×

“ขอให้ประชาชนใช้สิทธิด้วยความภาคภูมิใจ” นายกฯ เปิดเงื่อนไขดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมเสนอโครงการ e-Refund สำหรับคนไม่เข้าเงื่อนไข

โดย THE STANDARD TEAM
10.11.2023
  • LOADING...

วันนี้ (10 พฤศจิกายน) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำแถลงรายละเอียดนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ยืนยันว่าโครงการจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตไม่ใช่นโยบายสงเคราะห์ผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ เพิ่มการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนร่วมกับรัฐบาลพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ยังรักษาวินัยการเงินการคลังของชาติได้ 

 

เศรษฐากล่าวถึงเงื่อนไขของผู้ที่จะได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ตว่า จะต้องเป็นประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากไม่ถึง 500,000 บาท หากเข้าเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งจะไม่สามารถรับสิทธิได้ โดยมีระยะเวลาการใช้สิทธิทั้งสิ้น 6 เดือน รวมถึงมีการขยายรัศมีการใช้จ่ายในระดับอำเภอที่ระบุไว้ในบัตรประชาชน โดยใช้งบประมาณ 500,000 ล้านบาทจากการออกร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ ครอบคลุม 50 ล้านคน โดยรัฐบาลจะมีการต่อยอดแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง‘ ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนอยู่แล้ว ในการจ่ายเงินให้แก่ประชาชน ร่วมกับการพัฒนาบล็อกเชน เป็น Backup เรื่องความปลอดภัย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

สำหรับเงื่อนไขการใช้จ่ายนั้น สามารถซื้ออาหารและเครื่องดื่มอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น โดยไม่สามารถซื้อของออนไลน์, อบายมุข, กัญชา, กระท่อม, แอลกอฮอล์, บัตรกำนัล, บัตรเงินสด, เพชรพลอย, อัญมณี, ทองคำ, ชำระหนี้จ่าย, ค่าเทอม, ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าเชื้อเพลิง, ค่าโทรศัพท์ รวมถึงแลกเป็นเงินสดได้

 

สำหรับใครที่ไม่ได้รับสิทธิก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้ เนื่องจากมีงบประมาณอีกส่วน จำนวน 100,000 ล้านบาท จากงบประมาณปี 2567, 2568 และ 2569 ที่จะนำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาว และใช้ควบคู่กับโครงการ e-Refund ระบบการลดหย่อนภาษีดิจิทัล จากการซื้อสินค้าและบริการ มูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท เริ่มใช้ช่วงเดือนมกราคม 2567 

 

“ดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นนโยบายสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ขอฝากนโยบายให้กับประชาชนทุกคน ร่วมกันใช้สิทธิด้วยความภาคภูมิใจ เพราะเป็นผู้ร่วมสร้างความมั่งคั่งมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติ” เศรษฐากล่าวทิ้งท้าย

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X