×

หุ้น Spotify ติดลมบน ราคาพุ่ง 159% จากไอพีโอ แม้ยังขาดทุน เดินหน้าบุกตลาดพอดแคสต์เต็มตัว

09.12.2020
  • LOADING...
Spotify

นับจากวันแรกของหุ้น Spotify (SPOT) ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) เมื่อ 3 เมษายน 2561 ด้วยราคาไอพีโอ 132 ดอลลาร์ และเปิดการซื้อขายวันแรกที่ 165.90 ดอลลาร์ แต่หลังจากผ่านไป 5-6 เดือน ราคาหุ้น Spotify กลับดิ่งลงมาซื้อขายต่ำกว่าราคาไอพีโอ และเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 100-150 ดอลลาร์ อยู่เช่นนั้นมาต่อเนื่องจนถึงต้นปีที่ผ่านมา 

 

ระยะเวลาผ่านไป 2 ปีกว่า ในที่สุดราคาหุ้น Spotify สามารถพุ่งกลับขึ้นมายืนเหนือราคาไอพีโอได้อีกครั้งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนที่ราคาหุ้นจะพุ่งขึ้นทุบสถิติสูงสุดใหม่ (All Time High) ได้อย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดพุ่งขึ้นมาปิดที่ 342 ดอลลาร์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่ผ่านมา คิดเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นถึง 159% และทำให้ Spotify กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าราว 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท มากกว่าหุ้น PTT ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ที่สุดของไทยซึ่งมีมูลค่าราว 1.23 ล้านล้านบาท 

 

จนถึงไตรมาส 3/63 Spotify มีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 320 ล้านคน เพิ่มขึ้น 29% จากไตรมาสก่อน และมีผู้ใช้งานพรีเมียม (Premium Subscribers) เพิ่มขึ้น 27% เป็น 144 ล้านคน ทำให้รายได้ของบริษัทในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาขยับขึ้นมาเป็น 6.4 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.9 แสนล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่ทำได้ 5.5 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% ส่วนรายได้รวมทั้งปี 2562 อยู่ที่ 7.5 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.2 แสนล้านบาท 

 

 

สำหรับ Spotify ในไทย เริ่มเปิดตัวตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2560 ซึ่งในขณะนั้น Spotify มีผู้ใช้บริการทั่วโลกอยู่แล้วกว่า 140 ล้านคน ใน 61 ประเทศ ถือได้ว่าเป็นอันดับ 1 ของผู้ให้บริการสตรีมมิงเพลง (Music Streaming) ด้วยกลยุทธ์ธุรกิจสำคัญคือ ‘Freemium’ ซึ่งเป็นการให้ใช้บริการฟรีในเบื้องต้น แต่หากผู้ใช้ต้องการใช้บริการที่ดียิ่งขึ้นก็สามารถจ่ายเงินเพื่อรับบริการเพิ่มเติมได้ 

 

จำนวนผู้ใช้งาน Spotify ในไทย ณ เดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ราว 5.8 ล้านรายต่อเดือน โดยเป็นการใช้งานฟรีประมาณ 4.9 ล้านราย 

 

แต่ในมุมของกำไร Spotify ยังคงมีผลขาดทุนสุทธิถึง 509 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท เทียบกับปีก่อนทั้งปีที่ขาดทุนสุทธิ 208 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6.2 พันล้านบาท 

 

เดิมทีอาจจะเรียกได้ว่า Spotify คือผู้ให้บริการสตรีมมิงเพลง แต่ปัจจุบันนอกจากเพลงแล้ว Spotify ยังให้นิยามตัวเองว่าเป็นแอปพลิเคชันสำหรับการฟัง ‘พอดแคสต์ (Podcast)’ อีกด้วย

 

ปัจจุบันธุรกิจพอดแคสต์ของ Spotify เป็นอีกหนึ่งในแม่เหล็กดึงดูดผู้ใช้งานที่สำคัญ ด้วยจำนวนพอดแคสต์บนแพลตฟอร์มที่มากถึง 1.9 ล้านรายการ โดยเมื่อต้นปี 2562 บริษัทได้เข้าซื้อธุรกิจชื่อ Anchor ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยผลิตพอดแคสต์ ด้วยมูลค่าราว 150 ล้านดอลลาร์ 

 

ขณะเดียวกัน Spotify ได้พยายามสนับสนุนผู้สร้างพอดแคสต์ด้วยการเก็บข้อมูลเชิงลึกของผู้ฟังและประสิทธิผลของรายการในแต่ละตอน รวมถึงการพยายามช่วยให้ผู้ผลิตรายการสามารถเข้าถึงผู้ฟังได้มากขึ้น และทำให้ผู้ฟังมีประสบการณ์ร่วมมากยิ่งขึ้น อาทิ การให้ผู้ฟังสามารถตอบโพล

 

นอกจากนี้ บริษัทได้พยายามสร้างความแตกต่างให้กับพอดแคสต์ของตัวเองด้วยการทำเอ็กซ์คลูซีฟดีลกับผู้ผลิตพอดแคสต์บางราย อาทิ Joe Rogan ชาวอเมริกันผู้ผลิตรายการโทรทัศน์แนวตลก โดยมูลค่าของสัญญาสูงถึง 100 ล้านดอลลาร์ รวมถึงการใช้เงินลงทุนกว่า 800 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาเนื้อหาและเทคโนโลยีเกี่ยวกับพอดแคสต์ เช่น การเข้าซื้อผู้ผลิตพอดแคสต์รายอื่นๆ อย่าง The Ringer มูลค่าราว 200 ล้านดอลลาร์ และ Megaphone ผู้เผยแพร่และบริการโฆษณาบนพอดแคสต์ มูลค่าราว 235 ล้านดอลลาร์ 

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง: 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X