×

Oppenheimer (2023) ชายผู้เด็ดแอปเปิ้ลต้องห้ามจากสวนเอเดนของพระผู้เป็นเจ้า

24.07.2023
  • LOADING...
Oppenheimer

HIGHLIGHTS

  • หนังเรื่อง Oppenheimer ของ Christopher Nolan ซึ่งดัดแปลงจากงานเขียนที่ชื่อ American Prometheus:The Triumph and Tragedy of J.Robert Oppenheimer มุ่งสำรวจชีวิตของนักฟิสิกส์ชื่อก้องโลกในแง่มุมดังกล่าวนั่นเอง ทั้งชัยชนะและความสำเร็จของการประดิษฐ์อาวุธปรมาณู วิบากกรรมที่ถาโถมเข้ามา ความเคลือบแคลงสงสัยในสิ่งที่ตัวเองทำ จุดอ่อนและข้อบกพร่องในฐานะปุถุชน และเหนืออื่นใด การแสดงออกถึงมโนสำนึกและความรับผิดชอบในฐานะดอกเตอร์ Frankenstein ผู้ซึ่งควบคุมอสุรกายที่เขาชุบชีวิตขึ้นมาไม่ได้
  • ในท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่ถาโถมใส่คนดู เสน่ห์ดึงดูดและเป็นแง่มุมที่ชวนให้สนเท่ห์ที่สุดของหนังได้แก่เนื้อหาที่มุ่งสำรวจและศึกษาตื้นลึกหนาบางของตัวละคร และอย่างหนึ่งที่สรุปได้ก็คือ Oppenheimer เป็นตัวละครที่ไม่ค่อยแสดงออกหรือมักจะเก็บซ่อนความคิดเห็นต่างๆ นานาเอาไว้ภายใต้ใบหน้าที่ดูเคร่งขรึมจริงจัง และไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะหยั่งรู้ได้ว่าเขานึกคิดอะไร 
  • กล่าวในแง่ของเทคนิค Oppenheimer เป็นหนังที่ถ่ายด้วยกล้อง IMAX และฟิล์มเซลลูลอยด์ขนาด 65 มม. ซึ่งพูดได้ว่าไม่มีใครใช้ประโยชน์จากจอภาพมหึมาและระบบเสียงที่กระหึ่มเร้าใจได้เก่งกาจและเหนือชั้นเหมือน Nolan อีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากที่เขาสำแดงถึงพิษสงของระเบิดปรมาณูที่ทั้งงดงามอย่างน่าตื่นตะลึง ขณะเดียวกัน ก็เรียกสิ่งที่มองเห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจาก ‘ไฟนรกขุมโลกันตร์’

คำถามประจำสัปดาห์…

 

สมมติเล่นๆ ว่า ถ้าหากพี่น้อง Lumiere ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนประดิษฐ์กล้องถ่ายรูปและเครื่องฉายภาพเคลื่อนไหวขึ้นจอเป็นเจ้าแรก ซึ่งก็อย่างที่รู้กันว่ามันกลายเป็นรูปแบบความบันเทิงที่ทรงพลังและครองใจคนทั้งโลกจวบจนปัจจุบัน บังเอิญล้มเลิกความตั้งใจกลางคัน ภาพยนตร์จะยังคงถือกำเนิดอยู่นั่นเองหรือไม่

 

คำตอบก็คือแน่นอน เพียงแค่หน้าประวัติศาสตร์ก็จะหันไปจดจำชื่อนักประดิษฐ์และนักบุกเบิกคนอื่น เช่น Max Skladanowsky, Robert W. Paul หรือแม้กระทั่ง William Friese-Greene เพราะเงื่อนไขและองค์ประกอบของการถือกำเนิดในตอนนั้นสุกงอม และมันเป็นเรื่องของระยะเวลาว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่ง ใครเป็นคนที่ลากเส้นตามรอยประได้คมชัดและมีประสิทธิภาพมากกว่ากันและก่อนเพื่อน

 

J.Robert Oppenheimer

ภาพ: wikipedia

 

ฉันใดฉันนั้น ฉายา ‘บิดาของระเบิดปรมาณู’ ของ J.Robert Oppenheimer นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันเชื้อสายยิวผู้ปราดเปรื่องล้ำเลิศ ก็เป็นผลพวงจากการที่เขา (ในฐานะหัวหน้าโครงการลับสุดยอดของรัฐบาลอเมริกันที่ชื่อ Manhattan Project ในช่วงสงครามโลกครั้งสอง) ชนะเกมการแข่งขันประดิษฐ์อาวุธมหาประลัย (เหนือคู่แข่งตอนนั้น อันได้แก่นาซีเยอรมันของฮิตเลอร์ซึ่งแพ้สงครามไปซะก่อน และในช่วงหลังจากนั้น คู่แข่งก็เปลี่ยนหน้าไปเป็นสหภาพโซเวียตซึ่งประดิษฐ์ระเบิดปรมาณูไล่หลังอเมริกาเพียงสี่ปี)

 

และผลงานชิ้นโบว์แดง (หรือโบว์ดำ) ของ Oppenheimer ก็คือระเบิดนิวเคลียร์สองลูกที่ถูกทิ้ง ณ เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ซึ่งไม่เพียงสาธิตให้ชาวโลกได้ประจักษ์แจ้งกับอานุภาพทำลายล้างที่น่าสะพรึงกลัว จากการที่ผู้คนบาดเจ็บล้มตายทันทีนับแสนๆ คน ทว่าประเด็นที่น่าห่วงกังวลมากไปกว่านั้นก็คือ มันนำพาให้มวลมนุษยชาติเขยิบเข้าไปใกล้ฉากทัศน์ใหม่ของ ‘วันสิ้นโลก’ มากขึ้นเรื่อยๆ

 

ข้อที่ชวนให้ครุ่นคิดก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ว่าในจักรวาลคู่ขนานและด้วยเงื่อนไขที่ไม่เหมือนเดิม (เช่น เขาไม่ได้เป็นหัวหน้าโครงการ Manhattan) หน้าประวัติศาสตร์อาจจะบันทึกชื่อ Oppenheimer ในฐานะหนึ่งในนักฟิสิกส์ที่ค้นพบพลังงานอันมหาศาลของหลุมดำที่กลืนกินทุกอย่างในห้วงจักรวาล (ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาค้นพบจริงๆ) และไม่ต้องแบกรับสถานะ ‘คุณพ่อนิวเคลียร์’ หรือกลายเป็นบุคคลต้องคำสาปในลักษณะไม่แตกต่างจากเทพแห่งกรีก Prometheus ที่ต้องทุกข์ทรมานจากการถูก Zeus ลงโทษให้นกอินทรีจิกกินตับไตไส้พุงเนื่องเพราะเขา ‘ขโมยไฟไปให้มนุษย์ใช้ประหัตประหารกัน’

 

ภาพ: Universal Pictures

 

ตามเนื้อผ้า หนังเรื่อง Oppenheimer ของ Christopher Nolan ซึ่งดัดแปลงจากงานเขียนที่ชื่อ American Prometheus:The Triumph and Tragedy of J.Robert Oppenheimer มุ่งสำรวจชีวิตของนักฟิสิกส์ชื่อก้องโลกในแง่มุมดังกล่าวนั่นเอง ทั้งชัยชนะและความสำเร็จของการประดิษฐ์อาวุธปรมาณู วิบากกรรมที่ถาโถมเข้ามา ความเคลือบแคลงสงสัยในสิ่งที่ตัวเองทำ จุดอ่อนและข้อบกพร่องในฐานะปุถุชน และเหนืออื่นใด การแสดงออกถึงมโนสำนึกและความรับผิดชอบในฐานะดอกเตอร์ Frankenstein ผู้ซึ่งควบคุมอสุรกายที่เขาชุบชีวิตขึ้นมาไม่ได้

 

และในขณะที่หนังกินเวลาฉายยาวเหยียดถึงสามชั่วโมงเต็ม ความท้าทายที่แท้จริง แม้ว่ามันจะไม่ได้เป็นเรื่องเกินความคาดหมายสำหรับแฟนๆ ของ Nolan ก็คือหนังเรื่อง Oppenheimer ไม่ได้เล่าเรื่องเป็นเส้นตรง และมันบอกเล่าผ่านสองเหตุการณ์หลักเป็นอย่างน้อยที่ตัดสลับไปมา หนึ่งก็คือเหตุการณ์ปี 1954 ที่ Oppenheimer ถูกคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูของสหรัฐฯ ซึ่งตัวเขาเป็นที่ปรึกษา ไต่สวนข้อกล่าวหาพัวพันกับพรรคคอมมิวนิสต์และมีพฤติการณ์ ‘ไม่เป็นอเมริกัน’ อีกหนึ่งสิ่งที่ถูกบอกเล่าด้วยภาพขาวดำ เกิดขึ้นในปี 1959 ได้แก่เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับตัวละครชื่อ Lewis Strauss (ซึ่งคนดูอย่างเราๆ ท่านๆ ที่ไม่ล่วงรู้เบื้องหน้าเบื้องหลังก็คงจะงงว่าหมอนี่เป็นใคร) ที่กำลังถูกวุฒิสมาชิกซักถามในประเด็นความสัมพันธ์ของเขากับ Oppenheimer ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรับรองตำแหน่งรัฐมนตรี

 

ภาพ: Universal Pictures

 

และทั้งสองเหตุการณ์นี้ไม่เพียงขับเคลื่อนด้วยบทสนทนาที่โยงไปถึงตัวละครมากหน้าหลายตา ยังสอดแทรกไว้ด้วยฉากย้อนอดีตที่พาคนดูไปรับรู้เหตุการณ์น้อยใหญ่ซึ่งพูดไม่อ้อมค้อม มันปะติดปะต่อให้เข้ากันไม่ได้อย่างง่ายดาย และนั่นยังไม่นับรวมช็อตสั้นๆ ที่คนทำหนังแทรกเข้ามาเพื่อผลลัพธ์ทางอารมณ์ หรือการย้ำเตือนถึงหายนะที่เฝ้าคอย หรือแสดงห้วงคำนึงอันอลหม่านสับสนของตัวละคร

 

หรือเปรียบไปแล้ว หนังเรื่อง Oppenheimer ก็เหมือนกับจิ๊กซอว์ขนาดมหึมาที่เต็มไปด้วยชิ้นส่วนน้อยใหญ่มากมาย หากทว่าเมื่อทุกรายละเอียดถูกจัดวางอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ของมัน ผลลัพธ์โดยรวมก็เกื้อหนุนให้คนดูมองเห็น ‘ภาพใหญ่’ ที่ทั้งกว้างและลึก ของ 1. ตัวบุคคลผู้ซึ่งชีวิตของเขาพบเจอกับสิ่งที่เรียกว่า Rise and Fall หรือความรุ่งโรจน์และร่วงหล่นในลักษณะแตกต่างจากรถไฟเหาะตีลังกา ของ 2. บริบททางการเมืองและนักการเมืองที่ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน (และประเทศไหน) ก็สกปรก โสโครก อัปลักษณ์ และคิดเล็กคิดน้อยเหมือนกัน และเหนืออื่นใด ของ 3. ความจริงและการเตือนสติผู้คนในสังคมในแง่ที่ว่า ‘พลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง’ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วโลกใบนี้ก็คงจะไม่หลงเหลือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เรียกว่ามนุษย์อีกต่อไป

 

ภาพ: Universal Pictures

 

แต่ก็นั่นแหละ ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่ถาโถมใส่คนดู เสน่ห์ดึงดูดและเป็นแง่มุมที่ชวนให้สนเท่ห์ที่สุดของหนังได้แก่เนื้อหาที่มุ่งสำรวจและศึกษาตื้นลึกหนาบางของตัวละคร และอย่างหนึ่งที่สรุปได้ก็คือ Oppenheimer เป็นตัวละครที่ไม่ค่อยแสดงออกหรือมักจะเก็บซ่อนความคิดเห็นต่างๆ นานาเอาไว้ภายใต้ใบหน้าที่ดูเคร่งขรึมจริงจัง และไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะหยั่งรู้ได้ว่าเขานึกคิดอะไร และวิธีการที่คนทำหนังจับภาพ Oppenheimer ในระยะใกล้มากหลายครั้ง นั่นรวมถึงช็อตเปิดและปิดเรื่อง (ยิ่งใครได้ดูในระบบ IMAX ด้วยแล้ว ก็คงสัมผัสได้ถึงความน่าพิศวงและเป็นปริศนาของใบหน้าที่ชวนหลอกหลอนนี้มากยิ่งขึ้น) มีส่วนช่วยขยับขยายให้พวกเราได้มองเห็นร่องรอยของอารมณ์และความรู้สึกที่ ‘น้อยนิดแต่มหาศาล’ ของตัวละคร ทั้งความหมกมุ่นลุ่มหลง ความดื้อดึง ความผิดหวัง ความล้มเหลว ความเจ็บปวดขื่นขมที่โดนหักหลัง ไปจนถึงความโศกสลดที่เจ้าตัวกลายเป็นคนที่จุดไฟแห่งความวิบัติฉิบหายของมนุษยชาติให้มันลุกโชน

 

ไม่ต้องสงสัยว่านี่เป็นการแสดงที่ลึกซึ้งสุดแสนวิเศษและละเอียดลออของ Cillian Murphy และสมควรยืนปรบมือให้อย่างกึกก้องยาวนาน

 

ภาพ: Universal Pictures

 

แต่อารมณ์ของตัวละครก็ส่วนหนึ่ง และบุคลิกก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ยิ่งทำให้ Oppenheimer เป็น Subject ที่ยิ่งน่าทึ่งมากขึ้นไปอีก และอย่างหนึ่งที่สามารถพูดได้ก็คือ เขาเป็นตัวละครที่สภาวะข้างในของเขาดูเหมือนเป็นสนามรบตลอดเวลา  ระหว่างการทำในสิ่งที่ตัวเองมุ่งมาดปรารถนาและมีความสามารถทำได้กับสำนึก ผิดชอบชั่วดี ระหว่างความฉลาดปราดเปรื่องกับความโง่เขลาเบาปัญญา หนึ่งในฉากเล็กๆ ตอนต้นเรื่องที่อาจใช้อธิบายสมมติฐานนี้ได้แก่เหตุการณ์ที่เขาแก้เผ็ดอาจารย์ผู้ซึ่งเล่นงานเขาเรื่องความซุ่มซ่ามในห้องแล็บ ด้วยการฉีดยาพิษเข้าไปในผลแอปเปิ้ลที่วางบนโต๊ะของอาจารย์คนนั้น และจากที่หนังนำเสนอ กว่าที่เขาจะตระหนักได้ว่านั่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และดิ้นรนแก้ไขเรื่องคอขาดบาดตาย (โง่ๆ) ที่อาจจะเกิดขึ้น มันก็หวุดหวิดเฉียดฉิวเหลือเกิน มิหนำซ้ำ คนที่กำลังรับเคราะห์กลับกลายเป็นบุคคลที่สาม

 

น่าสังเกตว่าเหตุการณ์นี้เป็นเสมือนลางบอกเหตุถึงเรื่องยุ่งยากที่กำลังจะเกิดขึ้น เขา (และทีมนักวิทยาศาสตร์) สร้างปรมาณูขึ้นมาด้วยความเชื่ออันไร้เดียงสาว่า อานุภาพร้ายแรงของมันจะค้ำประกันสันติภาพของโลกใบนี้ให้ยั่งยืน ทว่าจนแล้วจนรอด ทุกอย่างหันเหไปตรงกันข้าม และจิตสำนึกของความพยายามยับยั้งหายนะที่มาจ่อคอหอย บานปลายกลายเป็นการที่เขาถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน และถูกตั้งคำถามถึงความจงรักภักดีต่อชาติ ฉากที่เหล่านักการเมืองรุมทึ้ง Oppenheimer ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวในห้องไต่สวน ก็หยอกล้ออยู่กับเรื่องของเทพแห่งกรีกองค์นั้นอย่างขมขื่นทีเดียว อีกทั้งผลลัพธ์สุดท้ายก็ยังลงเอยในสภาพที่ตัวเขาไม่แตกต่างจาก Adam ที่ถูกพระเจ้าอัปเปหิจากสวนเอเดนโทษฐานเด็ดผลไม้ต้องห้าม

 

ภาพ: Universal Pictures

 

กล่าวในแง่ของเทคนิค Oppenheimer เป็นหนังที่ถ่ายด้วยกล้อง IMAX และฟิล์มเซลลูลอยด์ขนาด 65 มม. ซึ่งพูดได้ว่าไม่มีใครใช้ประโยชน์จากจอภาพมหึมาและระบบเสียงที่กระหึ่มเร้าได้เก่งกาจและเหนือชั้นเหมือน Nolan อีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากที่เขาสำแดงถึงพิษสงของระเบิดปรมาณูที่ทั้งงดงามอย่างน่าตื่นตะลึง ขณะเดียวกัน ก็เรียกสิ่งที่มองเห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจาก ‘ไฟนรกขุมโลกันตร์’ ข้อมูลที่ยิ่งชวนให้ตื้นตันมากขึ้นก็ตรงที่ทั้งหมดทั้งมวลที่ปรากฏเบื้องหน้า ไม่ได้เป็นผลพวงจากมายากลของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทว่ามันคือเปลวไฟอนาล็อกที่รุ่มร้อน เดือดดาล และกราดเกรี้ยวจริงๆ และนั่นทำให้ไม่มากไม่น้อย ความอุทิศทุ่มเทอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ซึ่งผสมผสานกับทักษะการทำหนังอันล้ำเลิศของ Nolan ก็ส่งผลให้เขากลายเป็นคนทำหนังสายพันธุ์ที่หาได้ยากจริงๆ

 

ภาพ: Universal Pictures

 

มีแง่มุมหนึ่งคนมักจะพูดถึง Oppenheimer และถูกเอ่ยถึงในหนังด้วย ก็คือการที่เขาไม่เคยได้รางวัลโนเบล ทั้งๆ ที่ด้วยคุณสมบัติและผลงานมันก็เกินความคู่ควรและเหมาะสมไปโขทีเดียว แต่ก็นั่นแหละ หลังจากเวลาผ่านพ้นไป รางวัลอันยิ่งใหญ่อย่างโนเบลก็ดูเล็กกระจ้อยร่อยไปแล้วสำหรับบทบาทและสถานะทางประวัติศาสตร์ของ Oppenheimer

 

ฉันใดก็ฉันนั้น Chiristopher Nolan ก็ (ยังคง) ไม่เคยชนะรางวัลออสการ์ ทั้งๆ ที่ใครลองไล่เรียงชื่อหนังทั้งหมดก็คงนึกสงสัยว่าสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ตกสำรวจผลงานของ Nolan ไปได้อย่างไร แต่ไม่ว่าเกียรติยศดังกล่าวจะเดินทางมาถึงหรือไม่และเมื่อใด มันก็ไม่มีวันเปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่า Nolan เป็นคนทำหนังที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 21 และไม่มีข้อกังขาว่าหนังเรื่อง Oppenheimer จะเป็นอีกหนึ่งผลงานควบคู่ไปกับ Memento, The Dark Knight, Inception, Dunkirk ที่จะทำให้คนรุ่นหลังนึกถึงและจดจำ Christopher Nolan อย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย

 

Oppenheimer (2023)

กำกับ: Christopher Nolan

ผู้แสดง: Cillian Murphy, Emily Blunt, Robert Downey Jr., Matt Damon ฯลฯ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising