×

S&P Global Ratings ยืนยันยังไม่คิดดาวน์เกรดเครดิตเรตติ้งไทย แม้รัฐบาลเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต

14.06.2024
  • LOADING...

วานนี้ (13 มิถุนายน) Kim Eng Tan, Managing Director, Sovereign Ratings, Asia-Pacific ของ S&P Global Ratings กล่าวว่า ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใดที่มีนัยสำคัญ ที่จะทำให้ S&P ต้องปรับอันดับเครดิตประเทศไทย พร้อมระบุว่า อันดับเครดิตเรตติ้งของรัฐบาลไทยที่ BBB+ ในปัจจุบัน ยังมีพื้นที่เพียงพอในการรองรับหนี้ที่สูงขึ้น

 

“เรายังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทย (Sovereign Credit Rating) ไว้ที่ BBB+ และคงมุมมองไว้ที่มีเสถียรภาพ (Stable) นั่นหมายความว่าเราไม่คิดว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้เราต้องเปลี่ยนอันดับความน่าเชื่อถือ” Kim Eng Tan ระบุในงาน S&P Global Ratings and TRIS Rating Thailand Credit Spotlight

 

โดย Kim Eng Tan ยังมองว่า รัฐบาลไทยค่อนข้างมีความรอบคอบ เมื่อเทียบกับประเทศ (Sovereign) อื่นๆ เห็นได้จากการขาดดุลงบประมาณ (Budget Deficit) ของไทยที่ไม่สูงเท่ากับประเทศหลายแห่งที่ S&P Global Rating มีการจัดอันดับ

 

ทั้งนี้ ตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 รัฐบาลคาดว่าในปีงบประมาณ 2567-2571 ไทยจะขาดดุลงบประมาณ 4.3%, 4.5%, 3.5%, 3.3% และ 3.1% ต่อ GDP ตามลำดับ

 

S&P มีความเห็นต่อดิจิทัลวอลเล็ตอย่างไร?

 

สำหรับมุมมองต่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณราว 5 แสนล้านบาท และอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ดันให้ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยไปเฉียด 68.9% ในปี 2570 ตามแผนการคลังระยะปานกลาง (MTFF)

 

Kim Eng Tan มองว่าดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นโครงการที่ดีได้ หากรัฐบาลดำเนินโครงการนี้โดยไม่ทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสถานะการคลังของประเทศ และความยั่งยืนทางการคลัง

 

อย่างไรก็ตาม Kim Eng Tan ตั้งข้อสังเกตว่า เศรษฐกิจไทยที่กำลังชะลอและอัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยสูงขึ้น เทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีการขาดดุลงบประมาณสูงกว่า

 

ดังนั้น Kim Eng Tan จึงระบุว่า หากรัฐบาลไทยสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตสูงขึ้น ก็จะสามารถใช้จ่ายด้านสังคม (Social Spending) หรือใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Spending) ได้มากขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการคลังสาธารณะมากเกินไป หรือสามารถทำงบประมาณขาดดุลได้มากขึ้นเล็กน้อย โดยไม่ทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเหมือนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

“อย่างไรก็ตาม ในสภาพแวดล้อมปัจจุบันที่การเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่แข็งแกร่งมากนัก รัฐบาลจึงควรจะต้องสร้างสมดุลระหว่างวัตถุประสงค์ทางสังคม (Social Objectives) กับความรอบคอบทางการคลัง (Fiscal Prudence) ในอนาคตอันใกล้”

 

รัฐบาลควรใช้เงินเพื่อการเติบโตในระยะยาว

 

Kim Eng Tan กล่าวอีกว่า โดยหลักการแล้ว รัฐบาลทุกแห่งต้องการกระตุ้น GDP ของประเทศ เพราะจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้ของคนในประเทศ รายได้ของรัฐบาลเองก็เพิ่มขึ้น และจะเป็นผลดีต่อเสถียรภาพทางการเมืองและสังคม

 

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญสำหรับทุกรัฐบาลคือ จะใช้จ่ายอย่างไรที่จะกระตุ้นการเติบโตของ GDP ได้นานและยั่งยืนขึ้น และไม่ใช่เพียงในอีก 1-3 ปีข้างหน้าเท่านั้น แต่ยาวนานกว่านั้น

 

“ผมคิดว่ารัฐบาลสามารถใช้การใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานที่ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะยาวได้ ตัวอย่างเช่น โครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน เช่น การศึกษาและสุขภาพ หรือสิ่งอื่นๆ ที่ทำให้แรงงานที่มีทักษะดีขึ้น หรือโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้นสำหรับเศรษฐกิจ” Kim Eng Tan กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising