×

จับตาสปีชสำคัญของประธาน Fed คืนนี้ กับทิศทางดอกเบี้ย และโจทย์สร้างความเชื่อมั่นในตลาดการเงิน

23.08.2019
  • LOADING...
จับตาสปีชสำคัญของประธาน Fed

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เตรียมปาฐกถาในการประชุมสัมมนานโยบายเศรษฐกิจครั้งสำคัญในวันนี้ (23 ส.ค.) ท่ามกลางแรงกดดันจาก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
  • ความท้าทายหนักอึ้งของพาวเวลล์คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดว่า Fed พร้อมดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อพยุงเศรษฐกิจ รวมถึงการลดดอกเบี้ยเพิ่มในปีนี้ 
  • แต่ความไม่ลงรอยในทิศทางนโยบายของกรรมการ Fed สร้างความกังวลในตลาดว่า Fed อาจไม่ดำเนินนโยบายการเงินเชิงรุกอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ แม้มีสัญญาณเตือนจากตลาดพันธบัตรและข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอก็ตาม 

ในโลกการเงิน ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีนัยสำคัญต่อตลาด จนถูกนำไปตีความและเป็นปัจจัยชี้นำทั้งในตลาดหุ้นและตลาดเงินอยู่เสมอ เพราะนโยบายการเงินทุกฝีก้าว รวมถึงสัญญาณทิศทางต่างๆ ของ Fed ส่งแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจโลกไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

 

คืนนี้ (23 ส.ค.) ตามเวลาไทย เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed มีกำหนดขึ้นปาฐกถาในงานประชุมสัมมนานโยบายเศรษฐกิจประจำปีที่แจ็กสันโฮล แน่นอนว่า ถ้อยแถลงของเขาถูกจับตาอย่างกว้างขวางเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงเวลาที่เกิดกระแสความกังวลเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

 

สืบเนื่องจากมีสัญญาณไม่สู้ดีจากข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ หดตัวลงสู่ระดับ 49.9 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นการหลุดแนวระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนสิงหาคมก็ร่วงลงแตะ 50.9 จากระดับ 53 ในเดือนกรกฎาคม  

 

อีกหนึ่งสัญญาณเตือนมาจากตลาดตราสารหนี้ของสหรัฐฯ หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ปรับตัวลงต่ำกว่าผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี หรือที่เรียกว่าเกิด Inverted Yield Curve ขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนถึงความกังวลว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเมื่อวานนี้ (22 ส.ค.) เกิด Inverted Yield Curve เป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 2 สัปดาห์ ซึ่งแม้เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็สร้างความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไม่น้อย

 

หลายคนมองว่า สปีชในวันนี้เป็นบททดสอบครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่พาวเวลล์รับตำแหน่งประธานธนาคารกลาง เพราะเขาจะต้องรับมือกับแรงกดดันทางการเมืองอย่างมหาศาลจาก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการให้ Fed ลดดอกเบี้ยมากขึ้น รวมทั้งรับมือกับกระแสคาดหวังจากนักลงทุนในตลาดที่รอจับสัญญาณการลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของ Fed

 

เวลานี้นักลงทุนกำลังรอท่าทีที่ชัดเจนขึ้น หลังมีความคลุมเครือจนทำให้เกิดการตีความไปต่างๆ นานา เริ่มจากการที่พาวเวลล์เคยพูดว่า Fed จะดำเนินการอย่างเหมาะสมในยามที่เผชิญกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก จากผลกระทบของสงครามการค้า ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ยังเคลื่อนตัวต่ำกว่าเป้าหมาย 2% 

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของ Fed (FOMC) ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งมีมติลดดอกเบี้ยลง 0.25% นั้น พาวเวลล์ยืนยันว่า Fed ยังไม่เริ่มวงจรการปรับลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องตามที่หลายคนเข้าใจ แต่การลดดอกเบี้ยครั้งนั้น เป็นเพียงการปรับนโยบายช่วงกลางวัฏจักร หรือ ‘Midcycle Adjustment’ เท่านั้น

 

ดังนั้น ถ้อยแถลงในวันนี้จึงถูกจับตาอย่างใกล้ชิดว่า เขาจะยังยึดมั่นในจุดยืนเดิมของตนเองที่มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง และยังไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องหรือไม่ โดยส่วนหนึ่งรอดูว่า พาวเวลล์จะเอ่ยคำว่า Midcycle Adjustment ในสปีชที่แจ็กสันโฮลคราวนี้หรือไม่ ซึ่งหากไม่ได้กล่าวถึง ก็อาจถูกนำไปตีความได้ว่า Fed กำลังเปิดทางสำหรับการลดดอกเบี้ยอีกหลายครั้ง 

