×

งานวิจัยชี้ ผู้ฉีดวัคซีน Sputnik V มีระดับภูมิคุ้มกันต้านโอมิครอนที่สูงกว่าและลดลงน้อยกว่าผู้ฉีดวัคซีน Pfizer

21.01.2022
  • LOADING...
Sputnik V

สถาบันกามาเลยา ผู้พัฒนาวัคซีนโควิด Sputnik V ของรัสเซีย ร่วมกับสถาบันโรคติดเชื้อสปาลลันซานีของอิตาลี เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยร่วมขั้นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ได้รับการฉีดวัคซีน Sputnik V นั้นมีระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถต้านทานโควิดสายพันธุ์โอมิครอนลดลงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ได้รับการฉีดวัคซีน Pfizer

 

โดยงานวิจัยร่วมดังกล่าว ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติรัสเซีย (Russian Direct Investment Fund: RDIF) มีการเปรียบเทียบเซรั่มในเลือดของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน Sputnik V ครบ 2 โดส จำนวน 51 คน และฉีดวัคซีน Pfizer ครบ 2 โดส จำนวน 17 คน ซึ่งการเก็บตัวอย่างมีขึ้นหลังจากที่ฉีดวัคซีนโดสที่ 2 แล้ว 3-6 เดือน

 

จากการวิเคราะห์ตัวอย่างเซรั่มในเลือดของผู้ฉีดวัคซีนทั้ง 2 ตัว แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีน Sputnik V ครบ 2 โดส มีระดับภูมิคุ้มกันสลายไวรัสที่ต้านทานโอมิครอนอยู่ที่ 74.2% ส่วนผู้ฉีดวัคซีน Pfizer 2 โดส มีระดับภูมิคุ้มกันต้านโอมิครอน 56.9% ซึ่งถือว่าระดับภูมิคุ้มกันต้านทานโอมิครอนที่เกิดจากวัคซีน Sputnik V นั้นมีความทนทานและลดลงน้อยกว่าวัคซีน Pfizer

 

ขณะที่งานวิจัยฉบับนี้ยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ (Peer Review) ซึ่งทีมวิจัยระบุว่า จากผลวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันโอมิครอน 

 

ก่อนหน้านี้ สถาบันกามาเลยายังเปิดเผยผลวิจัยขั้นต้นอีกฉบับที่แสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นของ Sputnik Light ซึ่งเป็นวัคซีนสัญชาติรัสเซีย ที่ผลิตโดยเทคโนโลยี Adenovirus เช่นเดียวกับ Sputnik V สามารถกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ต้านทานโอมิครอนได้ดีกว่าการฉีดวัคซีน Sputnik V 2 โดส

 

ความพยายามของรัสเซียในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด มีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงอย่างรวดเร็วในหลายประเทศยุโรป 

 

โดยรัสเซียนั้นเพิ่งเริ่มต้นเผชิญการระบาดของโอมิครอนหลังจากที่มีการระบาดรุนแรงของสายพันธุ์เดลตาในปีที่ผ่านมา ซึ่งยอดผู้ติดเชื้อเมื่อวานนี้ (20 มกราคม) เพิ่มสูงกว่า 38,800 คน ขณะที่พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้วกว่า 1,600 คน 

 

ภาพ: Photo Illustration by Thiago Prudêncio/SOPA Images/LightRocket via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising