×

ยลโฉม SR-72 เครื่องบินสอดแนมเร็วเหนือเสียง โครงการลับสุดยอดของกองทัพสหรัฐฯ

18.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins read
  • สหรัฐฯ เตรียมปัดฝุ่นโครงการเครื่องบินสอดแนมความเร็วเหนือเสียง หลังปลดประจำการ SR-71 Blackbird เมื่อเกือบ 3 ทศวรรษก่อน
  • Lockheed Martin เดินหน้าพัฒนา SR-72 คาดขึ้นบินจริงภายในปี 2030
  • SR-72 สามารถบินด้วยอัตราความเร็วสูงสุดที่ระดับ Mach 6 หรืออัตราเร็วที่สูงกว่า 6 เท่าของอัตราเร็วเสียง ซึ่งเร็วกว่า SR-71 ถึงเกือบ 2 เท่า และสามารถใช้ในภารกิจข่าวกรอง สอดแนม ลาดตระเวน และโจมตี

สร้างความฮือฮาไม่น้อยในหมู่คนที่ชื่นชอบเทคโนโลยีทหาร หลัง Lockheed Martin Corp บริษัทผู้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่ากำลังเดินหน้าพัฒนาเครื่องบินสอดแนมใหม่ที่มีความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก เพื่อสืบสานตำนานเครื่องบินสอดแนมรุ่นพ่ออย่าง SR-71 Blackbird ที่สร้างความเกรียงไกรในยุคสงครามเย็น และถูกปลดประจำการไปเมื่อเกือบ 3 ทศวรรษก่อน

 

เครื่องบินสอดแนมความเร็วเหนือเสียงใหม่นี้จะใช้ชื่อว่า SR-72 ซึ่งถูกขนานนามว่า ‘Son of Blackbird’ หรือบุตรแห่งแบล็กเบิร์ดนั่นเอง

 

Lockheed Martin เปิดเผยบนเว็บไซต์ว่า SR-72 ซึ่งจะใช้ในภารกิจด้านข่าวกรองและสอดแนมเป็นหลักนั้นสามารถบินด้วยอัตราความเร็วสูงสุดที่ระดับ Mach 6 หรืออัตราเร็วที่สูงกว่า 6 เท่าของอัตราความเร็วเสียง ซึ่งเร็วกว่า SR-71 Blackbird ที่บินด้วยความเร็วสูงสุด Mach 3.2 หรือ 2,000 ไมล์ต่อชั่วโมง ที่ระดับความสูงประมาณ 85,000 ฟุต

 

แบรด เลอแลนด์ (Brad Leland) ผู้จัดการโครงการ SR-72 กล่าวว่า เมื่ออากาศยานไฮเปอร์โซนิกติดตั้งอาวุธนำวิถีแบบไฮเปอร์โซนิกจะทำให้เครื่องบินดังกล่าวมีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติภารกิจ โดยสามารถฝ่าน่านฟ้าข้าศึกและโจมตีเป้าหมายต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาคภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง เพราะความเร็วคือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการบินยุคใหม่เพื่อรับมือกับภัยคุกคามเกิดใหม่ในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้านี้ โดยเทคโนโลยีด้านความเร็วจะเป็นตัวพลิกเกมในสมรภูมิ เช่นเดียวกับที่เทคโนโลยีสเตลธ์ (Stealth) กำลังเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การรบทางอากาศอยู่ในขณะนี้

 

 

อานิสงส์ Digital Transformation สานฝันโครงการให้เป็นจริง

หลังจาก Lockheed Martin ใช้เวลาหลายปีในการพัฒนาเครื่องบินสอดแนมไฮเปอร์โซนิก ในที่สุดโครงการดังกล่าวก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดย แจ็ก โอเบเนียน (Jack O’Banion) รองประธาน Lockheed Martin เปิดเผยว่า Digital Transformation หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้โครงการนี้กลายเป็นจริงขึ้นมาได้

 

โอเบเนียนกล่าวว่า “หากไม่มี Digital Transformation แล้ว แบบเครื่องบินที่พวกคุณเห็นอยู่ตรงหน้านี้ก็ไม่อาจพัฒนาขึ้นมาได้ และในความเป็นจริงแล้ว เมื่อ 5 ปีก่อนยังไม่สามารถสร้างเครื่องบินแบบนี้ได้เลยด้วยซ้ำ”

 

เครื่องยนต์ Scramjet ผลิตผลจากการประมวลผลของคอมพิวเตอร์สุดล้ำ

เครื่องบิน SR-71 ใช้เทคโนโลยีเครื่องยนต์ Scramjet ที่มีความซับซ้อนทางวิศวกรรม โดย Scramjet คือเทคโนโลยีการสันดาปของเครื่องยนต์ในขณะบินที่อัตราความเร็วระดับซูเปอร์โซนิก ซึ่งจะมีการบีบอัดอากาศขณะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเหนือเสียงเพื่อเผาไหม้และขับเคลื่อนเครื่องยนต์ ขณะที่อัตราการไหลของอากาศภายในเครื่องยนต์จะมีความเร็วสม่ำเสมอ

 

โอเบเนียนเผยในที่ประชุม SciTech Forum ซึ่งจัดขึ้นที่สถาบันการบินและอากาศยานศาสตร์แห่งอเมริกาว่า พลังการประมวลผลที่ก้าวหน้าของคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันบวกกับเครื่องมือทันสมัยใหม่ๆ ทำให้เราสามารถออกแบบเครื่องยนต์ Scramjet แบบ 3 มิติได้สำเร็จ

 

เขายังเปรียบเทียบติดตลกด้วยว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลในการออกแบบภาพ 3 มิติก็เหมือนกับเทคโนโลยีที่โทนี สตาร์ก ใช้สร้างชุดเกราะในหนัง Iron Man นั่นแหละ

     

โอเบเนียนเล่าต่อไปว่า “เมื่อ 5 ปีก่อน เราไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้ แต่ตอนนี้เราสามารถพิมพ์แบบเครื่องยนต์ที่มีระบบหล่อเย็นอันซับซ้อนและนำไปประกอบกับวัสดุของเครื่องยนต์ได้ด้วย”

 

เครื่องบินทหารหลากบทบาท

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Popular Science ระบุว่า SR-72 เป็นเครื่องบินที่สามารถใช้ในภารกิจด้านข่าวกรอง สอดแนม ลาดตระเวน และโจมตี ซึ่งการที่เครื่องบินดังกล่าวถ่ายภาพหรือทิ้งระเบิดในขณะที่บินด้วยความเร็วระดับ Mach 6 นั้นจะต้องอาศัยการออกแบบทางวิศวกรรมขั้นสูง นอกจากนี้ SR-72 ยังมีระบบคอมพิวเตอร์ล้ำสมัยในการกำหนดเป้าหมายจากความสูง 80,000 ฟุต พร้อมกับระบบเซนเซอร์และระบบอาวุธสำหรับใช้ในภารกิจที่ความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิกโดยเฉพาะอีกด้วย

 

 

อนาคตของ SR-72 กับการเข้าประจำการในกองทัพสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้บริหารคนใดจาก Skunk Works ซึ่งเป็นแผนกที่รับผิดชอบโครงการ SR-72 ออกมายืนยันความชัดเจนว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน จะพิจารณาจัดหา SR-72 ในโครงการลับสุดยอดด้านอากาศยานไฮเปอร์โซนิกหรือไม่ ขณะที่โฆษกกองทัพอากาศสหรัฐฯ ระบุว่าทางกองทัพยังไม่ได้รับข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวเลย  

 

ด้าน เมลิสซา ดอลตัน (Melissa Dalton) โฆษกของ Lockheed Martin ระบุเพียงว่า บริษัทยังอยู่ในขั้นพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอากาศยานไฮเปอร์โซนิกในอนาคต

 

ขณะที่ ริชาร์ด อาบูลาเฟีย (Richard Aboulafia) นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมจาก Teal Group แสดงความเห็นว่า Lockheed Martin ยังต้องเผชิญกับบททดสอบอีกยาวไกลในการพัฒนา SR-72 จากไปรโตไทป์ไปสู่เครื่องบินทหารที่ออกปฏิบัติการได้จริง  

 

อีกหนึ่งคำถามที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับอนาคตของ SR-72 ก็คือ หากกองทัพสหรัฐฯ นำเครื่องบินดังกล่าวเข้าประจำการแล้ว พวกเขาจะใช้งานเครื่องบินนี้ในภารกิจอะไรบ้าง เนื่องจากในเวลานี้ยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับความจำเป็นเฉพาะสำหรับเครื่องบินดังกล่าว เพราะปัจจุบันสหรัฐฯ มีเทคโนโลยีการสอดแนมด้วยระบบดาวเทียมที่ทันสมัยอยู่แล้ว

 

นอกจากนี้กองทัพสหรัฐฯ ยังมีโครงการจัดหาเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์แบบใหม่ที่ชื่อว่า B-21 Raider ของ Northrop Grumman Corp เพื่อนำมาแทนที่ฝูงบินทิ้งระเบิด B-1 Lancer และ B-52 Stratofortress อีกด้วย

 

สำหรับ B-21 Raider นั้น สหรัฐฯ ต้องการสั่งซื้ออย่างน้อย 100 ลำ ส่งผลให้มีต้นทุนในการผลิตและซ่อมบำรุงสูงถึง 9.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดย Northrop Grumman มีกำหนดส่งมอบ B-21 ฝูงแรกให้กับกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในช่วงกลางทศวรรษ 2020

 

เมื่อพิจารณาจากงบประมาณสูงลิ่วที่เพนตากอนจ่ายให้กับโครงการดังกล่าวแล้ว อาจทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องคิดหนักในการเดินหน้าจัดสรรงบเพื่อพัฒนาและจัดซื้อเครื่องบินสอดแนมไฮเปอร์โซนิกเพิ่มเติม

 

อย่างไรก็ตาม Lockheed Martin อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆ และกว่าที่ SR-72 จะพร้อมขึ้นบินก็ต้องรอไปจนถึงปี 2030 เป็นอย่างน้อย ซึ่งถึงเวลานั้นสหรัฐฯ อาจมองเห็นประโยชน์และความจำเป็นที่ชัดเจนขึ้นหลังจากที่ใช้งาน B-21 Raider มาระยะหนึ่งแล้ว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising