×

SPAC คืออะไร ทำความรู้จักการเข้าตลาดหุ้นแบบใหม่ ไม่ต้องง้อ IPO!

14.02.2021
  • LOADING...
SPAC คืออะไร ทำความรู้จักการเข้าตลาดหุ้นแบบใหม่ ไม่ต้องง้อ IPO!

ปกติแล้วเวลานึกถึงบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ร้อยทั้งร้อยต้องนึกถึงวิธีอย่าง IPO (Initial Public Offering) แต่ปัจจุบันนี้มีอีกวิธีหนึ่งที่กำลังมาแรงและเป็นที่นิยมของเหล่าบริษัทสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ นั่นก็คือ SPAC

 

รายละเอียดของ SPAC เป็นอย่างไร แล้วต่างจากการ IPO ทั่วไปอย่างไร

 

SPAC คืออะไร


1. SPAC (Special Purpose Acquisition Company) คือบริษัทที่สร้างขึ้นมาเพื่อระดมเงินทุนไปซื้อบริษัทอื่น จะบอกว่า SPAC เป็นเพียงบริษัท ‘เปลือก’ ก็ได้ เพราะภายในบริษัทนั้นไม่ได้ทำกิจการอะไรเหมือนบริษัททั่วไป ไม่ได้ขายสินค้า ขายบริการ หรือขายอะไรทั้งสิ้น สินทรัพย์เพียงอย่างเดียวของ SPAC ก็คือเงินระดมทุนที่ได้จากการ IPO ตัวมันเองเท่านั้น ซึ่งโดยปกติแล้วราคา IPO จะอยู่ที่ 10 ดอลลาร์ต่อหุ้น

 

2. ส่วนใหญ่แล้วเจ้าของของ SPAC มักจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ชื่อดัง เช่น นักลงทุนจากสถาบันต่างๆ นักลงทุนจากวอลล์สตรีท หรือแม้กระทั่งซีอีโอดังๆ อย่าง ริชาร์ด แบรนสัน นั่นก็เพราะว่าเราไม่มีทางรู้เลยว่า SPAC จะไปลงทุนในบริษัทแบบไหน เมื่อไม่รู้อะไรล่วงหน้าแบบนี้ ทางเดียวที่จะทำให้เราเชื่อมั่นได้ก็คือบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง SPAC นั่นล่ะ ต้องเป็นคนที่มีชื่อเสียง มีประวัติความสำเร็จมาแล้ว

 

3. เมื่อ SPAC ทำการระดมทุนผ่าน IPO ตัวเองเรียบร้อยแล้ว กลายเป็นบริษัทมหาชนเรียบร้อยแล้ว เงินทุนเหล่านั้นก็จะไปค้างอยู่ในบัญชีทรัสต์ กินดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอบริษัทเอกชนดีๆ เจ๋งๆ ที่ทีมบริหาร SPAC เห็นว่าน่าลงทุน น่านำเข้าตลาดหลักทรัพย์ เมื่อเจอปุ๊บ SPAC ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนก็จะเข้าซื้อกิจการนั้นๆ ทำให้บริษัทดังกล่าวกลายเป็นบริษัทมหาชนด้วยเช่นกัน

 

4. เมื่อเหล่าผู้บริหาร SPAC เห็นตรงกันว่าเข้าซื้อกิจการนี้กันเถอะ หลังจากการเข้าซื้อกิจการเรียบร้อยแล้ว เหล่านักลงทุนใน SPAC สามารถเลือกได้ว่าจะแลกหุ้น SPAC เป็นหุ้นบริษัทที่เพิ่งไปซื้อมา หรือจะขายหุ้น SPAC พร้อมดอกเบี้ยที่ได้รับระหว่างรอหาบริษัทก็ได้ โดยส่วนใหญ่แล้ว SPAC จะได้ถือครองหุ้น 20% ของบริษัทที่ตนเพิ่งไปซื้อมา

 

5. แต่ก็ไม่ใช่ว่า SPAC จะสามารถนั่งรอคอยดีลดีๆ ไปตราบนานเท่านาน เพราะโดยปกติแล้ว SPAC จะต้องเจอเดดไลน์ว่าต้องหาบริษัทที่จะซื้อให้เจอภายในเวลาเท่าไร (โดยส่วนใหญ่ประมาณ 2 ปีหลัง IPO) ถ้าไม่สามารถหาได้ตามเวลากำหนด SPAC นั้นๆ ก็จะสลายร่าง ปิดตัวลง เหล่านักลงทุนก็จะได้รับเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย แยกย้ายกันไปตามทางของแต่ละคน

 

ตัวอย่างสถิติและบริษัทที่จดทะเบียนผ่าน SPAC

 

1. ในปี 2020 นั้นมีบริษัทที่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ผ่าน SPAC เป็นจำนวนประมาณ 200 บริษัท! โดยทั้งหมดทั้งมวลแล้วสามารถระดมเงินเพิ่มขึ้นได้ถึง 6.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เรียกว่าสูสีกับมูลค่าจากการ IPO ทั้งปีเลยทีเดียว

 

2. แค่ในเดือนมกราคม 2021 เพียงเดือนเดียว เหล่า SPAC ก็รวบรวมเงินทุนจากการขายหุ้นได้เกือบ 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ในขณะที่ปี 2019 ทั้งปีนั้นระดมทุนได้เพียง 1.36 หมื่นล้านดอลลาร์ และในปี 2018 ทั้งปีนั้นระดมทุนได้เพียง 1.08 หมื่นล้านดอลลาร์

 

3. บริษัทที่มีชื่อเสียงซึ่งเคยผ่านการควบรวมกับ SPAC แล้วก็คือ Virgin Galactic บริษัททัวร์อวกาศของ ริชาร์ด แบรนสัน ที่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก โดยระดมทุนได้ 450 ล้านดอลลาร์จากการควบรวมกับ SPAC นามว่า Social Capital Hedosophia ซึ่งมีเจ้าของเป็นอดีตพนักงาน Facebook อย่าง ชามัท พาลีหปิติยา ผู้ถือหุ้นดั้งเดิมของ Virgin Galactic รวมถึง ริชาร์ด แบรนสัน เองนั้นจะถือสัดส่วนหุ้นทั้งหมดที่ 59% ของบริษัทใหม่ที่เปลี่ยนชื่อเป็น Virgin Galactic Holdings

 

4. Nikola บริษัทผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและไฮโดรเจนก็เข้าตลาดหุ้น Nasdaq ผ่านการควบรวมกับ SPAC นามว่า VectoIQ Acquisition ในปี 2020

 

5. ในปี 2012 Burger King ร้านเบอร์เกอร์เจ้าดังก็เข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กผ่านการควบรวมกับ SPAC อย่าง Justice Holdings ที่หนุนหลังโดยผู้จัดการเฮดฟันจ์อย่าง บิล แอคแมน โดยระดมทุนได้ 1.4 พันล้านดอลลาร์

 

6. บริษัทที่ทำธุรกิจพนันกีฬาอย่าง DraftKings และบริษัทให้บริการแพลตฟอร์มด้านการพนันอย่าง SBTech ก็เข้าตลาดหลักทรัพย์ผ่านการควบรวมกับ SPAC อย่าง Diamond Eagle Acquisition Corp. ที่ก่อตั้งในปี 2019 และกลายเป็น SPAC เต็มตัวในเดือนธันวาคม ปี 2019

 

7. ในปี 2021 นี้ บริษัทที่เตรียมแผนควบรวมกับ SPAC ก็มี Butterfly Network บริษัทผลิตเครื่องมืออัลตราซาวด์แบบพกพา โดยมีผู้หนุนหลังอย่าง บิล เกตส์ (มูลค่าบริษัท 1.5 พันล้านดอลลาร์) และบริษัทสตาร์ทอัพด้านการตรวจสอบดีเอ็นเออย่าง 23andMe (มูลค่าบริษัท 4 พันล้านดอลลาร์) นอกจากนี้ก็ยังมีบริษัทสื่ออย่าง BuzzFeed, Vice Media, Bustle Media Group ฯลฯ ที่อาจจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ผ่าน SPAC ในปีนี้เช่นกัน

 

ทำไมจู่ๆ SPAC ก็ได้รับความนิยม

 

1. จริงๆ แล้ววิธีการแบบ SPAC นี้มีมานานแล้วตั้งแต่ช่วงปี 1990 โดยปกติจะถือเป็นที่พึ่งสุดท้ายของบริษัทที่มีปัญหากับการระดมทุน ไม่ว่าจะผ่าน IPO หรือผ่านการควบรวมกับบริษัทอื่นๆ แต่พักหลังมานี้ที่ได้รับความนิยมเพิ่มเติมก็เป็นเพราะสภาพตลาดที่ผันผวนเหลือเกิน ไม่ใช่จากสาเหตุอะไรที่ไหน ก็จากวิกฤตโควิด-19 นั่นล่ะ เพราะหลายๆ บริษัทก็ไม่อยากเสี่ยงไป IPO ในช่วงที่ตลาดไม่ดี

 

2. เมื่อเทียบกับ IPO แล้ว SPAC ระดมทุนให้บริษัทได้เร็วกว่า สามารถเสร็จสิ้นกระบวนการได้ภายในไม่กี่เดือนเท่านั้น ในขณะที่ IPO อาจจะต้องใช้ระยะเวลายาวนานถึง 1-2 ปี ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงระบบบัญชีตามมาตรฐาน การให้ Investment Banker มาช่วยประเมินมูลค่า การทำโรดโชว์พบปะนักลงทุนสถาบัน ฯลฯ

 

3. สำหรับบริษัท SPAC ก็ดูเป็นดีลที่น่าสนใจกว่า เพราะมันเป็นการตกลงราคากันเอง ต่างฝ่ายต่างพอใจกับราคาที่ได้รับ ไม่ต้องอิงกับภาวะตลาดมากนัก ถ้าตลาดไม่ดีก็ไม่ได้ส่งผลกับการควบรวมผ่าน SPAC เท่าไรนัก

 

สุดท้ายแล้ว ความเสี่ยงของ SPAC มีอะไรบ้าง

 

1. เห็น SPAC ง่ายกว่า IPO แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า SPAC พร้อมลงทุนในทุกๆ กิจการ เขาก็เลือกเหมือนกัน ดังนั้นเหล่าบริษัทเอกชนก็ต้องเจอความเสี่ยงว่าอาจไม่ต้องตาต้องใจ SPAC เช่นกัน

 

2. ในฝั่งของนักลงทุนที่นำเงินไปลงทุนใน SPAC นั้นก็มีความเสี่ยง เพราะตัวเองไม่รู้เลยว่าเงินนั้นจะถูกนำไปลงทุนในอะไร

 

3. และแม้ว่ากระบวนการของ SPAC นั้นจะมีความโปร่งใส แต่อดีตซีอีโอ Goldman Sachs อย่าง ลอยด์ แบลงก์ไฟน์ ได้กล่าวไว้ว่ากระบวนการตรวจสอบของวิธีการแบบ SPAC นั้นก็ยังไม่เข้มข้นละเอียดเท่าการ IPO ปกติ

 

4. นอกจากนี้แบลงก์ไฟน์ยังบอกอีกว่าเพราะ SPAC ต้องหาบริษัทลงทุนให้ได้ภายใน 2 ปี ดังนั้นพวกเขาอาจจะรีบร้อนคว้าบริษัทสักแห่งมาโดยไม่สนใจว่าจะแพงเกินไปหรือเปล่า หรือบริษัทนั้นเป็นบริษัทที่ดีจริงไหม

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X