 

นักวิเคราะห์มองว่า ความท้าทายของพาวเวลล์คือ การสร้างความเชื่อมั่นในตลาด ด้วยการแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่า Fed จะดำเนินมาตรการที่จำเป็นทุกอย่าง เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อไป ท่ามกลางสัญญาณชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดคาดคะเนไปแล้วว่า Fed มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนกันยายน

 

จับตาสปีชสำคัญของประธาน Fed

 

อีกหนึ่งประเด็นน่าสนใจคือ กระแสความคาดหวังของนักลงทุนส่วนใหญ่ขัดต่อมุมมองของกรรมการ Fed หลายคนที่เห็นควรให้ Fed คงดอกเบี้ยไว้ตามเดิม เจ้าหน้าที่ Fed ที่ว่านี้ ได้แก่ แพทริก ฮาร์เกอร์ ประธาน Fed สาขาฟิลาเดลเฟีย, เอสเธอร์ จอร์จ ประธาน Fed สาขาแคนซัส และ โรเบิร์ต แคปแลน ประธาน Fed สาขาดัลลัส

 

ไบรอัน โรส นักเศรษฐศาสตร์แห่ง UBS Global Wealth Management แสดงความเห็นว่า พาวเวลล์ไม่ใช่ผู้นำเผด็จการในธนาคารกลาง สิ่งที่เขาจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วนคือ การสร้างฉันทามติร่วมกับกรรมการคนอื่นๆ ว่าจะทำอะไรต่อไป ดังนั้นเขาจึงไม่อาจออกไปไหนไกล แล้วพูดถึงสิ่งต่างๆ ที่กรรมการ FOMC คนอื่นๆ ไม่เห็นด้วย 

 

เวลานี้ Fed เสียงแตกออกเป็นหลายฝ่าย คือฝ่ายที่ต้องการเห็นหลักฐานที่พิสูจน์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังย่ำแย่จริง กับฝ่ายที่ต้องการมาตรการป้องกันความเสี่ยงและผลกระทบจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งกลุ่มหลังได้รับเสียงสนับสนุนจากนักเศรษฐศาสตร์ที่มองว่า ไม่ควรรอให้เกิดรอยแตกก่อนที่จะคิดหาทางซ่อมแซม

 

ในรายงานการประชุมครั้งหลังสุด กรรมการ FOMC จำนวนหนึ่งต้องการให้ Fed ลดดอกเบี้ยมากถึง 0.50% ขณะที่บางคนเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิม แต่ท้ายที่สุด Fed ลงมติ 8-2 เสียง ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกของ Fed นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2008 โดยการประชุมครั้งนั้น กรรมการ 2 คน ที่คัดค้านการลดดอกเบี้ยคือ เอริก โรเซนเกรน ประธาน Fed สาขาบอสตัน และ เอสเธอร์ จอร์จ ประธาน Fed สาขาแคนซัส

 

ด้วยเหตุนี้ งานท้าทายของพาวเวลล์คือ การสร้างความเชื่อมั่นในตลาดว่า Fed มีความเต็มใจที่จะลดดอกเบี้ยอีก ‘หากจำเป็น’ แม้ขัดกับมุมมองของเจ้าหน้าที่ Fed บางส่วนก็ตาม เพราะยิ่งเขาแสดงให้เห็นถึงความไม่ลงรอยในนโยบายการเงินภายใน Fed มากเท่าใด ก็ยิ่งสร้างความไม่แน่นอนในตลาดมากขึ้น

 

ล่าสุด แพทริก ฮาร์เกอร์ ประธาน Fed สาขาฟิลาเดลเฟีย ให้สัมภาษณ์กับ CNBC เมื่อวานนี้ (22 ส.ค.) ว่า เขาไม่เห็นความจำเป็นที่ Fed จะลดดอกเบี้ยอีก ถึงแม้ฮาร์เกอร์ไม่ใช่กรรมการที่มีอำนาจโหวตนโยบายในการประชุมรอบนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเห็นของเขาได้สร้างเซนทิเมนต์เชิงลบให้กับตลาด รวมถึงเพิ่มความกังวลว่า Fed อาจไม่ดำเนินนโยบายเชิงรุกเท่าที่ควร เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่วังวนของภาวะถดถอย 

 

สุดท้ายต้องรอดูว่า พาวเวลล์จะทำอย่างไรให้ถ้อยแถลงของเขาสะท้อนเสียงที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเกี่ยวกับนโยบายของ Fed ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลง ซึ่งหากเขาทำไม่ได้ ย่อมสร้างความผันผวนในตลาดการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X