วันนี้ (9 ธันวาคม) ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแปรนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคมไปสู่การปฏิบัติ พร้อมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคมไปสู่การปฏิบัติ
ซึ่งไฮไลต์สำคัญอยู่ที่การพิจารณานโยบายปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ทุกประเภทบนถนนที่มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป จากความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
โดยผลสรุปจากที่ประชุมในครั้งนี้ มีมติเห็นชอบให้ปรับแก้กฎกระทรวงในการกำหนดอัตราความเร็วสูงสุดของรถยนต์ตามพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 โดยใช้ประเภทของถนนเป็นเกณฑ์ ตัวอย่างเช่น ถนนที่มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องจราจรขึ้นไป
ซึ่งมีการแบ่งทิศทางการจราจรแยกออกจากกัน และมีเกาะกลางหรือกำแพงกั้นเป็นความเร็วสูงสุดไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งนี้ ควรกำหนดอัตราความเร็วต่ำสุดที่อนุญาตให้ใช้ในช่องจราจรขวาสุด รวมทั้งกำหนดบทลงโทษผู้ขับขี่ที่ใช้ช่องจราจรขวาสุดที่ใช้ความเร็วต่ำกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นต้น
ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกัน เพื่อแก้ไขการใช้กฎหมายความเร็วให้สอดคล้องกันทั้ง 2 ฉบับ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอหน่วยงานให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎกระทรวงความเร็วก่อนเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณา ทั้งนี้ การปรับความเร็วรถจะต้องพิจารณาประเภทของถนน และมาตรฐานความปลอดภัยด้วยการจัดระเบียบการใช้รถใช้ถนน ซึ่งกรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องสินบนนำจับ ซึ่งถนนเส้นทางใดมีความพร้อมจะสามารถดำเนินการได้ก่อน
ส่วนการพิจารณานโยบายปรับเวลาการอนุญาตให้รถยนต์บรรทุกขนาดตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป เข้าเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ตั้งแต่เวลา 24.00-04.00 น.
ด้วยสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม เรื่อง ขอให้ทบทวนหรือชะลอนโยบายห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้ากรุงเทพฯ และปริมณฑลบางเวลา โดยเสนอว่า ปัญหาการจราจรของกรุงเทพฯ มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย และรถบรรทุกเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
เนื่องจากในแต่ละวันมีรถบรรทุกวิ่งเข้า-ออกพื้นที่กรุงเทพฯ เฉพาะช่วงเวลาเพียงวันละ 12 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้น การขยายระยะเวลาห้ามรถบรรทุกเข้าเมืองเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่จะมีผลกระทบต่อระบบโลจิสติกส์และระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง การขนส่งจะต้องเชื่อมต่อกันทุกระบบจะเกิดปัญหาลูกโซ่ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ผลกระทบต่อการพักผ่อนเวลากลางคืนของชาวกรุงเทพฯ โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้
- ทบทวนหรือชะลอนโยบายอนุญาตให้รถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อ วิ่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงเวลา 24.00-04.00 น.
- ควรมีการประชุมกับเอกชนผู้เกี่ยวข้องให้รอบด้านเพื่อความรอบคอบ
- ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกับสถาบันการศึกษาทำการศึกษารายละเอียดผลกระทบด้านโลจิสติกส์ให้รอบคอบ
- เลื่อนเวลาทำงานและเลิกงานของราชการและรัฐวิสาหกิจให้เหลื่อมกัน เพื่อกระจายปริมาณรถยนต์และลดความแออัดบนถนน
- ย้ายโรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรมออกนอกพื้นที่เมือง
- ยกเลิกการใช้ประโยชน์ท่าเรือกรุงเทพ และผลักดันการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port)
- สร้างจุดพักรถบรรทุก สถานีขนส่งสินค้ารถบรรทุก เพื่อพักสินค้าและเปลี่ยนถ่ายสินค้ารถใหญ่ไปใช้รถเล็ก
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับข้อเรียกร้องดังกล่าวไปพิจารณา โดยกำหนดแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ให้ชัดเจนภายใน 1 เดือน ซึ่งมาตรการทั้งหมดต้องตอบโจทย์เรื่องการจราจร ต้นทุนการก่อสร้าง และให้พิจารณาข้อกฎหมายของกรุงเทพมหานครประกอบด้วย โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชนเป็นหลัก และผลกระทบต่อภาคเอกชน โดยให้พิจารณากำหนดมาตรการเยียวยาต่อไป
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์