SpaceX ประสบความสำเร็จในการทดสอบปล่อยจรวดยักษ์ Falcon Heavy ที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้มนุษย์โลกได้กลับสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารอีกครั้ง หลังห่างหายไปเกือบ 46 ปีเต็ม
วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อเวลา 15:45 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา บริษัท SpaceX ประสบความสำเร็จกับการปฏิบัติภารกิจปล่อย Falcon Heavy จรวดที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก ณ เวลานี้ขึ้นจากจุดปล่อยเพื่อทดสอบการทำงานของตัวจรวด บูสเตอร์ และระบบการทำงานอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนการทดสอบได้ผ่านไปจนถึงด่านสุดท้ายที่ต้องส่งรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ‘Tesla Roadster’ พร้อมหุ่นคนขับ Starman ไปให้ถึงดาวอังคารแล้ว
แม้ขั้นตอนการนำจรวด Falcon Heavy ออกจากจุดปล่อย Complex 39A (LC-39A) ศูนย์อวกาศเคนเนดี (NASA Kennedy Space Center) รัฐฟลอริดา จะล่าช้าเกินกว่ากำหนดการในตอนต้นมาเกือบ 2 ชั่วโมง 45 นาที (เดิมตั้งเป้าจะปล่อยจรวดเวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น) ด้วยสาเหตุด้านสภาพแวดล้อมที่ไม่อำนวย แต่ที่สุดแล้ว Falcon Heavy ก็ไม่ทำให้ SpaceX อีลอน มัสก์ และมวลมนุษยชาติผู้หวังจะได้เห็นมนุษย์กลับไปสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารอีกครั้งต้องผิดหวัง
ด้านบูสเตอร์ขนาบข้างตัวจรวด 2 ส่วนก็ลงจอดบนผืนโลกบริเวณ LZ-1 และ LZ-2 ใกล้แหลมคานาเวอรัลได้อย่างไร้ปัญหา มีเพียงแค่บูสเตอร์ส่วนกลางเท่านั้นที่ SpaceX รายงานว่าไม่สามารถลงจอดบน Droneship ลอยน้ำกลางมหาสมุทรที่ใช้ชื่อเก๋ๆ ว่า ‘แน่นอน ผมยังรักคุณอยู่’ (Of Course I Still Love You) ได้สำเร็จ โดยคาดว่ามันน่าจะตกลงบนผืนน้ำในอาณาบริเวณใกล้เคียงด้วยความเร็ว 300 ไมล์ต่อชั่วโมง (SpaceX ยังไม่ยืนยันรายละเอียดอย่างเป็นทางการ)
ฝั่งองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ‘นาซา’ ในฐานะพาร์ตเนอร์ที่ให้ความช่วยเหลือ SpaceX ในการปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ก็ได้ออกมาแสดงความยินดีกับบริษัทและอีลอน มัสก์ ที่เจ้า Falcon Heavy สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างราบรื่น
โรเบิร์ต ไลต์ฟุต หนึ่งในผู้บริหารของนาซา กล่าวว่า “พวกเราทุกคนในวงการนี้ (เทคโนโลยีอวกาศ) รู้ถึงความพยายามในเที่ยวบินแรกของทุกๆ ยานพาหนะลำใหม่ แล้วก็รับรู้ถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในวันนี้ที่เราได้เป็นประจักษ์พยาน
“ผมภูมิใจกับความขยันขันแข็งของทีมนาซาที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างมาก การได้เห็น Falcon Heavy พุ่งขึ้นเหนือจุดปล่อยประวัติศาสตร์คือข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนถึงความพยายามในการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพื้นฐานของจุดปล่อยพาหนะทางอวกาศของชาติให้สนับสนุนอุตสาหกรรมการปล่อยพาหนะทางอวกาศเชิงพาณิชย์”
และเมื่อ Falcon Heavy สามารถปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จ ก็เท่ากับว่าภารกิจเดินทางกลับไปสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารอีกครั้งของมนุษย์โลกด้วยงบประมาณดำเนินการที่ถูกลงก็ไม่ใช่แค่ฝันที่ไกลเกินจริงอีกต่อไป หลังจากภารกิจครั้งสำรวจดวงจันทร์ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 1972 (อพอลโล 17)
อ้างอิง: