ที่สนามสเตเดียม ออสเตรเลีย สังเวียนของเกมนัดชิงฟุตบอลโลกหญิงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ในช่วงของการประกาศชื่อผู้เล่นของนักฟุตบอลสาวทีมชาติสเปนที่จะลงสนาม เมื่อชื่อของใครที่โฆษกสนามเอ่ยขึ้นมาก็จะมีการช่วยขานรับจากแฟนฟุตบอลเพื่อให้กำลังใจแก่กระทิงสาวคนนั้นแบบดังกระหึ่ม
แต่เมื่อถึงคราวของการประกาศชื่อโค้ชอย่าง ฮอร์เก วิลดา เสียงขานรับต่อโค้ชวัย 42 ปี กลับกลายเป็นเสียงโห่ฮาขึ้นมาแทน
สำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามใกล้ชิดก็อาจสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมจึงมีเสียงโห่ใส่โค้ชที่กำลังจะคุมทีมลงสนามในเกมสำคัญที่สุดของชีวิต
แต่สำหรับคนรู้ก็จะเข้าใจ
ว่าเรื่องราวการต่อสู้ของทีมฟุตบอลหญิงสเปนจนมาถึงรอบชิงชนะเลิศ และพิชิตอังกฤษจนได้ ‘ดาว’ อันเป็นเครื่องหมายของการเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกนั้นเป็นการต่อสู้ที่แสนสาหัส
สิ่งที่อยู่ใต้รอยยิ้มและการเฉลิมฉลองคือคราบน้ำตาและความเจ็บช้ำน้ำใจ
ความจริงแล้วไม่มีใครคาดหรือคิดว่าสเปนจะมาถึงจุดนี้ได้ ในการเผชิญหน้ากับอังกฤษ หนึ่งในทีมฟุตบอลหญิงที่ดีและเก่งที่สุดของโลก เจ้าของตำแหน่งดีกรีแชมป์ฟุตบอลยูโรหญิง 2022 เพราะทีมกระทิงสาวชุดนี้ไม่ได้เป็นชุดที่ดีที่สุด
มีผู้เล่นที่เก่งกาจและมากด้วยประสบการณ์ถึง 12 คน ที่ไม่ได้ร่วมเดินทางมาทำการแข่งขันในฟุตบอลโลกหญิง 2023 ซึ่งจัดขึ้นที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
สาเหตุที่ทำให้นักเตะทั้ง 12 คนไม่ได้ติดทีมนั้นไม่ใช่ปัญหาอาการบาดเจ็บหรือติดภารกิจอะไร แต่พวกเธอปฏิเสธที่จะลงเล่นให้ทีมชาติสเปนอีกตราบใดที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่อง
ตั้งแต่การดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของแข้งกระทิงสาว ตระเตรียมความพร้อมให้ดีเท่าที่ควรจะเป็น
และเรื่องสำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งโค้ช พวกเธอตัดสินใจเด็ดขาดแล้วที่จะไม่ลงเล่นให้ทีมชาติสเปนอีกตราบใดที่ยังมี ฮอร์เก วิลดา รับบทผู้นำของทีม
ความจริงไม่ได้มีเพียงแค่ 12 คนด้วย เพราะแรกเริ่มเดิมทีการลุกฮือเพื่อประท้วงในเรื่องความไม่เป็นธรรมของทีมฟุตบอลหญิงสเปนที่เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อช่วงฤดูร้อนปีกลาย หลังจากที่พวกเธอตกรอบน็อกเอาต์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (ด้วยน้ำมือของอังกฤษที่เขี่ยพวกเธอตกรอบน็อกเอาต์) ซึ่งเป็นการตกรอบฟุตบอลรายการระดับเมเจอร์แบบน่าผิดหวังเป็นรายการที่ 3 ติดต่อกัน มีจำนวนนักฟุตบอลที่ตัดสินใจที่จะลุกต่อสู้ด้วยกันทั้งหมด 15 คน
15 นักเตะที่สื่อมวลชนในประเทศสเปนเรียกว่า ‘Las 15’ นำโดย ปาตรี กุยยาร์โร ร่วมด้วย มาปี เลออน, มารีโอนา กาลเดนเตย์, ซานดรา ปาญอส, เคลาเดีย ปินา, โลลา กัลยาร์โด, ไอนัว โมราซา, เรเซีย เอซากิร์เร, อาไมอูร์ ซาร์ริเอกี, ลูเซีย การ์เซีย, โอนา บัตเย, เลลา อัวฮาบี, ไลอา อเลซานดรี, อันเดรีย เปเรรา และ ไอตานา บอนมาติ
ทั้งหมดนี้คือนักเตะที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ยุคทอง’ หรือ Golden Generation ของวงการฟุตบอลหญิงสเปน
โดยทั้ง 15 คนนี้ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกส่งตรงถึง หลุยส์ รูเบียเลส ประธานสหพันธ์ฟุตบอลสเปน (RFEF) เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการปลดวิลดา ซึ่งอยู่คุมทีมมายาวนานตั้งแต่ปี 2015 โดยไม่นับการคุมทีมในระดับเยาวชนซึ่งเริ่มต้นเส้นทางมาตั้งแต่ปี 2009
นอกจาก 15 คนนี้ยังมี อเลเซีย ปูเตยาส เจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ 2 สมัย และ เจนนิเฟอร์ เฮอร์โมโซ ที่แสดงออกว่าพวกเธอเห็นด้วยกับการประท้วงครั้งนี้ แม้ว่าจะไม่ได้เป็น 15 คนที่ร่วมส่งจดหมายประท้วงด้วย
อีกคนคือ อิเรเน ปาเรเดส กัปตันทีมที่เป็นคนที่ต้องรับหน้ากับสื่อหลังจากที่เรื่องได้หลุดออกมา แม้จะรู้สึกว่าเธอต้องแบกรับหน้าแทนทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นเรื่องของเธอคนเดียว
เท่ากับมี 18 คน ‘Las 15+3’ ที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง (โดยที่ยังมีอีกหลายคนที่เห็นด้วยแต่ไม่กล้าเปิดตัว)
สำหรับเหตุผลที่ต้องการให้มีการปลดวิลดานั้นมาจากเหตุผลหลักๆ หลายประการ
- ไม่มีความเป็นส่วนตัว เนื่องจาก ฮอร์เก วิลดา มีการออกกฎห้ามไม่ให้นักฟุตบอลล็อกประตูห้องนอน โดยบอกว่าเพื่อเช็กว่ามีใครทำผิดกฎเคอร์ฟิวของทีมหรือไม่ ไปจนถึงการค้นกระเป๋าหากนักเตะกลับมาเข้าแคมป์
- การพักผ่อน วิลดาเป็นโค้ชที่แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงผู้เล่นเลย ทำให้นักเตะที่ต้องลงสนามอ่อนล้าและหมดไฟ
- คุณภาพในการฝึกซ้อมต่ำ นักเตะที่มารายงานตัวกับทีมชาติสเปน เมื่อกลับไปสโมสรจะมีสภาพร่างกายที่ย่ำแย่และต้องใช้เวลาในการเรียกสภาพร่างกายกลับมา
- วิลดาแทบไม่มีการวิเคราะห์เกมและขาดความเข้าใจเรื่องความรู้ด้านการวางแท็กติก
นอกจากนี้ทั้งหมดยังต้องการให้ RFEF ปรับปรุงเรื่องคุณภาพชีวิตของพวกเธอด้วย เพราะทีมชาติสเปนนั้น
- ขาดการดูแลทางการแพทย์ เนื่องจาก RFEF ไม่มีการลงทุนอย่างเพียงพอสำหรับการดูแลทีมชาติหญิง ซึ่งทำให้เกิดอาการบาดเจ็บขึ้นกับนักเตะทีมชาติอย่างต่อเนื่อง
- ขาดการดูแลด้านโภชนาการ เป็นเหตุผลเดียวกับข้อข้างบน คือไม่มีการลงทุนด้านโภชนาการที่ดีและเพียงพอสำหรับนักกีฬาในระดับ Elite ของโลก
ทีมชาติสเปนชุดดั้งเดิมก่อนจะมีการก่อกบฏของนักเตะสาว 15+3 คน เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง
แต่เมื่อได้รับการร้องเรียน สิ่งที่ RFEF ทำกลับเป็นการออกมาปกป้องวิลดา และบอกว่ารู้สึก ‘ผิดหวัง’ กับการออกมาประท้วงในครั้งนี้ของนักฟุตบอลทั้ง 18 คน
สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือการที่วิลดาเรียกนักเตะหญิงรายอื่นเข้ามาทดแทนนักเตะชุดเดิมๆ ที่ปฏิเสธจะลงเล่นให้ เพื่อเป็นการแสดงออกว่าต่อให้ไม่มีนักเตะเหล่านี้ก็ไม่เป็นไร ยังมีนักฟุตบอลที่อยากจะลงเล่นให้ทีมชาติหญิงของสเปนอยู่อีกมากมาย
โดยที่นักเตะหลายๆ คนก็มีฝีเท้าที่เก่งกาจไม่แพ้กัน เพราะสเปนถือเป็นหนึ่งในชาติที่มีรากฐานฟุตบอลหญิงที่เข้มแข็งอย่างมาก ประสบความสำเร็จในระดับเยาวชนมาแล้วมากมาย โดยตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ทีมชาติรุ่นอายุต่ำกว่า 17 ปี และ 19 ปี กวาดแชมป์ได้ทั้งฟุตบอลยูโรและฟุตบอลโลกเป็นว่าเล่น
หนึ่งในนักเตะที่ได้โอกาสคือ ซาลมา ปารายูเอโล กองหน้ามหัศจรรย์วัย 19 ปีที่ทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจมาโดยตลอด
นักเตะรุ่นใหม่ๆ ที่ได้รับโอกาสนี้เองที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นชุดใหม่แทนที่นักเตะกบฏกลุ่มเดิม
โดยที่ความพยายามในการประสานรอยร้าวมีแต่น้อยมาก เนื่องจากเบื้องหลังของวิลดาคือการที่ผู้อำนวยการเทคนิคของฟุตบอลหญิงสเปนคือ อังเคล วิลดา ผู้เป็นพ่อของเขาเอง ดังนั้นสิ่งที่นักเตะกบฏทั้ง 15+3 คนกำลังพยายามต่อสู้อยู่จึงเป็นการต่อสู้ที่แทบไม่มีทางชนะ
ในเมื่อคนที่มีอำนาจสูงสุดในการเลือกผู้เล่นคือพ่อของโค้ชผู้อื้อฉาว
สิ่งที่แย่ที่สุดคือการที่นักฟุตบอลที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาต้องตัดสินใจเลือก ระหว่างการยืนหยัดร่วมกับ ‘สหาย’ ทั้งหมด
กับการเลือกที่จะทำตามความฝันอย่างการแข่งขันฟุตบอลโลก
สุดท้าย Las 15 คนชุดดั้งเดิมมี 7 คนที่ตัดสินใจ ‘กลับคำ’ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่มีความพยายามในการพูดคุยปรับความเข้าใจกันและ RFEF มีการทำตามข้อเรียกร้องในเรื่องของการดูแลทีมให้ดีขึ้น แต่วิลดาจะยังเป็นโค้ชเหมือนเดิม
อีก 8 คนยืนยันที่จะทำตามคำพูดเดิม
ใน 7 คนนี้มีแค่ 3 คนที่วิลดาเรียกติดทีมชุดลุยฟุตบอลโลก ได้แก่ มารีโอนา กาลเดนเตย์, โอนา บัตเย และ ไอตานา บอนมาติ รวมถึงคนที่เป็น ‘Face’ หรือเป็นหน้าเป็นตาของทีมอย่าง อเลเซีย ปูเตยาส ซึ่งเอ็นเข่าขาดต้องพักยาว แต่เรียกความฟิตกลับมาติดทีมได้แม้ว่าจะแทบไม่ได้โอกาสในการลงสนามเลยก็ตาม
ไอตานา บอนมาติ (กลางภาพ) หนึ่งในนักเตะที่กลับคำและได้โอกาสมาเล่นฟุตบอลโลก
การตัดสินใจของวิลดาในการเลือกทีมเพื่อมาแข่งขันนั้นถูกตั้งคำถามจากโลกภายนอกไม่น้อยว่าเป็นการเลือกด้วยเหตุผลทางเกมกีฬา
หรือว่าเป็นการล้างแค้นส่วนตัว?
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือสเปนเล่นได้อย่างยอดเยี่ยมขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป พวกเธอผ่านด่านทีมแล้วทีมเล่าได้ด้วยการเล่นที่น่าประทับใจ
ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับลูกทีมยังมีเครื่องหมายคำถามอยู่มาก เพราะแม้สเปนจะทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในฟุตบอลโลกหนนี้ แต่ก็มีการจับสังเกตได้ถึงความตึงเครียดระหว่างผู้เล่นและตัวของเขาเองในหลายเหตุการณ์
หนึ่งในนั้นคือเกมที่สเปนเอาชนะเนเธอร์แลนด์ได้ในช่วงต่อเวลาพิเศษที่มีวิดีโอไวรัลเผยให้เห็นว่านักเตะสเปนเมินใส่ในจังหวะที่เขาพยายามจะเดินเข้าไปร่วมแสดงความยินดีด้วย
อย่างไรก็ดี ในวินาทีแห่งชัยชนะ เมื่อสเปนซึ่งเฉือนเอาชนะอังกฤษได้ด้วยสกอร์ 1-0 โดยได้ประตูจาก โอลกา คาร์โมนา ในช่วงครึ่งแรก – ซึ่งผู้ที่ทำแอสซิสต์ให้ก็คือกาลเดนเตย์ ส่วนบัตเยรับบทปราการหลังตัวแกร่ง และบอนมาติ อัจฉริยะลูกหนังที่เก่งไม่แพ้ อันเดรส อิเนียสตา คือตัวทำเกมคนสำคัญที่ได้รับรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมประจำการแข่งขัน – วิลดามีโอกาสได้ฉลองร่วมกับทีมด้วย
ฮอร์เก วิลดา ถูกจับโยนฉลองแชมป์โลก
และในช่วงหนึ่งหลังจบพิธีการอย่างเป็นทางการ เขาถูกลูกทีมช่วยกันจับแห่ก่อนโยนขึ้นกลางอากาศ ซึ่งเป็นภาพที่น่ารักและน่าประทับใจ ไม่ว่ามันจะเป็นเพราะความดีใจจากความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ หรือเป็นเพราะปัญหาคาใจที่เกิดขึ้นมันได้จบลงไปแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ดี ในช่วงของการเฉลิมฉลองของกลุ่มนักเตะสาวพลังคนรุ่นใหม่ของสเปนที่เดินไปขอบคุณแฟนๆ มีคนสังเกตว่าปูเตยาสและปาเรเดส สองนักเตะที่กลายเป็นรุ่นอาวุโสในทีมยืนกอดไหล่กันในสนาม
ปูเตยาสยังได้แลกเสื้อกับเฮอร์โมโซ (ซึ่งตกเป็นข่าวฉาวอีกเมื่อเธอถูกรูเบียเลส ประธาน RFEF จูบบนเวทีฉลองแชมป์) เพื่อเป็นที่ระลึก
ที่ระลึกของทั้งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ และช่วงเวลาที่มืดมนอนธการของวงการฟุตบอลหญิงสเปน
ซูเปอร์สตาร์สาวจากทีมบาร์เซโลนา ผู้พิชิตลูกฟุตบอลทองคำถึง 2 สมัยติดต่อกันหลั่งน้ำตาออกมา
ไม่มีใครรู้ว่าน้ำตาของเธอนั้นมีความหมายอย่างไรกันแน่
ระหว่างน้ำตาแห่งความปีติที่สเปนได้แชมป์ น้ำตาของความรู้สึกโล่งใจที่เธอและทีมได้สร้างแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ให้แก่เด็กสาวๆ ในบ้านเกิดที่จะเดินตามรอยเท้ามา น้ำตาให้แก่ตัวเองที่สามารถกลับมาจากอาการบาดเจ็บที่เป็นฝันร้ายและได้แชมป์ฟุตบอลโลกที่อาจเป็นการลงแข่งสมัยสุดท้ายของเธอ
หรือเป็นน้ำตาให้แก่เพื่อนๆ ที่เคยร่วมเล่นด้วยกันมา แต่ไม่อาจร่วมทางมาถึงจุดที่ฝันไว้ด้วยกัน
อ้างอิง:
- https://theathletic.com/4702578/2023/07/20/spain-womens-world-cup/?source=user_shared_article
- https://www.bbc.com/sport/football/66563205
- https://www.bbc.com/sport/football/63318717
- https://www.goal.com/en/news/jorge-vilda-booed-womens-world-cup-spain-mutiny/blt779afe1a1bf6aae6
- https://www.abc.net.au/news/2023-08-21/spain-women-world-cup-win-lays-bare-progress-problems/102753538