×

Return to Seoul ความแปลกแยกในดินแดนใหม่

21.05.2023
  • LOADING...

**บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง Return to Seoul**

 

 

 

Return to Seoul ผลงานการกำกับภาพยนตร์ยาวลำดับที่สองของผู้กำกับชาวกัมพูชา-ฝรั่งเศส Davy Chou (ดาวี ชู) ที่ก่อนหน้านี้สร้างความตื่นตาในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 2016 ด้วยการเปิดตัวเปิดภาพยนตร์ยาวเรื่องแรกอย่าง Diamond Island (2016) ในสายการประกวด International Critics’ Week ได้อย่างน่าประทับใจด้วยการนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวกับประเทศกัมพูชาด้วยสีสันฉูดฉาดน่าค้นหา แต่แฝงไปด้วยกลิ่นอายความหม่นหมองของระบบชนชั้นทางสังคม

 

อย่างไรก็ดี Davy Chou เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาทำภาพยนตร์ Return to Seoul ออกมาจาก ‘สัญชาตญาณ’ จึงไม่น่าแปลกที่เรื่องราวของภาพยนตร์จะยังคงวนเวียนอยู่กับชีวิตส่วนหนึ่งของผู้กำกับ หาก Diamond Island เป็นภาพยนตร์ที่กลั่นออกมาในฐานะคนกัมพูชา Return to Seoul ก็เป็นภาพยนตร์ที่กลั่นออกมาในฐานะคนฝรั่งเศสเช่นกัน

 

 

Return to Seoul ว่าด้วยเรื่องราวของ Freddie (พัคจีมิน) หญิงสาวชาวเกาหลีที่ถูกอุปการะและเติบโตขึ้นมาในประเทศฝรั่งเศส แต่แล้ววันหนึ่งด้วยอุบัติเหตุบางอย่างทำให้เธอต้องจับพลัดจับผลูมาพักอาศัยอยู่ในประเทศเกาหลี ทำให้เธอเริ่มตามสืบหาเรื่องราวเกี่ยวรากเหง้าและครอบครัวที่แท้จริงของตัวเอง ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้ก็ได้นำพาหญิงสาวไปสู่จุดที่ตัวเธอไม่คาดคิดมาก่อน 

 

ตัวละครอย่าง Freddie นั้นมักมีสภาวะที่เธอไม่แน่ใจว่าแท้จริงแล้วตัวเองนั้นเป็นใคร และสมควรจะอยู่ที่ไหน? หรือมากไปกว่านั้นหญิงสาวมักจะสงสัยว่าการมีอยู่ของเธอเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่? ซึ่ง Freddie ก็เป็นตัวละครที่ผู้ชมสัมผัสได้อย่างไม่ยากเย็นว่าเธออาจกำลังสับสนใน ‘อัตลักษณ์’ ของตัวเองอยู่ เพราะตลอดระยะเวลาที่ภาพยนตร์พาผู้ชมไปสำรวจตัวตนและการเดินทางตามหาความจริงของเธอ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ Freddie พยายามค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ให้กับตัวเองท่ามกลางสังคมที่ชวนสับสนและกระอักกระอ่วนที่เธอไม่สามารถเข้าใจอะไรได้เลย 

 

อย่างแรกที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องของกำแพงภาษา Freddie ไม่สามารถพูดภาษาเกาหลีได้ทั้งที่ตัวเองเป็นคนเกาหลี และมักจะต้องคอยพึ่งพาผู้อื่นในการเป็นล่ามพูดคุย ไม่เพียงเท่านั้น การที่เธอมีพื้นเพรากเหง้าเป็นคนเกาหลีโดยกำเนิด ก็ทำให้หญิงสาวไม่สามารถพูดคุยกับครอบครัวในฝรั่งเศสได้อย่างสนิทใจ ซึ่งมันส่งผลให้เธอรู้สึกแตกต่างกับพวกเขาในเวลาเดียวกัน และทั้งหมดนั้นก็นำไปสู่ความแปลกแยกที่หญิงสาวไม่อาจเข้าใจได้ในผืนแผ่นดินใหม่ที่เปรียบเสมือนแผลใจที่ตัวเองก็ไม่รู้แม้กระทั่งวิธีการเลียแผลนั้น 

 

 

ถึงแม้ภายในจะเต็มไปด้วยความสับสนในสิ่งที่พบเจอ แต่อีกด้านเธอก็เป็นคนที่ดูเหมือนจะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งภาพยนตร์นำเสนอให้เห็นทั้งการใช้ชีวิต ความสัมพันธ์ ความเป็นอยู่ ไปจนถึงการมีเซ็กซ์กับผู้ชายที่เพิ่งเจอกันได้ไม่นาน  

 

แม้ฉากหน้าของ Freddie จะเป็นคนที่พร้อมพบเจอกับสิ่งต่างๆ แต่ลึกๆ แล้วเธอก็ปิดกั้นตัวเองจากสังคมด้วยเช่นกัน ซึ่งบางครั้งการกระทำเหล่านั้นก็ส่งผลให้หญิงสาวกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมในสังคมเกาหลีที่มักจะมีความนอบน้อมและให้ความสำคัญกับความรู้สึกของผู้อื่น 

 

โดยจะเห็นได้จากการที่เธอปฏิเสธชายเกาหลีคนหนึ่งอย่างไร้เยื่อใยด้วยการโกหกว่าตัวเองมีแฟนหนุ่มอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส หรือแม้กระทั่งการพูดจาไม่ให้เกียรติผู้เป็นพ่อและคนในครอบครัวจนเพื่อนของเธอต้องพยายามบิดเบือนคำพูดเพื่อรักษาน้ำใจที่พวกเขามีต่อหญิงสาวแทน ซึ่งอุปนิสัยที่ก้าวร้าวเหล่านี้ก็อาจเป็นผลพวงที่เกิดจากการถูกทอดทิ้งในวัยเด็ก

 

ทั้งหมดทั้งมวลนั้น อาจกล่าวได้ว่าการมาเกาหลีในครั้งนี้ของ Freddie เปรียบเสมือนกับการกรีดแผลใจให้ลึกยิ่งกว่าเดิม โดยไม่มีทีท่าว่าร่องรอยเหล่านั้นจะจางหายไป แม้จะค้นพบคำตอบที่ตัวเองตามหาก็ตาม มิหนำซ้ำมันยังสร้างความอึดอัดให้กับหญิงสาวจนเธอรู้สึกเหมือนตกเป็นเหยื่อของ Asian Parenting (ครอบครัวคนเอเชียที่มีวิธีการเลี้ยงลูกแบบบีบบังคับ)

 

 

อย่างไรก็ดี ช่วงหนึ่งจะเห็นได้ว่าภาพยนตร์มีการใช้ Time Skip เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของ Freddie ในช่วงระยะเวลาที่ต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงติดตัวเธอตลอดหลายปีที่ผ่านมาคือ ปมเรื่องการถูกทอดทิ้งในวัยเด็ก ซึ่งมันก็ส่งผลให้ตัวตนของหญิงสาวเปลี่ยนไปตามกาลเวลา และทุกครั้งที่เธอปรากฏตัวออกมา ภาพลักษณ์ บุคลิก อาชีพการทำงาน รวมไปถึงผู้คนที่รายล้อมตัวเธอก็เปลี่ยนไปด้วย 

 

หากมองดูแล้ว ทุกครั้งที่ Freddie กลับมายังเกาหลี ปมในใจหญิงสาวยังคงเป็นโซ่ที่เหนี่ยวรั้งไม่ให้เธอก้าวไปไหน กลับกันด้วยวุฒิภาวะที่มีมากขึ้น ผู้ชมก็สามารถรับรู้ได้ว่า Freddie ในแต่ละช่วงวัยนั้นมีความแตกต่างกัน 

 

 

ในช่วงแรกของภาพยนตร์เธออาจไม่เข้าใจและกำลังค้นหาอะไรบางอย่าง แต่ในอีกหลายปีต่อมาหญิงสาวก็อาจจะยอมรับได้ว่าชีวิตของตัวเองนั้นเต็มไปด้วยความสับสนมากมาย ที่ต่อให้จะรับรู้ความจริงแค่ไหนเธอก็ต้องใช้ชีวิตต่อไปเพราะนี่คือตัวตนของเธอ 

 

เหมือนกับการเต้นที่ Freddie มักจะใช้ระบายความอัดอั้นออกมาแทนคำพูดเวลาที่เธอไม่เข้าใจ หรือผิดหวังจากอะไรบางอย่าง จนเรื่องราวดำเนินมาถึงฉากสุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่ใช่การโยกย้ายส่ายหัวอย่างบ้าคลั่งเหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา หากแต่เป็นการนั่งคนเดียวบนเก้าอี้เปียโนที่มีแสงสาดส่องอย่างโดดเดี่ยว 

 

ในที่นี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็อาจมองได้ว่าความโกรธทั้งหมดที่เธอมีต่อครอบครัวหลงเหลือไว้เพียงแค่ความเสียใจที่ตนและคนอื่นไม่มีวันเข้าใจได้ เพราะแง่หนึ่งของการเป็นผู้ใหญ่ก็อาจหมายถึงการโอบกอดตัวเองจากความผิดหวังเพียงลำพังเช่นกัน

 

 

แม้องค์ประกอบส่วนใหญ่ของภาพยนตร์จะเน้นหนักไปที่การสำรวจตัวตนและสังคมรอบข้างของ Freddie แต่สิ่งที่ต้องชื่นชมมากที่สุดคือ ตัวของนักแสดงนำอย่าง พัคจีมิน ที่สามารถขับอารมณ์ของตัวละครออกมาผ่านสีหน้าท่าทางการแสดงได้อย่างลุ่มลึก โดยเฉพาะฉากที่ต้องใช้แววตาและการขยับของร่างกายแทนบทสนทนา ซึ่งเธอสามารถใช้องค์ประกอบเหล่านี้ในการบอกเล่าความรู้สึกของตัวละครโดยไม่ต้องเอื้อนเอ่ยถ้อยคำใดๆ ออกมาเป็นพิเศษได้อย่างมีเสน่ห์

 

อีกจุดหนึ่งที่น่าสังเกตคือ การที่ Davy Chou เลือกที่จะใช้เพลงเกาหลียุค 70 เพื่อสื่อถึงเรื่องราวของ Freddie ในอดีต แต่เพราะเธอไม่พูดภาษาเกาหลี องค์ประกอบเหล่านี้จึงกลายเป็นสิ่งที่ดูจะแฝงไปด้วยความขัดแย้งระหว่างตัวของ Freddie และสิ่งที่เธอตามหาอยู่ เพลงเหล่านี้จึงกลายเป็นเหมือนเรื่องราวในอดีตที่ต่อให้หญิงสาวจะได้ยินมากแค่ไหน แต่เธอก็ไม่มีทางเข้าใจความหมายที่แท้จริงของมันได้

 

Return to Seoul จึงไม่ได้เป็นภาพยนตร์ที่พาไปสำรวจถึงตัวตนและการยึดติดกับอดีตของตัวละครเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะเมื่อมันฉายภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ Freddie ในวัยต่างๆ แต่ขณะเดียวกันผู้คนที่รายล้อมอยู่รอบตัวเธอต่างก็ร่อยหรอลงไปตามกาลเวลา จากหญิงสาวที่มีคนมาร่วมงานวันเกิดอย่างคับคั่ง เหลือเพียงแค่พนักงานโรงแรมที่อวยพรวันเกิดให้กับเธอ ทั้งหมดนั้นอาจเปรียบได้กับเส้นขนานและราคาที่ต้องจ่ายในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของ Freddie ถ้าหากสิ่งนี้เรียกว่าการก้าวพ้นวัย มันคงเป็นการก้าวพ้นวัยที่เกิดจากความผิดหวังมากกว่าความปลื้มปีติยินดีที่ตัวเองได้เกิดมาบนโลกใบนี้

 

Return to Seoul มีกำหนดเข้าฉายอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์ที่ร่วมรายการ

 

รับชมตัวอย่าง Return to Seoul ได้ทาง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising