×

ใช้ AI ออกแบบแผนการเล่น เปลี่ยน Facebook เป็นสนามกีฬา สรุปเทรนด์อนาคตโลกกีฬา จากงาน Sports Capital Symposium

24.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

11 mins. read
  • Sports Capital Symposium เป็นงานประชุมวิชาการ ที่จัดขึ้นเพื่อหาโอกาสด้านการลงทุน และการสร้างรายได้ใหม่ในอุตสาหกรรมกีฬา ผ่านผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายศาสตร์ ตั้งแต่ตัวแทนจาก Facebook จนถึงสโมสรบาร์เซโลนา 
  • โลกกีฬาในอนาคตจำเป็นต้องมีการเตรียมแผนเผื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้ง แผน A, B, C จนถึง D เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง
  • หลายฝ่ายเชื่อว่าตอนนี้ไม่มีคำว่า Normal ที่คุ้นเคยอีกต่อไป เพราะปัจจุบันนี้คือ New Normal ที่ทุกฝ่ายจะต้องพร้อมปรับตัวรับมือสถานการณ์ใหม่ตลอดเวลา 
  • บาร์เซโลนา สโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่จากสเปนกำลังนำเอา AI มาออกแบบแผนการเล่น โดยจะทดลองใช้กับทีมเยาวชน ก่อนที่จะมาใช้กับทีมชุดใหญ่ 
  • การลงทุนและการทำธุรกิจในทีมกีฬาถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีผู้ร่วมหุ้นเยอะที่สุดในโลก เนื่องจากหัวใจสำคัญของการทำทีมกีฬาคือการทำให้แฟนกีฬามีความสุข และพอใจกับผลงานอย่างต่อเนื่อง 

เมื่อวันที่ 17-18 กันยายนที่ผ่านมา Monumental Sports & Entertainment ผู้ให้บริการด้านคอนเทนต์กีฬา และ SportTechie เว็บไซต์ข่าวความเคลื่อนไหวด้านเทคโนโลยีของกีฬา ได้ร่วมกันจัดงานประชุมวิชาการออนไลน์ครั้งใหญ่ เกี่ยวกับการลงทุน และโอกาสการสร้างรายได้ของโลกกีฬา หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงผลกระทบจากการพัฒนาของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับชมกีฬาอย่างรวดเร็ว 

 

โดยตลอดทั้งสองวันได้มีผู้เชี่ยวชาญตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ มาร่วมกันหาทางออกให้กับวิกฤตโควิด-19 สำหรับอุตสาหรรมกีฬา และการหาโอกาสใหม่ผ่านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น โดยมีตัวแทนจากทั้ง Facebook, สโมสรบาร์เซโลนา, ตัวแทนจาก บาสเกตบอลหญิง WNBA และอีกหลายหน่วยงานเข้าร่วม 

 

THE STANDARD มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ และได้รวมสิ่งที่น่าสนใจมาสรุปในบทความนี้

 

กีฬาไม่ใช่แค่เพื่อความบันเทิง แต่เป็นสื่อกลางเพื่อความเปลี่ยนแปลงที่ดีของสังคม 

 

 

หัวข้อเริ่มต้นในวันแรก เป็นการพูดคุยกับ เดมอริซ สมิธ (DeMaurice Smith) ผู้อำนวยการของสมาคมนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลหรือ NFLPA ได้เปิดเผยถึงความเปลี่ยนแปลงในโลกหลังโควิด-19 สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือธุรกิจกีฬาได้ปรับตัวมาสร้างแรงผลักดันต่อสังคมมากกว่าเมื่อก่อน ที่หลายภาคส่วนเลือกที่จะนิ่งเฉยต่อปัญหาสังคมนอกสนามแข่งขัน ภายใต้ข้อถกเถียงว่า ‘กีฬากับการเมืองควรมีส่วนเกี่ยวข้องกันหรือไม่’

 

แต่ปี 2020 มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ผลักดันโลกกีฬาเข้าไปสู่พื้นที่ใหม่ โดยสร้างแรงผลักดันให้นักกีฬาและผู้สนับสนุน สามารถใช้แพลตฟอร์มของตนเองสร้างความตื่นตัวให้กับสังคม 

 

 

โดยหนึ่งในตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ เมื่อปี 2016 โคลิน เคเปอร์นิก ได้คุกเข่าระหว่างการเคารพเพลงชาติเพื่อประท้วงต่อต้านความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และความไม่ยุติธรรมต่อคนผิวสีในสังคม ก่อนที่เขาจะไม่สามารถหาทีมลงเล่นในกีฬา NFL ได้อีกเลยนับจากเหตุการณ์นั้น 

 

รวมถึงในปีเดียวกันนักกีฬาบาสเกตบอล WNBA โดนขู่ว่าจะถูกปรับเงินจำนวน 500 ดอลลาร์สหรัฐ ถ้าพวกเขาสวมเสื้อกลับด้านหรือแสดงสัญลักษณ์สนับสนุน Black Lives Matter 

 

แต่มาในปี 2020 ภายในสนามกีฬา NFL พื้นที่ End Zone ได้มีการใส่ข้อความ ‘End Racism’ และเช่นเดียวกับนักกีฬาใน WNBA ที่สามารถสวมใส่เสื้อพร้อมกับชื่อ Breonna Taylor (หญิงอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันวัย 26 ปีที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิต) เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคม 

 

“ใครก็ตามที่ขอให้เราตีตัวออกห่างจากชุมชน สังคม หรือให้เราเลิกเป็นตัวของตัวเอง พวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่แฟนที่แท้จริงของเรา” เดมอริซ สมิธ กล่าวในฐานะตัวแทนนักกีฬา NFL ทั้งอดีตและปัจจุบัน 

 

“ถ้านี่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไม่ใช่เรื่องที่มีความหมาย เราก็เป็นเพียงแค่ความบันเทิงที่ไม่ได้มีแง่คิดอะไร” 

 

E-Sports จะก้าวข้ามกีฬาดั้งเดิมในแง่ของความนิยม

 

 

งานเสวนาแรกในวันที่ 2 เป็นการพูดคุยกันระหว่างพ่อลูก เท็ด เลออนซิส (Ted Leonsis) ผู้ก่อตั้ง และประธานบริษัท Monumental Sports & Entertainment ผู้จัดงานเสวนาออนไลน์ในครั้งนี้ และ แซ็ก เลออนซิส (Zach Leonsis) ลูกชายของเขาที่เป็นรองประธานของบริษัทเดียวกัน 

 

ในช่วงเริ่มต้น เท็ดได้กล่าวถึงวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่ส่งผลโดยตรงต่อกีฬาคือ Personalization ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตของทุกคน ด้วยข้อมูลต่างๆ ที่ถูกรวบรวมผ่านโลกออนไลน์ ส่งผลให้แบรนด์สามารถคัดสรร และจัดทำบริการเฉพาะสำหรับลูกค้า และตอบโจทย์รายบุคคลมากขึ้นกว่าที่จะเป็นเฉพาะกลุ่ม  

 

ซึ่งสิ่งที่จะตามมาคือวิวัฒนาการของ Big Data Machine Learning และ AI ที่จะก้าวหน้าต่อไปอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับแบรนด์ในยุคปัจจุบันนี้คือ Authenticity หรือความจริงใจจากแบรนด์ ซึ่งพัฒนาจากความเชื่อมั่นในคุณภาพของบริการและสินค้า จนมาถึงยุคปัจจุบันที่ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับจุดยืนทางสังคมของแบรนด์มากขึ้น ซึ่งเป็นจุดที่นำพาโลกกีฬามาสู่แรงผลักดันในการสร้างความตื่นตัว และความเปลี่ยนแปลงในสังคมจากกีฬาแต่ละชนิดมากขึ้น 

 

ขณะที่เทรนด์ของโลกกีฬาที่กำลังจะก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในโลกหลังวิกฤตโควิด-19 เท็ดมองว่ามีทั้งหมด 3 เรื่องที่ต้องจับตามองคือ

 

  1. การแข่งขันกีฬาที่ถูกผลักดันด้วยข้อมูลมากขึ้น เช่น การใช้ Draft King หรือ Sport Radar
  2. Big Data จะเข้ามามีบทบาทในกีฬาชั้นนำของโลกมากขึ้น และที่สำคัญจะเริ่มเข้าไปมีบทบาทในโลก E-Sports เช่นเดียวกัน 
  3. E-Sports จะก้าวข้ามกีฬาดั้งเดิมในแง่ของความนิยมในอนาคตอันใกล้ 

 

โดย แซ็ก เลออนซิส รองประธานของบริษัท ได้ขยายความว่า อุตสาหกรรมที่จะเติบโตไปพร้อมๆ กับ 3 เทรนด์คือ การพนันแบบถูกกฎหมาย E-Sports และการถ่ายทอดกีฬาผ่านระบบสตรีมมิง

 

เนื่องจากกีฬาเกือบทุกประเภทในตอนนี้เริ่มผันตัวเองจากการถ่ายทอดผ่านเคเบิลทีวีไปสู่ระบบ OTT (Over-the-Top) เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ผู้คนไม่สามารถรับชมกีฬาในสนามได้ ทำให้ผู้ชมต้องปรับตัวกับการรับชมกีฬาจากที่บ้าน 

 

แต่ในขณะเดียวกัน E-Sports ก็ได้รับโอกาสพิเศษในการทดลองสิ่งใหม่ๆ ในช่วงโควิด-19 และทำให้ยอดเข้าชมสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากกีฬาและคอนเสิร์ตต่างๆ ต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว 

 

ส่วนอนาคตของการพนันกีฬาอย่างถูกกฎหมาย ทั้งคู่มองว่าจะเริ่มมีการให้บริการกระจายตามพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น หากแต่ละรัฐในอเมริกาเริ่มปลดล็อกให้ถูกกฎหมาย ซึ่งการเก็บรายได้บางส่วนจากการพนัน อาจช่วยสร้างรายได้มาชดเชยรายได้ที่หายไป จากการไม่สามารถเปิดให้แฟนเข้าชมการแข่งขันที่สนามได้บางส่วน 

 

นอกจากนี้จะมีแอปพลิเคชันที่ให้บริการแบบ One Point Entry ที่สามารถเข้าถึงการรับชมกีฬาสดไปพร้อมกับการพนันถูกกฎหมาย และคอมเมนต์ร่วมกับแฟนๆ ที่ชมอยู่พร้อมๆ กัน 

 

ในด้านของการบริหารทีมกีฬา ทั้งสองคนมองว่าการลงทุนและการบริหารจัดการอุตสาหกรรมกีฬาถือเป็นธุรกิจที่มีผู้ถือหุ้นมากที่สุดในโลก เนื่องจากเจ้าของทีมหรือ ผู้บริหาร มีหน้าที่ทำให้แฟนบอลพอใจกับผลงานทั้งในและนอกสนาม รวมถึงมีหน้าที่สำคัญในการทำสิ่งที่ถูกต้องสำหรับทุกฝ่าย 

 

แต่สำหรับการบริหารจัดการธุรกิจในช่วงวิกฤตนี้ เท็ดในฐานะประธานมองว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้บริหาร และแบรนด์ในตอนนี้คือการเข้าให้ถึงใจของลูกค้า และเรียนรู้ว่าสิ่งใดคือสิ่งที่ทำให้พวกเขาพึงพอใจ 

 

นอกจากนี้ยังต้องมองข้ามอุตสาหกรรมของตนเอง เพื่อเรียนรู้ว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ กำลังทดลองทำอะไรอยู่บ้าง และที่สำคัญคือต้องเรียนรู้ว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่กำลังให้ความสนใจอะไรอยู่บ้าง ก่อนที่จะนำทุกอย่างมาผสมผสานกัน เพื่อออกแบบสิ่งใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรมกีฬา

 

ปิดท้ายด้วยคำแนะนำจากเท็ด ที่ถูกถามจากลูกเขาว่า หากย้อนเวลากลับไปบอกตัวเองในวัย 30 ปีได้ จะมีคำแนะนำอะไรบ้าง 

 

เท็ดได้ยึดหัวใจสำคัญไว้ที่การตั้งคำถามกับตัวเองตั้งแต่เด็กว่า อะไรคือชัยชนะที่แท้จริงในชีวิต เขาบอกว่าสำหรับตัวเขาเองคือการแต่งงานและมีลูก ซึ่งเขาประสบความสำเร็จแล้ว 

 

เขาเชื่อว่าหลายคนหลงทางกับคำถามนี้ และไม่รู้ว่าชัยชนะในชีวิตที่แท้จริงคืออะไร ซึ่งหลายคนอาจต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่เมื่อผ่านไปได้จะพบว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของพวกเขาคืออะไรกันแน่ 

 

การหาคำตอบนี้ไม่ใช่ความพยายามจะจัดสมดุลทุกอย่างในชีวิต แต่คือการตื่นรู้หรือ Self Actualization และนำมาใช้ในการทำงาน ก่อนหน้านี้เท็ดได้กล่าวถึงความ Authenticity ขององค์กร ซึ่งเขามองว่าการจะเข้าไปทำงานที่ใดก็ตาม ขอให้เราค้นหาตัวตน จุดยืน และเป้าหมายขององค์กรว่าตรงกับสิ่งที่เราต้องการหรือไม่ และ ตัดสินใจหลังจากนั้น 

 

นอกจากนี้เท็ดยังตอบคำถาม เมื่อลูกของเขาถามว่าอะไรคือคำนิยามของ Entrepreneurship ที่ประสบความสำเร็จ โดยเขายกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อปี 1976 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จัดงานฉลอง Bicentennial และมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังเมืองหลวงกว่า 30 ล้านคน 

 

สิ่งที่เขาคิดเป็นอย่างแรกคือจะเอาอะไรมาขายให้กับผู้คนที่เดินทางเข้ามามากมายขนาดนี้ จนสุดท้ายเขาตัดสินใจทำไอศกรีมสีแดง ขาว น้ำเงินมาขาย ซึ่งเขาต้องทำทุกอย่างด้วยตนเอง ตั้งแต่หาอุปกรณ์ วัตถุดิบ และที่สำคัญที่สุดในเช้าวันแรกของงาน เขาต้องตื่นเช้าไปหาหัวมุมถนนที่ดีที่สุดเพื่อขายไอศกรีม

 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างในการอธิบายที่เขามองว่า นักลงทุนและนักธุรกิจต้องมีทั้งแผนการ มองเห็นภาพรวม ใส่ใจในทุกรายละเอียด และลงมือทำให้ได้ทุกส่วน แต่ที่สำคัญที่สุดคือเหตุผลที่จะตัดสินใจทำอะไรก็ตาม ต้องถามตัวเองว่าคุณกำลังเข้ามาแก้ปัญหาอะไร และสิ่งที่จะทำให้คุณชนะ คือคุณค่าสำคัญที่สุดที่แชมป์โลกหลายๆ คนมีเหมือนกันคือ Grit ที่มีความหมายว่า ความอดทน และความเพียรพยายามในการทำสิ่งหนึ่งอย่างเต็มที่ในระยะยาว ซึ่งจะเป็นเส้นแบ่งระหว่างผู้แพ้หรือผู้ชนะ 

 

“คุณต้องมีความสม่ำเสมอที่จะลุกขึ้นสู้อย่างต่อเนื่อง คว้าชัยชนะให้ได้ กลับมาปรับปรุงแก้ไข สร้างความสำเร็จขึ้นใหม่ และเกิดใหม่อีกครั้ง” เท็ด กล่าวทิ้งท้าย

 

 

Facebook คือสนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

 

“Facebook คือสนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุด” คือคำพูดเริ่มต้นในช่วงเสวนาจาก เบน เบอร์ชัค (Ben Berchuck) ตัวแทนจาก Facebook ที่มาพูดถึง ‘The Evolution of Sports Content Distribution on Facebook’ หรือพัฒนาการของคอนเทนต์กีฬาผ่าน Facebook 

 

เบนกล่าวว่า Facebook เป็นศูนย์รวมของคอนเทนต์กีฬาในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเขายืนยันว่าในแง่ของรูปแบบ เครื่องมือ และช่องทางนำเสนอคอนเทนต์กีฬานั้นไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว หรือ One Size Fits All และวันนี้เขาจะมาแนะนำเครื่องมือที่ Facebook ได้มอบให้กับองค์กรสื่อและแฟนกีฬา 

