×

‘เศรษฐา ทวีสิน’ ซีอีโอหมื่นล้าน สู่ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย

โดย THE STANDARD TEAM
22.08.2023
  • LOADING...
เศรษฐา ทวีสิน

ถึงจะเคยลั่นวาจาว่า “จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น” แต่สำหรับนักธุรกิจหมื่นล้าน เศรษฐา ทวีสิน เส้นทางนี้กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด

 

ตั้งแต่ประกาศเข้ามาสู่เส้นทางการเมืองเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย จนกระทั่งได้รับการเสนอชื่อเป็น 1ใน 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย นับเป็นเวลา 5 เดือน 22 วัน (1 มีนาคม – 22 สิงหาคม) จนได้รับการเสนอชื่อเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาในที่สุด 

 

ซีอีโอหมื่นล้าน 

หากย้อนดูประวัติ เศรษฐา วัย 61 ปี เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2505 เป็นลูกชายคนเดียวของ ร.ท. อำนวย ทวีสิน และ ชดช้อย จูตระกูล จบการศึกษาปริญญาโทด้านการเงินที่มหาวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาแคลร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา 

 

จากนั้น เข้าทำงานที่บริษัทพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เป็นเวลา 4 ปี ต่อมาย้ายไปทำงานที่ บจก.แสนสำราญ ของ อภิชาติ จูตระกูล ลูกพี่ลูกน้อง ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) 

 

ชีวิตครอบครัว สมรสกับ พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน มีบุตรธิดาด้วยกัน 3 คนคือ น้อบ-ณภัทร ทวีสิน, แน้บ-วรัตม์ ทวีสิน และ นุ้บ-ชนัญดา ทวีสิน

 

เป็นเวลากว่า 37 ปี เศรษฐา ผู้นำที่ขับเคลื่อนแนวคิดใหม่ๆ ให้กับแวดวงอสังหาริมทรัพย์ นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ผลักดันเป็นองค์กรด้านความเท่าเทียม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ 

 

ผู้นำที่มาพร้อมการเปลี่ยนแปลง 

เศรษฐาเคยระบุไว้ว่า ถ้าหากได้เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ต้องการเกียรติประวัติ แต่ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง อยากเข้ามาเพื่อพัฒนาประเทศจริง และเป็นความหวังของพี่น้องประชาชน 

 

เช่นเดียวกับฟุตบอล ที่ไม่เพียงแค่ความชื่นชอบ แต่เศรษฐาจริงจัง และมีมุมมองฟุตบอลที่น่าสนใจ จนมีคอลัมน์ ‘เศรษฐากับกีฬา’ ในหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน ต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ปี และนำมารวมเล่มตีพิมพ์ในภายหลัง 

 

ต่อยอดไปถึงการก่อตั้ง ‘แสนสิริ อะเคดามี’ ให้บริการเยาวชนฟรี เพื่อฝึกทักษะเป็นนักฟุตบอลที่ดีของประเทศ

 

สู่เส้นทางการเมือง

เมษายน 2566 เศรษฐาประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งของแสนสิริ พร้อมโอนหุ้น 661,002,734 หุ้น ให้กับ ชนัญดา บุตรสาว เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ

 

แต่สิ่งที่ให้มุมมองความคิดของเศรษฐาได้อย่างชัดเจนมาจากการใช้โซเชียลมีเดียทุกแขนง โดยเฉพาะ X (ชื่อเดิม Twitter) ซึ่งเศรษฐายอมรับว่า การเสนอความคิดเห็นต่อปัญหาสาธารณะมีราคาที่ต้องจ่าย และอาจจะมีเสียงต่อว่าตามมา แต่ถือเป็นหน้าที่ และทำด้วยความหวังดี

 

เศรษฐาปรากฏตัวในทางการเมืองครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2566 คู่กับ แพทองธาร ชินวัตร ในการพบปะประชาชนย่านเยาวราช ต่อมาลงพื้นที่ช่วยผู้สมัคร สส. กทม. หาเสียงเป็นครั้งแรกที่มูลนิธิดวงประทีป ชุมชน 70 ไร่ คลองเตย กรุงเทพฯ

 

11 มีนาคม 2566 เศรษฐาขึ้นเวทีปราศรัยครั้งแรกที่วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร อีก 6 วันถัดมา (17 มีนาคม) พรรคเพื่อไทยเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร สส. 400 เขต โดยมีเศรษฐาแถลงนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท เติมเงินให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ได้ใช้ซื้อของในชีวิตประจำวันจากร้านค้าในชุมชนไม่เกินรัศมี 4 กิโลเมตร

 

ในช่วงหนึ่งของการหาเสียง เศรษฐาประกาศชัดเจนเป็นครั้งแรกว่า “เราต้องไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ” “มีเราไม่มีลุง” และโจมตีพรรคภูมิใจไทยว่า “เสนอกัญชาเสรีมอมเมาลูกหลาน” “เลือกภูมิใจไทย ประยุทธ์จะกลับมา” ทำให้เกิดเป็นประเด็นโต้เถียงกับ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จนเศรษฐาตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาปราศรัยใส่ร้าย ก่อนที่พรรคภูมิใจไทยจะถอนฟ้องเมื่อพรรคประกาศร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย

 

เมื่อด่านแรกยังไม่ถึงฝัน

“ต้องบอกตรงๆ ว่าไม่นึกว่าจะแพ้…เหมือนมวยยก 9 (มวยมี 12 ยก) ยก 9 คะแนนนำ แต่เป๋ คิ้วแตกบ้าง ตาปิด รู้ว่าเป๋ จาก 280 เหลือลงมา 250 หรือ 230 อย่างไรก็ไม่ต่ำกว่า 200 แต่ไม่เคยคิดว่าจะได้ต่ำกว่า 210”

 

นี่คือบางส่วนของคำพูดเศรษฐาในงานเอ็กซ์คลูซีฟดินเนอร์ทอล์กของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ 

 

14 พฤษภาคม 2566 พรรคเพื่อไทยแพ้การเลือกตั้ง ไม่แลนด์สไลด์อย่างที่เคยหาเสียงไว้ สิทธิการจัดตั้งรัฐบาลตกเป็นของพรรคอันดับ 1 อย่างพรรคก้าวไกล ก่อนที่เสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภามีมติไม่โหวตให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีในรอบแรก 

 

และมีมติว่าการเสนอญัตติให้โหวตพิธาซ้ำเป็นการผิดข้อบังคับในรอบที่ 2 

 

ด่านที่สองแห่งความหวัง

2 สิงหาคม 2566 พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์เสนอชื่อเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี หลังประกาศฉีก MOU กับพรรคก้าวไกล และเดินหน้าจัดรัฐบาล ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลไปต่อไม่ได้ เนื่องจากเสียงสนับสนุนจาก สส. และ สว. ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ทำให้โอกาสโยนกลับมาที่พรรคอันดับ 2 คือพรรคเพื่อไทย ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

 

กระแสสะดุด เมื่อเจอ ‘แฉเพื่อชาติ’ 

3 สิงหาคม 2566 หลังเศรษฐาประกาศตัวเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตัวจริงอย่างเป็นทางการ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง เปิดแถลงข่าว ‘แฉเพื่อชาติ EP.1’ กล่าวหาเศรษฐาเมื่อครั้งเป็นผู้บริหาร บมจ.แสนสิริ ซื้อขายที่ดินย่านถนนสารสิน หลีกเลี่ยงภาษี 

 

15 สิงหาคม 2566 ชูวิทย์ยังคงเดินหน้าแฉเพื่อชาติ EP.2 กล่าวหาเศรษฐา ว่าในการซื้อที่ดินย่านทองหล่อมีการปั่นราคา ตั้งบริษัทนอมินีโดยให้แม่บ้านและ รปภ. เป็นผู้ถือหุ้น และยังมีเงินถอนซื้อที่ดินหายปริศนาถึง 435 ล้านบาท 

 

21 สิงหาคม ชูวิทย์เตรียม ‘แฉเพื่อชาติ EP.3’ ก่อนการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันถัดมา โดยหวังว่า สว. จะนำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจ แม้ทาง บมจ.แสนสิริ จะออกเอกสารชี้แจง เศรษฐาจะออกมาอัดคลิปแถลงการณ์ตอบโต้ รวมถึงส่งทนายความฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทและเรียกค่าเสียหายถึง 500 ล้านบาท 

 

สิ่งที่หวั่นๆ ก็เกิดขึ้นจริง เพราะมี สว. บางรายออกมาเรียกร้องให้เศรษฐาเข้ารัฐสภาเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ในการโหวตนายกรัฐมนตรี หากมีการเสนอชื่อ และเพื่อจะซักถามถึงประเด็นที่เกิดขึ้น แต่ทางพรรคเพื่อไทยและ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ออกมาย้ำว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องแสดงวิสัยทัศน์

 

แม้เส้นทางเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนดั่งฝัน และเป็นที่แน่ชัดในวันนี้แล้วว่า เสียง สส.พรรคร่วมรัฐบาล และเสียง สว. ได้โหวตยกมือให้เศรษฐาขึ้นแท่นนั่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising