วันนี้ (24 เมษายน) พล.ต. ธรรมนูญ ไม้สนธิ์ โฆษก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวถึงกระแสสังคมเกี่ยวกับแนวคิด ‘เขตปกครองพิเศษ’ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการเทียบเคียงพื้นที่ดังกล่าวกับ ‘เขตปกครองตนเอง’ ของมณฑลซินเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยอ้างถึงความคล้ายคลึง อาทิ ภาษาท้องถิ่นที่แตกต่างจากภาษาราชการ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีอัตลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรม ที่เป็นของตนเองอย่างชัดเจน
พล.ต. ธรรมนูญ กล่าวว่า กอ.รมน. ในฐานะหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ดูแลและเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความกังวลเนื่องจากมีข้อมูลปรากฏอาจไม่ครบถ้วน อาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนได้
ขอย้ำว่า รัฐบาลพร้อมหารือพูดคุยกับทุกภาคส่วน ไม่ได้ปิดกั้นการพูดคุยเรื่องรูปแบบการปกครอง แต่ต้องอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญไทย และไม่กระทบต่อบูรณภาพแห่งดินแดน และการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และภาคประชาสังคมในทุกระดับ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ เขตปกครองพิเศษ คือ พื้นที่ที่จัดรูปแบบการบริหารให้เหมาะสมกับบริบทเฉพาะ เช่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ที่มีโครงสร้างการบริหารท้องถิ่นที่ต่างจากจังหวัดทั่วไป โดยยังคงอยู่ภายใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญของไทย
เช่นเดียวกับในระดับนานาชาติ ฮ่องกง และมาเก๊าของจีน ซึ่งมีระบบกฎหมาย ศาล และนโยบายเศรษฐกิจของตนเองภายใต้หลัก ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ แต่ไม่มีอำนาจในด้านความมั่นคงหรือการต่างประเทศ
เขตปกครองตนเอง คือ พื้นที่ที่รัฐอนุญาตให้บริหารตนเองในบางด้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ศาสนา หรือภาษา เช่น มณฑลซินเจียงของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งอนุญาตให้ใช้ภาษาอุยกูร์ และมีสภาท้องถิ่น แต่ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาลกลาง
พล.ต. ธรรมนูญ กล่าวว่า สำหรับบริบทของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษา และศาสนาเฉพาะตัว มีการใช้ภาษาท้องถิ่น การแต่งกาย และวัฒนธรรมประจำถิ่นที่แตกต่าง แต่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการนับถือศาสนาอิสลาม การดำเนินชีวิตตามหลักศาสนา ตลอดจนการแสดงออกทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย ซึ่งล้วนได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 31 บัญญัติไว้ว่า ‘บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน…’
พล.ต. ธรรมนูญ กล่าวว่า เพื่อให้การอยู่ร่วมกันในความหลากหลายนั้นเกิดขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 1 ได้บัญญัติหลักการสำคัญยิ่งไว้อย่างชัดเจนว่า ‘ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้’ บทบัญญัตินี้สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ทุกจังหวัด รวมทั้งพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยไม่สามารถแยกตัวหรือจัดตั้งรูปแบบการปกครองที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยได้อย่างเด็ดขาด