×

รู้จัก ‘Starlink’ บริการอินเทอร์เน็ตจากดาวเทียมโดย ‘อีลอน มัสก์’ ที่เปิดให้จองแล้วในราคา 3,000 บาท และมีแผน IPO

11.02.2021
  • LOADING...
Starlink

ไม่นานมานี้ ในอุตสาหกรรมด้านการบินและอวกาศ เรามักจะได้ยินใครหลายคนพูดถึงประเด็นการให้บริการ ‘อินเทอร์เน็ตดาวเทียม’ ควบคู่ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและเที่ยวบินอวกาศเชิงพาณิชย์อยู่เสมอๆ

 

และในเร็วๆ นี้เราก็น่าจะมีโอกาสได้ลองใช้งานการเชื่อมต่อผ่านเจ้าอินเทอร์เน็ตที่ว่าแล้ว เมื่อ อีลอน มัสก์ นักธุรกิจมากความสามารถ ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจบริการดังกล่าวเริ่มจองใช้งาน ‘Starlink’ อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมได้ในราคา 99 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,000 บาท

 

แล้ว Starlink คืออะไร แตกต่างหรือคล้ายคลึงกับ ‘อินเทอร์เน็ต’ ที่เราใช้งานกันในทุกวันนี้มากน้อยแค่ไหน มันจะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้ว อีลอน มัสก์ มองแผนระยะยาวกับมันไว้อย่างไรบ้าง?

 

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจก่อนว่า Starlink คืออีกหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ของ SpaceX บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง (เพื่อประหยัดต้นทุนการเดินทางสู่อวกาศ) ที่ อีลอน มัสก์ ตั้งขึ้นมา โดยใช้ศักยภาพของ SpaceX ในการติดตั้งดาวเทียมทั้งหมดของ Starlink อีกทอดหนึ่งนั่นแหละ

 

เป้าหมายของ Starlink คือการให้บริการอินเทอร์เน็ตจากดาวเทียม โดยข้อแตกต่างของอินเทอร์เน็ต Starlink คือการที่ดาวเทียมของมันจะโคจรในวงรอบที่ต่ำมากๆ (Low Earth orbit) ถือเป็นระดับวงโคจรที่ต่ำกว่าดาวเทียมทั่วๆ ไปที่เราใช้งานกันในปัจจุบันมากกว่า 60 เท่าตัว

 

เพราะฉะนั้นมัสก์จึงชูจุดเด่นของการที่อินเทอร์เน็ตดาวเทียม Starlink จะให้สปีดดาวน์โหลดของอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วมากๆ ควบคู่ไปกับความหน่วงต่ำที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีเยี่ยม น่าประทับใจ 

 

สำคัญที่สุดคือบริการอินเทอร์เน็ต Starlink จะช่วยให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างไร้ข้อจำกัดด้วยราคาที่ถูก (แนวคิดของมัสก์) ไม่ว่าพวกเขาจะอาศัยหรือว่าใช้ชีวิตอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม ซึ่งเป็นการพังทลายเพนพอยต์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เกิดขึ้นกับมวลมนุษยชาติมาเนิ่นนาน นับตั้งแต่ที่เราได้รู้จักกับนวัตกรรมอินเทอร์เน็ต (รายงานกว่า 50% ของประชากรโลก ณ วันนี้ยังประสบปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต)

 

แต่ข้อเสียก็มีเหมือนกัน เพราะเป็นอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อสัญญาณกับตัวหน้าจานดาวเทียมโดยตรง Starlink จึงแนะนำให้ผู้ใช้งานหลีกเลี่ยงการหันหน้าจานในทิศทางที่จะมีวัตถุหรือสิ่งของใดๆ มาบังสัญญาณซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับคุณภาพการเชื่อมต่อได้ ตัวอย่างเช่น หากบริเวณหน้าจานดาวเทียมถูกปกคลุมด้วยหิมะหนาแน่น มีฝนตกหนัก หรือเจอพายุลมแรง ก็อาจจะทำให้สปีดดาวน์โหลดลดลง ไปจนถึงไม่สามารถเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้

 

