×

มองสนามกีฬาในสหรัฐอเมริกา แล้วย้อนมองดูเรา

11.01.2023
  • LOADING...

สนามศุภชลาศัยกลับมาเป็นที่สนใจของหลายคนระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมาจากคอนเสิร์ตของ BLACKPINK

 

สำหรับคนในวัยผม พื้นที่สนามกีฬาแห่งนี้สร้างความทรงจำมากมาย ตั้งแต่ตะกร้อ, บาสเกตบอล, ฟุตบอล นักเรียน ไปจนถึงระดับทีมชาติ เคยอยู่ในเหตุการณ์ฟุตบอลคิงส์คัพ ซึ่งคนดูล้นออกไปจนถึงขอบลู่วิ่ง

สนามศุภชลาศัยสำหรับผมคือความจำของวัยคะนอง ชีวิตที่โลดโผน

 

วันเวลาผ่านเลยไป ที่นี่กลายเป็นวัตถุโบราณสำหรับเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งก็คงไม่แปลกอะไร ในเมื่ออายุของสนามก็ราว 85 ปีไปแล้ว

 

สนามกีฬาศุภชลาศัย

4 มกราคม 2023 , สนามศุภชลาศัย , บรรยากาศรอบพื้นที่ก่อนวันงานคอนเสิร์ต BLACKPINK Born Pink World Tour Bangkok ที่สนามกีฬาแห่งชาติ (National Stadium) , ช่างภาพ : ฐานิส สุดโต

 

การพัฒนาก็ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะกรมพลศึกษาก็ยังเช่าสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แค่ค่าเช่าอย่างเดียวก็อยู่ในภาระที่เต็มกลืน

 

ผมพอจะมีประสบการณ์กับกีฬาของสหรัฐอเมริกาอยู่บ้าง เท่าที่ทราบแต่ละสนามกีฬาจะหารายได้หลักๆ จาก

 

  1. การขายตั๋วเข้าชมกีฬาตามวัตถุประสงค์ที่สร้างสนามขึ้นมา ตั๋วดูเกมใบหนึ่งตก 5,000 บาท ทุกเกมอย่างไรก็ขายได้ราว 70,000 ใบ คิดเป็นเงิน 350 ล้านบาท

 

  1. จัดงานเทศกาลต่างๆ รวมทั้งงานคอนเสิร์ตหรือกีฬาทางเลือกอย่างอื่น

 

  1. ผลพลอยได้เวลามีมหกรรมก็คือสินค้า เครื่องดื่ม อาหาร เวลามีการแข่งกีฬาหรืองานเทศกาล

 

  1. โฆษณาในสนาม รวมทั้งลิขสิทธิ์ชื่อสนามเอง เช่น เอทีแอนด์ทีสเตเดียม ของดัลลัส คาวบอยส์, โซไฟสเตเดียม ซึ่งสองทีม แอลเอ แรมส์ และแอลเอ ชาร์จเจอร์ส ใช้ร่วมกัน

 

อย่างการใช้ชื่อโซไฟสเตเดียมก็สร้างรายได้ประมาณ 30 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 1 พันล้านบาท) หรืออัลลีเจียนต์สเตเดียม ของลาสเวกัส เรดเดอร์ส  ก็ประมาณ 700-800 ล้านบาทต่อปี

 

  1. ที่จอดรถ อย่างถูกสุดก็ประมาณ 20 ดอลลาร์ หรือ 700 กว่าบาท

 

  1. หลายทีมใน NFL เริ่มเปิดบ่อนแทงพนันกีฬาอย่างถูกกฎหมายในสเตเดียมตัวเอง ร่วมมือกับคาสิโนดังๆ

 

  สนามกีฬาในสหรัฐอเมริกา2

สนามกีฬาโซไฟสเตเดียม สนามกีฬาที่มีค่าก่อสร้างแพงที่สุดในโลกที่ 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งอยู่ในลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา

 

โดยส่วนใหญ่แล้วทีม NFL อยู่ในฐานะผู้เช่าสเตเดียม อย่างเช่น ดัลลัส คาวบอยส์ ก็เช่าจากเมืองอาร์ลิงตัน จ่ายให้ปีละ 2 ล้านดอลลาร์ (ราว 70 ล้านบาท), ชิคาโก แบร์ส จ่ายให้เขตชิคาโกพาร์กปีละ 6.3 ล้านดอลลาร์ (226 ล้านบาท) หรือกรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส จ่ายเกือบปีละ 1 ล้านดอลลาร์ (35 ล้านบาท) ให้กับเมืองกรีนเบย์ และบราวน์เคาน์ตีโปรฟุตบอลสเตเดียมดิสทริกต์

 

จากนั้นพวกเขาต้องมีหน้าที่หารายได้ของสเตเดียมด้วยตัวเอง หรืออาจตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินส่วนนี้ให้ได้ผลกำไร

 

ย้อนกลับมามองถึงสนามศุภชลาศัยของเรา แม้จะอยู่ในทำเลที่ดีมากกับการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ แต่ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมพักหลังเราจึงไม่ค่อยเห็นการแข่งกีฬารายการใหญ่จัดขึ้นที่นี่ อย่างฟุตบอลรายการชิงแชมป์อาเซียนก็จัดที่สนามกีฬาธรรมศาสตร์ รังสิต

 

หรือถ้ามีการจัดรูปแบบของสินค้า เครื่องดื่ม อาหาร ที่จอดรถ ก็ไม่น่าจะมีกิจลักษณะขนาดสร้างรายได้พอจะเลี้ยงตัวสนามได้อยู่ดี

 

เรื่องลิขสิทธิ์ชื่อสนามคงไม่ต้องพูดถึงกัน เช่นเดียวกับข้อที่ 6

 

ถ้าคุณติดตามกีฬาที่สหรัฐฯ หรือเคยไปดูกีฬาที่นั่น จะเห็นผู้คนดูกีฬาไป ดื่มกินกันไปอย่างสนุกสนาน

 

ประเมินกันว่าค่าใช้จ่ายที่แต่ละคนต้องจ่ายน่าจะมี 3,000-5,000 บาทด้วย

 

 

ผลการศึกษาล่าสุด ขนาดแอริโซนา คาร์ดินัลส์ ทีมใน NFL มียอดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวถูกสุด ยังอยู่ที่ 117.46 ดอลลาร์ (ราว 4,200 บาท)

 

ส่วนลาสเวกัส เรดเดอร์ส ครองอันดับหนึ่ง ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัว 273.47 ดอลลาร์ (ราว 9,800 บาท)

 

ยังไม่นับช่วงก่อนและหลังเกมจบลงอีก ร้านค้า ร้านอาหารด้านนอกสเตเดียม พลอยได้รับอานิสงส์กันถ้วนหน้า

 

เพราะเหตุนี้ เมื่อยุค 1950 กีฬาอาชีพของสหรัฐฯ จึงต้องการให้เมืองมีส่วนร่วมกับทีมมากขึ้นกว่านี้

 

คนริเริ่มให้เราได้ยินข่าวว่า ต้องมีการเอาภาษีชาวบ้านชาวเมืองมาช่วยสร้างสนามกีฬา อย่างในปัจจุบันก็คือ ฟอร์ด ฟริก คอมมิสชันเนอร์ของเมเจอร์ลีกเบสบอล

 

นับจากนั้น ทีมกีฬาอาชีพที่สหรัฐฯ ต่างมีอำนาจต่อรองกับเมืองมากขึ้น

 

เมืองไหนที่ประชากรชื่นชอบกีฬาและมีสภาเมืองที่เห็นชอบ ก็จะดึงดูดทีมกีฬาต่างๆ ให้ย้ายไป เราจึงได้ยินว่าทำไมทีมกีฬาสหรัฐฯ จึงเรียกกันว่าแฟรนไชส์ เพราะพวกเขาย้ายสู่เมืองไหนก็ได้เมื่อหมดสัญญาเช่าระหว่างกัน

 

ตัวอย่างชัดเจนในยุคเก่าก็คือทีมเบสบอล บรูกลิน ดอดเจอร์ส ถึงกับทิ้งเมืองนิวยอร์กย้ายข้ามประเทศแลกกับที่ดิน 750 ไร่ ในชาเวซเรวีน ใกล้กับเมืองลอสแอนเจลิส หรือนิวยอร์ก ไจแอนท์ส ย้ายสู่ซานฟรานซิสโกเพื่อที่ดินซึ่งกลายมาเป็นแคนเดิลสติกพาร์กภายหลัง

 

ฝ่ายบริหารของแต่ละรัฐต่างต้องการให้ทีมกีฬาอยู่ในเมืองพวกเขา เพราะถือเป็นตัววัดความสำเร็จอย่างหนึ่ง เราจึงเห็นข่าวหลายทีมใน NFL สร้างสเตเดียมใหม่กันเป็นว่าเล่น

 

แม้สเตเดียมใหม่ๆ ของ NFL มีอยู่สองแห่งที่ไม่ได้เอาภาษีชาวเมืองมาใช้ ก็คือโซไฟสเตเดียมที่ลอสแอนเจลิส และเมตไลฟ์สเตเดียมที่นิวเจอร์ซีย์ (ทีมนิวยอร์ก ไจแอนท์ส และเจ็ตส์ ใช้ร่วมกัน) แต่ที่เหลือชาวเมืองต่างมีส่วนร่วมไม่มากก็น้อย

 

ผลตอบแทนที่ชาวเมืองยอมสละเงินภาษีเข้าไปโปะช่วยทำสนามใหม่ ทาง NFL จะตอบแทนด้วยการยกสิทธิ์จัดซูเปอร์โบวล์ให้กับเมืองดังกล่าว

 

สนามกีฬาเมอร์เซเดส-เบนซ์สเตเดียม ในช่วงของการแสดงพักครึ่งศึกซูเปอร์โบวล์ ครั้งที่ 53 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2019

 

แอตแลนตาคือตัวอย่างของความบ้าคลั่งกีฬา ชาวเมืองยอมจ่ายรวมกันเกิน 700 ล้านดอลลาร์ หรือ 2.52 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างสนามใหม่สุดอลังการให้ฟอลคอนส์อยู่ด้วยกันต่อ

 

ไม่เคยมีสนามกีฬาแห่งไหนของ NFL ได้เงินหนุนจากชาวเมืองมากมายขนาดนี้

 

แน่นอนเมื่อเปิดใช้งาน ทาง NFL ก็ให้รางวัลด้วยการจัดซูเปอร์โบวล์ ครั้งที่ 53 เมื่อปี 2019

 

ถามว่าจัดซูเปอร์โบวล์ถือเป็นรางวัลได้อย่างไร?

 

ยกตัวอย่างโซไฟสเตเดียมในลอสแอนเจลิส ซึ่งเพิ่งเป็นเจ้าภาพซูเปอร์โบวล์ครั้งที่ผ่านมา

 

 

มีผลวิจัยออกมาว่ากระแสเงินจะสะพัดมากถึง 1.6 หมื่นล้านบาท มีการจ้างงานเพิ่มเติมในช่วงดังกล่าว 2,200-4,700 ตำแหน่ง ท้ายสุดทางลอสแอนเจลิสจะมีรายได้จากภาษีช่วงสัปดาห์ดังกล่าวประมาณ 720 ล้านบาท คำนวณต่อว่าปีหนึ่งรายได้ภาษีที่รัฐจะได้จากทีม NFL ตีซะราว 1 พันล้านบาท

 

พออ่านแล้ววิเคราะห์กันดีๆ หักลบกลบหนี้ กับเงินภาษีที่จ่าย 2 หมื่นกว่าล้านบาทแล้ว เท่ากับคุณต้องจัดซูเปอร์โบวล์อีกเป็นสิบครั้ง

 

จึงเป็นที่มาของคำถามว่าการสร้างสเตเดียมใหม่ๆ ขึ้นมา มีผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมจริงหรือเปล่า?

 

ไมเคิล ลีดส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์กีฬาของมหาวิทยาลัยเทมเพิล ให้ความเห็นว่า “ตามปกติการมีทีมเบสบอลยังส่งผลดีกับเศรษฐกิจท้องถิ่นไม่ได้มากไปกว่าการมีห้างสรรพสินค้าขนาดกลางๆ ดังนั้นทีมฟุตบอลซึ่งซีซันหนึ่งจัดแข่งกันแค่ 8-9 เกม ยิ่งส่งผลกระทบน้อยกว่า

 

“ต้องถือว่าพวกเขาไม่ได้มีผลกระทบกับเศรษฐกิจมากมาย แต่เพราะพวกเขามีบทบาทสำคัญต่อวัฒนธรรมความเป็นเมือง เราจึงยอมมองข้ามว่าพวกเขาเป็นแค่เผือกลูกเล็กแค่ไหน”

 

การสร้างสเตเดียมใหม่ๆ เมื่อวิเคราะห์ดูแล้วอาจไม่คุ้มค่าทางการเงิน แต่สำหรับแฟนกีฬาในสหรัฐฯ การยอมเสียเงินเพื่อมีสเตเดียมใหม่ให้กับทีมอันเป็นที่รัก มันมีอะไรมากกว่าคำว่าดอลลาร์และเซนต์

 

ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีนักการเมืองที่ไหนกล้ารักษาเงินภาษีชาวเมืองไว้เพื่อไปทำอย่างอื่น แล้วต้องเห็นแฟรนไชส์ NFL เก็บข้าวของแล้วย้ายออกไป เหมือนครั้งหนึ่งที่บราวน์สเคยขนของหนีไปจากเมืองคลีฟแลนด์กลางดึก เพราะพวกเขาไม่ได้สนามใหม่ตามต้องการ

 

หรือเมืองซีแอตเทิลก็เคยเสียทีมบาสเกตบอลซูเปอร์โซนิกส์กันยาวนาน จนชาวเมืองเพิ่งมาสำนึกเสียใจ โอดครวญ อยากให้มีทีม NBA ในเมืองพวกเขา แต่ก็เป็นเพียงความฝันลมๆ แล้งๆ

 

นั่นคือความรักและหลงใหลในกีฬาของอเมริกันชนมาตั้งแต่ครึ่งศตวรรษก่อน คงหารูปแบบนี้ได้ยากจากชาติอื่นๆ

 

ถ้าจะหาตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับสนามศุภชลาศัยก็คงเป็นแอลเอโคลิเซียม สนามกีฬาคลาสสิก มีความเก่าแก่ อายุจะครบ 100 ปีช่วงเดือนพฤษภาคมนี้แล้ว

 

 

ที่นี่รัฐแคลิฟอร์เนีย เคาน์ตี และลอสแอนเจลิสเป็นเจ้าของร่วมกัน แล้วยกให้มหาวิทยาลัยยูเอสซีดูแล โดยเพิ่งมีสัญญาเช่าใหม่ 98 ปี ยืดอายุไปจนถึงปี 2111

 

ภายใต้ข้อตกลงใหม่ ทางยูเอสซีต้องลงเงินก่อน 100 ล้านดอลลาร์ (ราว 3.6 พันล้านบาท) เพื่อปรับปรุงโคลิเซียม และจ่ายค่าเช่ารายปีอีก 1.3 ล้านดอลลาร์ (ราว 46 ล้านบาท)

 

ผู้ออกแบบที่นี่เป็นพ่อลูกสถาปนิก จอห์น กับ โดนัลด์ พาร์กินสัน โดยได้แรงบันดาลใจจากโรมันโคลอสเซียม

 

อายุสนามมากมายขนาดนี้ แต่ยูเอสซีกลับดูแลและหารายได้เลี้ยงตัวได้อย่างสบาย

 

ไม่เพียงเป็นสนามเหย้าของทีมฟุตบอลยูเอสซี แต่ยังมีทีมกีฬาและมหกรรมกีฬาหรือเทศกาลอย่างอื่นแวะเวียนมาใช้งานต่อเนื่อง

 

กระทั่งปี 2018 พวกเขาตัดสินใจบูรณะสนามครั้งใหญ่ โดยใช้เงินจากงบของมหาวิทยาลัยเองเกือบ 1.2 หมื่นล้านบาท!

 

ไล่เลี่ยกันนั้น สายการบิน United Airlines ก็เข้ามาขอเป็นสปอนเซอร์สนาม

 

ล่าสุดยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสนามจัดซัมเมอร์โอลิมปิก 2028 ถือเป็นประวัติศาสตร์ทีเดียว เพราะไม่เคยมีสนามกีฬาแห่งไหนในโลกได้จัดซัมเมอร์โอลิมปิกถึงสามหนมาก่อน

 

แอลเอโคลิเซียมเคยจัดซัมเมอร์โอลิมปิกมาสองสมัยในปี 1932 และ 1984 ก่อนที่ใครหลายคนจะเกิดด้วยซ้ำ

 

จากตัวอย่างและเรื่องราวที่ยกมาทั้งหมด เราจึงต้องถามตัวเองว่า ในขณะที่อยากให้เกิดการทำสนามแห่งใหม่ขึ้นมา จะสามารถหาทุนจากแหล่งไหน

 

ไม่ต้องคิดว่าเมื่อสร้างใหม่แล้วจะสามารถหารายได้เลี้ยงตัวอย่างไร

 

มันเป็นคำถามที่ชวนให้เราคิดและเกิดประเด็นปลายเปิดไปยังอีกหลายต่อหลายเรื่องทีเดียว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising