×

สเปนติดหล่มไร้รัฐบาล หวั่นซ้ำรอยสุญญากาศการเมืองปี 2015-2016 ฉุดรั้งเศรษฐกิจ

26.07.2023
  • LOADING...
สเปน

สถานการณ์ทางการเมืองของสเปนภายหลังจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีแนวโน้มจะกลายเป็นภาวะที่เรียกว่า ‘สภาแขวน’ หรือภาวะรัฐบาลเสียงข้างน้อย หลังจากที่พรรคชนะอันดับ 1 และ 2 จากขั้วฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย อาจไม่สามารถรวมเสียงได้มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ 

 

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สเปนเสี่ยงจะเจอภาวะทางตันทางการเมือง โดยในการเลือกตั้งเมื่อปี 2015 ก็เกิดสถานการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ ทำให้ต้องมีการจัดเลือกตั้งอีกรอบในปี 2016 กว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ 

 

ต้นตอของสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการแบ่งขั้วทางการเมืองที่รุนแรง ทำให้การเมืองสเปนตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมายังคง ‘ไร้เสถียรภาพ’ และสืบต่อจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแม้จะทราบผลการเลือกตั้งแล้ว แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะได้รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศอย่างราบรื่น

 

เกิดอะไรขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

  • การเลือกตั้งทั่วไปของสเปนเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ผู้ชนะอันดับ 1 คือพรรคพีเพิล (People’s Party: PP) หรือพรรคประชาชน ซึ่งเป็นขั้วอนุรักษนิยมกลาง-ขวา โดยคว้าเก้าอี้ ส.ส. ได้มากที่สุดจำนวน 136 ที่นั่ง 

 

  • แต่จำนวน ส.ส. ที่ได้ ยังไม่มากพอสำหรับจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในระบบสภารอง (Congress of Deputies) หรือสภาผู้แทนราษฎรของสเปน ที่มี ส.ส. ทั้งหมด 350 ที่นั่ง และมีแนวโน้มว่า แม้จะสามารถเจรจารวมเสียงจากพรรคฝ่ายขวาอย่างพรรคว็อกซ์ (Vox) ที่มี 33 ที่นั่งได้ ก็ได้เพียง 169 เสียง ซึ่งยังไม่เพียงพอ 

 

  • ในขณะที่พรรคชนะอันดับ 2 คือพรรคเปโซเอ (PSOE) หรือพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลชุดปัจจุบันของนายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชซ ได้ ส.ส. 122 ที่นั่ง ซึ่งจำนวนที่ตามหลังพรรคพีเพิลเพียง 14 ที่นั่ง ทำให้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นกัน 

 

  • แต่จำนวน ส.ส. ของพรรคเปโซเอ ที่แม้จะจับมือกับพันธมิตรพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายอย่างซูมาร์ (Sumar) ที่ได้ ส.ส. 31 ที่นั่ง และ 2 พรรคเล็กที่เหลือที่ได้ ส.ส. พรรคละ 7 ที่นั่ง ก็ยังไม่เพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากเช่นกัน 

 

  • สิ่งที่เกิดขึ้นมีความเป็นไปได้ว่าอาจจบลงในภาวะสภาแขวน ทำให้ทั้งสองพรรคต้องเร่งเจรจาเพื่อรวมเสียงให้ได้มากพอในการจัดตั้งรัฐบาล โดยคาดว่าอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าที่จะทราบว่าจะได้รัฐบาลใหม่ที่มีเสียงข้างมากและมีเสถียรภาพในการบริหารประเทศ หรือจะเผชิญความล้มเหลวและนำไปสู่ภาวะสภาแขวน

 

เลือกตั้งก่อนกำหนด

 

  • เดิมทีคาดว่าการเลือกตั้งทั่วไปของสเปนจะมีขึ้นหลังเดือนธันวาคมของปีนี้ แต่นายกรัฐมนตรีซานเชซได้ประกาศให้มีการจัดเลือกตั้งเร็วกว่าที่กำหนด ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากปฏิกิริยาของประชาชน ที่แสดงออกต่อผลงานการบริหารประเทศของพรรครัฐบาลเปโซเอในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

 

  • การประกาศจัดเลือกตั้งก่อนกำหนดของซานเชซนั้นเชื่อว่าเป็นเพราะหลายปัจจัยที่มีแนวโน้มจะเป็นประโยชน์ต่อพรรคเปโซเอ ซึ่งยังอยู่ในตำแหน่งรัฐบาล เนื่องจากสามารถเตรียมการล่วงหน้าและกำหนดวันเลือกตั้งได้ทุกเมื่อที่ต้องการ ซึ่งจะส่งผลให้พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคพีเพิล ไม่ทันตั้งตัวในการวางแผนหาเสียงเลือกตั้งและเจรจาจับมือเป็นพันธมิตรกับพรรคการเมืองอื่นๆ 

 

  • นอกจากนี้ยังเป็นการบีบ อัลแบร์โต นูเญซ เฟย์โฆโอ หัวหน้าพรรคพีเพิล ซึ่งมีแนวนโยบายอนุรักษนิยมสายกลาง ให้ต้องพยายามจับมือแบบไม่สะดวกใจกับพรรคฝ่ายขวาจัดอย่างพรรคว็อกซ์ 

 

เกิดอะไรขึ้นในช่วงเลือกตั้ง

 

  • ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายรายมองตรงกันว่า ซานเชซและพรรคเปโซเอจะตกเป็นรองในการเลือกตั้ง เนื่องจากแม้รัฐบาลภายใต้การนำของซานเชซจะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปด้วยดี อีกทั้งนโยบายทางสังคมอื่นๆ ก็ยังได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน แต่สำหรับตัวของซานเชซนั้นกลับไม่ได้รับความนิยมอย่างที่เขาหวังไว้

 

  • โดยพรรคการเมืองคู่แข่งประสบความสำเร็จในการเอากรณีความสัมพันธ์ของซานเชซกับพรรคการเมืองที่ถูกมองว่ามีวาระแบ่งแยกดินแดน มาเป็นอาวุธในการโจมตีเขา ขณะที่การคุมเข้มล็อกดาวน์ในช่วงโควิดก็ไม่ส่งผลดีต่อคะแนนนิยมของเขาเช่นกัน

 

  • ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนก่อนเลือกตั้งมองว่า พรรคพีเพิลจะได้ ส.ส. มากที่สุด แม้จะมีแนวโน้มที่อาจต้องจับมือตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคว็อกซ์ก็ตาม

 

  • แต่ผลการเลือกตั้งที่ออกมากลับไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยแม้พรรคพีเพิลจะได้ ส.ส. มากเป็นอันดับ 1 แต่ก็ไม่ได้ ‘ชนะขาด’ และไม่ได้มี ส.ส. มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างมาก เพราะพรรคว็อกซ์เองก็ทำผลงานได้แย่กว่าที่คาดไว้เช่นกัน

 

  • ในทางตรงกันข้าม พรรคเปโซเอของซานเชซทำผลงานได้ดีเกินคาด ด้วยจำนวน ส.ส. 122 ที่นั่ง เช่นเดียวกับพันธมิตรอย่างพรรคซูมาร์ที่ได้ ส.ส. 31 ที่นั่ง

 

  • ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่าสาเหตุที่พรรคพีเพิล ซึ่งมีฐานเสียงในขั้วอนุรักษนิยมสายกลาง ได้ ส.ส. ไม่เป็นไปตามเป้า เนื่องจากการที่ต้องจับมือกับพรรคขวาจัดอย่างว็อกซ์ ซึ่งมีแนวนโยบายอนุรักษนิยมสุดขั้ว ทั้งการต่อต้านผู้อพยพ, ต่อต้าน LGBTQIA+, ต่อต้านนโยบายรับมือภาวะโลกรวน และยังมีนโยบายชาตินิยมที่เข้มข้น

 

ผลกระทบหลังมีแนวโน้ม ‘สภาแขวน’

 

  • ตลาดหุ้นมีปฏิกิริยาตอบรับต่อผลเลือกตั้งในทางลบ โดยดัชนีหุ้น IBEX ของสเปน ร่วงลง 1.8% ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงเกือบ 3% ระหว่างซื้อ-ขายเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (24 กรกฎาคม)

 

  • ปาโบล การ์เซีย นักวิเคราะห์ของ AlphaValue ประเมินว่า ดัชนีหุ้นอาจร่วงลงอีก เนื่องจากนักลงทุนยังคงหวังให้มีการเจรจา เพื่อนำไปสู่ข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้สำเร็จ

 

  • “สิ่งที่เลวร้ายที่สุดอาจยังมาไม่ถึง นักลงทุนต่างชาติเป็นคนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นสเปน และถ้าไม่มีใครในบรรดาพรรคการเมืองหลักยอมรับความพ่ายแพ้ นั่นถือเป็นเรื่องร้ายแรงมาก”

 

  • แนวโน้มที่จะเกิดภาวะสภาแขวนยังสะท้อนไปถึงกิจกรรมทางธุรกิจในกลุ่ม Euro Zone หรือประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร ซึ่งพบว่ามีการชะลอตัวมากขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม

 

  • วอเตอร์ ธีรี นักเศรษฐศาสตร์จาก ING Group มองว่า ผลกระทบจากความไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้ง อาจชะลอหรือขัดขวางการดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจที่จำเป็นมาก และขัดขวางศักยภาพการเติบโตในระยะยาวของเศรษฐกิจสเปน

 

  • ขณะที่ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ดัชนีหุ้นด้านสาธารณูปโภคของสเปนร่วงลง 

 

  • โดยก่อนหน้านี้พรรคพีเพิลได้ให้คำมั่นในการหาเสียงว่า จะยืดอายุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปจากกรอบเวลาในการปิดการใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระหว่างปี 2027-2035 ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อรายได้จากสาธารณูปโภค

 

  • นอกจากนี้สถานการณ์ทางการเมืองของสเปนยังอาจส่งผลกระทบต่อสหภาพยุโรปด้วย เนื่องจากสเปนเพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ซึ่งมีวาระหมุนเวียน 6 เดือน และมีหน้าที่ออกกฎหมาย อาทิ กฎการคลังใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติ

 

จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้

 

  • แน่นอนว่าทั้งพรรคพีเพิลและเปโซเอต้องพยายามหาทางช่วงชิงที่นั่ง ส.ส. ด้วยการเจรจาจับมือเป็นพันธมิตรกับพรรคต่างๆ ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาไม่เกินวันที่ 17 สิงหาคมนี้ เนื่องจากสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปน จะทรงตรัสถามผู้นำของทั้งสองพรรคอย่างเป็นทางการว่า มีจำนวนที่นั่ง ส.ส. เพียงพอสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากหรือไม่ 

 

  • โดยหากทั้งสองพรรคไม่สามารถเจรจารวมเสียง ส.ส. ได้เกินกึ่งหนึ่ง หรือ 176 ที่นั่ง ก็จะส่งผลให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งอีกครั้งในช่วงปีนี้ภายหลังการยุบสภา

 

บทเรียนซ้ำรอยปี 2015

 

  • เมื่อมองย้อนกลับไปในการเลือกตั้งของสเปนเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2015 ถือเป็นครั้งแรกที่ยุคแห่งการครองอำนาจของสองพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคพีเพิลและเปโซเอสิ้นสุดลง เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจและกรณีอื้อฉาวเรื่องคอร์รัปชัน ทำให้ผลการเลือกตั้งปรากฏพรรคหน้าใหม่อย่างพรรคโปเดโมส (Podemos) ซึ่งเป็นพรรคซ้ายจัด และพรรคซิติเซน (Citizens Party) ฝ่ายกลาง-ขวา เข้ามาแย่งที่นั่ง ส.ส. และทำให้การชิงอำนาจของสองพรรคใหญ่ ตลอดจนการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลนั้นทำได้ยากและซับซ้อนขึ้น

 

  • ผลการเลือกตั้งในปี 2015 พรรคพีเพิลนำโดย มาเรียโน ราฮอย ชนะอันดับ 1 ด้วยที่นั่ง ส.ส. 123 ที่นั่ง ซึ่งน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 1989 ส่วนอันดับ 2 พรรคเปโซเอ ได้ 90 ที่นั่ง ขณะที่พรรคโปเดโมสคว้าอันดับ 3 ด้วยจำนวน ส.ส. 69 ที่นั่ง และพรรคซิติเซน 40 ที่นั่ง

 

  • เมื่อจำนวน ส.ส. ของสองพรรคใหญ่ได้น้อยลงมาก ความพยายามจัดตั้งรัฐบาลจึงยากลำบากขึ้น ท้ายที่สุดสเปนจึงเข้าสู่ภาวะ ‘สภาแขวน’ สองพรรคไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างมากได้ และนำไปสู่การจัดเลือกตั้งใหม่ในเดือนมิถุนายน ปี 2016 

 

  • ภาวะสุญญากาศทางการเมืองจากการไร้รัฐบาล เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสเปนชะลอตัวจาก 3.2% ในปี 2015 เหลือ 2.7% ในปี 2016 และกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสเปนจากภาวะถดถอยก่อนหน้านี้ โดยผู้ประกอบธุรกิจหลายรายต้องชะลอแผนการลงทุน เพื่อรอความชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่

 

  • ในการเลือกตั้งปี 2016 พรรคพีเพิลได้ ส.ส. มากขึ้นเป็น 137 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคเปโซเอได้ ส.ส. 85 ที่นั่ง น้อยที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งพรรค ส่วนโปเดโมสได้ 71 ที่นั่ง และพรรคซิติเซน 32 ที่นั่ง ซึ่งแม้จะรวมเสียงของพรรคฝ่ายขวาอย่างพีเพิลและซิติเซน แต่ก็ได้เพียง 169 ที่นั่ง และยังไม่มีฝ่ายใดสามารถรวมเสียงได้เพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก 

 

  • ความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้นักวิจารณ์หลายคนมองว่า อาจจำเป็นต้องมีการจัดเลือกตั้งใหม่เป็นครั้งที่ 3 

 

  • อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนที่เกิดขึ้นคือวิกฤตภายในพรรคเปโซเอ หลังเผชิญความถดถอยในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อเดือนกันยายน ปี 2016 ทำให้ซานเชซต้องพ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และหัวหน้าพรรคชั่วคราวเลือกที่จะงดเว้นแข่งจัดตั้งรัฐบาล เป็นผลให้พรรคพีเพิลได้ครองอำนาจรัฐบาล และราฮอยได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ในวันที่ 29 ตุลาคม 2016 ท่ามกลางเสียงประท้วงของประชาชนจำนวนมากที่ไม่พอใจต่อการยอมแพ้ของพรรคเปโซเอในการแข่งจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่ ส.ส. ในพรรคเปโซเอ 15 คนไม่ปฏิบัติตามทิศทางพรรค ด้วยการโหวตไม่เห็นชอบต่อการเป็นนายกรัฐมนตรีของราฮอย

 

  • อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของราฮอยอยู่ได้เพียง 20 เดือนจนถึงปี 2018 เนื่องจากเกิดกระแสต่อต้านกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในรัฐบาล ขณะที่ซานเชซได้รับเลือกกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคเปโซเออีกครั้ง และสามารถโค่นล้มรัฐบาลราฮอยได้ในการลงมติไม่ไว้วางใจ

 

ภาพ: Luis Soto / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising