×

ปรากฏการณ์ ‘Splinternet’ จาก Huawei สู่ TikTok สงครามเย็นสหรัฐฯ-จีน กำลังลุกลามไปทางไหน

30.12.2020
  • LOADING...
ปรากฏการณ์ ‘Splinternet’ จาก Huawei สู่ TikTok สงครามเย็นสหรัฐฯ-จีน กำลังลุกลามไปทางไหน

HIGHLIGHTS

8 min read
  • กรณีข้อพิพาท TikTok และโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ภาพลักษณ์ของ TikTok เปรียบเสมือนเหยื่อจากประเด็นสงครามการค้าและสงครามเย็นที่เกิดขึ้นระหว่างจีน-สหรัฐฯ เหมือนที่ครั้งหนึ่ง Huawei และ ZTE ต้องเผชิญ
  • เมื่อความขัดแย้งระหว่างสองประเทศลุกลามไปสู่ประเด็นแพลตฟอร์ม ปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ได้ขีดเส้น ‘Splinternet’ ที่โลกอินเทอร์เน็ตในแต่ละประเทศหรือแพลตฟอร์มดิจิทัลแบ่งอาณาเขตพรมแดนกันชัดเจนขึ้น
  • ผู้สันทัดกรณีตั้งข้อสังเกตว่าการก้าวขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ โจ ไบเดน จะไม่ใช่การสงบศึกกับจีนแต่อย่างใด แต่มองว่าเราจะได้เห็นมิติความขัดแย้งที่เปลี่ยนไปด้วยบริบทและวิธีการที่ไม่เหมือนเดิม

หากไม่นับประเด็นที่ Zoom ได้รับอานิสงส์บวกจากโควิด-19 จนกลายเป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่เติบโตและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก การเปิดตัว iPhone 12 ที่มาพร้อมกับความสามารถของการรองรับ 5G และชิป M1 ของ Apple นิวไฮที่พุ่งแบบหยุดไม่อยู่ของบิตคอยน์ ไปจนถึงความร้อนแรงของหุ้น Tesla (TSLA) ที่ทำผลงานโดดเด่นเกินต้าน ปี 2020 ที่ผ่านมานี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งปีที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลกมีความคึกคักมากเป็นพิเศษ

 

(หมายเหตุ: ราคาหุ้น TSLA เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2020: 661.77 ดอลลาร์สหรัฐ ปรับขึ้น +668.8%YTD / ราคาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2019: 86.08 ดอลลาร์สหรัฐ) 

 

แต่หากจะต้องเลือกเหตุการณ์ใดสักเหตุการณ์หนึ่งที่เรายกให้เป็นไฮไลต์ของปีนี้ เห็นทีจะหนีไม่พ้น ‘ภาคต่อของสงครามเย็น’ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่คราวนี้ผละจากปมด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G ของ Huawei และ ZTE มาสู่ประเด็นใหม่ในสงครามแพลตฟอร์มคอนเทนต์ที่มีตัวแสดงนำอย่าง ‘TikTok’ รับบทเหยื่อผู้ถูกกระทำ

 

เกิดอะไรขึ้นกับ TikTok

ความจริง TikTok ถูกเพ่งเล็งโดยรัฐบาลสหรัฐฯ และโดนัลด์ ทรัมป์ มาสักระยะแล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกแต่อย่างใด โดยเฉพาะการที่ TikTok ถือสูจิบัตรแดนมังกรไว้อยู่กับตัว 

 

ปัญหาต่างๆ เริ่มส่งกลิ่นความบานปลายตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 ที่กองทัพสหรัฐฯ ได้ประกาศแบนห้ามไม่ให้ทหารในสังกัดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจากบริษัท ByteDance มาใช้งาน เนื่องด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศ

 

แต่กว่าที่กระแสต่างๆ จะปะทุตัวขึ้นจนยกระดับกลายเป็นไฟลามทุ่งก็ต้องรอจนถึงช่วงราวเดือนสิงหาคม หลังจากที่ทรัมป์ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวระหว่างเดินทางกลับจากการปฏิบัติภารกิจว่า เขาได้ตัดสินใจแล้วที่จะแบน TikTok ในสหรัฐฯ เพียงแต่ในตอนนั้นยังไม่ได้เปิดเผยว่าจะดำเนินการด้วยวิธีใดและด้วยสาเหตุไหน

 

และแล้วประกาศิตของทรัมป์ก็กลายเป็นเรื่องจริง พฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ทรัมป์ได้ลงนามคำสั่งประธานาธิบดี ห้ามชาวอเมริกันทำธุรกิจกับ ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok โดยให้เหตุผลในประเด็นความมั่นคงแห่งชาติ และได้กำหนดกรอบระยะเวลา 45 วันในการบังคับใช้มาตรการลงดาบ (มีผล 15 กันยายน 2020)

 

ซึ่งในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ประธานาธิบดีสหรัฐฯ (ในตอนนั้น) ได้ยื่นคำขาดเพื่อบีบให้ ByteDance ต้องขายสิทธิการดูแลและบริหารงานแอปพลิเคชัน TikTok ในสหรัฐฯ ทั้งหมดให้กับหน่วยงานและบริษัทในสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกแบนการให้บริการในประเทศ

 

อนึ่ง ถ้ายังจำกันได้ดี ช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักๆ จนรัฐบาลในหลายประเทศเริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์ให้ประชาชนกักตัวอยู่ในบ้านช่วงต้นปีที่ผ่านมา ถือเป็นสปริงบอร์ดสำคัญที่ส่งให้ TikTok ขึ้นแท่นกลายเป็นแอปฯ ยอดนิยมของผู้คนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่ง TikTok ได้กลายมาเป็นป๊อปคัลเจอร์และ ‘เทรนด์เซ็ตเตอร์’ ของบรรดาวัยรุ่น ณ ช่วงเวลานั้น (ข้อมูลช่วงต้นปีพบว่า TikTok มีผู้ใช้งานรายเดือน (MAUs) อยู่ที่ราว 800 ล้านราย: ผู้ใช้งานในสหรัฐฯ คาดว่าน่าจะอยู่ที่ราว 100 ล้านราย)

 

เมื่อกุมผู้ใช้งานจำนวนมากให้อยู่ในมือได้ ในอีกนัยหนึ่งก็ย่อมหมายความว่า TikTok ถือข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานจำนวนมหาศาลพกติดตัวไว้ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน จึงทำให้เกิดข้อกังวลที่ว่า ByteDance อาจจะส่งข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งาน ทั้งตำแหน่งที่อยู่ ประวัติการค้นหา หรือข้อมูลภาพเคลื่อนไหวของผู้ที่ปรากฏอยู่ในวิดีโอให้กับรัฐบาลจีน เป็นต้น (กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของจีนที่บัญญัติในปี 2017 ระบุว่าบริษัทจีนจะต้องดำเนินการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการทำงานกับหน่วยข่าวกรองของรัฐ)

 

 

แม้ TikTok จะปฏิเสธว่าพวกเขาดำเนินการจัดเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานในสหรัฐฯ และสิงคโปร์ด้วยมาตรฐานการให้ความปลอดภัยกับข้อมูลส่วนตัวขั้นสูงสุด (แยกการบริหารจากแอปฯ เวอร์ชันจีนอย่าง Douyin (โต่วอิน) โดยสิ้นเชิง) ไม่มีนโยบายให้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มกับรัฐบาลจีนเด็ดขาด (แม้จะได้รับการร้องขอ) แต่ดูเหมือนว่าทรัมป์จะไม่สนใจข้อโต้แย้งต่างๆ สักเท่าไร

 

ไม่เพียงเท่านั้น ในอีกมิติหนึ่งการที่ TikTok เติบโตและประสบความสำเร็จได้รวดเร็วเช่นนี้ (เริ่มเปิดตัวครั้งแรกในปี 2016) พวกเขาจึงก้าวขึ้นมาสั่นคลอนบัลลังก์มหาอำนาจยักษ์ใหญ่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเบอร์หนึ่งของโลกอย่าง Facebook หรือ YouTube (Google) แพลตฟอร์มวิดีโอจากสหรัฐฯ ได้พอสมควร 

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่า TikTok มีโอกาสสูงมากๆ ที่จะวิ่งแซงบริษัทเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เมื่อประกบรวมมิติความกังวลประเด็นความปลอดภัยข้อมูลผู้ใช้งาน ความมั่นคงของชาติ ไปจนถึงภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ ในฐานะเบอร์หนึ่งบริษัทเทคโนโลยีโลกที่อาจถูกโค่นล้มลง มีหรือที่ทรัมป์จะยอมนิ่งเฉยได้

 

กลับมาที่สถานการณ์ของ TikTok ในสหรัฐฯ ณ วันนี้ แม้รัฐบาลจีนจะพยายามแก้เกมสหรัฐฯ ด้วยการออกกฎหมายฉบับใหม่ที่บริษัทเทคโนโลยีในประเทศจะต้องได้รับอนุญาตจากทางการก่อนปิดดีลซื้อขายกิจการใดๆ ก็ตามกับบริษัทจากต่างชาติ และถึงในช่วงวันที่ 19 กันยายนจะได้ข้อสรุปแล้วว่า ByteDance ตัดสินใจเปิดทางให้ Oracle และ Walmart เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นร่วมบริษัทของพวกเขาที่สัดส่วน 12.5% และ 7.5% ตามลำดับ ก่อนการ IPO ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ByteDance ยังคงถือหุ้นส่วนใหญ่ในสัดส่วน 80%) 

 

 

แต่มาจนถึงตอนนี้ (30 ธันวาคม) ที่ผ่านเส้นตายการแบนมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดูเหมือนว่าบทสรุปต่างๆ ก็ยังไม่เป็นรูปธรรมเสียที 

 

หูซีจิ้น บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว The Global Times เคยแสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์ของเขาไว้ว่าทางการจีนน่าจะไม่อนุมัติข้อตกลงในดีลระหว่าง ByteDance และ Oracle, Walmart เนื่องจากมองว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นภัยต่อความมั่นคง ผลประโยชน์ และศักดิ์ศรีของประเทศจีน

 

เช่นเดียวกัน ในช่วงที่สหรัฐฯ วุ่นๆ กับการเลือกตั้งใหญ่ประจำปีเมื่อเดือนพฤศจิกายน The Wall Street Journal ก็ออกมารายงานว่ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะไม่บังคับใช้คำสั่งใดๆ ก็ตามในการสั่งปิดแพลตฟอร์ม TikTok หลังจากที่ศาลรัฐบาลกลางในเพนซิลเวเนียระบุว่าการกระทำของกระทรวงพาณิชย์เข้าข่ายการกระทำเกินกว่าอำนาจของตนเอง

 

นั่นจึงทำให้ความคลุมเครือซับซ้อนของสถานะ TikTok ยิ่งเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามเข้าไปอีก

 

คำถามสำคัญคืออะไรจะเกิดขึ้นกับ TikTok ต่อจากนี้

 

สำนักข่าวด้านเทคโนโลยีอย่าง CNET วิเคราะห์สเตปถัดไปของชะตากรรม TikTok ในสหรัฐฯ ว่าจะยังคงส่อเค้ายืดเยื้อไปอีกแน่นอน เนื่องจากยังมีข้อพิพาททางกฎหมายอีกเป็นจำนวนมากที่ TikTok จะต้องเผชิญเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกแบนในอนาคต ซึ่งเราคงต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

 

แล้วในฐานะผู้ใช้งานทั่วๆ ไปอย่างเรา ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงแง่มุมใด จะยกระดับขึ้นเป็นปัญหาในประเด็นไหนได้อีก อะไรคือสิ่งที่เราต้องรับรู้มากกว่าแค่การที่แอปฯ ขวัญใจวัยรุ่นจะถูกแบนหรือไม่แบน

 

 

จีนและสหรัฐฯ ยังคงขัดแย้งกันต่อไป TikTok เป็นเพียงตัวละครหลักใน ‘ภาคต่อ’ ของมหากาพย์เรื่องนี้เท่านั้น

อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่าสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในตอนนี้ แม้จะเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านประธานาธิบดีคนใหม่ไปสู่ โจ ไบเดน ที่ยังคงต้องรอความชัดเจนในด้านต่างๆ ให้กระจ่างขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแล้วว่าทั้งรีพับลิกันและเดโมแครตเห็นพ้องตรงกันว่า ‘จีน’ เป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ 

 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราน่าจะได้เห็นในมุมมองมิติความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่เด่นชัดน่าจะประกอบไปด้วย 4 ข้อหลักๆ คือ 

1. วิธีการรับมือของไบเดนจะ ‘แตกต่าง’ และ ‘เปลี่ยนไป’ จากวิธีการของทรัมป์ และอาจจะได้เห็นมิติความร่วมมือใน ‘บางประเด็น’ 

2. กลยุทธ์การหาชาติพันธมิตรมาปิดล้อมจีน (แทนที่จะเป็นการสู้ตามลำพัง)

3. ไม่ใช้วิธีการแข่งกันขึ้นภาษีการค้า แต่จะแข่งกันสร้างความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีมากขึ้น

4. ความเข้มข้นในการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนที่จีนต้องเผชิญต่อจากนี้

 

ส่วนในประเด็นสงครามเย็นและสงครามแพลตฟอร์มที่ TikTok กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้นั้น อาร์มมองว่าเทคโนโลยีในวันนี้ถูกมองออกเป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือมุมมองเชิงเศรษฐกิจที่ ‘ใครเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยี’ ก็จะได้รับส่วนแบ่งด้านมูลค่าทางการเงินและรายได้มากเป็นพิเศษ นั่นจึงทำให้จีนพยายามที่จะพัฒนานวัตกรรมตัวเองขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

 

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งคือ ‘ความมั่นคง’ เนื่องจากเทคโนโลยียุคใหม่ถูกฉาบเคลือบด้วยมิติความปลอดภัยของข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคของ 5G และ IoT ที่ถูกตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ในการสอดแนมข้อมูลผู้ใช้งานผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ

 

“สิ่งที่เราเห็นคือสหรัฐฯ ยุคทรัมป์มีการนำ Huawei มากดดันจีนในประเด็นสงครามการค้า ขู่แบน TikTok เพื่อที่จะให้บริษัทสหรัฐฯ เข้าไปเทกโอเวอร์ ซึ่งทั้งหมดจะเชื่อมโยงกับประเด็นการค้าเป็นหลัก 

 

“ที่จริงแล้วตัวทรัมป์เองก็ไม่เคยแสดงความชัดเจนเลยว่าเขาต้องการอะไรจาก TikTok กันแน่ จึงอาจกล่าวได้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นกลเกมการค้ามากกว่าเรื่องความมั่นคง รวมถึงการเลียนแบบวิธีในอดีตของจีนที่กดดันบริษัทต่างชาติให้บริษัทจีนร่วมหุ้นร่วมทุนด้วย ซึ่งจะต่างจากไบเดนที่ผมเชื่อว่าเขาจะใช้วิธีการออกกฎหมายกำกับดูแลที่เป็นมาตรฐานมากกว่า

 

“ผมคิดว่าสหรัฐฯ ยุคไบเดนจะกลับมามองในเรื่องพื้นฐานมากขึ้น แข่งกันสร้างและพัฒนาเทคโนโลยี เพราะเขาก็ได้ประกาศไว้แล้วว่าสหรัฐฯ จะทุ่มเงินลงทุนการวิจัยและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อคงสถานะการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีต่อไป”

 

ต่อประเด็น ‘Splinternet’ ที่โลกยุคใหม่ได้แยกแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตออกเป็นโลกหลายใบนั้น (แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เราใช้งานมาจากหลายประเทศ) ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าเราจะได้เห็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มกำลังพัฒนาถูกกลืนไปอยู่ในแพลตฟอร์มหรือโลกอินเทอร์เน็ตของจีนมากขึ้น เนื่องจากจีนมีความพร้อมรอบด้าน 

 

“ตอนนี้เราก็อยู่ในโลกยุค Splinternet อยู่แล้ว แต่คนตั้งข้อสังเกตกันว่าต่อไป Splinternet จะขยายพื้นที่ออกไปในวงกว้างมากขึ้น” 

 

ด้าน ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตชวนคิดว่า Splinternet ที่เราเห็นอยู่ตอนนี้ แท้จริงแล้วจีนต่างหากที่เป็น ‘ผู้เริ่มต้น’ ขีดเส้นกั้นอาณาเขตพรมแดนทางดิจิทัลก่อน โดยมีกรณีตัวอย่างคือการที่จีนปิดกั้นการใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในประเทศ ไม่ว่าจะ Facebook หรือ Google

 

“เนื่องจากเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ จีนจึงหยิบยกประเด็นการป้องกันประชาชนไม่ให้ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างชาติเหล่าน้ันวิพากษ์วิจารณ์ตน รวมถึงเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศขึ้นมาเป็นข้ออ้างกีดกันการเข้ามาของแพลตฟอร์มดิจิทัลและบริษัทเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ และ ณ วันนี้ Splinternet ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากจีนหรือสหรัฐฯ อีกแล้ว แต่ประเทศอื่นๆ ก็มองเห็นโอกาสตรงนี้ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น รัสเซีย เป็นต้น

 

“หากมองในประเด็นความมั่นคง รัฐในแต่ละประเทศก็สามารถอ้างประเด็นดังกล่าวแล้วปิดกั้นไม่ให้ประชาชนของตัวเองใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลจากประเทศนั้นประเทศนี้ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วธรรมชาติของโลกอินเทอร์เน็ตมันไม่ควรจะมีการปิดกั้น เพราะสุดท้ายผลเสียมันก็จะเกิดขึ้นกับตัวของประชาชนเอง

 

“ในมุมมองส่วนตัวเชื่อว่าหากสถานการณ์ของแต่ละประเทศในด้านการควบคุมกำกับแพลตฟอร์มดิจิทัลยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ (ภาพของ Splinternet เริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละประเทศ) ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นการออกกฎหมายระหว่างประเทศ หรือการเกิดขึ้นขององค์กรใหม่ๆ ที่จะเข้ามาดูแลบริหารจัดการด้านแพลตฟอร์มดิจิทัลระหว่างประเทศโดยเฉพาะ”

 

ดังนั้นในมุมมองของผู้ที่มีสถานะเป็นเหมือน ‘ตัวกลาง’ อย่างประเทศไทยและผู้ใช้งานอย่างเรานั้น อาร์มบอกว่าส่ิงเราพอจะทำได้ประกอบไปด้วย 3 ข้อ นั่นคือ 

1. ติดตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด

2. ตระหนักถึงมิติความมั่นคงที่ถูก ‘เทคโนโลยี’ เคลือบเอาไว้

3. ไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง เลือกใช้เทคโนโลยีของประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นหลัก แต่ให้มองที่เงื่อนไข ประโยชน์ และความปลอดภัยมากกว่า

 

 

สงครามเย็นบทที่ 3: ว่าด้วยสงครามเทคโนโลยี พลังงานสะอาด และภูมิรัฐศาสตร์

ไม่ใช่แค่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างจีน (TikTok) และสหรัฐฯ จะสร้างรอยแยกของ Splinternet ให้ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น เพราะ แมตต์ เพอโรลต์ ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำมหาวิทยาลัยดุ๊ก อดีตผู้อำนวยการด้านนโยบายของ Facebook ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Wired ว่าจริงอยู่ที่การแบน TikTok ในระยะสั้นอาจจะส่งผลดีกับการดำเนินธุรกิจของสหรัฐฯ แต่ในระยะยาวบริษัทจากสหรัฐฯ​ เองก็จะต้องพบปัญหาการบุกตลาดในประเทศอื่นๆ ยากขึ้นด้วยเช่นกัน

 

“การแบน TikTok ย่อมส่งผลดีกับบริษัทจากสหรัฐฯ ในเชิงธุรกิจ อย่างน้อยก็แค่ระยะสั้น แต่ผมคิดว่าปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ คือการที่ในอนาคตพวกเขาจะต้องรับมือกับกฎระเบียบข้อบังคับที่มีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงโดยพลการอยู่ตลอดเวลา (กรณีทรัมป์ลงนามคำสั่งประธานาธิบดี: หมายเหตุ นิตยสาร Wired ตีพิมพ์บทความฉบับนี้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2020 ก่อนทราบผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ)

 

“และแม้ว่าการกระทำของทรัมป์จะทำให้บริษัทเทคโนโลยีจากจีนเข้ามาเจาะตลาดสหรัฐฯ ได้ยากขึ้น แต่บริษัทเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ ก็จะต้องพบเจอกับอุปสรรคและข้อจำกัดในการออกไปบุกตลาดต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน เหมือนกับที่อินเดียได้ออกกฎหมายเพื่อปกป้องบริษัทเทคโนโลยีที่มีศักยภาพมากพอจะก้าวขึ้นมาเป็น Tech Champions ของพวกเขา เฉกเช่นแนวคิดของทรัมป์”

 

ขณะที่อาร์มมองว่าภาพความสัมพันธ์ของพญามังกรและพญาอินทรีที่เราจะได้เห็นต่อจากนี้คือการที่ทั้งสองชาติมหาอำนาจจะยังคงมีข้อขัดแย้งกันต่อไป โดยเฉพาะในประเด็นเทคโนโลยี แต่จะเป็นเทคโนโลยีที่จีน ‘เริ่มตามทัน’ หรือ ‘ก้าวหน้า’ กว่าสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ‘เทคโนโลยีพลังงานสะอาด’

 

 

“แนวโน้มและเทรนด์เทคโนโลยีที่ผมเชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นชัดในยุคไบเดนคือประเด็น ‘เทคโนโลยีพลังงานสะอาด’ ที่อาจจะเป็นสมรภูมิใหม่ในการต่อสู้ระหว่างสองประเทศ เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่แม้ Tesla จะมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่บริษัทจีนก็สามารถพัฒนาเทคโนโลยีรถ EV ของตัวเองได้อย่างรวดเร็วเหมือนกัน เพราะทุ่มงบประมาณไปมากกับอุตสาหกรรมนี้

 

“นี่จะเป็นสมรภูมิสงครามเทคโนโลยีใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่จะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประเด็นการแบนบริษัทอื่นใดอีกแล้ว แต่จะเชื่อมโยงไปไกลถึงมิติในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ประเด็นการยึดหาถิ่นฐานการผลิตแร่ธาตุที่จะนำมาใช้ประโยชน์กับการผลิตแบตเตอรี่สำหรับใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า และการเมืองด้านน้ำมัน ฯลฯ”

 

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเหรียญสองด้านบทสรุปความขัดแย้งสหรัฐฯ-จีนจะออกมาเป็นหน้าใด สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นเสมอคือการที่เราในฐานะ ‘ผู้สังเกตการณ์’ ย่อมได้รับผลกระทบแน่นอน ไม่มากก็น้อย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

และเมื่อถึงเวลานั้นแล้ว คำถามสำคัญก็คือเราจะพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X