โดยตั้งแต่ตุลาคม 2020 มัสก์ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจได้เข้ารวมโครงการทดสอบใช้งานอินเทอร์เน็ต Starlink ในระดับเบตากับผู้ใช้งานในสหรัฐฯ และบางประเทศแล้ว และหากนับจนถึงปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ 2021: 4 เดือน) ก็มีการเปิดเผยกันว่ามีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของ Starlink ที่ยอมจ่ายค่าบริการมากกว่า 99 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 3,000 บาทต่อเดือนมากกว่า 10,000 คนทั่วโลก (ค่าอุปกรณ์ Starlink Kit สำหรับติดตั้งเพื่อเชื่อมต่อการใช้งานอีกราว 15,000 บาท)

 

ขณะที่จากการเปิดเผยของ Starlink และ SpaceX ระบุว่า ในช่วงการทดสอบให้บริการแบบเบตานี้ อินเทอร์เน็ตของ Starlink จะให้อัตราสปีดดาวน์โหลดอยู่ที่ 50-150 Mb/s และมีระดับความหน่วงต่ำที่ประมาณ 20-40 ms ซึ่งระหว่างนี้ทาง Starlink จะดำเนินการปล่อยดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรอย่างต่อเนื่อง และปรับปรุงระบบให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้บริการความเร็วอินเทอร์เน็ตและความหน่วงต่ำที่พัฒนาให้ดีกว่าเดิมในทุกๆ วัน

 

ที่น่าสนใจก็คือ ตอนนี้ Starlink ได้เปิดให้ผู้ใช้งานทั่วไปๆ อย่างเราที่สนใจบริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมวงโคจรต่ำรูปแบบนี้สามารถจองใช้บริการล่วงหน้าได้แล้ว สนนราคาค่าจองใช้บริการที่ 99 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,000 บาท โดยเบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่า Starlink น่าจะพร้อมให้บริการครอบคลุมประเทศไทยในช่วงราวปี 2022 หรือภายในปีหน้านี้ (กำหนดการมาจากการตรวจเช็กรายละเอียดในหน้าเว็บไซต์บริษัท https://www.starlink.com/: การวางเงินจองมัดจำไม่ได้การันตีว่าเราจะได้รับบริการอย่างแน่นอน แต่สามารถทำเรื่องรีฟันด์คืนเงินได้)

 

คำถามที่น่าสนใจก็คือ มัสก์ตั้งความหวังไว้มากน้อยแค่ไหน หรือมองเห็นอนาคตของ Starlink ไว้อย่างไร?

 

ในแง่หนึ่ง บริการอินเทอร์เน็ตของ Starlink อาจจะกลายเป็นเกมเชนเจอร์ที่พลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมบริการอินเทอร์เน็ตโลกไปพอสมควร เพราะถือเป็นการดิสรัปต์อุปสรรคการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในโลกทุกวันนี้ที่ผู้ให้บริการเดิมในตลาดยังไม่สามารถทำได้ รวมถึงการตั้งกลยุทธ์เป้าหมายสปีดดาวน์โหลดที่ 10Gbps ซึ่งจะเร็วกว่าอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ของผู้ให้บริการในปัจจุบันด้วยซ้ำ 

 

ขณะเดียวกันเมื่อมีผู้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น นั่นก็หมายความว่า โอกาสการเพิ่มรายได้และมูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลก็จะเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนไปในทิศทางเดียวกันด้วยเช่นกัน บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเจ้าต่างๆ จะมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และอาจจะทำให้เราได้เห็น ‘โอกาส’ และช่องว่างใหม่ๆ ในตลาดนี้เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างมหาศาล

 

แน่นอนว่าโปรเจกต์ในครั้งนี้ของอีลอน มัสก์ และ Starlink ไม่ได้เป็นเพียงแค่โปรเจกต์ขายฝันอีกแล้ว เนื่องจากจะมีผู้คน ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมอีกหลายเซกเตอร์ที่จะได้รับประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ (ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอาจจะต้องปรับตัวด้วย) ซึ่งหากนับจนถึงวันนี้ (11 กุมภาพันธ์) Starlink ได้ปล่อยดาวเทียมสู่วงโคจรแล้วมากถึงกว่า 1,000 ดวง 

 

และภายในปี 2024 หรืออีก 3 ปีต่อจากนี้ พวกเขาตั้งเป้าจะปล่อยดาวเทียมสำหรับการให้บริการอินเทอร์เน็ตดังกล่าวเพิ่มเป็น 4,425 ดวง ซึ่งเพื่อจะไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น Starlink ยังคงเดินหน้าปล่อยดาวเทียมออกสู่วงโคจรอย่างต่อเนื่องในแต่ละเฟสภายใต้การปฏิบัติภารกิจโดย SpaceX ซึ่งภายในวันศุกร์นี้ก็เตรียมปล่อยเพิ่มอีก 60 ดวง 

 

ส่วนเป้าหมายสูงสุดของ Starlink คือการปล่อยดาวเทียมสู่วงโคจรให้ครบ 42,000 ดวงให้ได้ ซึ่งหาก อีลอน มัสก์ สามารถติดตั้งดาวเทียมในวงโคจรรอบต่ำด้วยจำนวนเกือบครึ่งแสนดวงได้จริง เป้าหมายการให้บริการอินเทอร์เน็ตจากดาวเทียมครอบคลุมทั่วทั้งโลกก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพียงแต่ ณ ปัจจุบัน (ย้อนกลับไป 2 ปีที่แล้ว) คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ (FCC) เพิ่งจะอนุมัติให้พวกเขาสามารถปล่อยดาวเทียมได้ทั้งหมดรวมที่ 11,943 ดวงเท่านั้น (8,000 ดวงจะโคจรเหนือโลก 500 กิโลเมตร อีก 400 ดวงโคจรสูงขึ้นไปอีก 1,200 กิโลเมตร)

 

ไม่เพียงเท่านั้น ในมุมมองเชิงธุรกิจ มัสก์ยังมองไกลถึงการที่จะพา Starlink จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สวมหมวกการเป็น ‘บริษัทมหาชน’ อีกด้วย ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ เขาได้ออกมายืนยันด้วยตัวเองว่าจะต้องรอให้ ‘กระแสเงินสด’ ของบริษัทเป็นตัวเลขที่เขาและผู้บริหารสามารถคาดเดาได้เสียก่อน หรือในอีกนัยหนึ่งคือต้องรอให้ธุรกิจของบริษัทรับรู้รายจ่าย รายรับ มีจำนวนผู้ใช้งานที่ชัดเจน และมีความนิ่งมากกว่านี้เสียก่อน แล้วเมื่อถึงเวลานั้นเขาก็พร้อมจะพา Starlink เข้า IPO ทันที

 

ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานที่ เกว็น ช็อตเวล (Gwynne Shotwell) ประธานบริษัท SpaceX เคยบอกเอาไว้เมื่อปีที่แล้วว่า Starlink มีคุณสมบัติในเชิงการดำเนินธุรกิจที่ครบถ้วนเหมาะสมทุกประการในการที่จะผันตัวเอง สปินออฟไปสู่การเป็นบริษัทมหาชน

 

ทั้งนี้ย้อนกลับไปในปี 2019 อีลอน มัสก์เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยบอกว่าตัวเขาเองเชื่อว่า Starlink จะต้องสร้างรายได้ต่อปีได้มากถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 10 เท่าจากรายรับของธุรกิจหลักของบริษัท SpaceX ด้วยซ้ำไป

 

และหากเรานำข้อมูลจากรายงานผลวิจัยคาดการณ์ Big Ideas 2021 โดยกองทุนชื่อดัง ARK Investment มาประเมินร่วมด้วย ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าปัจจุบันมูลค่าของโอกาสในการให้บริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมกับผู้คนที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้จะอยู่ที่ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และใน ‘ระยะกลาง’ ศักยภาพของตลาดนี้ก็มีโอกาสจะขยับขึ้นไปสู่มูลค่าทั้งตลาดที่ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีได้ไม่ยากเลย

 

สิ่งเหล่านี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า อีลอน มัสก์ตั้งใจและตั้งความหวังไว้มากแค่ไหนกับ Starlink

 

อนาคตกำลังจะเปลี่ยนเร็วขึ้นๆ ในทุกๆ เสี้ยววินาที ไม่เว้นแม้แต่เทคโนโลยีอย่างอินเทอร์เน็ตที่ทำให้คุณกำลังเข้าถึงบทความนี้ได้ ณ เวลานี้ ซึ่งก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน  

 

คำถามสำคัญในเวลานี้จึงไม่ได้อยู่เพียงแค่ว่า Starkink จะให้บริการความเร็วในการดาวน์โหลดอินเทอร์เน็ตได้ที่ระดับเท่าไร มีเสถียรภาพมากพอหรือเปล่า แต่รวมถึงคำถามที่ว่า ‘คุณมองเห็นโอกาสอะไรจากความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้’ และพร้อมจะขยับไปเปลี่ยนให้โอกาสนั้นกลายเป็นความสำเร็จและรายได้เชิงธุรกิจมากน้อยแค่ไหน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising