บนท้องฟ้าที่ดูมืดมิดและช่างว่างเปล่า แท้จริงแล้วกลับเต็มไปด้วยพลังงานบางอย่างที่เราไม่อาจมองเห็น และนักดาราศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายพฤติกรรมของสิ่งเหล่านี้ได้…
เมื่อเวลา 22:12 น. ของวันที่ 1 กรกฎาคม จรวด Falcon 9 ของบริษัท SpaceX ได้ทะยานขึ้นจากฐานปล่อย SLC-40 ของแหลมคานาเวอรัล พร้อมกับยาน ‘ยูคลิด’ (Euclid) ขององค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ออกเดินทางไปทำแผนที่ 3 มิติของจักรวาลอย่างคมชัด พร้อมกับสำรวจพลังงานมืด สสารมืด และผลกระทบที่มีต่อจักรวาลในองค์รวม
ยานยูคลิดมาพร้อมกับอุปกรณ์สำรวจที่สำคัญ 2 ตัว ได้แก่ VIS หรือกล้องถ่ายภาพในช่วงที่ตามองเห็น สามารถบันทึกรูปของกาแล็กซีได้ด้วยความละเอียดสูง 600 เมกะพิกเซล หรือเทียบเท่าความละเอียดของจอภาพ 4K จำนวน 70 จอ กับอุปกรณ์ NISP ที่ใช้สำรวจในย่านอินฟราเรดใกล้ เพื่อทำแผนที่สามมิติของเอกภพที่มีความละเอียดมากที่สุดในประวัติศาสตร์
ภารกิจของยูคลิดนั้นถูกวางไว้เบื้องต้นเป็นระยะเวลา 6 ปี พร้อมความสามารถในการต่อขยายได้ตามความเหมาะสม โดยยานอยู่ระหว่างการเดินทางไปเข้าวงโคจร L2 หรือจุด Lagrange ระหว่างโลก-ดวงอาทิตย์ แบบเดียวกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ที่จะใช้เวลารวมประมาณ 1 เดือน พร้อมกับช่วงเวลาอีก 3 เดือนเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของกล้อง ก่อนจะเริ่มภารกิจการสำรวจพื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ของท้องฟ้า เพื่อทำความเข้าใจพลังงานมืดและสสารมืด ซึ่งนับเป็นองค์ประกอบของมวลมากกว่า 95% ของเอกภพ
นักดาราศาสตร์คาดว่าสสารมืดมีอยู่มากถึง 25% ของเอกภพ ในขณะที่พลังงานมืดนั้นเป็น 70% ของเอกภพ ซึ่งไม่อาจมองเห็นได้เหมือนเหล่าดวงดาว กาแล็กซี และอื่นๆ ที่ประกอบเป็นเพียง 5% ของเอกภพทั้งหมด แต่นักดาราศาสตร์สามารถใช้ข้อมูลจากยูคลิดเพื่อดูอัตราการขยายตัวของจักรวาลและโครงสร้างของเอกภพ เพื่อทำความเข้าใจถึงคุณลักษณะและพฤติกรรมของทั้งสสารมืดและพลังงานมืดได้เพิ่มเติม
ข้อมูลชุดแรกจากยานยูคลิดจะถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะในปี 2025 ตามด้วยชุดต่อมาในปี 2027 และ 2030 พร้อมกับการถ่ายภาพดาราจักรต่างๆ มากกว่า 12,000 ล้านแห่ง ด้วยคุณภาพที่เทียบเคียงกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ซึ่งอาจเป็น ‘ขุมทรัพย์ทองคำสำหรับดาราศาสตร์ทุกแขนงในอีกหลายทศวรรษ’ จากความเห็นของ ดร.แยนนิก เมลเลียร์ นักดาราศาสตร์ Institut d’Astrophysique de Paris ในงานแถลงข่าวก่อนปล่อยยาน
อ้างอิง: