Babylon คือผลงานการกำกับและเขียนบทเรื่องล่าสุดของผู้กำกับ Damien Chazelle ที่คอภาพยนตร์รู้จักเขาเป็นอย่างดีจากภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมอย่าง Whiplash (2014) และ La La Land (2016) พร้อมได้ทีมนักแสดงระดับแนวหน้าของฮอลลีวูดมาร่วมรับบทนำ ได้แก่ Margot Robbie, Diego Calva, Brad Pitt, Jean Smart, Jovan Adepo, Li Jun Li และ Tobey Maguire
โดยครั้งนี้ Damien Chazelle จะพาผู้ชมย้อนเวลากลับไปสัมผัสกับวงการฮอลลีวูดในช่วงทศวรรษ 1920 ที่คับคั่งไปด้วยแสงสีและความบ้าคลั่ง ควบคู่ไปกับการฉายภาพให้เราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของวงการฮอลลีวูดในช่วงเปลี่ยนผ่านจากภาพยนตร์เงียบสู่ภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม ผ่านมุมมองของตัวละครหลักอย่าง Nellie LaRoy (Margot Robbie) นักแสดงหญิงโนเนมผู้พยายามหาบทบาทสำคัญที่จะส่งให้ชื่อของเธอโด่งดัง ควบคู่ไปกับการข้ามผ่านปัญหาอันหนักหนาสาหัสที่ประดังเข้ามาไม่หยุด และ Manny Torres (Diego Calva) นักล่าฝันหนุ่มผู้พยายามทำทุกอย่างเพื่อขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างภาพยนตร์
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- Babylon กับ 3 เกร็ดน่าสนใจจากภาพยนตร์สุดทะเยอทะยานของผู้กำกับ Damien Chazelle
- พัฒนาการภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลกภาพยนตร์
ในความรู้สึกของผู้เขียน เราคิดว่า Babylon มีองค์ประกอบหลายส่วนที่คล้ายคลึงกับผลงานก่อนหน้าของ Damien Chazelle อย่าง Whiplash และ La La Land อยู่พอสมควร เริ่มตั้งแต่เรื่องราวของตัวละครหลักที่กำลังดิ้นรนกระเสือกกระสนเพื่อไล่ตามความฝันของแต่ละคน จังหวะจะโคนในการนำเสนอที่มีเอกลักษณ์ และมีดนตรีประกอบของ Justin Hurwitz (Whiplash, La La Land) ที่เปรียบเสมือนตัวกำหนดจังหวะหัวใจของเรื่อง
ขณะที่ Babylon ดูจะเป็นผลงานที่ Damien Chazelle พยายามอัปสเกลองค์ประกอบเด่นๆ ของสองเรื่องแรกให้ใหญ่ขึ้น หวือหวามากขึ้น มีลูกบ้าเยอะขึ้น ทั้งในแง่สเกลเนื้อเรื่อง งานโปรดักชัน และความยาวของภาพยนตร์ที่ยาวถึง 3 ชั่วโมงเศษ ซึ่งในความรู้สึกของผู้เขียน ผลงานของ Damien Chazelle เรื่องนี้มีจุดเด่นหลายอย่างที่เราชื่นชอบมากๆ และข้อสังเกตที่เราแอบเสียดายอยู่เช่นเดียวกัน
เริ่มต้นที่งานโปรดักชัน Babylon ยังคงเป็นภาพยนตร์จากฝีมือของผู้กำกับ Damien Chazelle ที่อุดมไปด้วยศิลปะภาพยนตร์และชั้นเชิงการนำเสนอเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นการจัดองค์ประกอบภาพ จังหวะการตัดต่อ ฉากหลังสุดอลังการ และดนตรีประกอบที่ถูกร้อยเรียงเข้าด้วยกันอย่างลื่นไหล เพื่อพาผู้ชมไปสัมผัสกับความยิ่งใหญ่ เวอร์วัง และบ้าคลั่งของวงการฮอลลีวูดในยุครุ่งเรือง ซึ่งหากใครที่ชื่นชอบกลวิธีนำเสนอของ Damien Chazelle อยู่แล้ว เราคิดว่าคุณน่าจะชอบภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ไม่ยาก
อีกหนึ่งความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการพาผู้ชมไปสัมผัสกับบรรยากาศการถ่ายทำภาพยนตร์เงียบในช่วงทศวรรษ 1920 กันอย่างใกล้ชิด ไปจนถึงช่วงเวลาสำคัญต่างๆ ในยุคเปลี่ยนผ่านจากภาพยนตร์เงียบไปสู่ภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม เพื่อฉายภาพให้เราเห็นว่าเมื่อภาพยนตร์เสียงในฟิล์มมาถึง มันทำให้เกิดปรากฏการณ์อะไรบ้าง ทีมงานเบื้องหลังและนักแสดงต้องปรับตัวกับการถ่ายทำอย่างไร และความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มันส่งผลกระทบต่อตัวละครต่างๆ อย่างไร ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความสนุกของตัวภาพยนตร์ที่เราจะได้ไปท่องประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ฉบับย่อ และเป็นลายแทงให้เราได้ไปศึกษาหาข้อมูลต่อหลังจากดูจบได้อีกด้วย
อีกแง่หนึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็กำลังทำหน้าที่สะท้อนภาพให้เราเห็นถึงความมหัศจรรย์ของภาพยนตร์ที่ไม่ได้เป็นเพียงสื่อที่สร้างความบันเทิงเท่านั้น แต่มันยังอัดแน่นไปด้วยความหลงใหลและแรงกายแรงใจของเหล่าทีมงานเบื้องหลังที่ต่างก็ทุ่มเททุกอย่างให้กับมัน เพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะที่ชื่อว่าภาพยนตร์ให้ออกไปโลดแล่นสู่สายตาผู้ชมและกลายเป็นที่จดจำไปตลอดกาล
นอกจากงานสร้างสุดเวอร์วังและการพาผู้ชมไปสำรวจประวัติศาสตร์ภาพยนตร์กันพอสังเขป อีกหนึ่งส่วนสำคัญของภาพยนตร์ที่เราชื่นชอบมากๆ คือแกนหลักสำคัญของเรื่องที่สะท้อนภาพให้เราเห็นว่า ‘ทุกสรรพสิ่งเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาเสมอ’ ทั้งเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้าขึ้นทุกวัน รสนิยมของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หรือแม้กระทั่ง ‘ชีวิต’ ที่ไม่แน่ไม่นอนเท่าไรนัก เช่น Nellie LaRoy หญิงสาวที่อยากจะหลีกหนีจากชีวิตอันยากลำบากและคำสบประมาทของผู้คน เธอจึงทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเองประสบความสำเร็จในวงการฮอลลีวูด กระทั่งเธอก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งดาวเด่นของวงการโดยที่ไม่มีใครคาดคิด
หรือจะเป็นเรื่องราวของ Jack Conrad (ซึ่งเป็นตัวละครที่เราชอบมากที่สุด) นักแสดงภาพยนตร์เงียบชื่อดังที่ชีวิตกำลังอยู่ในช่วงรุ่งโรจน์ที่สุด แต่เมื่อโลกภาพยนตร์ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ เขาก็ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิตที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน
ซึ่งแม้ว่าเรื่องราวเหล่านี้จะถูกนำเสนอผ่านบริบทของผู้คนในช่วงทศวรรษ 1920 ก็ตาม แต่ประเด็นดังกล่าวก็มีจุดที่เชื่อมโยงกับผู้คนและบริบทสังคมในยุคปัจจุบันที่ทุกสิ่งอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนบางครั้งก็อาจเร็วเกินไป หรือบางทีความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นก็อาจกำลังสร้างบาดแผลและทอดทิ้งใครหลายคนไว้ด้านหลังโดยไม่รู้ตัว
อย่างไรก็ตาม Babylon ก็มีจุดที่ส่วนตัวผู้เขียนรู้สึกติดขัดและแอบเสียดายอยู่เช่นกัน ประการแรกคือความตลกขบขันที่ถูกใส่เข้ามาเยอะเกินไป อีกทั้งผู้กำกับยังใช้เวลาขยี้มุกต่างๆ มากเกินความจำเป็น มันจึงทำให้มุกตลกที่ควรจะสร้างความขำขันให้กับเราระหว่างทาง กลายเป็นฉากที่ส่งผลให้ภาพยนตร์ยืดเยื้อเกินไป และไม่ช่วยให้เรื่องราวขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างที่ควรจะเป็น
อีกทั้งด้วยความที่ภาพยนตร์มีตัวละครที่ต้องการนำเสนอหลายตัวด้วยกัน แต่กลับไม่สามารถกระจายบทบาทให้ตัวละครต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังมีบางตัวละครที่เรารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องเล่าหรือไม่ต้องใส่เข้ามาเลย ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับเส้นเรื่องหลักเท่าไร และมีหลายๆ ฉากที่เรารู้สึกว่าผู้กำกับสามารถรวบรัดตัดตอนให้ภาพยนตร์มีความกระชับมากกว่านี้ได้ ดังนั้นแล้ว ด้วยมุกตลกขบขันที่ถูกสอดแทรกเข้ามามากเกินไป รวมถึงการใส่ตัวละครเข้ามามากเกินความจำเป็น มันจึงส่งผลให้ภาพยนตร์ที่มีความยาวถึง 3 ชั่วโมง ดูจะเป็นความยาวที่นานเกินไป
ในภาพรวมแล้ว แม้ว่า Babylon จะมีข้อสังเกตในแง่ของการใส่มุกตลกและตัวละครที่มากเกินไป แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานของผู้กำกับ Damien Chazelle ที่ยังคงอัดแน่นไปด้วยชั้นเชิงการนำเสนอที่มีเอกลักษณ์ และประเด็นของเรื่องที่ผู้ชมสามารถเชื่อมโยงและมีความรู้สึกร่วมไปกับตัวละครได้ไม่ยากนัก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความหลงใหลในโลกภาพยนตร์อย่างสุดขั้วหัวใจของ Damien Chazelle ที่ถ่ายทอดมาถึงผู้ชมอย่างแจ่มชัด เพื่อบอกให้เรารู้ว่า ‘ภาพยนตร์’ นั้นยิ่งใหญ่และเปี่ยมไปด้วยมนตร์เสน่ห์มากขนาดไหน
Babylon มีกำหนดเข้าฉายวันที่ 19 มกราคมนี้ ในโรงภาพยนตร์
รับชมตัวอย่างได้ที่