×

รู้จัก Sputnik Light วัคซีนทางเลือกของรัสเซียสำหรับชาวต่างชาติ

25.06.2021
  • LOADING...
Sputnik Light

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • อีกไม่นานเกินรอเราคงจะได้เห็นการจัดแคมเปญบินเข้ารัสเซียเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลรัสเซียคงจะมีการออกนโยบายกำหนดระเบียบการต่างๆ เพื่อให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามารับวัคซีนได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม เพียงแต่ว่าวัคซีนที่ได้จะเป็น Sputnik Light แบบฉีดโดสเดียว ซึ่งอาจไม่ใช่ Sputnik V อย่างที่หลายคนคาดหวังไว้
  • วัคซีน Sputnik Light เป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบใช้เพียงโดสเดียว ผลิตโดยใช้เทคโนโลยี Adenovirus เช่นเดียวกับ Sputnik V และตัวเชื้อประกอบก็ผลิตอยู่บนฐานเดียวกับตัวเวกเตอร์ rAd26 ในวัคซีนโดสแรกของ Sputnik V โดยผลการทดลองจากการระดมฉีดอาสาสมัครในรัสเซียตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 ถึงเดือนเมษายน 2021 ชี้ว่าประสิทธิภาพอยู่ที่ 79.4% ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ ที่ต้องฉีดสองโดส
  • ที่น่าสนใจที่สุดคือมีการประกาศพัฒนาวัคซีนชนิดนี้ให้เป็นลักษณะวัคซีนแบบพ่นจมูก (Nasal Use) โดยจะมีการทดลองช่วงปลายปี 2021 ถึงต้นปี 2022 และน่าจะขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการได้ภายในปี 2022

เป็นที่ทราบกันดีว่า วัคซีน Sputnik Light เป็นวัคซีนล่าสุดลำดับที่ 4 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการในรัสเซียเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา ต้อนรับวันเฉลิมฉลองแห่งชัยชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นในวันที่ 9 พฤษภาคมของทุกปี แต่ขณะนั้นทางการรัสเซียเองก็ยังไม่ได้แจกแจงอย่างละเอียดว่าวัคซีนชนิดฉีดเพียงโดสเดียวนี้จะนำมาใช้กับคนกลุ่มใด ที่ไหน อย่างไร เพียงแต่ระบุไว้ว่าผลิตออกมาสำหรับตลาดต่างประเทศ

 

ในขณะเดียวกันคนไทยจำนวนหนึ่งก็มีความสนใจที่จะเดินทางไปรับวัคซีนทางเลือกในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างรัสเซียเองก็มีหลายคนให้ความสนใจไม่น้อย เดิมทีนั้นการเดินทางไปมาระหว่างไทยกับรัสเซียง่ายกว่าการเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพราะระหว่างไทย-รัสเซียเคยมีข้อตกลงร่วมกันที่จะงดเว้นการตรวจลงตราหรือไม่ต้องขอวีซ่า แต่นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 เป็นต้นมา รัฐบาลรัสเซียได้ออก ‘กฤษฎีกาหมายเลข 635-r ว่าด้วยการประกันความมั่นคงของรัฐในการปกป้องการสาธารณสุขและการแพร่กระจายของการติดเชื้อไวรัสโคโรนาชนิดใหม่’ อันเป็นเครื่องมือในการจำกัดการเดินทางของชาวต่างชาติเข้ารัสเซีย โดยรัสเซียได้กำหนดลำดับความสำคัญสำหรับเกณฑ์การออกวีซ่าให้แก่ชาวต่างชาติจากประเทศกลุ่มต่างๆ และประเภทวีซ่าต่างๆ เช่น กรณีคนสัญชาติไทยจะออกวีซ่าให้ได้เฉพาะเป็นคู่สมรสหรือเป็นผู้ทำงานอยู่ในรัสเซีย (หากสนใจสามารถไปศึกษารายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ เพิ่มเติม)

 

โดยภาพรวม กฤษฎีกาดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการเดินทางเข้ารัสเซียในหมู่ชาวต่างชาติ ถึงแม้รัสเซียจะประกาศนโยบาย Mass Vaccination แบบเสียค่าใช้จ่ายให้กับพลเมืองรัสเซีย รวมไปถึงชาวต่างชาติที่มีประกันสังคม (ที่ผูกกับ Work Permit) แต่ชาวต่างชาติทั่วๆ ไปก็ยัง ‘ไม่สามารถ’ เดินทางเข้ารัสเซียเพื่อไปเข้ารับวัคซีนอย่างที่กระทำกันอย่างเสรีในสหรัฐฯ ขณะนี้

 

ถึงวันนี้ทุกอย่างเริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ได้แถลงต่อที่ประชุม ณ Saint Petersburg International Economic Forum เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า รัสเซียเตรียมพร้อมสำหรับการจัดการฉีด ‘วัคซีนทางเลือก’ (หรือบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบเสียเงิน) และได้มอบหมายนโยบายให้คณะรัฐบาลไปเตรียมความพร้อมสำหรับนโยบายดังกล่าว

 

ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรัสเซีย มิคาอิล มูราชโก (Mikhail Murashko) ประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยกำหนดเกณฑ์อย่างชัดเจนเกี่ยวกับวัคซีนรัสเซียทั้ง 4 ชนิดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการว่า สำหรับชาวต่างชาติจะได้รับ Sputnik Light ส่วนวัคซีนหลักอย่าง Sputnik V จะสงวนไว้ใช้เป็นการภายในก่อน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายท้องถิ่นของกรุงมอสโกที่ประกาศความพร้อมในการจัดตั้งจุดฉีดวัคซีนสำหรับชาวต่างชาติและแรงงานอพยพด้วย Sputnik Light ตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป

 

ในขณะเดียวกันอาจเป็นเพราะวัคซีนหลักอย่าง Sputnik V เริ่มขาดแคลนในหลาย ๆ ภูมิภาคของประเทศในภาวะที่อัตราการติดเชื้อต่อวันเริ่มกลับมาพุ่งสูงด้วยเช่นกันตามคำกล่าวของนายดมิทรี เปสคอฟ (Dmitry Peskov) โฆษกสำนักประธานาธิบดี Sputnik Light ที่ต้นทุนทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการผลิตน้อยกว่าจึงเป็นอีกทางเลือกที่ปฏิเสธไม่ได้

 

ทางฝ่ายภาคการท่องเที่ยวรัสเซียเองก็ประกาศว่า มีความพร้อมในการจัดทัวร์วัคซีนแล้ว จากการประเมินของ อเล็กซานเดอร์ ปาเลียคอฟ (Alexander Polyakov) ผู้อำนวยการด้านการปฏิบัติการของอินทัวริสต์ (Intourist) บริษัทนำเที่ยวรายใหญ่ของรัฐบาลนับตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียตระบุว่า ค่าใช้จ่ายต่อคนสำหรับการจัดแพ็กเกจทัวร์วัคซีนเริ่มต้นที่ 650 ยูโร ขึ้นอยู่กับรายละเอียดโปรแกรมการให้บริการ (แน่นอนว่าเป็นตัวเลขรายได้ที่มีศักยภาพสำหรับรัฐบาลรัสเซียเองด้วย) เพียงแต่รอแนวทางเชิงเทคนิคที่ชัดเจนจากภาครัฐว่านักท่องเที่ยวเหล่านี้จะต้องขอวีซ่าประเภทไหน อย่างไร อาจจะเป็นการออกวีซ่าเฉพาะสำหรับการฉีดวัคซีน หรือเป็นวีซ่าทางการรักษาพยาบาล หรือเป็นวีซ่าท่องเที่ยวแบบปกติ ซึ่งคงต้องติดตามการอัปเดตจากทางฝั่งกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียต่อไป

 

ทั้งหมดนี้หมายความว่า อีกไม่นานเกินรอเราคงจะได้เห็นการจัดแคมเปญบินเข้ารัสเซียเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลรัสเซียคงจะมีการออกนโยบายกำหนดระเบียบการต่างๆ เพื่อให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามารับวัคซีนได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม เพียงแต่ว่าวัคซีนที่ได้จะเป็น Sputnik Light แบบฉีดโดสเดียว ซึ่งอาจไม่ใช่ Sputnik V อย่างที่หลายคนคาดหวังไว้

 

หลายคนที่เพิ่งเคยติดตามอาจจะสงสัยว่า Sputnik Light คืออะไร ต่างจาก Sputnik V อย่างไร?

 

สำหรับวัคซีน Sputnik Light เป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบใช้เพียงโดสเดียว ผลิตโดยใช้เทคโนโลยี Adenovirus เช่นเดียวกับ Sputnik V และตัวเชื้อประกอบก็ผลิตอยู่บนฐานเดียวกับตัวเวกเตอร์ rAd26 ในวัคซีนโดสแรกของ Sputnik V โดยผลการทดลองจากการระดมฉีดอาสาสมัครในรัสเซียตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 ถึงเดือนเมษายน 2021 ชี้ว่าประสิทธิภาพอยู่ที่ 79.4% ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ ที่ต้องฉีดสองโดส ที่น่าสนใจที่สุดคือมีการประกาศพัฒนาวัคซีนชนิดนี้ให้เป็นลักษณะวัคซีนแบบพ่นจมูก (Nasal Use) โดยจะมีการทดลองช่วงปลายปี 2021 ถึงต้นปี 2022 และน่าจะขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการได้ภายในปี 2022

 

จากงานวิจัยในเฟสหนึ่งและเฟสสองมีผลลัพธ์ชี้ชัดดังนี้

 

1. การสร้างภูมิคุ้มกันด้วย Sputnik Light ทำให้ร่างกายสามารถผลิตแอนติบอดี lgG ที่จำเพาะต่อแอนติเจน (Production of Antigen-Specific lgC Antibodies) ใน 96.9% ของผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วในวันที่ 28 นับจากวันฉีดวัคซีน

 

2. แอนติบอดีต้านไวรัสจะผลิตขึ้นในวันที่ 28 หลังจากการสร้างภูมิคุ้มกันแล้วใน 91.67% ของผู้ที่ได้รับวัคซีน

 

3. การตอบสนองของภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ต่อ SARS-CoV-2 ของ S-Protein เกิดขึ้นใน 100% ของการฉีดวัคซีนในวันที่ 10

 

4. การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน Sputnik Light ของผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรค SARS-CoV-2 ก่อนแล้ว ช่วยเพิ่มระดับของแอนติบอดี IgG ที่จำเพาะต่อแอนติเจนได้มากกว่า 40 ครั้ง ใน 100% ของผู้ที่ฉีดวัคซีนในวันที่ 10

 

5. อาการไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงจากการสร้างภูมิคุ้มกันไม่ปรากฏขึ้นแต่อย่างใด

 

Sputnik Light อาจจะกลายมาเป็นวัคซีนหลักเคียงคู่กับ Sputnik V เนื่องจากต้นทุน ทั้งค่าใช้จ่ายในการผลิต เวลา และค่าใช้จ่ายทางบุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้บริการฉีดวัคซีนจะลดลง เนื่องจากใช้การฉีดเพียงหนึ่งโดสเท่านั้น สังเกตได้จากการขยายเกณฑ์การใช้ Sputnik Light กับกลุ่มคนต่างๆ เช่น กลุ่มที่ถึงกำหนดเวลาที่ต้องรับวัคซีนซ้ำ (Revaccination) กลุ่มนักเรียน นักศึกษา กลุ่มชาวต่างชาติและแรงงานข้ามชาติ โดยวัคซีน Sputnik Light ได้รับการจดทะเบียน (แบบฉุกเฉิน) แล้วในหลายประเทศ เช่น เบลารุส มองโกเลีย อาร์เจนตินา ปาเลสไตน์ นิการากัว อังโกลา และคองโก

 

จากนโยบายการส่งเสริมการฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติด้วย Sputnik Light โจทย์สำคัญคือ รัฐบาลรัสเซียต้องทำทุกวิถีทางผลักดันให้ Sputnik Light ได้รับการจดทะเบียนในองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมไปถึงผลงานวิจัยจะต้องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ระดับโลกที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง (อาทิ Lancet ในกรณีของ Sputnik V) จึงจะทำให้นโยบายดังกล่าวของรัสเซียสัมฤทธิ์ผล

 

ตัวอย่างที่ดีคือ Sputnik V ที่ถึงแม้รัฐบาลรัสเซียจะประกาศรับรองตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020 แต่กว่าทั่วโลกจะเริ่มยอมรับก็ตั้งแต่หลังกุมภาพันธ์ 2021 เป็นต้นมา หลังจากที่ผลงานวิจัย Sputnik V ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Lancet ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกและตามมาด้วยการทยอยการรับรองวัคซีน Sputnik V ในกว่า 65 ประเทศ แต่จนแล้วจนรอด ปัจจุบัน WHO ก็ยังไม่รับรอง (จุดนี้เองอาจจะตีความได้ว่าบทบาทของรัสเซียใน WHO ยังมีไม่มากพอเมื่อเทียบกับชาติตะวันตกหรือจีน ดูได้จาก Sinovac ที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่า โดยเปรียบเทียบกับวัคซีนหลายชนิดและยังไม่มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ระดับโลกกลับได้รับการรับรองโดย WHO แล้ว)

 

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ชาวต่างชาติที่สนใจและกำลังจะตัดสินใจเดินทางเข้ารัสเซียเพื่อรับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งร้อยทั้งร้อยก็คงหวังที่จะได้ฉีด Sputnik V ที่หลายฝ่ายให้ความน่าเชื่อถือ ถึงแม้ว่า Sputnik Light จะผลิตด้วยเทคโนโลยีแบบเดียวกัน มีที่มาจากสถาบันกามาเลยาเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงคือวัคซีนอีกตัวที่แยกต่างหาก ที่ไม่ว่าอย่างไรก็ยังต้องได้รับการพิสูจน์ ไม่ว่าจะจาก WHO หรือในวารสารทางการแพทย์ที่เป็นที่ยอมรับ จึงจะสามารถดึงดูดให้ชาวต่างชาติตัดสินใจบินมารัสเซียเพื่อรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมๆ กับการท่องเที่ยวในรัสเซีย

 

ในทางกลับกัน ถ้าหากผลการทดลอง Sputnik Light ภายในประเทศดีขนาดไหน แต่ถ้ายังไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติในเร็ววัน นโยบายดังกล่าวของรัสเซียอาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่คาดหวังไว้ เพราะเชื่อได้เลยว่าชาวต่างชาติที่ต้องการบินมาฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่รัสเซียต่างคาดหวังเป็น Sputnik V ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งนั้น ดังนั้น Sputnik Light จึงต้องได้รับการพิสูจน์ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างตามแบบ Sputnik V นโยบายนี้จึงจะสำเร็จได้

 

ภาพ: Vovidzha / Shutterstock

พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X