×

Oppenheimer ชีวิตเทาๆ ของผู้ทำลายล้างโลก และประสบการณ์ชมภาพยนตร์ในโรงที่ไม่มีวันลืม

26.07.2023
  • LOADING...
Oppenheimer

หมายเหตุ: บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์เรื่อง Oppenheimer

 

ในที่สุดก็เข้าฉายอย่างเป็นทางการเสียที สำหรับ Oppenheimer ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องใหม่ของผู้กำกับมากวิสัยทัศน์ Christopher Nolan ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือดีกรีรางวัล Pulitzer Prize ในชื่อ American Prometheus: The Triumph and Tragedy of J. Robert Oppenheimer เขียนโดย Kai Bird และ Martin J. Sherwin ที่บอกเล่าชีวประวัติของนักฟิสิกส์ทฤษฎีนาม J. Robert Oppenheimer ผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาแห่งระเบิดปรมาณู พร้อมได้ Cillian Murphy นักแสดงมากฝีมือที่เคยร่วมงานกับ Christopher Nolan มาแล้วในไตรภาค The Dark Knight, Inception (2010) และ Dunkirk (2017) มาสวมบทเป็นผู้ให้กำเนิดอาวุธที่เปลี่ยนแปลงโลกไปตลอดกาล

 

Oppenheimer จะพาเราไปทำความรู้จักกับ J. Robert Oppenheimer กันตั้งแต่เขายังเป็นนักศึกษาอัจฉริยะ ก่อนที่จะกลายมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังที่ผู้คนในวงการต่างให้การยอมรับ จนได้รับการทาบทามจากรัฐบาลสหรัฐฯ ให้มานั่งแท่นผู้อำนวยการของโครงการลับสุดยอดในชื่อโปรเจกต์แมนฮัตตัน เพื่อพัฒนาระเบิดปรมาณูที่หวังว่าจะเป็นอาวุธในการยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปจนถึงชีวิตส่วนตัวของเขาที่มักจะมีสายสัมพันธ์กับหญิงสาวหลายคน และการต่อสู้ในชั้นศาลเมื่อเขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับฝ่ายคอมมิวนิสต์และกลายเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคง 

 


บทความที่เกี่ยวข้อง: 


 

 

ขึ้นชื่อว่าเป็นผลงานจากผู้กำกับ Christopher Nolan ก็น่าจะเป็นการการันตีได้ถึงคุณภาพของตัวภาพยนตร์ ทั้งความละเมียดละไมในทุกๆ เฟรม ความยิ่งใหญ่ของงานสร้าง และความสมจริงสมจังของเรื่องราวที่เขาและทีมสร้างต้องการมอบให้กับผู้ชม จนเรียกได้ว่าเพียงแค่มีชื่อของเขาปะอยู่บนชื่อหนัง เราก็พร้อมตีตั๋วเข้าไปชมโดยไม่ลังเล 

 

เช่นเดียวกับผลงานล่าสุดอย่าง Oppenheimer ที่ก่อนภาพยนตร์จะออกฉาย เราก็ได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับเบื้องหลังงานสร้างที่ออกมากระตุ้นให้ผู้ชมตั้งตารออย่างไม่ขาดสาย ทั้งรายชื่อนักแสดงระดับเอลิสต์ที่ตบเท้ามาร่วมแสดงคับจอ เช่น Robert Downey Jr., Matt Damon, Emily Blunt, Kenneth Branagh, Jason Clarke, Florence Pugh ฯลฯ การเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ใช้ฟิล์ม IMAX ขาว-ดำในการถ่ายทำ, การจำลองฉากการทดสอบระเบิดปรมาณูลูกแรกในชื่อ Trinity Test โดยไม่ใช้ CGI (Computer Generated Imagery) ฯลฯ ก็ยิ่งเสริมให้ชื่อของ Oppenheimer กลายเป็นภาพยนตร์ที่น่าจับตามองมากที่สุดของปี 2023 (ควบคู่ไปกับ Barbie ภาพยนตร์ในการกำกับของ Greta Gerwig ที่เข้าฉายในวันเดียวกัน)

 

 

ขณะเดียวกัน ประเด็นหนึ่งที่มีผู้ชมบางส่วนอาจกังวลเกี่ยวกับ Oppenheimer อยู่บ้างไม่มากก็น้อย เห็นจะเป็นกลวิธีนำเสนอที่อาจดู ‘เข้าถึงยาก’ เพราะ Oppenheimer ดูจะมีท่าทีที่ชวนให้เรานึกถึงผลงานก่อนหน้าของ Christopher Nolan อย่าง Memento (2000) กับกลวิธีนำเสนออันแยบยลด้วยการเล่าแบบหลังมาหน้า พร้อมสลับระหว่างภาพสีและขาว-ดำ หรือ Tenet (2020) ที่แม้ว่าภาพยนตร์จะมาในแนวแอ็กชันสายลับคู่หู แต่เนื้อหาภายในก็คอยประโคมทฤษฎีและศัพท์เทคนิคมากมายใส่ผู้ชมจนเกือบจะตามไม่ทัน 

 

ซึ่งในจุดนี้ผู้เขียนขอยอมรับตามตรงว่าเราเองก็แอบกังวลในเรื่องนี้อยู่เช่นเดียวกัน ด้วยความที่ Christopher Nolan เลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวแบบไม่ตามลำดับเวลา โดยบอกเล่าผ่านสองเส้นเรื่องควบคู่กันไป ได้แก่ เส้นทางชีวิตของ J. Robert Oppenheimer ตั้งแต่ยังเป็นเพียงนักศึกษาอัจฉริยะไปจนถึงการเข้าร่วมโปรเจกต์แมนฮัตตัน ควบคู่ไปกับเหตุการณ์ไต่สวนคดีของ Oppenheimer ที่ถูก Lewis Strauss (Robert Downey Jr.) ประธานคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณู หรือ AEC (Atomic Energy Commission) กล่าวหาว่าเขาเป็นสายลับให้กับฝ่ายตรงข้าม ขณะที่กำลังพัฒนาโปรเจกต์แมนฮัตตัน โดยเล่าสลับไปมาผ่านภาพสีและขาว-ดำ

 

นี่ยังไม่นับรายละเอียดปลีกย่อยระหว่างทางที่เต็มไปด้วยบทสนทนาของตัวละครมากมายที่เยอะจนเราตามไม่ทัน ไล่มาตั้งแต่ชื่อของนักวิทยาศาสตร์หลายสิบชื่อที่มีความเกี่ยวข้องกับโปรเจกต์แมนฮัตตัน การประชุมของ Oppenheimer และเหล่านักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกะทิในการหาวิธีสร้างระเบิดนิวเคลียร์ ไปจนถึงเกมการเมืองต่างๆ ที่ Oppenheimer ต้องเผชิญ ฯลฯ

 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสิ่งที่เรากล่าวไปข้างต้นอาจดูเป็นยาขมที่ไม่น่าลิ้มลอง แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว Oppenheimer ก็ยังเป็นงานศิลปะชั้นเยี่ยมที่ชวนให้เราอยากติดตามอยู่ดี ทั้งชั้นเชิงการนำเสนอที่ชวนให้เราได้ลองปะติดปะต่อเรื่องราว (บางทีก็อาจเก็บรายละเอียดไม่ครบในการดูรอบเดียว) หรือบทสนทนาเชิงปรัชญาอันเฉียบคมที่เปิดพื้นที่ให้เราได้ลองตีความ รวมไปถึงงานสร้างสุดยิ่งใหญ่ที่จะมามอบประสบการณ์ชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์สุดพิเศษให้แก่ผู้ชมได้สัมผัสอย่างเต็มเปี่ยม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงภาพยนตร์ IMAX)

 

ไม่ว่าจะเป็นงานภาพสุดตื่นตาตื่นใจจากฝีมือของผู้กำกับภาพ Hoyte Van Hoytema ที่ฉายภาพความยิ่งใหญ่และอันตรายของระเบิดปรมาณูในฉาก Trinity Test ได้อย่างน่าสะพรึงกลัว บวกกับระบบเสียงของโรง IMAX ที่ช่วยเสริมให้เสียงระเบิดภายในเรื่องดังกึกก้องเสมือนว่าเราอยู่ในเหตุการณ์พร้อมกับตัวละคร จนทำให้เราเผลอยกมือขึ้นมาปิดหูเพราะกลัวเสียงระเบิดในเรื่อง (เราทำแบบนั้นจริงๆ ไม่ได้กล่าวเกินจริงแต่อย่างใด)

 

ไปจนถึงดนตรีประกอบจากปลายปากกาของ Ludwig Göransson ที่ไม่ได้ทำหน้าที่บีบคั้นอารมณ์ของผู้ชมเท่านั้น แต่ยังช่วยขยายความให้เราได้สัมผัสกับความสับสนและกดดันที่ตัวละครกำลังเผชิญได้ชัดเจนมากขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่า Christopher Nolan และทีมสร้างไม่ได้ประณีตกับทุกรายละเอียดเพื่อสร้างงานศิลปะชั้นเยี่ยมขึ้นมาชิ้นหนึ่งเท่านั้น แต่ผลงานของพวกเขายังช่วยขับเน้นให้ระบบของโรงภาพยนตร์ ทั้งภาพ เสียง บรรยากาศ ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มประสิทธิภาพไปพร้อมกันด้วย 

 

 

รวมไปถึงการแสดงอันยอดเยี่ยมของทัพนักแสดงมากฝีมือที่แม้บางคนจะปรากฏตัวเพียงไม่กี่ฉาก แต่ก็สร้างภาพจำให้กับเราได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่ Emily Blunt กับการรับบทเป็น Katherine ‘Kitty’ Oppenheimer ภรรยาของ Oppenheimer ที่นอกจากจะต้องเก็บข้าวของอุ้มลูกไปอาศัยอยู่ที่ลอสอลามอสพร้อมกับสามีแล้ว เธอยังต้องเผชิญกับความตึงเครียดที่ Oppenheimer ถูกป้ายสีความผิดอย่างไม่เป็นธรรมอีกด้วย หรือ Robert Downey Jr. ที่สลัดภาพจำของผู้ชมในบทบาทซูเปอร์ฮีโร่อย่าง Iron Man ไปได้อย่างหมดจด เพื่อถ่ายทอดความทะเยอทะยานและเจ้าเล่ห์เพทุบายของ Lewis Strauss ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม 

 

มาถึง Cillian Murphy ที่เราต้องขอปรบมือให้กับการแสดงอันยอดเยี่ยมของเขา ที่พาเราเข้าไปสำรวจทุกแง่มุมความรู้สึกของ Oppenheimer ผ่านสีหน้า แววตา และน้ำเสียง จนทำให้เรารู้สึกกดดันและเชื่อมโยงไปกับตัวละครได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมของความหมกมุ่นกับการเรียนรู้และหาคำตอบในสิ่งที่เขาสนใจ การพยายามควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้ยังมีสติท่ามกลางแรงกดดันจากทุกสารทิศ ไปจนถึงความหวาดกลัวต่อพลังอำนาจของระเบิดปรมาณูที่เขาเป็นผู้สร้างขึ้น และความรู้สึกผิดที่เขาได้คร่าชีวิตของผู้คนไปมากมาย จนนำมาสู่การยืนหยัดเพื่อต่อต้านการผลิตระเบิดปรมาณูเพื่อใช้ในการทหารของสหรัฐฯ

 

 

พร้อมกันนั้น เราก็สามารถตีความเรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ในแง่มุมหนึ่งว่า สิ่งที่ Christopher Nolan และทีมสร้างอยากถ่ายทอดไปถึงผู้ชมและผู้นำทั่วโลกผ่านเรื่องราวของ Oppenheimer นั่นคือการ ‘ย้ำเตือน’ ให้เราทุกคน ‘ไม่หลงลืมอดีต’ กับความโหดร้ายของสงครามและภัยอันตรายของระเบิดปรมาณู ที่นำมาสู่เหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิในปี 1945 ที่คร่าชีวิตของผู้คนไปกว่า 2 แสนคน 

 

 

ในภาพรวมแล้ว Oppenheimer เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานเรื่องเยี่ยมของผู้กำกับ Christopher Nolan ที่แม้ภาพลักษณ์ภายนอกอาจจะดูเป็นยาขม แต่สิ่งที่เราจะได้รับแน่ๆ จากผลงานเรื่องนี้ คือประสบการณ์ชมภาพยนตร์ในโรงที่เราจะไม่มีวันลืม 

 

และสำหรับใครที่ยังกังวลว่า Oppenheimer ดูเข้าถึงยากไปไหม เราว่าการได้ลองไปสัมผัสกับประสบการณ์ชมภาพยนตร์ที่ Christopher Nolan และทีมสร้างตั้งใจจะมอบให้แก่ผู้ชม มันก็คุ้มค่ามากแล้วจริงๆ 

 

Oppenheimer เข้าฉายอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์ 

 

รับชมตัวอย่างได้ที่: 

 

 

ภาพ: Universal Pictures

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising