วันนี้ (24 สิงหาคม) ที่รัฐสภา ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรักษาการ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ว่าการส่งมอบอำนาจไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร แต่ครั้งนี้ถือเป็นอำนาจใหม่ที่ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย เพราะ พล.อ. ประยุทธ์ได้อำนาจจากการยึดมาจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย และได้ยึดครองอำนาจมานานกว่า 9 ปี ก่อนจะส่งมอบให้กับพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง จึงยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัยในหลายๆ ขั้นตอน
ส่วนที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การเข้าพบในครั้งนี้อาจเพื่อขอบคุณเสียงสนับสนุนจาก สว. สาย พล.อ. ประยุทธ์นั้น ณัฐชากล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็จะต้องมีเรื่องของ สว. เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างแน่นอน ซึ่งในช่วงเช้าของวันที่ 22 สิงหาคม ตนได้พูดคุยกับ สว. ที่รู้จักหลายคน ขณะนั้นยังไม่มีสัญญาณว่าจะโหวตให้เศรษฐาหรือไม่ จนถึงกระทั่ง 11.00 น. สว. หลายคนยังคงอภิปรายในลักษณะที่ไม่เห็นชอบกับเศรษฐา จนสุดท้ายในเวลา 13.00 น. ถึงมีสัญญาณที่จะโหวตให้เศรษฐา ดังนั้นจึงมีความชัดเจนว่าในช่วงเวลาตั้งแต่ 11.00-13.00 น. จะต้องมีการเจรจานอกรอบอย่างแน่นอน
ส่วนการที่อ้างว่าพรรคขั้วตรงข้ามมาอยู่ในรัฐบาลเดียวกัน ถือเป็นนิมิตใหม่ที่ดี ณัฐชามองว่า คำว่าสมานฉันท์ ปรองดอง เป็นความหมายที่ดี แต่ก็ต้องดูว่าเบื้องหลังความสมานฉันท์นั้นมีการกระทำอะไรบ้างที่ส่งผลต่อประชาชน เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นจะต้องรู้ให้ได้ว่าเบื้องหลังการสมานฉันท์ ปรองดอง ของคนที่ขัดแย้งกันมานานกว่า 10 ปี สุดท้ายมาจับมือกัน อ้างว่าเพื่อทลายความขัดแย้ง คงจะต้องมีข้อเจรจาที่ตกลงกันได้ แต่เรื่องอะไรนั้นคือสิ่งที่ประชาชนยังไม่ทราบ ยิ่งหน้าตาของรัฐมนตรีทั้ง 35 คน ออกมาก็จะยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้น ว่าภายใต้การเจรจาต่อรองจะมีเรื่องอะไรบ้าง และเป็นคำตอบให้กับประชาชนว่า รัฐบาลชุดนี้วางอยู่บนความไว้วางใจของประชาชนหรือไม่ ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เคยประกาศไว้ว่าจะตั้ง สสร. มาแก้ไขทั้งฉบับนั้น ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่เคยประกาศว่า จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วาระแรก ก็เชื่อว่าจะทำได้อย่างแน่นอนถ้ามีความตั้งใจ แต่จากนี้ก็ต้องดูความจริงใจด้วย ซึ่งจะดูได้จากที่มาของ สสร.
ณัฐชายังกล่าวถึงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ของ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ว่าตอนนี้จะยังให้ปดิพัทธ์ทำหน้าที่ต่อไป เนื่องจากเป็นกลไกที่ได้มาโดยชอบ ส่วนกติกาที่ว่าพรรคฝ่ายค้านไม่สามารถเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรได้นั้นข้อเท็จจริงคือ ขณะนี้พรรคก้าวไกลยังพูดว่าเป็นฝ่ายค้านได้ไม่เต็มปาก เพราะพรรคก้าวไกลได้รับการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 จะเป็นประธานสภาก็ถูกกีดกัน ขอตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ ล่าสุดขอเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้เป็น ต่อมาจะขอเป็นฝ่ายค้านก็ยังถูกกฎกติกาบังคับ ดังนั้นจากนี้พรรคก้าวไกลคงจะเป็นฝ่ายค้านโดยการกระทำ แต่นิตินัยยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากยังคงสนับสนุนให้ปดิพัทธ์ปฏิบัติหน้าที่รองประธานคนที่ 1 อย่างเต็มความสามารถ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ส่วนตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน เนื่องจากกติกากำหนดให้ต้องเป็นหัวหน้าพรรคของ สส. ที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด ซึ่งตอนนี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่อยู่ พร้อมยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านได้ เนื่องจากกติกากำหนดให้เป็นหัวหน้าของพรรคที่มีคะแนนเสียงมากที่สุดในฝ่ายค้าน และตอนนี้ก็ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ เนื่องจากยังไม่รู้สถานะที่ชัดเจน ซึ่งในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ก็มีการแสดงออกที่หลากหลาย