×

เศรษฐาให้สัมภาษณ์ย้ำอีก ไม่เห็นด้วยปมแบงก์ชาติปรับขึ้นดอกเบี้ยสวนทางเงินเฟ้อ เผยเตรียมถกผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ

โดย THE STANDARD TEAM
08.01.2024
  • LOADING...

วันนี้ (8 มกราคม) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทยติดลบติดต่อกันหลายเดือน และหลังจากนี้จะไปพูดคุยอย่างไรบ้าง

 

เศรษฐากล่าวว่า เราก็พูดคุยกันตลอดอยู่แล้วในเรื่องนี้ และเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จุดยืนของตนก็ชัดเจนว่า “ผมไม่เห็นด้วย” แต่ท่าน (แบงก์ชาติ) ก็มีอำนาจในการขึ้น ซึ่งนัยที่ตนได้โพสต์ข้อความไปเมื่อคืนนี้ มันเกี่ยวกับเรื่องสินค้าการเกษตร พืชผลต่างๆ ที่ตนอยากให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลไม่ให้ต่ำลงไป เพราะถ้าต่ำเกินไปก็จะลำบาก 

 

เมื่อถามถึงการขึ้นดอกเบี้ยอยู่ในสถานการณ์เงินเฟ้อที่ต่ำมากมีความกังวลอย่างไรบ้าง เศรษฐาบอกว่าต่ำมากครับ ดังนั้นอาจจะต้องพิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ย ตนก็ฝากไว้ 

 

เมื่อถามว่าหลังจากนี้จะไปคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ เศรษฐากล่าวว่า “มีอยู่แล้วครับ” 

 

“ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย”

 

วานนี้ (7 มกราคม) เศรษฐา ทวีสิน โพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ระบุถึงจากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนว่า “ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SMEs อีกด้วย ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชน ไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ”

 

แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย 8 ครั้ง นับตั้งแต่โควิด

 

นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วถึง 8 ครั้ง จากอัตราดอกเบี้ย 0.50% จนขณะนี้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.50% ทำให้เกิดคำถามว่าเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้หรือไม่

 

10 สิงหาคม 2565: กลับมาขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก 0.25% จาก 0.50% เป็น 0.75% 

28 กันยายน 2565: ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จาก 0.75% เป็น 1.00%

30 พฤศจิกายน 2565: ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จาก 1.00% เป็น 1.25% 

25 มกราคม 2566: ขึ้นดอกเบี้ยต่อ 0.25% จาก 1.25% เป็น 1.50%

29 มีนาคม 2566: ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75%

31 พฤษภาคม 2566: ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จาก 1.75% เป็น 2.00%

2 สิงหาคม 2566: ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จาก 2.00% เป็น 2.25%

27 กันยายน 2566: ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จาก 2.25% ต่อปี เป็น 2.50%

 

ธปท. ชี้ดอกเบี้ย 2.50% เหมาะสมเศรษฐกิจ

 

ภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘เศรษฐกิจติดบ้าน’ ทางไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ถึงการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายว่า เมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นจึงค่อยๆ ถอนนโยบายผ่อนคลายการเงิน ซึ่งดอกเบี้ย 2.50% เรียกว่าเป็นดอกเบี้ยนิ่งๆ เป็นกลาง ไม่ผ่อนคลายหรือฉุดรั้ง เหมาะสมกับเศรษฐกิจที่ยืนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการพิจารณาต้องดูจากการเติบโตของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงินโดยรวม

 

ภูริชัยระบุว่า หากมีดอกเบี้ยต่ำอาจผ่อนคลายในการชำระหนี้ แต่อาจจูงใจให้ก่อหนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ ความจำเป็นต้องผ่อนคลายเศรษฐกิจเริ่มหมดไป แนวโน้มทั่วโลกจะมีดอกเบี้ยสูงขึ้น โลกจะโตด้วยความเข้มแข็งไม่ใช่หนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X