การที่เราจะทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวงการแฟชั่นสำหรับปี 2021 คงเป็นเรื่องยาก เพราะจากวิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่ปีก่อน ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความไม่แน่นอน THE STANDARD POP ได้หยิบยกบุคคล แบรนด์ และเหตุการณ์ที่คาดการณ์ได้ว่าจะมีบทบาทในปีนี้และทำให้วงการยังเต็มไปด้วยสีสันและอิทธิพล
ไม่ว่าจะเป็นการที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ได้ดีไซเนอร์คนใหม่มาออกแบบคอลเล็กชันให้ ส่วนฝั่งตัวแทนของคนรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้นไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นนางแบบพลัสไซส์ที่เปรียบเสมือนตัวแทนการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม ทั้งเรื่องผิวสีและรูปร่าง, ช่อง YouTube ที่จะมาสร้างบทสนทนาในรูปแบบใหม่ รวมไปถึงช่างภาพที่มีสไตล์เฉพาะตัว แบรนด์เสื้อผ้าและไลฟ์สไตล์ที่สะท้อนชีวิตแบบที่เราอยากเป็นในปัจจุบัน
Sporty & Rich แบรนด์บอกเราว่าสิ่งที่ต้องขายมากกว่าเสื้อผ้าคือไลฟ์สไตล์
ภาพ: Sporty & Rich
ถ้าเราเข้าไปใน Instagram และส่องดูเสื้อผ้าที่เหล่าแฟชั่นอินฟลูเอนเซอร์ทั้งไทยและต่างประเทศกำลังอินกันอยู่ หนึ่งในนั้นต้องมี Sporty & Rich แบรนด์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ที่ก่อตั้งโดย Emily Oberg และเริ่มต้นมาจากการเป็นแค็ตตาล็อกรวมรูปภาพใน Instagram และขยายมาสู่การขายสินค้าบนออนไลน์ ด้วยชื่อที่ฟังก็รู้ว่าแบรนด์ต้องการจะสื่ออะไร และไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน คำแรกคือ ‘Sporty’ ที่ชวนคนรุ่นใหม่ให้หันมาใส่ใจสุขภาพของตัวเอง หมั่นออกกำลังกาย ดื่มน้ำเยอะๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้เบิกบาน (ตามสิ่งที่สกรีนอยู่บนเสื้อยืดรุ่นขายดีว่า ‘Be Nice, get lots of sleep, drink plenty of water’) และ ‘Rich’ เพราะชีวิตดีๆ ในสมัยนี้ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายตามมา ไหนจะค่าเสื้อผ้า ค่าของใช้ ค่าสมัครเมมเบอร์
ยิ่งช่วงที่หลายคนกำลังต้องการความสบายอย่างเสื้อผ้าสไตล์ Athleisure ทั้งเสื้อสเวตเตอร์ กางเกงวอร์ม รองเท้าผ้าใบ ถุงผ้าใบใหญ่ หมวกแก็ป การมาถึงของ Sporty & Rich จึงเหมาะกับทั้งช่วงเวลาและไลฟ์สไตล์ที่ทุกคนต้องการ ทั้งความเป็นอยู่ที่ดีทั้งในและนอกโลกโซเชียล
Paloma Elsesser นางแบบพลัสไซส์ที่นิยามแฟชั่นและสังคมโลกปี 2021
เราอยู่ในยุคที่อาชีพนางแบบเป็นมากกว่าหุ่นลองเสื้อผ้าที่ทำหน้าที่เพียงแค่สร้างกิเลสให้คอลเล็กชันใหม่ๆ ของแบรนด์ดัง แต่ปัจจุบันกลับมีสิทธิ์และเสียงที่จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมและการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมแฟชั่นมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน โดย Paloma Elsesser นางแบบพลัสไซส์ชาวอเมริกันเชื้อสายชิลี-สวิส-แอฟริกัน มีทั้งเชื้อชาติ สีผิว และรูปร่างที่กำลังทลายค่านิยมมาตรฐานความงามแบบเดิมๆ ออกไป
ผลงานชิ้นแรกๆ ที่แจ้งเกิดให้ Paloma Elsesser คือการถ่ายแบบแคมเปญเปิดตัวแบรนด์เครื่องสำอางแรกของ Pat McGrath Labs เมื่อปี 2016 ด้วยสายตาอันเฉียบคมของ Pat McGrath ช่างแต่งหน้าชื่อดังชาวอังกฤษที่สนับสนุนเรื่องความงามอันหลากหลายมาโดยตลอด หลังจากนั้นชื่อของเธอก็ค่อยๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้น และได้ร่วมเดินแบบกับแบรนด์ใหญ่มากมาย และถึงแม้ปีนี้โลกจะยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ผลงานของเธอในปี 2020 ก็ไปไกลกว่าที่เขตแดนจะกั้นไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินแบบให้ Alexander McQueen, Fendi, Salvatore Ferragamo, Savage x Fenty เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับ Coach พร้อมขึ้นปกตินิตยสารทั้ง i-D, Vogue Italia และ British Vogue เป็นต้น
นอกเหนือจากนั้นเธอยังได้การผลักดันของ Anna Wintour โดยเมื่อปี 2019 เธอได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ CFDA/Vogue Fashion Fund เพื่อคัดเลือกผู้ชนะแบรนด์หน้าใหม่ประจำปี และได้รับเลือกจากคนในวงการแฟชั่นให้เป็น Model of the Year 2020 ของเว็บไซต์ Models.com และล่าสุดกับการเปิดศักราชใหม่ด้วยปกเดี่ยวของ Vogue US ฉบับเดือนมกราคม 2021 ซึ่งทั้งหมดนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า Paloma Elsesser ไม่ได้เป็นเพียงแค่นางแบบ แต่คือต้นแบบที่วงการแฟชั่นกำลังตามหา
คอลเล็กชันแรกของดีไซเนอร์ชื่อดังกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่
สำหรับใครที่กำลังเบื่อกับแฟชั่นในปีที่ผ่านมา เราหวังว่าปี 2021 จะทำให้คุณตื่นเต้นอีกครั้ง เพราะหลายแบรนด์ดังจะได้ดีไซเนอร์ชื่อดังมาดำรงตำแหน่งหัวเรือด้านการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นการมาเยือนของ Kim Jones ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ฝั่งเสื้อผ้าผู้ชายของ Dior ที่กำลังจะมาออกแบบเสื้อผ้าผู้หญิงครั้งแรกให้กับ Fendi สำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปผู้หญิง เสื้อผ้ากูตูร์ และคอลเล็กชันขนสัตว์ หลังจากที่ Silvia Venturini Fendi ดีไซเนอร์ของแบรนด์ที่ร่วมทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่มากับดีไซเนอร์ผู้ล่วงลับอย่าง Karl Lagerfeld ขอโฟกัสแค่เสื้อผ้าผู้ชาย
ความคาดหวังจากทั่วโลกจึงตกมายังดีไซเนอร์ชาวอังกฤษผู้นี้ ซึ่งคงต้องจับตาดูว่าผู้หญิงหวานซ่อนเปรี้ยวแบบเดิมของ Fendi อีกหนึ่งแบรนด์ใหญ่ในเครือ LVMH ที่มีฐานลูกค้าเดิมอันเหนียวแน่น อาจกลายมาเป็นผู้หญิงแนวสตรีทที่สามารถกวาดลูกค้าใหม่ๆ ทั้งกลุ่มมิลเลนเนียลและ Gen Z ได้อย่างถล่มทลายได้หรือไม่ เหมือนที่เขาเคยทำไว้กับกลุ่มเสื้อผ้าผู้ชายที่ Dior และ Louis Vuitton ซึ่ง Kim Jones จะประเดิมด้วยคอลเล็กชันกูตูร์ในวันที่ 27 มกราคมที่จะถึงนี้ ที่สัปดาห์แฟชั่นกูตูร์ Spring/Summer 2021 ที่กรุงปารีส
และในวันเดียวกันนี้เองแบรนด์กูตูร์เจ้าถิ่นประจำปารีสอย่าง Jean Paul Gaultier ก็จะได้ Chitose Abe ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นจากแบรนด์ Sacai หนึ่งในดีไซเนอร์รับเชิญที่จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาออกแบบคอลเล็กชันกูตูร์ให้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ความสำเร็จคล้ายกับ Moncler ที่แต่ละซีซันจะร่วมออกแบบกับแบรนด์ต่างๆ โดยความท้าทายของ Chitose Abe อาจไม่ใช้การทำให้สินค้าขายได้ แต่อยู่ที่เธอจะดึงตัวตนของแบรนด์ที่ Jean Paul Gaultier สร้างไว้เมื่อยุครุ่งเรืองออกมาผสมกับตัวตนของเธออย่างไรให้เป็นที่พูดถึง ในโลกที่เส้นแบ่งระหว่างการออกแบบเสื้อผ้าชั้นสูงและเสื้อผ้าแนวสตรีทนับวันยิ่งพร่าเลือนลงทุกที
และเมื่อพูดถึงปารีส ก็ต้องพูดถึงแบรนด์ Chloé ที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันเกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว จากการที่แบรนด์คว้าตัว Gabriela Hearst ดีไซเนอร์จากฝั่งอเมริกาเชื้อสายอุรุกวัยมาเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ หลังจากที่ Natacha Ramsay-Levi ประกาศอำลาไปเพียงไม่กี่วัน และแน่นอนเมื่อดีไซเนอร์เปลี่ยน ภาพผู้หญิงของแบรนด์ย่อมเปลี่ยนตาม โดยความเป็นโบฮีเมียน รักศิลปะ ดนตรี วัฒนธรรม และอิสรภาพของสาวปารีเซียงมีโอกาสที่จะมาในมาดนักธุรกิจ Wall Street แบบนิวยอร์กมากขึ้น ด้วยเสื้อสูทคัตติ้งคมๆ และสะพายกระเป๋าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามค่านิยมโลก (และของ Gabriela Hearst) ที่หันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น
สไตล์ที่ชัดเจนของช่างภาพแฟชั่น Hugo Comte
ภาพ: Hugocomte.com
ไม่ว่าจะปกอัลบั้ม Future Nostalgia ของ Dua Lipa หรือแคมเปญแบรนด์แว่นตา Gentle Monster ของ Jennie จาก BLACKPINK มีอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกันคือทั้งหมดนี้ล้วนเป็นฝีมือการถ่ายภาพของ Hugo Comte หนึ่งช่างภาพที่มาแรงในขณะนี้ โดยภาพของ Hugo Comte ทำให้เราย้อนกลับไปในสมัยก่อน เมื่อภาพถ่ายส่วนใหญ่ยังใช้ฟิล์ม ด้วยภาพที่มีค่าความอิ่มตัวของสี (Saturation) อันเป็นเอกลักษณ์ การเล่นกับแสงและเงากับตัวนางแบบที่ตัวตนชัดเจนผ่านแฟชั่นที่ยากจะระบุยุค
จากจุดเริ่มต้นการเป็นสถาปนิกในปารีส ก่อนที่จะผันตัวมาเป็นช่างภาพอย่างเต็มตัวในปี 2017 เขาได้พัฒนาฝีมือด้วยตนเองผ่านการทำโปรเจกต์และงานภาพถ่ายส่วนตัว โดยได้แรงบันดาลใจจากแฟชั่นและภาพยนตร์ในยุค 90 ในช่วงที่เขาเติบโต โดยเฉพาะผลงานของช่างภาพระดับตำนานอย่าง Steven Meisel จนผลงานไปเตะตานิตยสารมากมาย ตั้งแต่ POP Magazine, W Magazine, Vogue Italia และถ่ายแคมเปญให้กับแบรนด์ดัง ทั้ง Lanvin, Valentino Men, Vivienne Westwood และ Burberry จนขึ้นแท่นช่างภาพแฟชั่นที่เป็นตัวแทนของป๊อปคัลเจอร์อย่างแท้จริง
Lorenzo Posocco สไตลิสต์ทรงอิทธิพลที่ทำให้วงการดนตรีน่าสนใจขึ้นด้วยแฟชั่น
ภาพ: Lorenzo Posocco / Instagram
เรายังจะไม่ก้าวผ่าน Dua Lipa ไปง่ายๆ เพราะปี 2020 นับเป็นอีกหนึ่งปีทองในอาชีพศิลปิน และทุกการปรากฏตัวของเธอล้วนแล้วแต่มีอิมแพ็กพอๆ กับผลงานเพลง โดยเราต้องยกเครดิตให้ Lorenzo Posocco แฟชั่นสไตลิสต์ที่ทำงานคู่กับนักร้องจากเกาะอังกฤษคนนี้มาตลอด ตั้งแต่การถ่ายปกอัลบั้ม Future Nostalgia ไปจนถึงการออกงานรับรางวัล ถ่ายปกนิตยสาร และแสดงคอนเสิร์ตบนเวที ไล่ตั้งแต่ชุดการแสดง MTV EMAs 2019, ควบคุมด้านเสื้อผ้าใน Virtual Concert Studio 2054 ไม่นับรวมชุดเลื่อมที่เธอใส่แสดงในรายการ The Graham Norton Show และลุคหมวกขนนกสุดพลิ้วทั้งหมดของ Valentino Couture ที่มีการรีโพสต์รูปให้เป็นที่พูดถึงทันทีที่ออกอากาศ
เราคงจะได้เห็นภาพลุคสวยๆ ของ Dua Lipa ในปี 2021 อีกมากมายผ่านฝีมือการเลือกเสี้อผ้าของ Lorenzo Posocco เริ่มด้วยบนเวที Grammy Awards ปี 2021 ที่เธอเข้าชิงถึง 6 สาขา ซึ่งในอนาคต Lorenzo Posocco ก็มีสิทธิ์ตามรอยสไตลิสต์คู่บุญของ Lady Gaga อย่าง Nicola Formichetti, Mel Ottenberg ของ Rihanna, Arianne Phillips ของ Madonna และ Kollin Carter สไตลิสต์ของ Cardi B ที่สร้างลุคพรมแดงอันน่าจดจำในประวัติศาสตร์ป๊อปคัลเจอร์มากมาย ก่อนก้าวไปทำโปรเจกต์อื่นๆ ในวงการ
คอนเทนต์แฟชั่นที่เจ็บแสบแต่ไม่ไร้สาระของ Haute La Mode
ภาพ: TeenVogue.com
ถ้าสมัยก่อนเราอยากอ่านรีวิวแฟชั่น อาจจะต้องไปตามอ่าน Robin Givhan ใน The Washington Post, Tim Blanks ในพอดแคสต์ของ Business of Fashion หรือ Nicole Phelps ใน Vogue Runway ซึ่งเราจะได้มุมมองของจากอีกวัยที่อยู่ในวงการแฟชั่นมานาน แต่ถ้าใครอยากได้มุมมองที่สดใหม่ ไร้ฟิลเตอร์หรือสปอนเซอร์ใดๆ จากแบรนด์ ขอแนะนำให้รู้จักกับช่อง Haute La Mode ที่มีผู้ดำเนินรายการเป็นเพียงชาว Gen Z เพียงคนเดียว
‘Fun, Sassy, B**chy, Analytical’ คือคำนิยามของคอนเทนต์ใน YouTube ของช่องนี้ ฝีมือของ Luke Meagher วัย 22 ปีที่หลงรักในแฟชั่นแต่ไม่รู้จะไปหารีวิวจากไหนที่ตรงใจกับสิ่งที่เขาคิด ปัจจุบันมีผู้ติดตามใน YouTube ประมาณ 480,000 คน Luke Meagher พาเรารีวิวแฟชั่น (หรืออีกคำหนึ่งคือวิจารณ์) ตั้งแต่การทำคลิปวิดีโอรีแอ็กชันปกนิตยสาร ลุคพรมแดงงานประกาศรางวัล ไปจนถึงมีมล้อเลียนคอลเล็กชันของแบรนด์มากมายบน Instagram
“ทำไมดีไซเนอร์ไม่หาวัสดุใหม่ๆ หรือหาวิธีเอาวัสดุเก่าๆ มาทอเป็นผ้าผืนใหม่ หน้าที่ของพวกเขาคือการใช้ความคิดสร้างสรรค์ แต่แล้วเราก็ติดอยู่กับสิ่งเดิมๆ เช่นการหยิบใช้แฟชั่นยุค 60-90 มาปัดฝุ่นใหม่ในทุกซีซัน แต่กลับไม่คิดค้นอะไรใหม่เลย ผมเลยต้องหาวิธีใหม่ๆ ในการพูดคุยเรื่องแฟชั่นด้วยตัวเอง แล้วทำไมพวกเขาไม่ทำกับธุรกิจหมื่นล้านของพวกเขาบ้าง” Luke Meagher กล่าวในบทสัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์ TeenVogue ถึงความเป็นมาของบล็อก และมันสะท้อนตัวตนและจุดประสงค์ของเขาเป็นอย่างดี
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า