วันนี้ (29 กุมภาพันธ์) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดงานสัมมนาทางวิชาการกองทัพอากาศประจำปี 2567 (RTAF Symposium 2024) ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ ซ้อมเป็นสักขีพยานในพิธีมอบ M Solar-X ที่วิจัยและผลิตโดยกองทัพอากาศ เพื่อแสดงถึงความพร้อมเข้าสู่สายการผลิต
ขณะที่นายกรัฐมนตรีกล่าวในการปิดงานสัมมนาทางวิชาการกองทัพอากาศประจำปี 2567 (RTAF Symposium 2024) ว่า รัฐบาลยืนยันว่าการพัฒนาเศรษฐกิจจะควบคู่กันไปกับการพัฒนาความมั่นคงของกองทัพอากาศและทุกเหล่าทัพ ซึ่งการนำเสนอภารกิจของกองทัพอากาศเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ยังไม่ค่อยมีคนพูดถึง ซึ่งรัฐบาลต้องพึ่งพิงกองทัพอากาศ โดยเฉพาะภารกิจในการอพยพคนไทยในขณะที่ทั่วโลกมีความขัดแย้ง จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญในการพัฒนากองทัพอากาศ เพราะถ้าเราไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เราก็จะไม่มีความมั่นคงทางการทหาร
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงสวัสดิการของกองทัพอากาศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปดูบ้านพักของข้าราชการชั้นผู้น้อยให้ถูกต้องเหมาะสมเหมือนเหล่าทัพอื่นๆ ส่วนนโยบายการเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ เชื่อว่าทุกคนเข้าใจความตั้งใจของรัฐบาลที่ไม่ได้ต้องการลดกำลังพลแต่เป็นการลดตามสถานการณ์ และพร้อมสนับสนุนเครื่องมือยุทโธปกรณ์ให้เหมาะสม เพราะการพัฒนากองทัพไม่ใช่เพียงแค่การดูแลด้านความมั่นคงอย่างเดียว แต่การดูแลประชาชนก็เป็นเรื่องสำคัญ ขอให้มั่นใจว่า ผบ.ทอ. และรัฐบาลจะพยายามทำทุกอย่างให้กองทัพอากาศไม่มีใครสามารถทัดเทียมได้
แนะลดเงื่อนไข TOR ส่งเสริมบริษัทคนไทยผลิตยุทโธปกรณ์
ด้าน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวในงาน RTAF Symposium การสัมมนาเชิงวิชาการ Road Map To Unbeatable Air Force ‘บทบาท กมธ.การทหาร กับการพัฒนากองทัพอากาศ’ ว่า บทบาทสำคัญของ กมธ.การทหาร คือเราจะเป็นโซ่ประสานความสัมพันธ์อันดีระหว่างพลเรือนกับกองทัพ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง ถ้าตัดสินใจโดยใช้หลักวิศวกรรมหรือหลักความมั่นคงภายในประเทศก็จะตอบได้ว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ประชาชนก็คลางแคลงใจอยู่เสมอ ดังนั้น กมธ.การทหาร ก็จะมาทำให้คลี่คลาย ให้ทั้งกองทัพและพลเรือนเข้าใจกัน โดยยึดหลักเหตุและผล
“ผมยืนยันว่ากองทัพอากาศจะปฏิบัติหน้าที่ต่อได้จะต้องมีอุปกรณ์และยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย ผมเชื่อว่าด้วยบุคลากรที่เรามีอยู่ ถ้ามีอุปกรณ์ที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ก็จะทำให้กองทัพอากาศสามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนคนไทยได้เต็มที่” วิโรจน์กล่าว
วิโรจน์กล่าวอีกว่า สิ่งที่ กมธ.การทหาร จะดำเนินต่อไปจากนี้คือ การผลักดัน Offset Policy ที่เหมาะสมและเป็นจริง ตนดีใจที่การจัดซื้อเครื่องบินรบซึ่งกำลังวางแผนในขณะนี้มีความพยายามให้คนไทยได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ได้เป็นเพียงเอาเงินไปซื้อผ่านตัวแทนแล้วเอาเครื่องบินกลับมา จะต้องพยายามต่อรองเพื่อให้ได้สิทธิที่กองทัพอากาศไม่ต้องพึ่งพิงหรือต้องขออนุญาตผ่านกระบวนการที่ไร้ประสิทธิภาพจากประเทศผู้ผลิต
หลายคนตั้งคำถามกับตนว่า วิจัยทางทหารจะเกิดประโยชน์อะไร ซึ่งหากคิดถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือธุรกิจนั้นยาก แต่ผลประโยชน์ทางตรงจะเกิดกับพลเรือน เช่น การบรรเทาสาธารณภัย แก้ปัญหาไฟป่า น้ำท่วม เป็นต้น ขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างในส่วนของกระทรวงกลาโหม ถ้าจะส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ส่งเสริมบริษัทคนไทยที่ผลิตยุทธภัณฑ์และยุทโธปกรณ์ ตนมองว่า TOR ต่างๆ จะต้องมีความโปร่งใสและลดเงื่อนไขที่เป็นการกีดขวาง เช่น จะต้องมีการขายให้กับราชการกับประเทศที่เป็นผู้ผลิตมาก่อน หรือต้องเคยสร้างหรือเคยผลิตสิ่งนั้นมาก่อน
“ผมมองว่าถ้ากองทัพสหรัฐฯ มี TOR ลักษณะนี้ หน่วยงานอย่าง NASA มี TOR ลักษณะนี้ จะต้องจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยที่เคยทำสิ่งนั้นมาก่อน โลกใบนี้จะไม่มีการผลิตสิ่งที่ใหม่และท้าทายเลย แต่จะสมเหตุสมผลกว่าหรือไม่ถ้ากำหนด TOR ว่าแม้จะไม่เคยผลิต แต่ถ้ามีผู้เชี่ยวชาญในการผลิตมาร่วมกำกับการผลิต ก็จะเป็น TOR ที่สมเหตุสมผลมากขึ้น” วิโรจน์กล่าว
ปลื้มปฏิทินงาน ‘สมุดปกขาว’ โปร่งใส-ชัดเจน
ทั้งนี้ กมธ.การทหาร ได้เยี่ยมนิทรรศการและชมสมุดปกขาวกองทัพอากาศปี 2567 ซึ่งวิโรจน์ระบุว่า การวางแผนงานและงบชัดเจน จึงขอชื่นชม ทอ. ที่จะได้เห็นความโปร่งใสและความจำเป็น โดยจะเป็นการแจ้งล่วงหน้าไปยังประชาชนและรัฐบาลว่าจัดซื้อเพื่อทดแทนอะไร ทั้งนี้ หากอยากให้น่านฟ้ามั่นคงก็ต้องวางแผนงบให้สอดรับสมุดปกขาวด้วย
เปิดแผนซื้ออาวุธ 10 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานสัมมนาวิชาการ RTAF Symposium 2024 ที่กองทัพอากาศจัดขึ้น ได้มีการเผยแพร่สมุดปกขาวกองทัพอากาศปี 2567 (RTAF White Paper 2024) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์การจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศระยะเวลา 10 ปี
แผนดังกล่าวมีการประเมินสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงที่ไทยจะเผชิญถึงปี 2580 เช่น การรักษาดุลยภาพความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ ภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรง โรคอุบัติใหม่ อาชญากรรมทางไซเบอร์ ความขัดแย้งระหว่างรัฐต่อรัฐ ความเสี่ยงทางทหาร เป็นต้น
นอกจากนี้ยังรวมถึงการประเมินกำลังรบที่ต้องการ โดยมุ่งเน้นการจัดหายุทโธปกรณ์ในลักษณะของการชดเชยหรือแลกเปลี่ยน (Military Offset) ที่ไม่ถูกจำกัดเงื่อนไขในการใช้งาน สามารถผลิตและใช้งานได้ภายในประเทศ พร้อมทั้งการบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบจากราคาเชื้อเพลิงฟอสซิล และการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนแบบที่ 19 หรือ บ.ข.19/ก (F-16) ฝูงบิน 102 กองบิน 1 เนื่องจากครบอายุการใช้งาน โดยจัดหาจำนวน 1 ฝูงบิน พร้อมอุปกรณ์เครื่องช่วยเหลืออะไหล่ระบบอาวุธอุปกรณ์สนับสนุนการบินและการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้อง