×

สเปนจับกุมผู้นำชาวคาตาลัน เหตุอยากแยกตัวเป็นเอกราช ทีมบาร์เซโลนาแถลงการณ์ประณาม

21.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เจ้าหน้าที่อาวุโสและผู้นำท้องถิ่นเมืองกาตาลุญญากว่า 14 คนถูกจับกุม หลังพยายามผลักดันให้มีการจัดลงประชามติหยั่งเสียงขอแยกแคว้นกาตาลุญญาออกเป็นรัฐเอกราช (Independent State) จากสเปน ที่มีกำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคมนี้
  • สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา ทีมยักษ์ใหญ่จากลาลีกา สเปน ได้ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการขัดขวางเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

     มาเรียโน ราฮอย (Mariano Rajoy) นายกรัฐมนตรีของสเปน ให้สัมภาษณ์สื่อทางโทรทัศน์แห่งชาติเมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา (20 ก.ย.) ว่าเขาต้องการให้ผู้นำท้องถิ่นชาวคาตาลันยุติการปลุกปั่นและชักจูงให้พี่น้องประชาชนออกมาเดินประท้วงรัฐบาลที่พยายามจะยกเลิกและสั่งห้ามไม่ให้มีการจัดลงประชามติหยั่งเสียงขอแยกแคว้นกาตาลุญญาเป็นรัฐเอกราชจากสเปน พร้อมกันนี้ยังกล่าวว่า “อย่าเดินหน้าต่อไปเลย ขอให้กลับมาสู่หลักกฎหมายและความเป็นประชาธิปไตย การจัดลงประชามติคือความเพ้อฝันที่ไม่อาจจะเกิดขึ้นจริง”

 

 

     นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลได้บุกจู่โจมไปยังสำนักงานของรัฐบาลท้องถิ่นคาตาลัน พร้อมจับกุมเจ้าหน้าที่อาวุโสและผู้นำท้องถิ่นกว่า 14 คน หนึ่งในจำนวนนั้นคือ โฆเซป มาเรีย โฆเบ (Josep Maria Jové) ผู้เชี่ยวชาญด้านงานเศรษฐกิจ และยูอิส ซัลบาโด (Lluis Salvado) ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีคนสำคัญของกาตาลุญญารวมอยู่ด้วย ซึ่งปฏิบัติการที่เกิดขึ้นคือส่วนหนึ่งของมาตรการในการยับยั้งการจัดลงประชามติที่จะจัดขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

 

 

การเมืองสเปนกำลังกลับสู่ความมืดมนอีกครั้ง?

     การ์เลส ปิกเดมองต์ (Carles Puigdemont) ประธานาธิบดีของรัฐบาลท้องถิ่นกาตาลุญญาให้ความเห็นว่า การบุกค้นที่เกิดขึ้นเป็นความร่วมมือจากหลายฝ่าย สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลที่กรุงมาดริดพยายามจะลิดรอนสิทธิในการปกครองตนเองของชาวคาตาลันที่มีอยู่เดิม ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหนึ่งในวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 40 ปี หลังจากที่ระบอบเผด็จการในสเปนล่มสลายลงและกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย

     ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ทำการยึดใบปลิวกว่า 1.5 ล้านใบที่เตรียมจะแจกจ่ายให้พี่น้องชาวคาตาลันออกมาร่วมลงประชามติขอแยกตัวเป็นเอกราชในครั้งนี้ พร้อมหลักฐานของผู้นำท้องถิ่นที่ร่วมผลักดันให้จัดการลงประชามติ

 

 

     หลังจากที่ข่าวการจับกุมผู้นำท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่อาวุโสชาวคาตาลันถูกเผยแพร่ออกไป ประชาชนกว่า 5,000 คนต่างออกมาชุมนุมประท้วงบริเวณกรันเบีย หนึ่งในย่านที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองบาร์เซโลนา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้นำเหล่านั้น พร้อมยุติการใช้ความรุนแรงกับพี่น้องประชาชนชาวคาตาลัน

     โดยนายราฮอยได้ออกมาเน้นย้ำว่า ความพยายามที่จะผลักดันให้มีการจัดลงประชามติขึ้นในต้นเดือนตุลาคมนี้ของชาวคาตาลันเป็นการละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 1978 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ พร้อมกับกล่าวว่า “ตามหลักการแล้ว รัฐจำเป็นต้องตอบโต้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่มีประเทศประชาธิปไตยประเทศไหนในโลกที่จะยอมรับสิ่งที่ประชาชนกลุ่มนี้กำลังพยายามผลักดันและเรียกร้องได้ เราได้เตือนพวกเขาแล้ว และพวกเขารู้ดีว่าการลงประชามติในครั้งนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้”

     ทางด้าน อัลฟองโซ ดาสติส (Alfonso Dastis) นักการทูตสเปน ให้สัมภาษณ์ผ่าน Bloomberg ว่า “การลงประชามติไม่ได้สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยเสมอไป ในสมัยรัฐบาลเผด็จการของนายพลฟรังโกเองก็มีการจัดลงประชามติถึง 2 ครั้ง”

     ผลสำรวจความคิดเห็นชาวคาตาลันล่าสุดพบว่า ประชาชนชาวคาตาลันมากกว่า 70% เห็นชอบและสนับสนุนการจัดลงประชามติในครั้งนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากผลสำรวจเมื่อ 2 เดือนก่อนกว่า 30%

 

 

สัญลักษณ์ความขัดแย้งทางการเมืองบนสนามฟุตบอล

     ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ร้อนระอุ สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาจากกาตาลุญญา ได้ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการขัดขวางเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยยืนยันว่าทางสโมสรจะยืนข้างประวัติศาสตร์เพื่อปกป้องประชาธิปไตย อิสรภาพทางความคิด และประณามผู้ใดก็ตามที่ขัดขวางสิทธิเหล่านี้

     โดยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเกมการเมืองของสเปนเคยนำเอากีฬามาใช้เป็นเครื่องมือเชิงสัญลักษณ์แล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของฟุตบอลนัดพิเศษที่ได้ฉายาว่า เอลกลาซีโก (El Clásico) ระหว่างสองสโมสรยักษ์ใหญ่ เรอัล มาดริด จากเมืองหลวงมาดริด และบาร์เซโลนา จากรัฐกาตาลุญญา

 

 

     ความขัดแย้งในศึกเอลกลาซีโกที่เราเห็นผ่านการถ่ายทอดสดฟุตบอลตามช่องทางต่างๆ มีจุดเริ่มต้นที่โหดร้าย แต่ต้องย้อนไปไกลถึงสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยที่นายพลฟรานซิสโก ฟรังโก อดีตผู้นำเผด็จการของสเปน มีเป้าหมายต้องการสร้างชาติให้เป็นหนึ่งด้วยการรวมแคว้นต่างๆ ในประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

     แต่ในระหว่างการสร้างชาติ นายพลฟรังโกได้กดขี่ข่มเหงประชาชนและละเมิดสิทธิต่างๆ จนเมื่อปี 1936 กีฬาก็ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เมื่อหนึ่งในทหารของนายพลฟรังโกได้ลอบสังหารโฆเซป ซูโยล อดีตประธานสโมสรของบาร์เซโลนา และหลังจากนั้นสโมสรบาร์เซโลนาก็ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของรัฐบาล

     ตรงกันข้าม บรรยากาศการแข่งขันในช่วงนั้น สโมสรเรอัล มาดริด ทีมจากเมืองหลวงในขณะนั้นประสบความสำเร็จมากจนทำให้แฟนกีฬาทั่วประเทศตั้งฉายาให้เรอัล มาดริดว่า ‘ทีมรัฐบาล’ (The Establishment Club) เนื่องจากมีหลายฝ่ายเชื่อว่ารัฐบาลของนายพลฟรังโกพยายามทำทุกอย่างให้เรอัล มาดริดได้แชมป์ เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่าทีมจากเมืองหลวงของสเปนมีอำนาจเหนือทีมจากรัฐอื่นๆ

 

 

     แต่หลังจากนั้นไม่นาน ชุดผู้บริหารของสโมสรบาร์เซโลนาที่ได้รับอิทธิพลจากรัฐบาลของนายพลฟรังโกก็ทนรับแรงกดดันไม่ไหวและลาออกจากตำแหน่ง บาร์เซโลนาจึงได้อิสรภาพอีกครั้ง แม้จะไม่ใช่ทางการเมือง แต่สำหรับวงการกีฬาถือว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

 

 

     จากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในครั้งนั้น ทำให้สโมสรบาร์เซโลนาขึ้นชื่อว่าเป็น ‘The Rebellious Club’ ขณะที่เรอัล มาดริด ได้ฉายาว่าเป็นสโมสรอนุรักษนิยม นำมาสู่การพบกันของทั้งสองทีมที่ได้ฉายาว่าเอลกลาซีโก จนถึงทุกวันนี้กลายเป็นฟุตบอลแมตช์ที่แฟนบอลทั่วโลกรอคอย เนื่องจากประวัติศาสตร์การเมืองและอิสรภาพถูกเดิมพันบนสนามฟุตบอลมาแล้วหลายครั้ง

     ท้ายที่สุดต้องมาจับตาดูกันว่า คำถามมากมายที่ถูกตั้งขึ้นในสังคมสเปนที่เกี่ยวข้องกับความแตกต่างทางเชื้อชาติ อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมนี้จะมี ‘บทสรุป’ อย่างไร?

     ซึ่งหากการลงประชามติเกิดขึ้นจริง 1 ตุลาคมนี้คงได้รู้กัน!!

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising