×

Space Race: จับตาการแข่งขันด้านอวกาศปี 2023 ประเทศไหนมีโครงการน่าสนใจบ้าง

โดย Mr.Vop
20.12.2022
  • LOADING...

การแข่งขันด้านอวกาศเป็นที่สนใจของนานาชาติ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจเสมอมา เพราะมันบ่งบอกถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่จะกลายมาเป็น ‘บารมี’ และ ‘เครดิต’ ให้ชาติอื่นเกรงใจ โดยเฉพาะชาติที่เป็นคู่ขัดแย้งกัน

 

ไปสำรวจดูว่าในปี 2023 มีโครงการด้านอวกาศอะไรบ้างที่น่าจับตา

 

 

ในปี 2023 ทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีโครงการอวกาศใหม่ๆ ที่ออกมาแข่งขันกันอย่างน่าสนใจ เริ่มจากบริษัท SpaceX ของมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ ที่จะมี 2 โครงการใหญ่เป็นจุดเด่นของปีออกมาให้ตื่นเต้นกัน 

 

โครงการแรกคือ ‘โพลาริส ดอว์น’ ที่จะส่งชาวอเมริกันที่เป็นบุคคลธรรมดา 4 คน ชาย 2 หญิง 2 ขึ้นไปโคจรรอบโลกเป็นเวลานาน 5 วันกับยานลูกเรือดรากอน 

 

ส่วนโครงการที่ 2 ก้าวไปไกลกว่านั้นมาก นั่นคือส่งมหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่น คือ ยูซากุ มาเอซาวา” (前澤 友作) พร้อมผู้โดยสารที่ได้รับการคัดเลือกเป็นพิเศษอีก 6-8 คน ไปโคจรรอบดวงจันทร์กับยานอวกาศ ‘สตาร์ชิป’ ซึ่งถือเป็นยานอวกาศในฝันที่เป็นลูกรักของอีลอน มัสก์ โดยทาง SpaceX ตั้งชื่อโครงการนี้ไว้อย่างน่ารักว่า Dear Moon 

 

 

ทาง NASA เองซึ่งเป็นภาครัฐก็จะมีการส่งยาน ‘ไซคี’ เดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยโลหะที่มีชื่อเดียวกับตัวยานนั่นคือ ‘16 Psyche’ เหตุที่เลือกดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ก็เพราะเป็นที่สนใจของผู้ติดตามข่าวมาระยะหนึ่งแล้ว ด้วยการที่มันถูกวิเคราะห์เอาไว้ว่า น่าจะมีองค์ประกอบเป็นโลหะมีค่าเกือบทั้งดวง นักวิทยาศาสตร์บางรายจินตนาการไปไกลถึงขั้นว่าอาจพบแร่ทองคำปริมาณมหาศาลที่นั่นเลยทีเดียว และการส่งยานไปสำรวจของ NASA ก็เหมือนจะไปจับจองดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ก่อนใครๆ

 

 

ทางฝั่งองค์การอวกาศยุโรปหรือ ESA ก็ไม่น้อยหน้า กระโดดเข้าร่วมการแข่งขันด้วยการเดินทางระยะไกลตรงสู่ดาวพฤหัสบดีกับโครงการ JUpiter ICy moons Explorer ที่เอาชื่อย่อของโครงการนั่นคือ ‘JUICE’ มาตั้งเป็นชื่อยาน โครงการนี้เป็นโครงการ 8 ปีที่เน้นไปที่การสำรวจชีวิตต่างภพ ที่อาจเป็นจุลชีพภายใต้ชั้นน้ำแข็งของดวงจันทร์ในกลุ่มกาลิเลียนของดาวพฤหัสบดีทั้ง 3 ดวง อันได้แก่ ดวงจันทร์แกนีมีด ดวงจันทร์คัลลิสโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งดวงจันทร์ยูโรปา ที่ประเมินกันว่าน่าจะมีโอกาสพบสิ่งมีชีวิตในน้ำทะเลที่ยังคงไหลไปมาใต้ชั้นน้ำแข็งของดวงจันทร์ดวงนี้ มากกว่าสถานีที่แห่งใดในระบบสุริยะนอกจากโลกของเรา

 

 

แน่นอนว่าทางองค์การอวกาศจีนหรือ CASC ก็ไม่น้อยหน้าในสนามแข่งขันนี้ หลังจากที่ระดมส่งโมดูลต่างๆ ขึ้นไปประกอบ และต่อเชื่อมกับสถานีอวกาศเทียนกงจนเสร็จสมบูรณ์ไปแล้วในปี 2022 พอเข้าสู่ปี 2023 ทางจีนจะมีการส่งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ขึ้นไปติดตั้งเพิ่มเติม และเมื่อถึงปลายปี 2023 จีนวางแผนไว้ว่าจะปล่อยยานอวกาศลำสำคัญนั่นคือ กล้องโทรทรรศน์อวกาศ ‘ฉวินเทียน’ (巡天) ในความหมายถึง ‘ผู้เฝ้าระวังแห่งฟากฟ้า’ ซึ่งจะใช้เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศหลักในการสำรวจอวกาศของจีน ที่จะรู้จักกันในชื่อสากลว่า CSST (Chinese Survey Space Telescope)

 

กล้องตัวนี้จะติดตั้งกระจกปฐมภูมิขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตร (6.6 ฟุต) ที่คาดว่าจะมีขอบเขตการมองเห็นห้วงอวกาศระดับลึก ที่ใหญ่กว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลของ NASA ไม่น้อยกว่า 300 เท่า โดยขั้นต้นจีนจะส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวนี้ขึ้นไปต่อเชื่อมกับสถานีอวกาศเทียนกงเอาไว้ก่อน จนพร้อมจะแยกตัวออกปฏิบัติหน้าที่จริงในปี 2024

 

ถัดจากมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ด้านอวกาศ ก็มาถึงมหาอำนาจหน้าใหม่ในด้านนี้อย่างประเทศอินเดีย ที่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 จะมีการส่งยาน ‘อาทิตย์’ (आदित्य) ขึ้นไปสู่วงโคจร ยานลำนี้จะทำหน้าที่หลักในการสังเกตการณ์ปฏิกิริยาต่างๆ ของดวงอาทิตย์ตามชื่อของยาน โดยจะถูกส่งไปโคจรที่จุดสมดุลแรงโน้มถ่วงที่ 1 หรือ Lagrange Point L1 เพื่อให้ตัวยานหันหน้าหาดวงอาทิตย์ตลอดเวลา โดยไม่ต้องใช้พลังงานใดๆ ในการทรงตัว เพื่อให้สามารถถ่ายภาพพร้อมตรวจวัดค่าต่างๆ ในชั้นบรรยากาศโคโรนาของดวงอาทิตย์ได้ทุกเวลาที่ต้องการ ทางองค์การอวกาศอินเดียหรือ ISRO ยังได้ติดตั้งเครื่องมือวัดสนามแม่เหล็ก และปริมาณรังสีเอ็กซ์เอาไว้ด้วย เพื่อจับปฏิกิริยาของจุดมืดต่างๆ ในวัฏจักรสุริยะปัจจุบัน

 

 

นอกจากยานสำรวจดวงอาทิตย์แล้ว ทาง ISRO ยังจะทำสิ่งที่เรียกว่า ‘ลบรอยแค้น’ นั่นคือการแก้ตัวจากความล้มเหลวในนาทีสุดท้าย ระหว่างการลงจอดบนดวงจันทร์ของ ‘จันทรายาน-2’ เมื่อปี 2019 โดยในช่วงกลางปี 2023 ทาง ISRO มีแผนการจะส่งยานฝาแฝด ‘จันทรายาน-3’ ไปทำหน้าที่นี้ และหวังความสำเร็จไว้ค่อนข้างมาก ยานแลนเดอร์ ‘จันทรายาน-3’ จะถูกตัดส่วนของยานโคจรออกไป และแก้ไขเครื่องยนต์ขับดันระหว่างการลงจอดของยานแลนเดอร์อีกเล็กน้อย ในลำตัวยานแลนเดอร์ยังมีการออกแบบให้เก็บยานโรเวอร์ขนาดเล็กไว้ตามแบบเดิมของยานฝาแฝดรุ่นพี่ หากยานสามารถลงจอดได้สำเร็จ ก็จะมีการปล่อยโรเวอร์ติดล้อออกมาวิ่งสำรวจผิวดวงจันทร์ตามแผนการที่วางเอาไว้

 

 

บริษัทเอกชนระดับสตาร์ทอัพ ก็มีหลายแห่งที่ต้องการจะมีผลงานในปี 2023 เช่นกัน แม้ว่าผลสำเร็จอาจมีโอกาสไม่สูงเท่าบริษัทขนาดใหญ่ หรือภาครัฐของประเทศมหาอำนาจทางอวกาศทั้งหลาย ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Intuitive Machines ที่ชนะการประกวดสัญญากับทาง NASA ก็มีแผนที่จะส่งยาน Nova-C Lander ไปลงจอดที่บริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์ เพื่อส่งข้อมูลกลับสู่โลกด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ของ NASA ที่ติดตั้งไปกับตัวยาน ข้อมูลเหล่านี้ทาง NASA จะใช้เป็นประโยชน์ในโครงการนำมนุษย์กลับสู่ดวงจันทร์ หรืออาร์ทิมิสในอนาคต อีกรายก็คือบริษัท Astrobotic Technology ที่ได้รับทุนจาก NASA เช่นกัน บริษัทนี้มีแผนจะส่งยาน ‘เพเรกริน 1’ ไปลงจอดบนดวงจันทร์ในเดือนมีนาคม 2023 ก่อน จากนั้นก็จะรอนำทุนจาก NASA ก้อนต่อไปเพื่อนำไปใช้ในการสร้าง และนำยานโรเวอร์ ‘ไวเปอร์’ ไปวิ่งบนดวงจันทร์ในปีถัดไปนั่นคือ 2024

 

ข้างต้นคือโครงการอวกาศเด่นๆ ที่จะมีการแข่งขันกันในปี 2023 แน่นอนว่ายังมีโครงการอวกาศเล็กใหญ่อีกจำนวนหนึ่งที่จะออกเดินทางสู่วงโคจรโลกในปีเดียวกัน ทั้งการสำรวจและทดลองยานรูปแบบใหม่ๆ เช่น การทดสอบการกลับเข้าชั้นบรรยากาศโลกของเยอรมนีและฝรั่งเศสในโครงการ ‘บิกินี’ การส่งดาวเทียมสื่อสาร รวมทั้งการส่งดาวเทียมสำรวจผิวโลกของประเทศต่างๆ เช่น ดาวเทียมสื่อสาร ‘นาฮิด’ ของอิหร่าน ดาวเทียมเฝ้าระวังไฟป่า FOREST-2 ของเยอรมนี นอกจากนี้ก็จะเป็นเรื่องภารกิจการส่งกำลังบำรุงตามวงรอบ เช่น การส่งยาน ‘เสินโจว-6’ ไปเติมเสบียงสถานีอวกาศจีน การส่งยานดรากอน ซิกนัส และยานโปรเกรสไปเติมเสบียง รวมทั้งการส่งมนุษย์อวกาศทีมใหม่ นั่นคือ Expedition 68/69 ไปสับเปลี่ยนหน้าที่ในการประจำการบนสถานีอวกาศนานาชาติ ส่วนที่ยังไม่ยืนยันว่าจะเดินทางในปี 2023 หรือเลื่อนการเดินทางออกไป คือแผนงานขององค์การอวกาศญี่ปุ่นหรือ JAXA ที่จะส่งยาน SLIM หรือ Smart Lander for Investigating Moon ไปลงจอดบนดวงจันทร์

 

การแข่งขันทางด้านอวกาศเป็นที่สนใจของนานาชาติเสมอมา เพราะมันบ่งบอกถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่จะกลายมาเป็น ‘บารมี’ และ ‘เครดิต’ ให้ชาติอื่นเกรงใจ โดยเฉพาะชาติที่เป็นคู่ขัดแย้งกัน

 

และนี่คือภาพรวมโครงการด้านอวกาศที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า แน่นอนว่าการแข่งขันของมหาอำนาจทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ทั้งภาครัฐและเอกชนจะเข้มข้นดุเดือด เพื่อช่วงชิงพื้นที่ในห้วงอวกาศอันกว้างใหญ่ ผลงานจะเป็นอย่างไร ผู้อ่านสามารถติดตามความคืบหน้าของโครงการสำคัญๆ ได้ทางทวิตเตอร์ เช่น โครงการ Polaris Dawn ที่ @polarisprogram โครงการ Dear Moon ที่ @dearmoonproject โครงการไซคีของ NASA ที่ @missiontopsyche โครงการ JUICE ของ ESA ที่ @esa_juice 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising