×

‘ทัวร์อวกาศ’ ส่อเพิ่มมลพิษ นักวิทย์ฯ ทั่วโลกห่วงกระทบสิ่งแวดล้อม ทำลายชั้นบรรยากาศโลก

19.07.2021
  • LOADING...
ทัวร์อวกาศ

แม้จะเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมและทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ของอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นั่นคือการเดินทางท่องเที่ยวอวกาศ แต่ทว่าบรรดานักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงนักเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน ต่างออกโรงเตือนว่า อุตสาหกรรมเที่ยวนอกโลกนี้อาจได้ไม่คุ้มเสีย เมื่อการเดินทางแต่ละครั้งใช้พลังงานมหาศาลและมีการเผาไหม้ที่ก่อให้เกิดก๊าซพิษ อาทิ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่จะทำลายชั้นบรรยากาศโลกและเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนพื้นโลก เพราะไม่มีการป้องกันรังสีจากนอกโลก

 

ความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ มีขึ้นหลังจากที่ ริชาร์ด แบรนสัน แห่ง Virgin Galactic ประสบความสำเร็จในการเป็นบริษัทเอกชนที่ผลิตยานอวกาศเพื่อเดินทางท่องเที่ยวอวกาศเป็นคนแรกของโลกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงจะมีมหาเศรษฐีนักธุรกิจอย่าง เจฟฟ์ เบโซส์ ผู้ก่อตั้ง Amazon และ Blue Origin ที่จะไปเที่ยวอวกาศในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ และเจ้าพ่อ Tesla อย่าง อีลอน มัสก์ ที่มีกำหนดเดินทางเยือนอวกาศในเดือนกันยายน

 

แนวโน้มความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะได้เที่ยวอวกาศ ลองสัมผัสสภาวะไร้น้ำหนักในอนาคตอันใกล้ สร้างความหวาดวิตกให้นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม เหตุเพราะการเดินทางในแต่ละครั้ง กระบวนการเผาไหม้ดังกล่าวจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มหาศาล ยิ่งในช่วงที่ต้องใช้แรงส่งในการดีดตัวขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ก็ยิ่งเป็นการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) ที่มีความสูงห่างจากพื้นดิน 30-50 กิโลเมตร และมีโอโซนปกคลุมโดยตรง ส่งผลให้โอโซนที่มีความเปราะบางอยู่แล้วมีโอกาสได้รับความเสียหายมากขึ้นและเร็วขึ้น

 

ขณะที่ SpaceX ของมัสก์ที่จะใช้จรวด Falcon 9 ในการเดินทาง จะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเที่ยวบินข้ามแอตแลนติก (Transatlantic) จำนวน 395 เที่ยวบิน

 

แน่นอนว่าสถานการณ์ในปัจจุบัน การปล่อยจรวดแต่ละครั้งอาจไม่มีผลต่อชั้นบรรยากาศมากนักเพราะมีไม่บ่อย แต่ถ้าหากในอนาคตมีความสะดวกมากขึ้น ทำให้การเดินทางทำได้บ่อยขึ้น โดยแบรนสันเคยระบุว่า ตั้งเป้าไว้ที่ 400 ทริปต่อปี เช่นนี้ ชั้นโอโซนและชั้นบรรยากาศโลกย่อมได้รับความเสียหายอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แน่นอน

 

ทั้งนี้ มีการประเมินว่าการปล่อยจรวด 6 ที่นั่งของ Virgin Galactic มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 4.5 ตันต่อผู้โดยสารหนึ่งคน ซึ่งเป็นปริมาณเทียบเท่ากับการขับรถยนต์รอบโลก และมากกว่า 2 เท่า ที่บุคคลคนหนึ่งได้รับอนุญาตให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในข้อตกลงปารีส

 

อย่างไรก็ตาม ทาง Virgin Galactic แย้งว่า ทางบริษัทมีมาตรการชดเชยเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระหว่างการทดสอบ ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางท่องอวกาศในอนาคตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

ด้านต้นสังกัดอย่าง Blue Origin ของเบโซส์ หรือ SpaceX ของมัสก์ ต่างก็ออกมาแย้งว่า ทางบริษัทสร้างยานอวกาศโดยคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เห็นได้จากกรณีของ Blue Origin ที่ใช้พลังงานจากออกซิเจนเหลวและไฮโดรเจนเหลว ซึ่งสามารถระเหยเป็นน้ำเป็นหลัก แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งก็แย้งว่า การใช้พลังงานดังกล่าวไม่ใช่พลังงานสะอาดโดยทั้งหมด เพราะอย่างน้อยระบบดังกล่าวยังต้องใช้พลังงานไฟฟ้าค่อนข้างมหาศาลในการผลิตออกซิเจนเหลวหรือไฮโดรเจนเหลวอยู่ดี

 

ทั้งนี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์สรุปว่า ไม่ได้มีเจตนาขัดขวางการพัฒนาการเดินทางท่องเที่ยวอวกาศ เพียงแต่ต้องการให้บริษัทเหล่านี้คำนึงถึงผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศให้มากขึ้น ลดการปล่อยมลพิษ หันมาใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อทำให้อุตสาหกรรมใหม่ของโลกสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising