค่เรื่องปากท้องอย่างเดียว ปัญหาเรื่องยาเสพติดในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง คนพูดเยอะมากๆ เกือบจะเรียกได้ว่าเท่าๆ กับเรื่องปากท้องและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องกัญชา การเอากัญชามาเป็นเรื่องสาระสำคัญ ผมไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว รัฐบาลนี้ไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน จะเป็นกัญชาเพื่อการแพทย์เท่านั้น

 

เศรษฐา ทวีสิน

 

ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท 

 

นครินทร์: นโยบายเงิน 10,000 ดิจิทัลที่ได้รับเสียงวิจารณ์เยอะมาก มีหลายภาคส่วนเสนอความเห็นมากมาย ผมเชื่อว่าอย่างน้อยที่มีหลายคนพูดถึงเรื่องนี้กันเยอะ เพราะความไม่ชัดเจนของตัวนโยบายหลายๆ อย่าง เงินจะมาจากไหน ช่องทางจะเป็นอย่างไร หรือในมิติต่างๆ ที่กระบวนการของมัน บล็อกเชน หรือดิจิทัล เป็นแบบไหนอย่างไร เล่าให้ฟังสักครั้งหนึ่งว่าจะมีความชัดเจนอย่างไร

 

เศรษฐา: เท่าที่สามารถชี้แจงได้ เรื่องนี้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนี้ มีแน่นอน 10,000 บาท บุคคลที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีประมาณ 54 ล้านคนวันนี้ ซึ่งตัวเลขอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามจังหวะเวลา ใช้ในรัศมี 4 กิโลเมตร อันนี้ที่แถลงไปก็มีบางภาคส่วนบอกว่า บางพื้นที่ควรเป็น 10 กิโลเมตร จากในรัศมี 4 กิโลเมตร เพราะวัดจากความเจริญ ก็ต้องไปดูอีกทีหนึ่งว่าจะขยับขยายอย่างไร หากภายใน 6 เดือนไม่ขยับ ต้องใช้ผลภายใน 6 เดือน 

 

ผมอยากให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาจำกัด แลกเป็นเงินสด สินค้าบางประเภทไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น สุรา บุหรี่ ใช้หนี้ไม่ได้ เรื่องนี้ชัดเจนมาโดยตลอดไม่ได้เปลี่ยนแปลง เราพูดตลอดเวลาว่าจะมาดูอีกทีหนึ่งว่า ในตำบล อำเภอ หมู่บ้านที่ทุรกันดารและไม่สามารถใช้จ่ายเงินได้ และเมื่อวาน (14 กันยายน) ผมประชุมที่กระทรวงการคลัง เขาขออีก 2 สัปดาห์ น่าจะมีตัวเลขที่แน่นอนว่าจะมาจากไหน ตรงนี้มีความชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง มีสตางค์ใช้ได้แน่นอน แต่ขอความชัดเจนก่อนตรงนี้  

 

ผมขอบอกว่า ถ้ามีความชัดเจนจริงๆ ตัวเลขที่ลงได้แบบนี้ ผมขอก่อน เดี๋ยวเราจะมาชี้แจงทีหลังเรื่องบล็อกเชน

 

แน่นอนจะใช้ของกรุงไทย โดยใช้ (แอปพลิเคชัน) เป๋าตัง จะใช้ดาต้าบล็อกเชนทั้งหลายเข้ามาช่วยแน่นอน

 

เงินหมื่นดิจิทัลใช้ดาต้าเป๋าตัง เพราะไม่ต้องทำ KYC เป็นการประหยัดเวลา ไม่ต้องเสียเวลา ใช้ดาต้าของเป๋าตังแล้วเอาบล็อกเชนเข้ามา เมื่อเงื่อนไขแน่นอนแล้วในรัศมี 4 กิโลเมตรเรียบร้อย จะใช้กับร้านค้าที่อยู่ในรัศมีที่กำหนด รวมถึงประเภทสินค้า ถ้าเขียนเสร็จแล้วก็จะเอามาใช้ตรงนี้

 

เหตุผลที่ต้องใช้บล็อกเชน เพราะต้องเขียนคอลเล็กชัน มันมีความแน่นอนมากกว่า และเพื่อความโปร่งใสด้วย สำหรับเรื่องที่ติว่าเหมือนคริปโตเทรดได้ ไม่ต้องมาด้อยค่า ไม่ต้องมาพูดกัน ตรงนั้นมันไม่ใช่ ไม่ต้องตกใจ เป็นการให้พี่น้องประชาชนเอาเงินมาใช้ได้ภายในระยะที่จำกัด และจะจำกัดคนที่บัตรประชาชนอยู่ในภูมิลำเนานั้นๆ เช่น อยู่ที่หนองบัวลำภู แต่มาทำงานกรุงเทพฯ ยืนยันว่าต้องกลับไปใช้ที่หนองบัวลำภู ต้องกลับไปใช้ที่นั่นตามสำเนาทะเบียนบ้านที่ผู้ใช้มีบัตรประชาชนอยู่ ตรงนั้นยืนยันตั้งแต่วันนั้น ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

 

ผมมองว่า 6 เดือนนี้เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมในการทำให้พี่น้องกลับไปเยี่ยมบ้าน ครอบครัวจะได้แข็งแรงขึ้น มาทำงานก็ต้องกลับไปเยี่ยมญาติพี่น้องบ้าง ไม่อย่างนั้นครอบครัวจะไม่มีความอบอุ่น

 

หลักของนโยบายเราจะกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ไม่ใช่ทุกอย่างเอามาใช้ที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือเมืองใหญ่ๆ อย่างอุดรธานี ขอนแก่น อยากให้จังหวัดเล็กๆ ได้มีการพัฒนา ช่วยร้านค้ามีรายได้เข้ามาด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นการทำได้แค่เมืองใหญ่ๆ ที่เจริญ 

 

ร้านค้าที่จะเข้าร่วมกับเงินดิจิทัลจะต้องอยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตร ไม่ใช่แค่ห้างใหญ่หรือโมเดิร์นเทรด เราไม่ได้กีดกัน ไม่จำกัดรายได้ ร้านค้าเล็กๆ ทุกคนใช้ได้หมด จะใช้หรือไม่ใช้ก็อีกเรื่องหนึ่ง

 

การที่คนมองว่านโยบายของเราจะไปเอื้อให้กับนายทุนใหญ่ ร้านเล็กๆ จะได้อะไร เซ็นทรัลเวิลด์ เดอะมอลล์ สยามพารากอน ไม่ได้มีอยู่ที่บึงกาฬนะ

 

ก็ต้องให้ทุกที่มีความเสมอภาค ทั่วถึงจะดีกว่า แล้วเงินก็เยอะด้วย คุณเคนลองจินตนาการดู มีเงิน 5.6 แสนล้านบาท สมมติเช่น เดือนกุมภาพันธ์ เศรษฐกิจไม่ได้เกิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นะครับ น่าจะเกิดมาก่อนสัก 1-2 เดือน เพราะร้านจะต้องเพิ่มการผลิต ก็ต้องเพิ่มการจ้างงานใช่ไหมครับ มีเงินใส่เข้าไปในระบบ 5.6 แสนล้านบาท ผมมองว่าถ้ากำหนดวันที่ได้ก็จะมีการออกอะไรหลายๆ อย่าง 

 

ผมขอความเป็นธรรมและใจเย็นกันนิดหนึ่งในหลายๆ นโยบายของพรรคการเมืองในการหาเสียง มันก็มีปริมาณมากกว่าจำนวนหนี้ และเป็นงบผูกพันทุกปี และนี่เป็นแค่วันเดียว 

 

เพราะเรามีความเชื่อว่าเศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ในสภาวะที่แย่มากๆ เราต้องการที่จะกระตุ้นครั้งยิ่งใหญ่ ระหว่างรอคอยอื่นๆ ที่จะเข้ามาเสริมและทำให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ เป็นการกระตุ้นก่อนและเสริมเข้ามา

 

มาตรการพักหนี้เกษตรกร อย่างที่ผมแถลงไว้ในสภา เรื่องการพักหนี้ 9 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในรัฐบาลก่อนๆ มีนโยบายพักหนี้มาแล้ว 13 ครั้ง พักแล้วพักอีก ต้องพักหนี้อีก ผมมองว่าทุกคนไม่อยากถูกพักหนี้หรอก ทุกคนอยากมีเกียรติมีศักดิ์ศรีในการทำตามสัญญา ยืมเงินก็ต้องไปใช้คืน แต่เป็นภาวะที่บีบบังคับที่ไม่สามารถใช้หนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะแล้งตลอด หรือแก้ปัญหาไม่ตรงจุด รัฐบาลของเรามีความเชื่อว่าถ้ามีการเปิดตลาดใหม่ ใช้นวัตกรรม ใช้การตลาดนำนวัตกรรมเสริม จะเพิ่มรายได้ของเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ 100 กิโลกรัมต่อไร่ อาจจะกลายเป็น 700 กิโลกรัมต่อไร่ได้ ตรงนี้ไม่ต้องประกันจำนำผลผลิต เป็นไปตามกลไกราคาตลาดโลก ลดค่าใช้จ่ายของปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เรื่องการเปิดตลาดใหม่ๆ จัดสินค้าใหม่ๆ เรามีการพูดคุย เช่น ตลาดแอฟริกา, Middle Earth ก็ยังมีที่จะไปเปิดตลาดค้าขายได้อีกเยอะ 

 

อันนี้เป็นจุดแข็งของรัฐบาลเราที่จะไปเปิดตลาดเรื่องการค้าสู่เวทีโลก จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ขอใช้คำว่าผู้ประกอบการแล้วกัน ไม่ใช่แค่เกษตรกรอย่างเดียว เป็นการเพิ่มรายได้ ในระหว่างนี้จะเดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะเพิ่มรายได้ และเข้าสู่มาตรการเฉพาะกาล เช่น การพักหนี้ หรือลดราคาต่างๆ การลดค่าพลังงานก็จะเป็นมาตรการชั่วคราว

 

นครินทร์: อย่างเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ได้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง กลุ่มคนที่เดือดร้อนจริงๆ บางคนอาจจะไม่ต้องการหรือเปล่า การที่เรากวาดหมดเป็นการใช้ทรัพยากรมหาศาลนี่มันประชานิยมหรือเปล่า

 

เศรษฐา: ทุกๆ นโยบายมีทั้งคนที่อยากใช้หรือไม่อยากใช้เหมือนกัน แต่ผมเชื่อว่าไม่ใช่ว่านโยบายนี้ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ตรงกลุ่มเป้าหมายแน่นอน ระยะเวลาในการใช้ 6 เดือน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาจำกัด เม็ดเงินในการจับจ่ายใช้สอย เรื่องการจำกัดระยะทาง ต้องไปใช้ในส่วนต่างๆ ในอดีตที่มีการให้เงินกับพี่น้องประชาชน ไม่จำเป็นต้องมาใช้ในเมืองที่เจริญอยู่แล้ว กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เจริญอยู่แล้ว เชียงใหม่เป็นเมืองที่เจริญ หมายถึงที่อื่นๆ หลายๆ จังหวัดในประเทศไทยต้องการการจับจ่ายใช้สอยทางเศรษฐกิจ 

 

นคินทร์: อีกมุมหนึ่งที่มาของเงิน สรุปแล้วเงินมาจากไหนกันแน่ตอนนี้ เพราะว่ากองทุนของรัฐวิสาหกิจก็ไม่ใช่

 

เศรษฐา: ผมขออนุญาตเลยแล้วกัน เดี๋ยวพูดก็จะมีประเด็นไปโต้แย้งกัน ผมเพิ่งเข้าไปกระทรวงการคลังเมื่อวานนี้ (14 กันยายน) และได้พูดคุยกัน ทางเจ้าหน้าที่จะทำตัวเลขเป็นสเต็ปว่าจะออกมาอย่างไร มีงบประมาณที่เพิ่มขึ้นมาได้ประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท ตัวเลขงบตรงนี้ไม่ใช่เป็นการเกลี่ยงบประมาณ แต่เป็นการเพิ่มงบประมาณขึ้นมา ในการที่มีรายได้เพิ่มขึ้นมาจากปี 2567 ก็เอามาช่วยได้ ซึ่งเป็นรายได้จากภาษีต่างๆ ซึ่งอื่นๆ ก็จะมีการชี้แจงให้ทราบ  

 

ทำไมถึงชี้แจงตอนนี้ไม่ได้ เพราะนักวิชาการเองต้องวิเคราะห์ภาพรวมความเสี่ยง หลังจากนี้วันนี้สถานะ GDP จะเพิ่มขึ้น คุณวิจารณ์ได้อยู่แล้ว 5.4 แสนล้านบาทหรือ 5.6 แสนล้านบาท ก็ตรงนั้นแค่นั้น ส่วนที่มาที่ไปถ้าชี้แจงไปแล้วจะเกิดความสับสน ผมขอเวลานิดหนึ่งที่จะลงรายละเอียดพวกนี้ได้

 

นครินทร์: คิดว่าจะมีรายละเอียดตรงนี้ได้อีกประมาณเมื่อไร

 

เศรษฐา: ขอเวลาประมาณอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าจะชี้แจงอีกครั้งหนึ่ง

 

นครินทร์: เพราะตรงนี้คนตั้งคำถามเยอะมากเพราะเป็นเม็ดเงินใหญ่ 

 

เศรษฐา: เดี๋ยวผมส่ง Press Release มาให้เลย ไม่ต้องห่วง เดี๋ยวจะชี้แจงให้ทราบในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้านะครับ  

 

นครินทร์: สรุปคุณเศรษฐาจะไม่พูดกับประชาชนตอนนี้เลยใช่ไหมครับ 

 

เศรษฐา: อย่าใช้คำว่าไม่ ขอบอกประชาชนเองดีกว่า ผมมีวิธีการหาเงินและได้เงินแน่นอน และเงินดิจิทัล 10,000 บาทได้แน่นอนภายในต้นปีหน้า

 

นครินทร์: ในแง่ฐานะทางการคลัง 5 แสนล้านบาทตรงนี้หลายคนก็มีความกังวล

 

เศรษฐา: ก็ทราบอยู่แล้ว วันนี้เป็นนโยบายของทางรัฐบาล ตรงนี้ก็ชี้แจงมาโดยตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา วาระอย่างไรเราก็ต้องทำตรงนี้ ที่สำคัญฐานะการคลังและหนี้สาธารณะตอนนี้เราต้องระมัดระวัง ยืนยันว่าอย่างไรก็ต้องใช้อยู่แล้ว เงินดิจิทัลอย่างไรผมต้องทำอยู่แล้ว

 

นครินทร์: ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาแสดงความกังวล 3 ข้อ เรื่องนี้วางคอนเซปต์ที่จะเกิดขึ้นอย่างไร

 

เศรษฐา: หลังจากผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมาคุยกับผม ก็ให้ข้อคิดที่ดี ท่านบอกว่าจริงๆ แล้วในรัฐบาลต้องมาพูดคุยกันว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า บวกกับนโยบายที่เราจะใส่ไปเรื่องหนี้สาธารณะ เรื่อง GDP Growth

 

เรื่อง GDP ทั้งหลาย ตัวเลขควรจะเป็นอย่างไรในระยะกลาง ระยะยาว ก็รับฟังครับ ต้องทำงานร่วมกัน มีการพูดคุยกันที่กระทรวงการคลังในเรื่องนโยบาย

 

นครินทร์: มีข้อคิดไหนบ้างในเรื่อง 10,000 บาทดิจิทัลที่อาจจะเห็นไม่ตรงกับพรรคเพื่อไทย และคุณเศรษฐาคิดว่าจะต้องรับฟัง ฟังแล้วคิดว่าจะต้องเดินหน้าอย่างแน่นอน ตอกย้ำว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างแน่นอน

 

เศรษฐา: ทุกๆ นโยบายที่ออกไปมีการวิพากษ์วิจารณ์ ผมก็ต้องรับฟัง คงไม่มีคนเห็นด้วยทั้งหมด การใช้เงินหลายๆ ท่านอาจจะใช้แบบนี้ดีกว่า แต่ถ้าคุณเคนได้ลองเข้าไปในต่างจังหวัด พี่น้องประชาชนเขาก็รอคอยอยู่

 

นครินทร์: แสดงว่าเรามีการป้องกันความเสี่ยงไว้ 

 

เศรษฐา: ใช่ครับ มีการประกันไว้อย่างเต็มที่ครับ

 

นครินทร์: ผมเห็นล่าสุดมีนักวิชาการท่านหนึ่งบอกว่า จริงๆ แล้วประเทศไทยต้องการงบลงทุนของเอกชน ไม่ได้ต้องการกระตุ้นบริโภค ในแง่ของการจะได้ GDP Growth เราจี้ถูกจุดไหม

 

เศรษฐา: มี 2 คำถาม เราจี้ถูกจุดหรือเปล่าพักไว้ก่อนนิดหนึ่ง เรื่องการลงทุนการกระตุ้นเศรษฐกิจ เราก็ต้องดูเศรษฐกิจ เพราะมันอ่อนแอ พี่น้องประชาชนกำลังทุกข์ เราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจตรงนี้ก่อน การลงทุนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญที่สุด

 

ซึ่งผมเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 78 (The 78th UN General Assembly: UNGA 78) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ถือโอกาสไปพบนักลงทุนที่กำลังสนใจประเทศไทย หลายๆ บริษัทใหญ่ๆ ทั้งนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นการลงทุน เพราะถ้าเกิดเป็นการลงทุนก็จะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมไทยขึ้นไป ท่านจะไปพบใครมีการนัดหมายที่ชัดเจน มีไทม์ไลน์หลายๆ บริษัท ไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Google, Tesla แต่ละบริษัทผมจะไปพบ CEO ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเบอร์ 1 หรือเบอร์ 2 ทั้งหมดเป็นการเชื้อเชิญให้มาลงทุนในประเทศไทย บอกว่าประเทศไทยมีดีอย่างไรกว่าประเทศคู่แข่ง เพื่อให้เขามาลงทุนในประเทศไทย นี่คือจุดมุ่งหมายหลัก ซึ่งอันนี้ที่นักวิชาการบอกว่าการลงทุนเป็นเรื่องใหญ่มาก แน่นอน แล้วเรื่องกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ก็ให้ทำไป เป็นการลงทุนเอื้อเอกชนเพื่อให้เขามาทำงานได้ ต้องการให้เขาลงทุน ถ้ามีการลงทุนก็มีการจ้างงานใช่ไหมครับ มีการจ้างงานประชาชนที่อยู่ชายขอบสังคมให้เขาได้มีงานทำ มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่เราพยายามอยู่

 

นครินทร์: มาที่เงิน 10,000 บาทดิจิทัล ถ้าทำมาแล้วเกิดผลเสียจริงๆ คุณเศรษฐาจะรับผิดชอบอย่างไรกับเสียงวิจารณ์ต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้พยายามคัดค้านทัดทาน

 

เศรษฐา: ทำไมคุณเคนไม่ถามบ้างว่า ถ้าทำแล้วมันดี ดีอย่างไร ใช่ไหมครับ เรื่องนี้เรื่องทุจริตไม่มีแน่นอน เพราะรัฐบาลดำเนินการเอง ในหลายๆ เรื่องก็มีการทำอยู่แล้ว มีการจ่ายเงินให้ประชาชนอยู่แล้ว คราวนี้มีเรื่องระยะเวลาในการใช้ในสถานที่ตามบัตรประชาชน ก็ต้องเป็นวิธีใหม่ๆ บ้าง มันไม่มีคอร์รัปชัน ไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น มันเป็นนโยบายที่เราต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ซึ่งทางรัฐบาลนี้เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำ

 

เศรษฐา ทวีสิน

 

ซื้อเวลาแก้รัฐธรรมนูญ

 

นครินทร์: เรื่องการเมืองเรื่องหนึ่งคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้เราจะเห็นทิศทางที่ชัดเจนของเพื่อไทยอยู่แล้วที่จะทำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่มติ ครม. ล่าสุดที่ออกมาเป็นการตั้งคณะทำงานในการจะทำประชามติหรือเปล่า ซึ่งก่อนหน้านี้ทุกคนคาดว่าจะมีการทำประชามติ แต่บางคนมองว่าเป็นการซื้อเวลาหรือเปล่า

 

เศรษฐา: ไม่ได้เป็นการซื้อเวลา เรารับฟังความคิดเห็นของทุกๆ ภาคส่วน แล้วก็ทำประชามติแน่นอน ไม่มีปัญหา และผ่านกลไกของรัฐสภา ซึ่งสภาก็มีตัวแทนของ สส. ที่เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนอยู่แล้วนะครับ

 

นครินทร์: มุมมองต่อรัฐธรรมนูญ ขอชัดๆ อีกครั้งหนึ่งได้ไหมครับ ไทม์ไลน์ในตอนนี้การทำประชามติจะเกิดขึ้นอย่างไร แบบไหน ที่มาของ สสร. คราวนี้มีความชัดเจนอย่างไร

 

เศรษฐา: สสร. ต้องฟังประชามติก่อนถูกไหมครับ ผมไม่ทราบว่าวิธีการตั้งประชามติต้องพิจารณาแบบไหนอย่างไร แต่ตอนนี้กลไกเริ่มแล้ว เริ่มตั้งคณะกรรมการแล้ว ท่านรองนายกฯ ภูมิธรรม (เวชยชัย) ก็เริ่มเดินหน้าแล้วนะครับ

 

นครินทร์: เพราะฉะนั้นยืนยันว่าจะทำตามไทม์ไลน์ ไม่มีการซื้อเวลาใดๆ ใช่ไหมครับ

 

เศรษฐา: ยืนยันครับ ยืนยัน ไม่ได้ซื้อเวลาครับ เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องการให้พี่น้องประชาชนที่เห็นต่างมีส่วนร่วมในการพูดคุยว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาตรงไหนอย่างไร 

 

นครินทร์: ในเชิงรายละเอียดคิดว่ามีอะไรที่ต้องแก้ไขเป็นพิเศษ หรือมีอะไรที่ไม่อยากแก้หรืออยากแก้เป็นพิเศษในมุมมองนายกฯ

 

เศรษฐา: ใช้คำว่าไม่อยากแก้ ไม่มี แต่ที่ไม่แก้มีหมวด 1-2 หมวดพระมหากษัตริย์ ชัดเจนไม่แก้ไม่แตะ เรื่องอื่นก็เป็นเรื่องของพี่น้องประชาชน การทำประชามติถ้าไปชี้นำแบบนั้นจะเป็นประชามติได้อย่างไร ผมไม่อยากชี้นำนะครับ

 

นครินทร์: คุณเศรษฐามองอย่างไรกับนักโทษคดีทางการเมือง มาตรา 112 เรายืนยันว่าจะไม่มีการปรับแก้

 

เศรษฐา: ผมยืนยันว่าจะไม่มีการปรับแก้ ก็คงเป็นอย่างนั้นนะครับ ในฐานะพรรคเพื่อไทย ผมมองนักโทษทางการเมืองว่าต้องเป็นไปตามกระบวนการศาลยุติธรรมว่าเป็นอย่างไร

 

รถไฟฟ้า 20 บาท 

 

นครินทร์: ผมมองว่าหลายนโยบายคนกรุงให้ความสนใจมาก เช่น รถไฟฟ้า 20 บาท ตอนแรกท่านรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงจะยืดไปก่อน ไม่ทำ แต่พอตอนหลังกลับคำพูด จะทำทันทีภายใน 3 เดือนด้วยอย่างรวดเร็ว สรุปแล้วที่มาที่ไปเรื่องรถไฟฟ้า 20 บาทเป็นอย่างไร

 

เศรษฐา: ก็มีการพูดคุยกันเยอะถึงเรื่องนี้ มีการใช้อะไรที่ท้าทายและน่าจะไม่เหมาะสมในหลายๆ เรื่องว่าทำไมถึงมาพูดเรื่องนี้ เพราะ สส. ของเราก็ไม่มีที่กรุงเทพฯ ผมมองว่าลืมไปซะเรื่องนี้ที่ผิดพลาดอะไรไป อยากจะขอให้ลืมไปก่อน เรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่พูดกลับไปกลับมา ก็ลืมไปซะ หรือเหตุผลที่ทำทันที ไม่ทำทันที เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่เราตั้งใจที่อยากจะทำ

 

แต่ปัญหามันมีอยู่เยอะ ได้สั่งการแล้วว่าจะเริ่มทำทันที มีการพูดคุยเรื่องรถร่วมที่มีอยู่หลายสาย หลายสี แต่ละคนก็ใช้แต่ละระบบ ไปขึ้นไปขึ้นรถใต้ดินใช้เครดิตการ์ดทั้งไปและออก แต่จะมาขึ้นสายสีเขียวก็ไม่สามารถทำได้ มันมีหลายสายหลายประเด็นเหลือเกิน ซึ่งจะต้องคุยทั้งหมดก่อน คุยให้จบ แต่ละอันจะมาเชื่อมต่อกันอย่างไรให้รวมเป็นสายเดียวกัน ใช้ระบบเดียวกันก่อนตรงนี้ ตรงนี้จะต้องเริ่มคุยกันทันที เมื่อวาน (14 กันยายน) มีการพูดคุยกันถึงเรื่องนี้เสร็จแล้ว ต้องมารวมเป็นสายเดียวกัน เป็นบัตรใบเดียวที่สามารถเดินทางได้หมด

 

นครินทร์: แสดงว่าคุยกันภายในยังไม่ละเอียด พอระดับชาติไม่ได้คุยกันข้างในก่อนเหรอครับ

 

เศรษฐา: อย่างที่บอกครับ เรายังไม่บริหารจัดการเลย เพิ่งมีอำนาจเต็มเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (11 กันยายน) นี่เอง ผมเข้าใจว่าอาจจะถูกไมค์จ่อปากเลยต้องพูดไป ก็ใจเย็นนิดหนึ่งนะครับ

 

นครินทร์: มีนักวิชาการวิเคราะห์งบประมาณต่างๆ ของรถไฟฟ้าออกมา ก็คาดการณ์กันไปหลากหลายตัวเลข เพราะเรายังไม่เห็นรายละเอียดที่ชัดเจน มีตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทต่อปี ไปจนถึง 10,000 ล้านบาทต่อปี ยืนยันว่าจะต้องมีการใช้งบตรงนี้

 

เศรษฐา: ก็ต้องไปดูในเรื่องการใช้งบประมาณว่าเท่าไร อย่างที่คุณเคนบอก ตั้งแต่ 5,000-80,000 ล้านบาท ถ้าข้ามสายแล้วอะไรอย่างไร เพราะต้องไปดูว่าแต่ละผู้ให้บริการมีโครงสร้างของค่าใช้จ่าย-รายได้อย่างไร

 

นครินทร์: ทำแน่ใช่ไหมครับ 

 

เศรษฐา: ทำแน่ มีแน่นอน

 

นครินทร์: นอกเหนือจากนโยบายที่เราพูดคุยกันไปแล้ว คงกลับมาที่ภารกิจของคุณเศรษฐาหลังจากนี้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้นเท่าที่ผมเห็น ทิศทางที่ผมเห็น

 

เศรษฐา: ก็ต้องบริหารด้วย ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดด้วย อย่างวันนี้ต้องเดินทางไปที่เชียงใหม่ เชียงราย 

 

นครินทร์: หลังจากวันนี้จัดลำดับความสำคัญของตัวเองอย่างไรในการเดินทางใน 100 วันแรก

 

เศรษฐา: ก็ต้องกลับไปเรื่องเดิมที่คุณเคนถามผมเช่นกัน หาภาวะสมดุลระหว่างต่างจังหวัดและต่างประเทศ เดี๋ยวก็ไปหาเจ้าสัว เดี๋ยวก็ไปหาประชาชน เดี๋ยวก็มีการว่าอีกว่าอะไรอย่างไร ทุกสายตาจับจ้อง มันเป็นอะไรที่หนักใจ ทำอะไรก็ไม่ถูกใจคนทางนั้น ไปเจอเจ้าสัวก่อน ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ ก็ถูกว่าว่าทำไมผมไม่ไปหาประชาชน ไปต่างประเทศบ่อยก็ถูกว่าว่าทำไมถึงไม่ลงพื้นที่ใช่ไหมครับ มันมีหลายเรื่องเหลือเกิน ก็เข้าใจ

 

นครินทร์: แต่นี่มันก็เป็นสิ่งที่ต้องแลกมาอยู่แล้ว

 

เศรษฐา: ผมไม่ได้บ่น เพียงแต่จะพูดจาอะไรต้องระมัดระวังใช่ไหมครับ ไปต่างประเทศบ่อย ระหว่างทางจะไปอุตรดิตถ์จะมีงานแทรกไหม ไปหนองบัวลำภูไหม จะไปภูเก็ตไหม ก็ต้องบาลานซ์ ซึ่งก็ยืนยัน แต่ที่แน่ๆ มีไป UNGA ไปกัมพูชา วันที่ 28 กันยายนไปมาร์ราเกช โมร็อกโก ต้องไปเซ็นสัญญา World Bank ให้มาจัดที่ประเทศไทย แล้วก็ไปเมืองจีน ไป APEC ตอนกลางเดือนพฤศจิกายนมีไปประชุม COP ระหว่างทางก็ต้องเดินทางออกต่างจังหวัดเพื่อไปฟังความคิดเห็น 

 

หลายๆ เรื่องที่คุณเคนถามมา เช่น เรื่องยาเสพติด ปัญหาใหญ่พอๆ กับปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งก็ต้องไปนั่งดูว่าสัปดาห์นี้ผมไปเชียงใหม่ เชียงราย กลับมาตอนเที่ยงวันอาทิตย์ (17 กันยายน) ก็ไปประชุมครบเลยทุกภาคส่วน เรื่องยาเสพติดที่ไปหาเสียงไว้ นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ ถ้าใครจำได้ว่านายกฯ นั่งหัวโต๊ะ ก็จะบริหารจัดการเรื่อง 1. ทำลายยาเสพติด 2. ยึดทรัพย์ มีจุดอ่อนในเรื่องไทม์ไลน์ที่จะไปยึดทรัพย์มา ซึ่งไทม์ไลน์มันยาวมาก แน่นอนแหล่งผลิตมันก็ไม่มา เรื่องของเพื่อนบ้าน ตะเข็บชายแดนที่ลักลอบเข้ามาเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งวันอาทิตย์จะพูดคุยกันประมาณ 40 หน่วยงาน และตามด้วยการเผายาเสพติด มีปัญหาวันที่จับได้กับวันที่เผามันนานเหลือเกิน เราจะเข้าไปร่นเวลาตรงนั้นอีก มีการย้ายยาเสพติดจากตรงนี้ไปตรงนี้ มาเผาตรงนี้ การที่ย้าย 3-4 จุดจะมีการรั่วไหลได้ เราได้พูดคุยว่าจะต้องกระชับกันหรือไม่ มีอีกเยอะ งานมีอีกเยอะครับ 

 

เศรษฐา ทวีสิน

 

ไทยบนเวทีโลก

 

นครินทร์: จุดยืนของไทยในเวทีอาเซียนและเวทีโลกมองอย่างไรตรงนี้ เพราะเกี่ยวข้องกับ PM2.5 ยาเสพติด ตะเข็บชายแดน มหาอำนาจที่จะต้องบาลานซ์ ตอนนี้จุดยืนของไทยในเวทีโลกเป็นอย่างไร 

 

เศรษฐา: เอาเรื่องสุดท้ายก่อนดีกว่า ผมว่าจุดบาลานซ์ของมหาอำนาจ จริงๆ เราเป็นประเทศที่เล็กตามขนาดของมหาอำนาจ และมีความภาคภูมิใจในเอกราช เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญในเรื่องของความสงบ ความเป็นกลาง ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องบริหาร เราไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีความเชื่อในสันติภาพ ไม่มีความเชื่อในการรุกราน มีความเชื่อในการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย ที่อยากให้ประเทศเพื่อนบ้านให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนด้วยเหมือนกัน ซึ่งจุดนี้สำคัญ ตรงนี้เราไม่ไปฝักใฝ่ใครทั้งสิ้น 

 

นครินทร์: ในอาเซียน เราจะขึ้นมาเป็นผู้นำ และจุดยืนต่อเมียนมา ข้อพิพาทแหล่งพลังงานต่างๆ  

 

เศรษฐา: ผมเข้าใจเรื่องผู้นำในอาเซียนในแต่ละปี ไม่แน่ใจว่าประเทศรายต่อไปน่าจะเป็น สปป.ลาว ถ้าไม่ผิด สำหรับจุดยืนของเมียนมา ชัดเจน เราจะไม่ไปก้าวก่ายอะไรของเขา จะไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน การเจรจาแหล่งก๊าซธรรมชาติของเมียนมาน่าจะประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ที่เราใช้อยู่ ซึ่งจะพูดคุยกับท่านทูตสหรัฐฯ ที่จะถือโอกาสพูดคุยเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน 

 

นครินทร์: นโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยที่มีความโดดเด่นมาตลอด แล้วคุณเศรษฐาเองก็เป็นนักธุรกิจมา มีการตั้งเป้าด้วยว่าจะตั้ง GDP Growth ให้ได้ 5% ในแต่ละปี 

 

เศรษฐา: เฉลี่ยผมจะดัน 5% ตลอด 4 ปี และอาจจะเป็น 7%

 

นครินทร์: การผลักดันนโยบายในภาพรวมอยู่ตรงไหน ระยะกลางจะเอา GDP Growth มาจากไหน การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย เครื่องจักรจะเป็นอย่างไร 

 

เศรษฐา: เน้นการลงทุน การเจรจาต่างประเทศ ไปเจรจามากยิ่งขึ้น FTA ที่เราไม่เคยทำอะไรมาตลอด 8-9 ปีที่ผ่านมา ตรงนี้จะเปิดประตูการค้ามากยิ่งขึ้น ทำให้บริษัทไทยสามารถไปทำการค้าขายต่างประเทศได้ดีขึ้น มีการส่งสินค้าได้ดีมากขึ้น เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญ การเอานักลงทุนต่างประเทศเข้ามา มีการลงทุน มีการจ้างงานเข้ามา มีการย้ายแหล่งทุนจากประเทศต่างๆ มา ไม่ว่าจะเป็นจีนที่มีความขัดแย้ง เรื่องการท่องเที่ยวเป็นเรื่องใหญ่เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วว่าเราพยายามที่จะทำเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้เกษตรกร การพักหนี้ ที่เราไม่อยากให้พักแล้วพักอีก เพราะต้องการที่จะเพิ่มรายได้ให้กับเขา ซึ่งการเพิ่มรายได้ จะต้องเพิ่มความแม่นยำให้กับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการปลูก การทดลองดินก่อน ปุ๋ย การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เหล่านี้เป็นอะไรที่เราให้ความสำคัญในระยะกลางจนถึงระยะยาว  

 

เรื่องการลงทุนไม่แน่ใจว่าจะเห็นภายใน 1 ปี หรือเปล่า แต่มั่นใจว่าถ้ามีการเซ็นสัญญา ลงไทม์ไลน์เรียบร้อยว่าบริษัทใหญ่ 1-2-3-4-5 จะมา ตอนนี้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่ผมทำได้

 

นครินทร์: เรื่องการลงทุน เรื่องการท่องเที่ยว เรื่องฟรีวีซ่าชั่วคราวที่ออกมา เกษตรที่ยกระดับต่างๆ

 

เศรษฐา: เรื่องการท่องเที่ยว เรื่องต่างประเทศ เรื่อง FTA สำคัญมาก ก็จะผลักดันเรื่อง FTA มากขึ้น เรื่องค่าแรงภายใน 4 ปี เป็น 600 บาท ว่าจะได้เท่าไรขอดูก่อน ผมยืนยันว่าภายใน 4 ปี จะปรับฐานเงินเดือนจบปริญญาตรีเป็น 25,000 บาท สัญญายังเหมือนเดิม แต่อย่ามาบอกว่าปีแรก 390 บาท 400 บาท 410 บาท ไปดูตัวเลขให้ชัดเจนอีกทีหนึ่ง แต่ละปีจะมีสเต็ปของมัน ค่อยเป็นค่อยไป จะมาบอกอีกทีหนึ่ง ยืนยันจะทำแน่นอน 

 

นครินทร์: 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ เห็นตั้งคณะกรรมการ มันคืออะไรครับ?

 

เศรษฐา: คือเป็นการไปเฟ้นหาครอบครัวทั้งหลายในสังคมไทย อาจจะซ่อนอยู่ มีอยู่ในครอบครัวคนไทยในทุกจังหวัด ตรงนี้มีทั้ง Free Industry, อาหาร, กีฬา มีหลายๆ ภาคส่วน เรื่องหัตถกรรม หลายๆ เรื่อง ซึ่งเราจะดึงขึ้นมาและเป็นพลังส่งออกให้พี่น้องประชาชนมีรายได้ที่มากขึ้น ตอนนี้เริ่มตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว ซึ่งก็อยู่ในนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเราไม่ทอดทิ้ง ขอบคุณที่เตือนเรา เป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่จะต้องผลักดัน

 

เศรษฐา ทวีสิน

 

เศรษฐาและความท้าทายในตำแหน่งนายกฯ 

 

นครินทร์: อะไรคือความหนักใจ

 

เศรษฐา: บริหารความคาดหวัง คนลืมไปว่าเราเพิ่งเข้ามา แต่ละผู้นำมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกันไป การนำเสนออาจจะแตกต่างกันไป ไม่ถูกใจบ้าง ระดับของความชัดเจนจะแตกต่างกันไป อยากให้ดูที่ผลงานเป็นหลัก ผมก็พยายามปรับตัวเข้าหาพี่น้องประชาชน 

 

นครินทร์: ทั้งผิดหวังมาแล้ว ไม่มีความเชื่อใจ บางคนบอกนี่ไม่ใช่นายกฯ 

 

เศรษฐา: มันมีอยู่แล้ว มีทุกยุคทุกสมัย ทั้งที่เลือกมา ไม่ได้เลือกมา อะไรอย่างไรนะครับ มีคนที่อยากได้บางคน ไม่อยากได้บางคน เป็นธรรมดาอยู่แล้ว เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่ก้าวมาถึงจุดจุดนี้ ไม่ได้มีความหวั่นไหวอะไร ไม่ได้เป็นการบั่นทอนหรือหมดกำลังใจหรืออะไร ผมทำงาน ทำผลงานออกมาอย่างเดียวนะครับ

 

นคินทร์: สไตล์ของคุณเศรษฐาที่บอกคืออย่างไร สไตล์ของผู้นำที่แตกต่างกัน ผู้นำที่ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน 

 

เศรษฐา: ผมไม่อยากเปรียบเทียบกับผู้นำคนก่อนๆ ทุกๆ ท่านมีวิธีการบริหารจัดการกันไป แต่ละคนก็มีความหวังดีกับประเทศชาติของเรา ด้านวิธีการทำงานก็คงแตกต่างกันไป ข้าราชการเองก็ต้องปรับตัว ผมเองก็ต้องปรับตัว ผู้ร่วมงานในบริษัทเอกชน ข้าราชการก็มีหลักในการทำงานแตกต่างกันไป ก็ค่อยๆ ปรับกันไป ขอเน้นว่า เศรษฐกิจ ณ วันนี้เปราะบางเกินไป พี่น้องประชาชนเดือดร้อน ตรงนี้อะไรทำได้เราทำก่อน อะไรที่คิดว่าเป็นประโยชน์เราทำก่อน เรื่องรายละเอียดก็คงต้องว่ากันต่อไป แก้ไขกันไป อย่างน้อยให้มีความหวัง มีแรงบันดาลใจในการทำงานกันต่อไป 

 

นครินทร์: สไตล์คุณเศรษฐาเป็นอย่างไร ทำงานเร็ว ดุดัน

 

เศรษฐา: ผมว่าให้คนทำงานเขาพูดดีกว่าตรงนี้ แต่ผมเน้นเรื่องผลงานเป็นหลัก เป้าหมายเป็นหลัก ส่วนเรื่องอื่นที่จะมาระหว่างทางเป็นเรื่องที่ต้องบริหารจัดการกันไป ใช้คำว่าจูนกันไปแล้วกันครับ ผมก็จะเป็นตัวของตัวเองมาก ทำงานมันก็ลำบาก ต้องพึ่งหลายๆ ภาคส่วนด้วยกัน ผมถึงบอกว่าเริ่มต้นที่ทำข้อมูลก่อนดีกว่า ผลงานก่อนดีกว่า ตั้งต้นกันที่ผลงาน อย่างอื่นเราก็ค่อยว่ากันไป 

 

นครินทร์: ตัวตนที่คุณเศรษฐาสะสมมา 60 ปี แล้วต้องสละทิ้งในการเป็นนายกฯ ในครั้งนี้ ที่เมื่อกี้พูดว่าต้องลดตัวตนลงมาบ้าง 

 

เศรษฐา: ความดุดัน ความที่พูดจาตรงไปตรงมา ผมก็จะต้องระมัดระวังคำพูดเหมือนกัน

 

นครินทร์: ยังใจร้อนอยู่ไหมครับตอนนี้ 

 

เศรษฐา: ผมว่าผมใจร้อนมากขึ้น แต่วิธีการบริหารความใจร้อนก็แตกต่างกันไป ก็ใจร้อนไง เข้ามาเห็นปัญหาเยอะ เช่น เซ็ตมีตติ้งพร้อมกัน 4 มีตติ้ง ก็ต้องเดินตามห้องไป แล้วพอกลับไปบ้าน เราก็มาเอ๊ะ ไม่ควรจะทำอย่างนั้นนะ บางทีรายละเอียดมันตกไปนิดหนึ่ง แทนที่บางทีนั่งแต่ละมีตติ้งเราจะได้โฟกัสแต่ละเรื่องให้ดี แต่พอเวลาคนมา เราต้องเลือกที่จะปฏิเสธบ้างในบางมีตติ้ง แต่ก็พยายามจะเห็นใจทุกๆ ภาคส่วนเขาต้องการทิศทางในการทำงาน ผมก็พยายามที่จะตอบสนอง ซึ่งหลายๆ ภาคส่วนก็อยากได้รับไดเรกชันที่ชัดเจน และการเดินทางไปต่างประเทศ ต่างจังหวัด ไม่อยากให้เป็นอุปสรรค 

 

แต่มันก็เป็นตัวบีบบังคับที่ว่าเราต้องมีตติ้งหลายๆ มีตติ้งในเวลาเดียวกัน ซึ่งอาจจะทำให้มี 4-6 มีตติ้งพร้อมกัน บางทีเดินไปตามห้องต่างๆ ก็ต้องมีคนเดินมา บางทีเซ็นเอกสารไปพูดคุยไปโทรศัพท์ไปอะไรไป ซึ่งก็มีอะไรหลายๆ อย่างที่ลำบาก ต้องมาปรับตัวเองเหมือนกัน ต้องรู้ที่จะเลื่อน หรือปฏิบัติไปพรุ่งนี้ มะรืนนี้บ้าง อาจจะไม่ได้ประสิทธิภาพดีเท่าที่ควร อันนี้ก็เป็นการปรับภายใน เป็นเรื่องที่ใหญ่พอสมควร เราปรับตรงนี้ไม่ได้ มันลำบาก คนที่เขาคอยเราอยู่ก็ไม่ได้รับความชัดเจน เป็นเรื่องระหว่างทางก็ต้องปรับกันไปนะครับ

 

นครินทร์: มีคนเปรียบเทียบคุณเศรษฐา กับ พล.อ. ประยุทธ์​ ทั้งในเรื่องของอารมณ์ร้อน มีภาพคุณเศรษฐาเหวี่ยงปากกาเป็นต้น

 

เศรษฐา: อันนี้ก็เป็นวาทกรรมนะครับ มาดูสิว่าผมเหวี่ยงหรือเปล่า ผมปล่อยนะ ถ้าเหวี่ยงนี่คือเหวี่ยงนะ คือกลับไปที่คุณเคนบอก นายกฯ ตระบัดสัตย์ นายกฯ ไม่ได้เลือกมา นายกฯ โกหกอะไรมา ผมว่าอะไรตรงนี้ก็สะท้อนการกระทำของผม อิริยาบถ ถ้าเป็นคนที่เขากระแสดี แล้วคนที่ดูอยู่ให้ความเป็นธรรม บอกว่าเป็นการขว้างปากกา โยนปากกาบ้าง มันไม่ใช่ครับ นั่นคือตัวตนผม 

 

ถ้ามาพรีเซนต์ว่า บอร์ดไม่ติด ไฟไม่ชัด ทำไมเป็นอย่างนี้ แต่วันนี้เราเป็นที่จับตาดูอยู่ อันนี้ก็ต้องปรับตัวไป ไม่ได้หมายความว่าอารมณ์เสีย วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ แต่วันนั้นเป็นวันที่ปัญหาเยอะ ต้องบอกมาหลายๆ อย่าง ผมก็อยากตอบทุกๆ คำถามที่เขาถาม พยายามที่จะจัดลำดับความสำคัญ จดและตอบ สไตล์ผมก็เป็นอย่างนั้น ลองไปเอาเทปนายกฯ ท่านอื่นๆ มาสิ เขาทำอย่างนี้หรือเปล่า ใช่ไหมครับ

 

นครินทร์: ยืนยันว่าไม่ใช่คนอารมณ์ร้อน แต่เป็นคนใจร้อน

 

เศรษฐา: ผมเป็นคนใจร้อนจริงๆ พยายามจะตอบทุกๆ ปัญหาจริงๆ คนเขาพูดเขาเดือดร้อนจริงๆ เขาไม่ได้คอยปากกาที่จะให้มา คอยปากกาให้น้ำหมึกไหลออกมาก่อน แล้วผมก็ตามไม่ทันกับสิ่งที่เขาคอมเพลนมันคืออะไร อันนี้ไม่อยากให้ไปโฟกัสหรอก จริงๆ ผมก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ยอมรับว่ามีอารมณ์ร้อนในบางครั้ง แต่โดยเชื้อในแล้วเป็นคนใจร้อน ใช่ครับ อาจจะต้องพยายามบริหารเรื่องเวลา เรื่องลำดับในการทำงานที่ให้ดีขึ้น เป็นธรรมดาของการเข้ามาสู่อาชีพใหม่ บทบาทใหม่ โดยเฉพาะเป็นที่เพ่งเล็งของทุกๆ คน ภูมิต้านที่ดีที่สุดคือการทำให้ดีและให้เห็นผลงานออกไป ก็ได้แต่ขอแค่นี้แหละ และถ้าผลงานออกไปแล้วค่อยวิพากษ์วิจารณ์กันดีกว่า 

 

มีหลายๆ อันที่ผลงานออกมาแล้วคิดว่าดีก็ยังมีคนเอ๊ะตลอดเวลา ใช่ไหมครับ ผมก็ต้องระมัดระวังตัวเองอยู่ตลอดเวลาเท่านั้นเอง

 

นครินทร์: สุดท้ายแล้ว ในฐานะที่ได้มีโอกาสมานั่งตรงนี้ พูดกับประชาชนผ่านกล้อง คนที่ดูอยู่ทุกคนเลย ทั้งประชาชนที่เลือกคุณเศรษฐามา ไม่ได้เลือกคุณเศรษฐามา คนที่ผิดหวัง สมหวัง จะพูดอะไรกับประชาชนในฐานะนายกฯ

 

เศรษฐา: ผมว่าความหวังของพี่น้องประชาชนเป็นเรื่องที่ดี รัฐบาลนี้มาด้วยต้นทุนที่สูงมาก เรามีความตั้งใจจริงในการที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้พี่น้องประชาชน บ้านเมืองมีความแตกแยกในเรื่องแนวคิด เป็นเรื่องของอะไรต่างๆ 

 

หน้าที่ของรัฐบาลเราพยายามเต็มที่ที่จะทำให้เรื่องความแตกแยกเหล่านี้หมดไปในเวลาที่เร็วที่สุด เรื่องปัญหาต่างๆ เศรษฐกิจ ผมจะเขียนนโยบายอะไรที่เป็นนโยบายที่สามารถทำได้เร็ว เพื่อที่จะลดความทุกข์ของพี่น้องประชาชน ทุกวันนี้พยายามทำงานหนักที่สุด ผมมั่นใจว่ารัฐบาลนี้อยากให้พี่น้องประชาชนเชื่อใจว่าเราพยายามเต็มที่ครับ อะไรที่เราทำได้ เราพยายามทำให้เร็วที่สุด ขอให้มีความอดทนนิดหนึ่งนะครับ

 

เศรษฐา ทวีสิน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X