 

เริ่มต้นจาก Facebook เป็นช่องทางที่สามารถกระจายข้อมูล และพัฒนาความสัมพันธ์กับแฟนกีฬาได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยที่ผ่านมาการแข่งขันที่มียอดผู้เข้าชมสูงสุดในประวัติศาสตร์ของ Facebook คือเกมนัดยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2019/20 ชิงระหว่าง บาเยิร์น มิวนิก และ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง 

 

รวมถึงตัวอย่างของการใช้ Facebook เพิ่มยอดขายหรือรายได้ เช่น การส่งเสริมให้เกิดการสนทนาในโลกออฟไลน์ ผ่านแผนการทำคอนเทนต์ทั่วโลก การผลักดันยอดขายตั๋วเข้าชม หรือเข้าร่วมการแข่งขันผ่านการยิงโฆษณาตรงเข้าสู่กลุ่มแฟนกีฬาที่เข้ามาชมการแข่งขันกีฬาชนิดนั้นๆ ผ่าน Facebook Live

 

ยกตัวอย่างเช่น การแข่งขัน Ironman ที่ปรับมาเป็นการแข่งขันแบบให้นักกีฬาชั้นนำแข่งจากบ้าน และถ่ายทอดสดการแข่งขันผ่าน Facebook Live ซึ่งหลังจบการแข่งขันพวกเขาก็สามารถยิงโฆษณาตั๋วเข้าร่วมการแข่งขันในรอบหน้าให้กับผู้ชม ซึ่งพบว่ามีผู้กลับมาเข้าร่วมการแข่งขันมากขึ้น  

 

นอกจากนี้ทาง Facebook ยังได้แนะนำเครื่องมือใหม่ในการทำคอนเทนต์ออนไลน์ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตรายการ ดังนี้ 

 

  1. Paid Online Events ระบบที่เปิดให้มีการเก็บค่าเข้าชมรายการสดแบบจ่ายหนึ่งครั้งต่อหนึ่งรายการถ่ายทอดสด ซึ่งช่องทางนี้เกิดขึ้นจากการที่อีเวนต์ต่างๆ ต้องปรับตัวมาจัดแบบออนไลน์มากขึ้น 

 

  1. Fan Subscriptions แฟนๆ สามารถสมัครรับชมรายการต่างๆ แบบจ่ายรายเดือน ซึ่งจะแตกต่างจาก Paid Online Events คือจะเป็นการจ่ายเหมาแบบรายเดือน โดยไม่จำกัดว่าคอนเทนต์ที่ได้รับจะเป็นแบบไลฟ์เพียงเท่านั้น แต่จะเป็นภาพนิ่ง วิดีโอ หรือบทความก็ได้ โดยตัวอย่างก่อนหน้านี้มีสโมสรรักบี้ในอังกฤษที่เปิดรับสมัครเป็นรายเดือน คิดค่ารายเดือน 3.49 ปอนด์ต่อเดือน และขายสมาชิกได้ทั้งหมด 800 คน เพื่อให้แฟนๆ เข้าถึงคอนเทนต์ทั้งวิดีโอ ไฮไลต์ เข้าชมเกมเก่าๆ รีรันแมตช์การแข่งขัน และระหว่างฤดูกาลยังสามารถเข้าชมไฮไลต์ที่ยาวขึ้นได้

 

  1. VR Oculus Venues ช่องทางการเข้าถึงในการรับชม และการสื่อสารระหว่างชมคอนเทนต์ ที่ทำให้แฟนๆ เข้าใกล้กับความเป็นจริงในการรับชมกีฬามากที่สุด ภายใต้วิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้แฟนๆ ยังไม่สามารถเข้าชมเกมที่สนามได้ 

 

  1. Watch Together On Messenger สร้างประสบการณ์การรับชมพร้อมกันผ่าน Messenger ที่ทำให้หลายคนสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ได้พร้อมๆ กัน 

 

การเล่าเรื่องในยุค Digitally Native ไม่มีกฎตายตัว 

 

Credit: Cold As Balls 

 

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในวิกฤตโควิด-19 คือการผลักดันคอนเทนต์สู่โลกออนไลน์ครั้งใหญ่ โดยเฉพาะคอนเทนต์วิดีโอ ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั้งจากฝั่งของผู้ผลิตและผู้ชม

 

ซึ่งทาง SCS ได้เชิญ ไมเคิล ดี. แรตเนอร์ ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท OBB Media ที่มีประสบการณ์สัมภาษณ์ และทำคอนเทนต์วิดีโอหลากหลายรูปแบบ มาเล่าถึงการทำคอนเทนต์วิดีโอในยุคที่ผู้คนกลายเป็น Digital Native หรือมีความคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์เป็นประจำ 

 

ไมเคิล ดี. แรตเนอร์ เป็นผู้กำกับที่ได้รับรางวัลในนิวยอร์ก เริ่มต้นก่อตั้งบริษัท OBB Media เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการผลิตภาพยนตร์ที่ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับค่ายยักษ์ใน Hollywood อีกต่อไป แต่สามารถสร้างภาพยนตร์ และกระจายไปสู่ผู้ให้บริการสตรีมมิงเช่น Amazon Prime, Netflix หรือ Hulu ได้ จึงเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถผลิตคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบ โดยมีช่องทางในการสื่อสารไปถึงผู้ชมได้มากขึ้น ทำให้รูปแบบการทำคอนเทนต์ตอนนี้ไม่มีกฎตายตัวอีกต่อไป เพราะทุกคนต่างก็เขียนกฎการสร้างสรรค์ใหม่ไปพร้อมๆ กับการถ่ายทำ 

 

ไมเคิล กล่าวถึงสูตรสำเร็จในการนำเอาดาราศิลปินชื่อดังมาสร้างคอนเทนต์หรือทำรายการ โดยยกตัวอย่างการร่วมงานกับ เควิน ฮาร์ต ในรายการที่มีชื่อว่า Cold As Balls ซึ่งเป็นการนำ เควิน ฮาร์ต มานั่งคุยกับนักกีฬาชื่อดังทั้งในอดีตและปัจจุบันในถังน้ำแข็ง ซึ่งเทปที่ เควิน ฮาร์ต สัมภาษณ์ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ ได้ยอดวิวใน YouTube สูงถึง 16 ล้านวิว และทุกเทปรวมกันมียอดเข้าชมทะลุ 2,000 ล้านครั้งไปแล้ว 

 

 

 

รายการ Cold as Balls เทป ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์

 

ไมเคิลยอมรับว่า เควิน ฮาร์ต คือยูนิคอร์น หรือเป็นคนที่มีความสามารถ และทำให้ตัวเขาทำงานง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าการนำศิลปิน หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียงมาจะการันตียอดเอ็นเกจเมนต์ หรือยอดเข้าชมที่คุณต้องการ 

 

เพราะสิ่งที่เขาพยายามทำกับรายการนี้คือ การนำเอาความสนุกตื่นเต้นมาผสมผสานกัน ซึ่งในแต่ละเทปเขาออกแบบรายการเพื่อลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยอิงจากพฤติกรรมการรับชมของกลุ่มลูกค้าเป็นหลัก

 

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือระบบการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มา หนึ่งในนั้นคือการอ่านคอมเมนต์ ดูวิธีการตอบโต้จากคนดู ซึ่งจากซีซันแรกจนถึงล่าสุด รายการนี้ได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ชมอย่างต่อเนื่อง 

 

ตอนนี้คอนเทนต์สำหรับโลกออนไลน์ทุกอย่างถูกทำให้สั้นลงในกรอบเวลาที่ส่วนใหญ่จะอยู่ประมาน 12 นาที การที่เขาออกแบบและสร้างรายการนั้นขึ้นมามีเป้าหมายอยู่ที่การดึงดูดคนดูอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุการณ์ที่สามารถทำให้กลายเป็นมีม หรือกระแสไวรัลได้

 

ยกตัวอย่างเช่น ทุก 2-3 นาทีจะมีเหตุการณ์ที่สามารถกลายเป็นกระแสได้ด้วยตัวของมันเอง อีกทั้งยังเหมาะสมกับการแชร์ให้คนอื่นๆ ได้ชม และเมื่อเขาสามารถทำแบบนี้ได้กับรายการในหลายๆ เทป คนดูก็จะชื่นชอบและหลงใหลจนไล่ไปดูเทปอื่นๆ ต่อเอง 

 

“ทุกวันนี้คนดูมีทางเลือกเยอะมาก ต่างจากเมื่อก่อนที่เวลาไปดูหนังเราอาจจะถูกบังคับให้นั่งดูเป็นเวลาชั่วโมงหรือสองชั่วโมง หรือเวลานั่งดูทีวีเราอาจต้องดูต่อเนื่องหลายนาที แต่ในปัจจุบันเราอยู่กับสมาร์ทโฟนที่สามารถเปลี่ยนไปดูอย่างอื่นได้ตลอดเวลา ดังนั้นเราต้องออกแบบคอนเทนต์ในรูปแบบ ‘เราจะไม่ให้คุณไปไหน’” ไมเคิลกล่าวถึงวิธีการออกแบบโชว์ออนไลน์ของเขา 

 

สำหรับการสัมภาษณ์ดาราและศิลปินชื่อดัง ไมเคิลได้ยกตัวอย่างการทำงานร่วมกับ จัสติน บีเบอร์ ในสารคดีที่ออนแอร์ผ่าน YouTube Premium ซึ่งเขาเผยว่าการสัมภาษณ์จะดีที่สุดก็ต่อเมื่อบทสัมภาษณ์กลายเป็นบทสนทนา และผู้ร่วมสนทนาพร้อมที่จะเปิดใจกับคำถามต่างๆ ที่ถามไป 

 

“การที่จะเปลี่ยนให้งานสัมภาษณ์กลายเป็นบทสนทนาที่ลึกซึ้ง มันไม่ใช่สิ่งที่จู่ๆ จะเกิดขึ้นได้ทันที แต่เป็นสิ่งที่เราต้องลงทุนทำให้เกิดขึ้น” ไมเคิล กล่าว

 

สารคดี Justin Bieber 

 

“ผมไม่รู้จัก จัสติน บีเบอร์ มาก่อน แต่เมื่อได้เจอเขาผมนึกถึงช่วงเวลาที่เขาเริ่มมีชื่อเสียงแรกๆ ว่าเขาเป็นเหมือน ไมเคิล แจ็คสัน ของยุคเรา เรามีภาพจำของเขาในวัยเด็ก แต่ตอนนี้เขากำลังก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และผมจำได้ว่าผมตั้งคำถามทันทีว่าแล้วช่วงเวลาที่ผ่านมา เขาไปทำอะไรมาบ้าง และผมคิดว่าหากเขาอยากที่จะจริงจังกับการทำสารคดีชุดนี้ ผมจะเป็นคนที่ทำสารคดีนี้ให้กับเขา

 

“จากนั้นผมก็ได้มีโอกาสเข้าประชุมกับเขา และอธิบายทุกรายละเอียดของสารคดี และพูดถึงความจริงที่ว่า เขาคือศิลปินที่เกิดขึ้นจาก YouTube และการจะได้กลับคืนสู่ YouTube ของเขาจะเป็นสิ่งที่วิเศษขนาดไหน และที่สำคัญคือกลุ่มแฟนคลับของเขา เป็นกลุ่มที่เสพสื่อผ่านโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นเราอาจจะไม่ต้องทำให้สารคดีนี้เป็นเพียง สารคดียาวๆ แต่ต้องแยกเป็นตอนละ 10 นาที รวมทั้งหมด 10 ตอน เป็น 100 นาที 

 

“โดยในการทำงานครั้งนี้ เราทำการสำรวจตัวตนที่แท้จริง และสิ่งที่แฟนๆ ต้องการจะรู้ แล้วสุดท้ายผมก็ตกใจมากที่เขายอมทำสารคดีกับเรา เพราะปกติรายการรูปแบบนี้จะมีการยกเว้นบางคำถาม หรือตัดบางเรื่องที่เป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ ออกไป แต่กับการทำสารคดีนี้ เขาไม่ตัดอะไรออกเลย” 

 

ในด้านของความท้าทายของการทำงานช่วงวิกฤตการแพร่ระบาด ไมเคิลเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ของวงการถ่ายทำภาพยนตร์ สารคดี หรือรายการ เพราะที่ผ่านมาพวกเขาต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลง เช่น จำกัดงบ จำกัดเวลา จำกัดสถานการณ์ มาเป็นประจำอยู่แล้ว 

 

แต่หลังโควิด-19 ผ่านพ้นไป เขาเชื่อว่าทุกๆ อย่างจะทยอยกลับคืนสู่สถานการณ์ปกติ เพราะเชื่อว่าไม่มีพลังไหนยิ่งใหญ่ไปกว่าพลังของความคิดสร้างสรรค์ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ 

 

การลงทุนกับ Analytics สำหรับนักกีฬาคือการสร้างอาชีพที่ยืนยาว สำหรับธุรกิจคือการสื่อสารกับลูกค้า สำหรับนักวางแผนคือการปรับตัวอย่างรวดเร็ว 

 

 

หัวข้อเสวนานี้เป็นการพูดคุยเกี่ยวกับความสำคัญในการลงทุนกับระบบวิเคราะห์ และวิจัยข้อมูลสำหรับอุตสาหกรรมกีฬา 

 

โดยมี ทอมมี เชปพาร์ด (Tommy Sheppard) ผู้จัดการทั่วไปของทีมวอชิงตัน วิซซาร์ด ทีมบาสเกตบอล NBA จากเมืองหลวงของประเทศสหรัฐฯ เข้าร่วมกับ สตีฟ แฮง รองประธานอาวุโสจาก Sport & Entertainment SSB ที่ปรึกษาด้านการส่งเสริมยอดขายตั๋วเข้าชมการแข่งขัน ยอดการเอ็นเกจของแฟนกีฬา ผ่าน Data Management และ อดัม ไฮนต์ซ (Adam Heintz) รองประธานบริษัท MSE ด้านธุรกิจอัจฉริยะ (Business intelligence) 

 

ทอมมี เชปพาร์ด เริ่มต้นด้วยการตอบถึงความพยายามหาจุดลงตัวสำหรับสิทธิส่วนบุคคล กับความสำคัญของการจัดเก็บข้อมูลในการทำทีมกีฬาอาชีพ

 

ทอมมีเผยว่าในการจัดเก็บข้อมูลพวกเขาจะยืนยันกับนักกีฬาว่าทุกอย่างเป็นการทำเพื่อให้นักกีฬามีสุขภาพที่แข็งแรง และมีเส้นทางอาชีพที่ยืนยาว 

 

“สิ่งที่เราทำคือการทำให้นักกีฬาเป็นหุ้นส่วนของเรา โดยโน้มน้าวเขาด้วยคำถามว่า คุณอยากทำอาชีพนี้นานขนาดไหน และคุณพร้อมที่จะทุ่มเทมากแค่ไหนสำหรับการขยายเวลาอาชีพของคุณ ซึ่งเราจะช่วยเขาในแง่การเก็บข้อมูล การกิน การนอน ข้อมูลระหว่างการฝึกซ้อม เวตเทรนนิ่ง การผ่อนคลาย 

 

“ทั้งหมดนี้ ถ้าเรามีครบเราจะสามารถออกแบบวิธีการดูแลนักกีฬา และทำให้พวกเขาสามารถลงเล่นได้เป็นเวลานาน ป้องกันอาการบาดเจ็บ และลดเวลาในการพักฟื้นรักษาตัวจากอาการบาดเจ็บ ทั้งหมดนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือการสื่อสารกับทุกฝ่ายถึงสิ่งที่เราต้องการทำ 

 

“แน่นอนว่าเทคโนโลยี นวัตกรรมเหล่านี้ช่วยเหลือเราให้สามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้มากมาย แต่หากไม่มีการสื่อสาร และความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือกัน สุดท้ายเราจะไม่สามารถทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้

 

“สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับ Data ในตอนนี้คือการรักษาสุขภาพของคุณ ซึ่งเรามีความเชี่ยวชาญในด้านนี้จากข้อมูลที่เราเก็บสะสมมา” 

 

ความสำคัญของ Data ไม่ได้มีเพียงแค่ฝั่งของเพอร์ฟอร์แมนซ์ หรือสุขภาพนักกีฬาในสนามเท่านั้น แต่ อดัม ไฮนต์ รองประธานบริษัท MSE ด้านธุรกิจอัจฉริยะ (Business intelligence) มองว่าสิ่งสำคัญของ Data คือการใช้เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์กับฐานแฟนคลับ โดยมีหัวใจอยู่ที่การสื่อสารกับแฟนๆ 

 

“คุณอาจมีข้อมูล หรือวิธีการจัดเก็บข้อมูลที่ดีที่สุดในโลก แต่ถ้าคุณไม่สามารถสื่อสารข้อมูลออกมาได้ ก็ไม่มีประโยชน์

 

“ผมคิดว่าในด้านของธุรกิจกีฬา หากเราไม่สามารถจัดแพ็กเกจสำหรับแฟนๆ ที่ทำให้พวกเขารู้สึกสมเหตุสมผล ถ้าเราไม่สามารถบอกพาร์ตเนอร์ หรือลูกค้าได้ว่ากลุ่มลูกค้าที่เรามีอยู่คือใคร และสำคัญต่อพวกเขาอย่างไร ข้อมูลเหล่านั้นก็ไม่มีประโยชน์

 

“เช่นเดียวกันหากคุณไม่สามารถบอกนักกีฬาได้ว่าข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญต่อพวกเขาอย่างไร สุดท้ายคุณก็แพ้อยู่ดี

 

“นี่เป็นสิ่งสำคัญในการทำงานเชิง Data เพราะคุณไม่ได้ต้องการแค่คนที่แม่นยำเรื่องข้อมูลหรือเทคโนโลยี แต่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นต้องมีความสามารถในการสื่อสารข้อมูล เพราะมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องใช้ข้อมูลดังกล่าว 

 

“ยกตัวอย่างเช่นตัวผมเองที่ต้องสื่อสารกับคนในระดับบริหารกับหุ้นส่วน และต้องสื่อสารกับฝ่ายการตลาด ซึ่งรูปแบบการสื่อสารจะต้องแตกต่างกัน” 

 

สตีฟ แฮง รองประธานอาวุโสจาก Sport & Entertainment SSB มองว่าความสำคัญของการมีทีมวิเคราะห์ข้อมูลที่ดีจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบัน 

 

เนื่องจากสถานการณ์ในตอนนี้ที่มีทั้งวิกฤตการแพร่ระบาด และ Digital Disruption เป็นสถานการณ์ที่เปรียบเหมือนการยืนอยู่บนทรายดูดตลอดเวลา 

 

“ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เรารู้วันนี้จะแตกต่างกับวันพรุ่งนี้มาก ยกตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้มีการประกาศยกเลิกการแข่งขันฟุตบอลบางรายการ และ สองวันก่อนก็เพิ่งมีประกาศว่าจะกลับมาลงแข่งขัน นี่เป็นความปกติใหม่ในตอนนี้ 

 

“คุณต้องมีแผน A, B, C หรือแม้กระทั่ง D และคุณอาจจะต้องรับมือกับสถานการณ์บางอย่างที่คุณไม่เคยเตรียมพร้อมมาก่อน และนั่นทำให้เราต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา” 

 

บาร์เซโลนาเตรียมใช้ AI ออกแบบแผนการเล่นในอนาคต 

 

 

งานเสวนานี้เกี่ยวข้องกับหัวข้อ การลงทุนในอุตสาหกรรมที่หลายหลากในวงการกีฬา โดยมี อัลเบิร์ต มันเดต (Albert Mundet) ตัวแทนจาก Barca Innovation Hub แห่งสโมสรบาร์เซโลนา และ อเล็กซ์ เบนเต (Alex Bente) ตัวแทนจากบริษัท Advantage Sports Fund กลุ่มทุนผู้สนับสนุนนวัตกรรมที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมกีฬาแห่งโลกอนาคต 

 

เริ่มจากฝั่งของสโมสรบาร์เซโลนา ยอมรับว่าฝั่งกีฬาของยุโรปอาจเป็นรองสหรัฐอเมริกาในด้านของการสนับสนุน และส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพที่จะเข้ามาพัฒนาและเปลี่ยนแปลงวงการกีฬา แต่ก็กำลังขยับความเร็วให้เข้าใกล้สหรัฐฯ มากขึ้น 

 

โดยอุตสาหกรรมที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจ และเริ่มลงทุนมากขึ้นตั้งแต่ปี 2019 คือระบบ Analytics วิเคราะห์ข้อมูลเชิง Big Data และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ต่อมาคือระบบ Machine Learning ที่จะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ภาพวงจรปิดที่บันทึกเทปการฝึกซ้อมต่างๆ ในสนามกีฬาของแต่ละทีม 

 

แต่หนึ่งในประเทศที่หลายคนให้เครดิตในการพัฒนาเทคโนโลยีคืออิสราเอล ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าหากต้องการเทคโนโลยีที่ดีที่สุดต้องมองหาจากประเทศนี้ เพราะอิสราเอล มีประสบการณ์ในด้านเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว

 

“สิ่งสำคัญที่สุดคือการค้นหา Hub ของผู้เชี่ยวชาญ ในอิสราเอลเป็นหนึ่งในที่ที่เรามองหา ในบาร์เซโลนาเราก็มี Hub เทคโนโลยีเช่นเดียวกัน มีคนที่ผ่านประสบการณ์การทำงานในสหรัฐฯ ก่อนจะกลับมาทำงานที่บาร์เซโลนา เพื่อผลักดันวิธีการแก้ไขปัญหาแบบใหม่ๆ” อัลเบิร์ต มันเดต ตัวแทนจาก Barca Innovation Hub กล่าวถึงอุตสาหกรรมสตาร์ทอัพในโลกกีฬา

 

“เราติดตามบริษัทเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มาจากอิสราเอล โดยเฉพาะคนที่ผ่านประสบการณ์ด้านการทหาร ซึ่งนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาปรับใช้กับกีฬา พวกเขามีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้เรายังมองหาศักยภาพด้านการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

 

“ที่ Barca Innovation Hub เราทำงานแตกต่างจากที่หลายๆ คนคิด เพราะสโมสรของเราเป็น Member’s Club ที่มีเจ้าของทั้งหมด 145,000 ราย มีสิทธิ์เลือกประธานสโมสรทุกๆ 6 เดือน ดังนั้นวิธีการลงทุนจะเกิดขึ้นได้ยากกว่าปกติ วิธีการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพของเราจะเป็นการพัฒนาโครงการร่วมกันโดยมีเป้าหมาย และความท้าทายที่แตกต่างกันออกไป  

 

“ที่ Barca Innovation Hub เรากำลังพัฒนา Internal ID งานวิจัยเกี่ยวกับ Genetics และที่สำคัญอีกอย่างคือระบบ AI ที่จะมาออกแบบแท็กติกสำหรับอนาคต ซึ่งเป็น DNA ของสโมสรบาร์เซโลนาเอง 

 

“แน่นอนว่าเราต้องใช้เวลานาน แต่หวังว่าประมาณ 5-10 ปี ระบบที่เราพัฒนาอยู่จะสามารถใช้งานได้จริง เป็นวิสัยทัศน์ในอนาคตของเรา ที่เราเชื่อว่าทำได้ เพราะว่านี่เป็นโอกาสที่จะนำองค์ความรู้ที่มีในสโมสรมาพัฒนา

 

“การทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพในมุมนี้เราจะไม่เริ่มกับทีมชุดใหญ่โดยตรง แต่จะเริ่มกับอคาเดมีก่อน และเมื่อเราเริ่มต้นทดสอบระบบจนพร้อมก็จะก้าวขึ้นไปสู่ทีม B ก่อนจะนำไปใช้กับทีมชุดใหญ่ ก่อนหน้านี้เราใช้เวลา 5 ปีทดสอบระบบ GPS จนสามารถนำไปใช้กับทีมชุดใหญ่ได้” 

 

บทสรุปจากการรับฟังงานเสวนาผ่าน Webinar ทั้งสองวันทำให้พบว่า โลกกีฬากำลังเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลง และค้นหาวิธีการรับมือวิกฤตใหม่อย่างเร่งด่วน จากที่ก่อนหน้านี้ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับดิสรัปชันด้านเทคโนโลยี แต่ตอนนี้ต้องรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ทับซ้อนไปอีกชั้นหนึ่ง

 

สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแนะนำคือ ต้องเตรียมแผนสำรองไว้รับมือวิกฤตหลายรูปแบบ ตั้งแต่แผน A, B, C หรือแม้กระทั่ง D เพราะสถานการณ์ตอนนี้แม้ว่าหลายประเทศจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี แต่สุดท้ายก็มีหลายประเทศที่ต้องกลับเข้าสู่การล็อกดาวน์อีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษ ที่มีการพูดคุยกันถึงระบบการล็อกดาวน์รูปแบบ Circuit Breaker ที่มีระยะเวลาสั้น แต่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดมากขึ้น 

 

ด้านผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่แฟนกีฬาไม่สามารถเข้าชมการแข่งขันที่สนามได้ ทำให้ลีกและสโมสรกีฬาต่างสูญเสียรายได้สำคัญไปช่องทางหนึ่ง ซึ่งทางออกที่มีการพูดคุยกันในสหรัฐฯ คือการผลักดันการพนันกีฬาอย่างถูกกฎหมาย ให้เป็นสิ่งที่ผู้คนเข้าถึงได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น เพื่อนำรายได้จากการพนันกีฬาถูกกฎหมายเข้ามาเยียวยารายได้ที่หายไป แม้ว่าจะไม่สามารถทดแทนได้ทั้งหมด แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในหนทางที่จะหารายได้จากช่องทางใหม่เข้าสู่ระบบ

 

สุดท้ายคือด้านของการพัฒนานวัตกรรมทั้งในแง่ของไอเดีย และเทคโนโลยีใหม่ๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องไม่มีกฎตายตัวสำหรับรูปแบบการทดลองสิ่งใหม่ๆ และบ่อเกิดของไอเดียใหม่ที่มีประสิทธิภาพคือไอเเดียที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือ ทั้งจากผู้คนในหลากหลายรุ่นที่นำไอเดีย และประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนกันเพื่อสร้างสิ่งใหม่ และถกเถียงกันภายใต้ชุดข้อมูลที่มีอยู่

 

อีกด้านของอนาคตในโลกกีฬาคือการมองไปที่อุตสาหกรรมอื่นๆ และสำรวจความคิด ความต้องการของคนรุ่นใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้ไอเดียใหม่ๆ เข้าสู่สนามแข่งขันที่อาจกำลังเดินไปสู่ทางตัน ซึ่งท้ายที่สุดอาจกลายเป็นนวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนแปลง และพัฒนาวงการกีฬาให้ดีกว่าเดิมได้ 

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X