วานนี้ (20 กันยายน) สำนักข่าว Bloomberg ได้สัมภาษณ์ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับมุมมองของผู้นำไทยในมิติต่างๆ หลังจากที่ผ่านพ้นยุครัฐบาลทหาร รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอนตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา
เศรษฐายอมรับว่า ประเทศไทยนั้น ‘ยังตามหลังเวียดนาม’ หากมองในแง่ของข้อตกลงการค้าเสรีและรัฐบาลชุดก่อนก็ไม่ได้มีการเจรจากับพันธมิตรที่มีศักยภาพมากเพียงพอเพื่อดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ
เศรษฐากล่าวต่อไปว่า เป้าหมายของเขาในฐานะผู้นำรัฐบาลชุดนี้คือการเร่งผลักดันเศรษฐกิจให้โตเฉลี่ยที่ 5% ต่อปี ตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง โดยอาศัยการกระตุ้นภาคการผลิต พร้อมดึงดูดการลงทุนจากบริษัทสัญชาติอเมริกัน รวมถึงค่ายรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ซึ่งตัวเลขเป้าหมายดังกล่าวถือว่าสูงมาก หากเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไทยไตรมาส 2/66 ที่ขยายตัวแค่ 1.8%
“ก่อนหน้านี้เราปิดประเทศไประยะหนึ่ง” เศรษฐาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Bloomberg เป็นภาษาอังกฤษ “ผมต้องการให้โลกรับรู้ว่าประเทศไทยพร้อมเปิดกว้างสำหรับธุรกิจต่างๆ แล้ว”
เศรษฐาก้าวขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม โดยมีประสบการณ์บริหารงานในภาคเอกชนมานานกว่า 30 ปี ซึ่งสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า การที่เขาได้ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ช่วยให้บรรยากาศความวิตกกังวลของนักลงทุนผ่อนคลายลงมาบ้าง หลังจากที่ก่อนหน้านี้นักลงทุนได้เทขายหุ้นและพันธบัตรกันกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ เพราะกังวลกับความไม่แน่นอนทางการเมือง
เศรษฐามองว่า การไหลออกของเงินทุนนั้นมีสาเหตุมาจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ไม่ใช่เพราะนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย พร้อมระบุด้วยว่า “ขอเวลาผม 6 เดือน ผมหวังว่าผมจะเปลี่ยนใจพวกเขาได้”
รัฐบาลชุดใหม่ของไทยหวังที่จะผลักดันเศรษฐกิจให้ไปถึงเป้าหมายการขยายตัวที่ระดับ 5% ต่อปี เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2567 โดยใช้แรงหนุนจากการดำเนินนโยบายต่างๆ เช่น งบประมาณอุดหนุนด้านพลังงานรอบใหม่ การพักชำระหนี้ให้เกษตรกรและบริษัทขนาดเล็กเป็นระยะเวลา 3 ปี การยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยวจีน และแผนปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
ทั้งนี้ เศรษฐากล่าวว่า เขาคิดว่ายังมีอีกสองเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยให้โตตามเป้า นั่นคือการลงทุนจากต่างประเทศ และการใช้จ่ายของรัฐบาล พร้อมกล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพมากพอที่จะโตได้ 6-7% ภายในช่วงปีที่ 3 ของวาระการดำรงตำแหน่งของตนเอง แม้จะมีความท้าทายหลายประการก็ตาม
ส่วนในประเด็นการลงทุนจากบริษัทสัญชาติอเมริกันนั้น เศรษฐากล่าวว่า Tesla เป็นหนึ่งในบริษัทที่เขาได้เยี่ยมชมขณะเดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ในสหรัฐฯ นอกจากนี้ เขายังมีแผนที่จะพบปะกับบริษัทแห่งอื่นๆ เพิ่มเติมในทริปเยือนสหรัฐฯ ครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ระหว่างการเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC Summit) ณ เมืองซานฟรานซิสโก
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวของ Bloomberg ยังได้สอบถามถึงประเด็นการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าผู้นำไทยมีมุมมองอย่างไรบ้าง โดยเขาตอบว่า “นี่เป็นหนึ่งในเรื่องที่ผมกลัวมากที่สุด นั่นคือประเทศเล็กๆ ต้องถูกบีบให้เลือกข้าง”
เศรษฐากล่าวว่า จีนมีการลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศไทย โดยมีปัจจัยหนุนทั้งทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ขณะที่สหรัฐฯ เองก็เป็นประเทศคู่ค้าที่เก่าแก่ที่สุดของไทย “ผมต้องการให้ทั้งชาวจีนและชาวอเมริกันได้รับประโยชน์จากการที่ประเทศไทยเปิดกว้างทางธุรกิจให้กับทั้งสองประเทศ”
ขณะเดียวกัน ประเด็นเรื่องของเสถียรภาพในรัฐบาลผสมก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีเงาของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซ้อนทับอยู่ในรัฐบาลใหม่ ซึ่งผู้สื่อข่าวของ Bloomberg ก็ได้สอบถามความคิดเห็นของเศรษฐาต่อกรณีที่ทักษิณเดินทางกลับประเทศเพื่อรับโทษด้วยเช่นกัน
“ผมเชื่อว่าเขา (ทักษิณ) มีคุณประโยชน์ทั้งต่อรัฐบาลและประชาชนคนไทย” เศรษฐากล่าว “เขาเคยเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย และอาจจะยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวของ Bloomberg ถามต่อไปว่า หากทักษิณพ้นโทษแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป สำหรับคำถามนี้เศรษฐาตอบว่า “คงเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดนักถ้าผมจะไม่ขอความคิดเห็นจากเขา รวมถึงนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ ด้วย”
ภาพ: Stephanie Keith / Bloomberg Via Bloomberg
อ้างอิง: