ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาด ‘การบริหารจัดการเงิน’ ถือเป็นด่านหน้าที่เราทุกคนสามารถทำได้ เพื่อประคองตัวเองให้ผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ได้
คำแนะนำจาก โค้ชหนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์ ในรายการพิเศษ ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ของ THE STANDARD ที่เราทุกคนสามารถทำได้ในวันนี้คือ ‘บัญญัติ 4 ประการ เอาตัวรอดด้านการเงิน’
1. วางแผนทางการเงิน 6-12 เดือน การวางแผนนี้ไม่ได้หมายความว่า เราใช้จ่ายไปเท่าไรแล้วค่อยมาทำ แต่คือการประเมินล่วงหน้าว่า เรามีรายได้หรือรายจ่ายประจำอะไรบ้าง ถ้าผลรวมในแต่ละเดือนออกมาแล้วเป็นบวก ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าบัญชีติดลบ ต้องมาดูว่าสามารถลดอะไรได้บ้าง
ขณะเดียวกันคนที่การเงินไม่ติดลบก็ต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวังอยู่ดี หลายคนอาจมีคำถามว่า ช่วงเวลานี้เหมาะไหมที่จะซื้อของชิ้นใหญ่อย่างบ้านหรือรถยนต์
โค้ชหนุ่มบอกว่า เราไม่สามารถที่จะห้ามซื้อได้เลย เพราะหลายคนมีความจำเป็น แต่ได้แนะนำวิธีคิด 3 ข้อ คือ 1. ต้องคำนวณดูว่ามียอดผ่อนเท่าไร แล้วเราไหวไหม 2. ถ้ารายได้หลักมาจากอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก เช่น ท่องเที่ยว ก็อาจต้องชะลอไปก่อน 3. มีเงินสำรองพอหรือเปล่า
“สิ่งสำคัญคือ อย่าหลอกตัวเอง พอซื้อของชิ้นใหญ่ที่คนอยากได้ ก็จะหลอกตัวเองว่าไหว เรื่องที่ต้องดูคือ มีเงินสำรองพอที่จะผ่อนได้อย่างน้อย 1 ปีไหม อย่ามองเป็นระยะสั้น 5-6 เดือนอย่างเดียว”
2. จัดการด้านรายจ่าย เมื่อรายรับคุมยากกว่ารายจ่าย สิ่งที่เราต้องทำคือ จัดการเรื่องรายจ่าย คนในครอบครัวต้องมาคุยกันว่า มีรายจ่ายอะไรที่ต้องปรับกัน ถ้าเป็นรายได้ที่ไม่จำเป็น ลดได้ก็ขอให้ลด แต่ถ้าเป็นรายจ่ายที่จำเป็น เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ก็สามารถเดินเข้าไปคุยกับธนาคาร เพื่อหาทางออกร่วมกัน
“ตอนนี้ธนาคารจะรักเรามาก มีคำกล่าวว่า คุยก่อนเรียกว่า ‘เจรจา’ คุยทีหลังเรียกว่า ‘ข้ออ้าง’ ดังนั้น หากเรามีปัญหารายได้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สามารถเดินเข้าไปคุยกับธนาคาร เพื่อหาทางออกร่วมกัน แจ้งว่ามีปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งตอนนี้มีมาตรการทั้งการพักชำระเงินต้น จ่ายแค่ดอกเบี้ย โดยเตรียมเอกสารไปยืนยันว่า รายได้เราได้รับผลกระทบจริงๆ”
ทั้งนี้ หลายคนอาจจะกังวลว่า เมื่อไปเจรจาเรื่องการชำระหนี้ จะมีปัญหากับเครดิตบูโรไหม ยืนยันว่าไม่มีผล เพราะไม่ใช่การผิดนัดชำระ เป็นการเข้าเงื่อนไขพิเศษในสถานการณ์พิเศษ
3. หารายได้เพิ่ม โดยการนำทักษะที่เรามีมาประเมินว่า ความสามารถของเราสามารถทำอะไรได้บ้าง ด้วยวันนี้อาชีพเดียวไม่เพียงพออีกแล้ว สิ่งทำคัญที่ต้องมองในช่วงเวลานี้คือ ขอให้ทำออกไปก่อน ไปเจอคน ไปเจอลูกค้า แล้วโอกาสจะตามมา
4. ให้ระมัดระวังเรื่องการหลอกลวง โดยเฉพาะการลงทุนไหนที่ให้ผลตอบแทนเยอะๆ ให้มองข้ามไปได้เลย
“การหลอกลวงเรื่องแบบนี้ไม่ได้มาในช่วงที่เศรษฐกิจดีๆ แต่มักจะมาในช่วงที่เศษฐกิจไม่ดี อยากให้ระมัดระวังไว้เยอะๆ” โค้ชหนุ่มกล่าวทิ้งท้าย
ติดตามถ่ายทอดสด: #ฝ่าวิกฤตโควิด19 แนวทางแก้วิกฤตรายได้และหนี้ จากโควิด-19 ได้ที่นี่
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ได้ที่ thestandard.co/coronavirus-coverage
และอัปเดตทุกความเคลื่อนไหวของโรคโควิด-19 ได้ที่ www.facebook.com/thestandardth
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล