×

‘บอลลูนสอดแนม’ ปมขัดแย้งสหรัฐฯ-จีนล่าสุด ทำไมสหรัฐฯ ไม่ยิงตก ปล่อยให้ลอยผ่านประเทศ

04.02.2023
  • LOADING...

สหรัฐฯ ตรวจพบบอลลูนสอดแนมที่เชื่อว่าเป็นของจีนลอยผ่านพื้นที่อ่อนไหวและเสี่ยงกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งกลายมาเป็นชนวนสำคัญล่าสุดที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยิ่งตกต่ำลงไปอีก โดย แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจยกเลิกแผนเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการในวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์นี้โดยทันทีหลังพบบอลลูนสอดแนมดังกล่าว 

 

📍 บอลลูนสอดแนมลอยผ่านที่ไหนบ้าง แล้วตอนนี้อยู่ที่ไหน?

เมื่อไม่กี่วันก่อน กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ตรวจพบวัตถุต้องสงสัยลอยอยู่บนอากาศ ก่อนที่จะมีรายงานยืนยันว่าวัตถุดังกล่าวเป็นบอลลูนสอดแนมของจีน ซึ่งเคลื่อนผ่านพื้นที่สำคัญของสหรัฐฯ หลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือฐานทัพอากาศมัลสตรอมในรัฐมอนทานา ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ตั้งของไซโลจัดเก็บขีปนาวุธสำคัญของกองทัพสหรัฐฯ 

 

ขณะที่การติดตามเส้นทางของบอลลูนดังกล่าวอาจมีข้อจำกัด แตกต่างจากข้อมูลของเครื่องบินพาณิชย์ที่จะมีรายละเอียดให้สามารถติดตามเส้นทางการบินได้ โดยทั่วไปแล้วบอลลูนสอดแนมจะเคลื่อนที่และลอยตัวอยู่ในระดับความสูง 80,000-120,000 ฟุต (ราว 24-37 กิโลเมตร) ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับความสูงที่เครื่องบินรบและเครื่องบินพาณิชย์ใช้เดินทาง โดยหนึ่งในเทคนิคที่ใช้ในการประเมินเส้นทางระดับความสูงของอนุภาคหรือวัตถุใดๆ คือการใช้แบบจำลองตามความเร็วและทิศทางลม

 

หน่วยงานด้านมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งสหรัฐฯ อย่าง NOAA ได้พัฒนาแบบจำลองที่รู้จักกันในชื่อ ‘HYSPLIT’ โดยอ้างอิงจากลมที่ระดับความสูงมากกว่า 14,000 เมตร (46,000 ฟุต) แบบจำลองดังกล่าวคาดการณ์ว่าบอลลูนนี้อาจถูกปล่อยในประเทศจีน ก่อนที่จะเคลื่อนผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าสู่พื้นที่ของแคนาดาและสหรัฐอเมริกาในท้ายที่สุด โดยเดินทางผ่านรัฐทางตะวันตกไปยังรัฐทางตะวันออก คาดว่าจะเคลื่อนผ่านรัฐนอร์ทแคโรไลนาและออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติกในช่วงเย็นวันเสาร์ (4 กุมภาพันธ์) ตามเวลาท้องถิ่น

 

📍 ทำไมกองทัพสหรัฐฯ ถึงตัดสินใจไม่ยิงบอลลูนสอดแนม?

สหรัฐฯ ได้ประเมินความเสี่ยงของบอลลูนดังกล่าวและพบว่า เบื้องต้นบอลลูนนี้ยังไม่ได้เป็นภัยคุกคามจนก่อให้เกิดอันตรายทางกายภาพต่อผู้คนในสหรัฐฯ อีกทั้งยังไม่ได้แสดงท่าทีที่เป็นภัยคุกคามต่อภาคการบินพลเรือนของสหรัฐฯ ตลอดจนยังไม่ได้ยกระดับภัยคุกคามต่อการข่าวกรองของสหรัฐฯ แต่อย่างใด 

 

นอกจากนี้ทางการยังประเมินด้วยว่า บอลลูนสอดแนมนี้มีขนาดใหญ่เทียบกับรถบัส 3 คัน และประกอบไปด้วยเหล็กและชิ้นส่วนโลหะจำนวนมาก ถ้าหากกองทัพสหรัฐฯ ตัดสินใจยิงบอลลูนลูกนี้ ความเสียหายและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเศษซากที่ร่วงหล่นอาจ ‘มีมากกว่า’ ความเสี่ยงจากตัวบอลลูนเอง อีกทั้งบอลลูนนี้ก็ไม่ได้มีความสามารถด้านข่าวกรองที่ต่างไปจากดาวเทียมสอดแนมในวงโคจรระดับต่ำของโลกที่จีนกำลังใช้งานอยู่ในขณะนี้เท่าใดนัก 

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่จัดการกับบอลลูนสอดแนมดังกล่าว หากการประเมินความเสี่ยงมีการเปลี่ยนแปลงหรือพบสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ว่า บอลลูนลูกนี้ได้กลายเป็นภัยคุกคามของพลเมืองอเมริกันและสหรัฐฯ สหรัฐฯ ก็อาจเปลี่ยนใจได้

 

📍 ท่าทีของทางการจีนเป็นอย่างไร? 

เมื่อวานนี้ (3 กุมภาพันธ์) ทางการจีนยอมรับว่า บอลลูนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของตนจริง โดยอธิบายว่า เป็นบอลลูนพลเรือนที่ใช้สำหรับวิจัยทางอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเดินทางออกนอกเส้นทางเนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้าย ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของจีนได้กล่าวถ้อยแถลงแสดงความเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมให้คำมั่นจะเดินหน้าร่วมมือกับทางการสหรัฐฯ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ 

 

📍 ทำไมจีนเลือกใช้บอลลูนสอดแนมแทนเทคโนโลยีระดับสูง?

บอลลูนถือเป็นหนึ่งในรูปแบบการสอดแนมที่เก่าแก่ที่สุด ทหารญี่ปุ่นเคยใช้บอลลูนทิ้งระเบิดโจมตีใส่สหรัฐฯ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต จะใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงยุคสงครามเย็น 

 

ทางด้าน เหอหยวนหมิง นักวิเคราะห์อิสระด้านกำลังทางอากาศชี้ว่า ทางการจีนอาจกำลังส่งสัญญาณบางอย่างไปถึงทางการสหรัฐฯว่า แม้จีนต้องการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่ขณะเดียวกันจีนก็พร้อมเสมอสำหรับการแข่งขันที่อาจยืดเยื้อยาวนาน โดยใช้ทุกวิถีทางที่จำเป็นและไม่ก่อให้เกิดความตึงเครียดรุนแรง ตัวเลือกอะไรจะดีไปกว่าบอลลูนที่ดูไร้พิษภัยเช่นนี้ 

 

เหอหยวนหมิง เชื่อว่า บอลลูนดังกล่าวอาจถูกปล่อยใกล้กับฐานยิงจรวดมิสไซล์บางแห่ง และเป็นไปได้ยากที่จะเคลื่อนที่ออกนอกเส้นทางตามที่ทางการจีนกล่าวอ้าง 

 

ขณะที่ เบนจามิน โฮ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนและผู้ประสานงานโครงการจีนศึกษาประจำสถาบัน S. Rajaratnam School of International Studies ของสิงคโปร์ ตั้งข้อสังเกตถึงการเลือกใช้บอลลูนสอดแนมของทางการจีน 

 

โดยโฮระบุว่า ทางการจีนมีเทคโนโลยีการเฝ้าระวังที่ซับซ้อนกว่านี้อยู่แล้ว พวกเขามีวิธีอื่นในการสอดแนมโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ หรือข้อมูลใดก็ตามที่พวกเขาต้องการให้ได้มา บอลลูนนี้มีไว้เพื่อส่งสัญญาณบางอย่างไปยังชาวอเมริกัน และเพื่อสังเกตดูว่าชาวอเมริกันจะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร มีความเป็นไปได้ที่ทางการจีนอาจต้องการให้ทางการสหรัฐฯ ตรวจพบบอลลูนสอดแนมนี้

 

ขณะที่ อาร์เธอร์ ฮอลแลนด์ มิเชล จากสถาบัน Carnegie Council for Ethics in International Affairs ในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐฯ ระบุว่า จีนอาจเลือกใช้บอลลูน เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเองมีความสามารถทางเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถเจาะน่านฟ้าของสหรัฐฯ ได้โดยไม่ต้องเสี่ยงกับเหตุรุนแรง ในกรณีนี้บอลลูนจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมอย่างยิ่ง นอกจากจะสามารถติดตั้งเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น กล้องสอดแนมและเซ็นเซอร์เรดาร์ต่างๆ ได้แล้ว การใช้บอลลูนยังติดตั้งง่ายและใช้งบประมาณที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับโดรนหรือดาวเทียม 

 

ผลพวงจากปมบอลลูนสอดแนมนี้ทำให้การประชุมของผู้แทนระดับสูงสหรัฐฯ-จีนครั้งแรกในรอบหลายปีต้องถูกยกเลิกไปในท้ายที่สุด โดยครั้งสุดท้ายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นเมื่อปี 2017 หรือราว 6 ปีก่อน 

 

ทิศทางและความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ-จีนนับจากนี้จะเป็นอย่างไร จะตึงเครียดขึ้นแค่ไหน หรือวอชิงตันจะตอบโต้เรื่องนี้ต่ออย่างไร น่าจับตาอย่างใกล้ชิด

 

แฟ้มภาพ: Andy Wong – Pool / Getty Images, Chase Doak / Reuters

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising