วันนี้ (15 ธันวาคม) เวลา 09.00น. (ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง) ที่โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา ‘Thailand-Japan Investment Forum’ ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งมีนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้าร่วมกว่า 500 คน โดยเป็นการสัมมนาใหญ่ระหว่างสองประเทศด้านเศรษฐกิจครั้งแรกหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย
เศรษฐากล่าวตอนหนึ่งว่า ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้กล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนาที่รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีโลก
ดึงญี่ปุ่นลงทุนซอฟต์พาวเวอร์-แลนด์บริดจ์
เศรษฐากล่าวว่า ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์พัฒนาก้าวหน้าขึ้นในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และสังคม ประกอบด้วย
1. ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่มีกว่า 136 ปี เป็นมิตรแท้ที่มีความสัมพันธ์กันในทุกระดับ ทั้งราชวงศ์ รัฐบาล ภาคธุรกิจ รวมไปถึงภาคประชาชน มีบริษัทญี่ปุ่นลงทุนในไทยกว่า 6,000 บริษัท มีชาวญี่ปุ่นที่อาศัยในไทยกว่า 80,000 คน
2. รัฐบาลมีแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศซึ่งสอดคล้องกับนโยบายญี่ปุ่นที่เน้นเทคโนโลยีคุณภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่บริษัทใหญ่ไปจนถึงบริษัทท้องถิ่น หวังว่าไทยจะเป็นจุดมุ่งหมายของพวกท่าน แม้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว แต่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อัดเงินเข้าระบบ และดึงดูดนักท่องเที่ยว
พวกเราไม่ลืมว่าญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าลำดับต้น ซึ่งมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 50 ปี เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่ รัฐบาลไทยพร้อมที่จะช่วยดูแลและสนับสนุนบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นให้แข่งขันและเติบโตได้ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ ขณะเดียวกันไทยกำลังส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์สู่ระดับสากลด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม พัฒนา 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ต่อยอดภูมิปัญญา ซึ่งเป็นโอกาสใหม่ให้ญี่ปุ่นต่อยอดการลงทุน
3. ด้านแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของไทย รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีหลายภาคส่วนที่มีความร่วมมือกับทางญี่ปุ่น ขณะนี้รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะผลักดันโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มูลค่าเงินลงทุนเบื้องต้นกว่า 4 ล้านล้านเยน จึงขอเชิญชวนให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นเข้าร่วมศึกษาและลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ เสริมสร้างความเชื่อมโยงและซัพพลายเชนในภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เศรษฐากล่าวว่า รัฐบาลไทยให้ความเชื่อมั่นว่าจะมุ่งมั่นยกระดับเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เดินหน้าขยายการเจรจา FTA กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเร่งปรับปรุงบริการภาครัฐ เพื่อทำให้การประกอบธุรกิจมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น วันนี้ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับการลงทุนจากทุกประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่นทั้งรายเดิมและรายใหม่ พร้อมร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นในการยกระดับอุตสาหกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อความก้าวหน้าของทั้งสองประเทศต่อไป
ญี่ปุ่นพร้อมผลักดันไทยเป็นฐานผลิต-ส่งออกรถยนต์ระดับโลก
ด้าน ไซโต เคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทยเป็นพันธมิตรสำคัญที่ร่วมสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมมาโดยตลอด มีอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลักบนพื้นฐานความไว้วางใจที่สั่งสมมายาวนานของทั้งสองประเทศ ปีนี้ครบรอบ 50 ปีแห่งมิตรภาพญี่ปุ่นอาเซียน นับเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น พร้อมสร้างอนาคตร่วมกันในอีก 50 ปีข้างหน้า
โดยจะมุ่งเน้นใน 3 ประเด็น คือ
- การสร้างอุตสาหกรรมในอนาคต เปิดสายงานที่ญี่ปุ่นถนัด เช่น พลังงานสะอาด รถยนต์ในยุคต่อไป การบินและอวกาศ รวมถึงการแพทย์ขั้นสูง
- ความมั่นคงด้านพลังงานและลดคาร์บอนไปพร้อมกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ให้เป็นรูปธรรม
- การพัฒนาบุคคลที่เป็นพื้นฐานความร่วมมือเพื่อสร้างอนาคต
ไซโตกล่าวอีกว่า วันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีการลงทุนของสหรัฐอเมริกาและจีนเพิ่มมากขึ้น การแข่งขันระดับโลกทวีความรุนแรง ญี่ปุ่นต้องการให้อาเซียน โดยเฉพาะไทยที่ถูกขนานนามว่า ‘ดีทรอยต์อาเซียนที่แข็งแกร่ง’ เป็นที่สร้างยานยนต์ในยุคต่อไปเพื่อให้แข่งขันในโลกได้ นอกเหนือจากรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังมีรถยนต์ไฮโดรเจนและเอทานอลที่เราต้องพัฒนาในเรื่องเหล่านี้ รวมถึงต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกและตลาดส่งออกยุโรปที่ต้องการลดคาร์บอนในกระบวนการผลิต
ไซโตกล่าวว่า อยากทำงานให้ครอบคลุมกับประเทศไทย โดยร่วมมือกับเศรษฐาและรัฐบาลไทยสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ของสองประเทศ และเร่งสร้างศูนย์การผลิตและการส่งออกรถยนต์อันดับหนึ่งของโลกในยุคต่อไป รวมถึงกระชับความสัมพันธ์การลงทุนของทั้งสองประเทศในด้านต่างๆ ด้วย
หารือ 7 บริษัทยานยนต์ญี่ปุ่น
โดยภารกิจนายกรัฐมนตรีในวันนี้ จะหารือกับบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นทั้ง 7 บริษัท ได้แก่ Toyota, Honda, Mazda, Nissan, Suzuki, Mitsubishi และ Isuzu