×

Spider-Man: No Way Home หนัง Coming of Age ฉบับซูเปอร์ฮีโร่ ที่ทั้งสนุก หัวเราะ เคล้าน้ำตาในเวลาเดียวกัน (ไม่สปอยล์)

24.12.2021
  • LOADING...
Spider-Man

นับตั้งแต่วันที่สไปเดอร์แมน หรือ ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ ในฉบับของ Tom Holland ปรากฏตัวครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง Captain America: Civil War (2016) เรียกได้ว่าเพื่อนบ้านที่แสนดีคนนี้ก็กลายเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่เป็นที่รักยิ่งของผู้ชมไม่แพ้ กัปตันอเมริกา, ไอรอนแมน หรือธอร์ ในทันที ทั้งการออกแบบคาแรกเตอร์สุดเท่ เสน่ห์อันล้นเหลือของ Tom Holland ไปจนถึงเคมีของเหล่านักแสดงสมทบที่เข้ามาช่วยส่งให้บทบาทของสไปเดอร์แมนฉบับ Tom Holland โดดเด่นมากขึ้นกว่าเดิม

 

แต่แกนหลักสำคัญข้อหนึ่งที่ส่งให้สไปเดอร์แมนฉบับ Tom Holland มีเสน่ห์และโดดเด่นออกมาจากภาพยนตร์ Marvel Cinematic Universe หลายๆ เรื่อง เห็นจะเป็น ‘ความเป็นวัยรุ่น’ และ ‘การเติบโต’ ของปีเตอร์ ที่ไม่ว่าใครก็สามารถเชื่อมโยงกับตัวละครตัวนี้ได้ไม่มุมใดก็มุมหนึ่ง จนอาจกล่าวได้ว่า Spider-Man: Homecoming (2017) และ Spider-Man: Far from Home (2019) คือภาพยนตร์แนว Coming of Age ที่ถูกเคลือบด้วยคำว่าซูเปอร์ฮีโร่ 

 

เช่นเดียวกับ Spider-Man: No Way Home (2021) ที่แม้ว่าเรื่องราวของมัลติเวิร์สสุดยิ่งใหญ่จะชวนให้เราตื่นเต้นและเฝ้าติดตามอย่างไร ความประทับใจที่เราได้รับจากภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องราวการเติบโตของปีเตอร์เช่นเดิม

 

Spider-Man

 

จุดเด่นข้อแรกของ Spider-Man: No Way Home ที่ยังคงนำเสนอออกมาได้ดีเสมอต้นเสมอปลาย คือความสนุกสนานแบบครบเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นมุกตลกขบขันที่เรียกเสียงหัวเราะของผู้ชมได้เสมอ ฉากแอ็กชันที่ชวนให้เราลุ้นระทึกและตื่นตาตื่นใจอย่างไม่ขาดสาย ไปจนถึงฉากดราม่าที่ถึงพริกถึงขิงจนสามารถเรียกน้ำตาของเราได้ไม่ยาก ซึ่งมีน้อยเรื่องนักที่จะสามารถนำเสนอองค์ประกอบเหล่านี้ออกมาได้อย่างกลมกล่อมจริงๆ

 

จุดเด่นข้อต่อมาที่เสริมให้ Spider-Man: No Way Home พิเศษกว่า 2 ภาคที่ผ่านมาคือ การพาเหล่าตัวร้ายจากภาพยนตร์ Spider-Man ทุกเวอร์ชัน พร้อมนักแสดงชุดเดิมมารวมตัวกันอย่างคับคั่ง เริ่มต้นที่ กรีน ก็อบลิน (Willem Dafoe), ดอกเตอร์ออกโทปุส (Alfred Molina) และ แซนต์แมน (Thomas Haden Church) จาก Spider-Man ไตรภาคของผู้กำกับ Sam Raimi พร้อมด้วย ลิซาร์ด (Rhys Ifans) และ อิเล็กโทร (Jamie Foxx) จาก The Amazing Spider-Man 1-2 

 

Spider-Man

 

ซึ่งว่ากันตามตรง การที่ภาพยนตร์อัดแน่นไปด้วยตัวละครเสน่ห์ล้นเหลือขนาดนี้ ถือเป็นงานโหดหินของตัวผู้กำกับและทีมสร้างพอสมควรว่าจะสามารถควบคุมและนำเสนอเรื่องราวของตัวละครแต่ละตัวออกมาให้ไม่มากหรือน้อยเกินไปได้อย่างไร ซึ่งในจุดนี้เราต้องขอปรบมือให้กับผู้กำกับอย่าง Jon Watts ที่แบ่งพาร์ตของตัวละครต่างๆ ออกมาได้อย่างเหมาะสม และจัดหนักจัดเต็มด้วยฉากแฟนเซอร์วิสให้แฟนๆ ที่ติดตามภาพยนตร์ Spider-Man มาตลอดได้หวนคิดถึงอีกด้วย 

 

ส่วนตัวละครของด็อกเตอร์สเตรนจ์ (Benedict Cumberbatch) ที่หากมองในภาพรวมแล้ว บทบาทของเขาคือการเป็นตัวจุดชนวนเรื่องราวทั้งหมดให้เกิดขึ้นมากกว่าจะเป็นตัวละครหลักของเรื่อง เขาจึงเป็นตัวละครที่ไม่ได้โดดเด่นมากนักเมื่อเทียบกับตัวร้ายหลัก ซึ่งเราคงจะต้องไปติดตามเรื่องราวของเขาแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยกันต่อใน Doctor Strange in the Multiverse of Madness ที่มีกำหนดเข้าฉายในปีหน้า

 

Spider-Man

 

และอย่างที่เรากล่าวไว้ในตอนต้น ท่ามกลางความสนุกสนานและฉากแฟนเซอร์วิสที่มาเรียกเสียงกรี๊ดของแฟนๆ กันแบบไม่ยั้ง แกนหลักสำคัญที่ Spider-Man: No Way Home พยายามนำเสนอคือ การพาผู้ชมไปติดตามการเติบโตของปีเตอร์ พร้อมทั้งความสัมพันธ์ระหว่าง เอ็มเจ (Zendaya) และ เน็ท (Jacob Batalon) ที่เริ่มแน่นแฟ้นมากขึ้นกว่า 2 ภาคแรก 

 

เริ่มต้นจากปีเตอร์ที่เราคงปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าการตัดสินใจของเขาในหลายๆ ครั้ง มันมักจะชวนให้เรารู้สึกหงุดหงิดอยู่พอสมควร ทั้งการพยายามพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้เป็นที่ยอมรับใน Spider-Man: Homecoming, การตัดสินใจมอบแว่นตาของ โทนี สตาร์ก (Robert Downey Jr.) ให้แก่ มิสเตริโอ (Jake Gyllenhaal) ใน Spider-Man: Far from Home รวมถึงครั้งนี้ที่เขาเลือกจะขอความช่วยเหลือจากด็อกเตอร์สเตรนจ์ให้ลบความทรงจำของทุกๆ คน จนเกิดความโกลาหลครั้งใหญ่ 

 

แต่หากเราลองมองตัวละครตัวนี้ให้ลึกลงไปอีกสักหน่อย เราจะค้นพบว่าภายใต้หน้ากากและพลังแมงมุมสุดแกร่ง เขาก็เป็นเพียงเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่เลือกจะใช้ความรู้สึกของตัวเองเป็นตัวนำในการแก้ปัญหาต่างๆ มากกว่าจะเป็นการชั่งน้ำหนักในเหตุและผล และพร้อมจะโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่งได้ตลอดเวลา 

 

ความไม่สมบูรณ์พร้อมเหล่านี้เองที่ส่งให้ปีเตอร์เป็นตัวละครที่ผู้ชมจะสามารถเชื่อมโยงกับเขาได้ไม่มุมใดก็มุมหนึ่ง มากกว่ากัปตันอเมริกาที่มีความเป็นผู้นำสูง หรือธอร์ผู้มีพลังสายฟ้า เหาะเหินเดินอากาศได้ เพราะเราทุกคนล้วนเคยประสบพบเจอและข้ามผ่านช่วงเวลาลองผิดลองถูกเหล่านี้มาแบบเดียวกับปีเตอร์เช่นกัน (จึงไม่แปลกนักหากเราจะเห็นภาพของโทนีซ้อนทับกับปีเตอร์อยู่หลายครั้ง เพราะแม้ว่าเขาจะรวยล้นฟ้าและมีมันสมองอันชาญฉลาด แต่เขาก็มักจะตัดสินใจผิดพลาด และไม่ได้เป็นฮีโร่ที่สมบูรณ์พร้อมเช่นเดียวกัน)

 

Spider-Man

 

และส่วนที่เรารู้สึกประทับใจใน Spider-Man: No Way Home มากที่สุด คือความสัมพันธ์ระหว่างปีเตอร์ เอ็มเจ และ เน็ท ที่ถูกขยายความให้เด่นชัดยิ่งขึ้นกว่า 2 ภาคแรก ทั้งแฟนสาวอย่างเอ็มเจที่เปรียบเสมือนบ้านพักใจของปีเตอร์ รวมถึงเพื่อนซี้อย่างเน็ทที่หากมองเผินๆ เขาอาจจะเป็นตัวละครที่มาสร้างสีสันให้กับเนื้อเรื่องเป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับภาคนี้ เราจะได้เห็นว่าความตลกขบขันที่อยู่ในตัวของเน็ทสำคัญต่อปีเตอร์มากขนาดไหน

 

ในภาพรวมแล้ว เราคิดว่า Spider-Man: No Way Home ถือเป็นภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องที่เราสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า มันคือภาพยนตร์ที่ ‘กล่มกล่อม’ ในทุกองค์ประกอบ และไม่ว่าคุณจะอินกับจักรวาล MCU หรือไม่ เราเชื่อว่าผู้ชมจะได้รับบทเรียนแห่งการเติบโตจากเพื่อนบ้านที่แสนดีคนนี้ไปไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน 

 

Spider-Man: No Way Home เข้าฉายแล้ววันนี้ ในโรงภาพยนตร์

 

รับชมตัวอย่างได้ที่นี่

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising