หลังการสิ้นสุดของโครงการกระสวยอวกาศในเดือนกรกฎาคม 2554 เป็นต้นมา นับเป็นเวลานานกว่า 9 ปีที่ทางองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ NASA ของสหรัฐฯ จำเป็นต้องอาศัยการซื้อที่นั่งในยานโซยูซของรัสเซียในการส่งทีมนักบินอวกาศของตนสู่สถานีอวกาศนานาชาติอย่างไม่มีทางเลือก จวบจนกระทั่งเช้านี้ วันเวลาที่ต้องพึ่งพาชาติคู่แข่งก็สิ้นสุดลง
จรวด Falcon 9 ของ SpaceX นำยานลูกเรือดรากอน (Crew Dragon) พร้อมนักบินอวกาศจำนวน 4 นายในเที่ยวบินปฐมฤกษ์ Crew-1 พุ่งทะยานจากฐานปล่อยหมายเลข LC-39A ศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา 07.27 น. ตามเวลาในประเทศไทย ขึ้นสู่วงโคจรตามกำหนดเวลา
ยานลูกเรือดรากอนลำนี้ มีชื่อเรียกเฉพาะที่ตั้งขึ้นตามธรรมเนียมจากการโหวดของทีมลูกเรือว่า “Resilience” เป็นผลงานทางเทคโนโลยีล่าสุดของบริษัท SpaceX ที่เข้ามารับช่วงการรับส่งนักบินอวกาศอเมริกันไปและกลับจากสถานีอวกาศจาก NASA ในราคาต่อที่นั่งที่ถูกกว่ายานโซยูซค่อนข้างมาก นั่นคือเพียง 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อที่นั่ง เทียบกับ 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อที่นั่งของฝั่งรัสเซีย และที่สำคัญคือได้การออกเดินทางไปและกลับจากแผ่นดินตนเอง ทำให้ประหยัดเวลา และยังสามารถรักษาข้อมูลข่าวสารที่อาจเป็นความลับของฝั่งตนได้ด้วย
ตามแผนการเดินทางครั้งนี้ หากไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ ยาน “Resilience” จะไปถึงสถานีอวกาศนานาชาติราว 11.00 น. ของวันที่ 17 พฤศจิกายน ตามเวลาในประเทศไทย เพื่อเข้าเทียบท่า (Docking) ที่จุดต่อเชื่อม Harmony Forward ของสถานีอวกาศ จากนั้นนักบินอวกาศทั้ง 4 นาย ซึ่งทั้งหมดเป็นสมาชิกทีมหลังของคณะสำรวจที่ 64 (Expedition 64) ก็จะเข้าไปสมทบกับสมาชิกทีมแรกของคณะนี้อีก 3 นาย ที่เวลานี้ประจำการอยู่ก่อนแล้วบนสถานี
นักบินอวกาศทั้ง 4 นายที่เดินทางไปกับยานในเที่ยวบินปฐมฤกษ์นี้ได้แก่ ไมเคิล เอส ฮอปกินส์ (Michael S. Hopkins) จาก NASA ทำหน้าที่เป็นผู้บังคับการเที่ยวบินร่วมกับผู้เชี่ยวชาญประจำภารกิจอีก 3 นาย คือ วิกเตอร์ เจ. โกลเวอร์ (Victor J. Glover) และแชนนอน วอล์กเกอร์ (Shannon Walker) รวมทั้ง โซอิชิ โนกูชิ (野口 聡一) จากองค์การอวกาศญี่ปุ่น (JAXA)
นักบินอวกาศทั้ง 4 นายจะอยู่ประจำการจนถึงเดือนพฤษภาคม 2564 โดยก่อนหน้านั้นหนึ่งเดือน นักบินอวกาศชาวรัสเซีย 3 นายจากทีมแรกของคณะสำรวจที่ 65 จะเดินทางด้วยยานโซยูซ เอ็มเอส-18 ขึ้นมาสมทบ จากนั้นนักบินอวกาศ 3 นายเดิมจากทีมแรกของคณะสำรวจที่ 64 ก็จะเดินทางกลับโลก โดยจะมอบให้ทีมของฮอปกินส์ ซึ่งเป็นทีมหลังของคณะสำรวจที่ 64 รับช่วงเป็นผู้นำภารกิจต่อไป
เที่ยวบินปฐมฤกษ์ Crew-1 นี้ถือเป็นก้าวสำคัญของ NASA ในภารกิจสำรวจอวกาศยุคใหม่ และนับเป็นครั้งแรกที่นักบินอวกาศสหรัฐฯ เดินทางไปกับยานอวกาศของบริษัทเอกชนอย่างเป็นทางการ นอกจาก SpaceX แล้ว ทาง NASA ยังทำสัญญากับบริษัท Boeing ด้วย เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันทั้งด้านราคาและคุณภาพ โดยในระหว่างนี้ ยานสตาร์ไลเนอร์ของโบอิ้งยังไม่ผ่านการทดสอบครบทุกขั้นตอน ยานลูกเรือดรากอนของ SpaceX จึงได้ชื่อเป็นเที่ยวบินแรกนำหน้าไปก่อน
ไม่เพียงแต่ชาวอเมริกันที่ตื่นเต้นกับการที่ยานอวกาศได้กลับมาออกเดินทางจากแผ่นดินแม่อีกครั้ง ชาวไทยเราเองก็ได้คว้าโอกาสสำคัญครั้งประวัติศาสตร์นี้ไว้ด้วย ในโครงการ Asian Herb in Space (AHiS) นั่นคือการส่งต้นโหระพาและราชพฤกษ์ไปกับยานดรากอนเที่ยวบิน Crew-1 นี้ด้วย
โครงการ AHiS นี้เป็นผลงานของ Kibo Utilization initiative (Kibo-ABC) ภายใต้การดูแลของ JAXA ที่มีแนวคิดที่จะทดลองส่งพืชสมุนไพรของประเทศต่างๆ ในเอเชียขึ้นไปปลูกให้เติบโตในสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำ และทาง สวทช. ของไทยร่วมกับ ม.มหิดล ก็เป็นหนึ่งในผู้รับเลือกในโครงการนี้
ทางหน่วยงานร่วมได้เลือกต้นโหระพาซึ่งเป็นพืชที่คนไทยรู้จักกันดีมาเป็นพืชที่จะใช้ในการทดลองครั้งนี้ โดยมีชุดทดลองจากแหล่งที่มาเดียวกัน แจกจ่ายไปยังโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยต่างๆ ที่สนใจไปพร้อมกันด้วย เพื่อเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของโหระพาที่มีอายุเท่ากันในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน คือบนโลกและบนอวกาศ ถือเป็นการทดลองที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเกี่ยวกับการมองหาแหล่งอาหารสำหรับโครงการอวกาศในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีการส่งเมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำชาติของไทยขึ้นไปกับยานดรากอนในเที่ยวบิน Crew-1 นี้ด้วย ซึ่งคล้ายกับธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยยานอพอลโล ที่ทาง NASA จะแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ต้นไม้ใหญ่จากอวกาศไปปลูกตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐฯ ครั้งนี้ก็เช่นกัน ทางหน่วยงานร่วมมีแผนที่จะแจกจ่าย “เมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์อวกาศ” นี้ไปปลูกตามสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อเป็นการสร้างความตื่นตัวให้แก่เยาวชน นักวิจัย และสาธารณชน เกี่ยวกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ ใครจะรู้ว่าในอนาคต ประเทศไทยของเราอาจมีบุคลากรที่ทรงคุณค่าทางด้านอวกาศเกิดขึ้นมากมายจากแรงบันดาลใจครั้งนี้ก็ได้
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: