วันนี้ (2 ธันวาคม) เวลา 11.30 น. ภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยามีประกาศฉบับที่ 1 (319/2567) ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2567 เวลา 17.00 น.
แจ้งว่าหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างมีแนวโน้มเคลื่อนผ่านอ่าวไทยและภาคใต้ตอนล่างลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ระหว่างวันที่ 3-5 ธันวาคม 2567 ดังนี้
- จังหวัดชุมพร 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองชุมพร, อำเภอปะทิว, อำเภอท่าแซะ, อำเภอสวี และอำเภอพะโต๊ะ
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านตาขุน, อำเภอพนม, อำเภอดอนสัก, อำเภอเกาะสมุย และอำเภอเกาะพะงัน
- จังหวัดนครศรีธรรมราช 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอขนอม, อำเภอสิชล, อำเภอนบพิตำ, อำเภอท่าศาลา, อำเภอฉวาง, อำเภอช้างกลาง, อำเภอนาบอน, อำเภอทุ่งสง, อำเภอชะอวด และอำเภอหัวไทร
- จังหวัดพัทลุง 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีบรรพต, อำเภอศรีนครินทร์, อำเภอป่าพะยอม, อำเภอกงหรา และอำเภอป่าบอน
- จังหวัดสงขลา 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสงขลา, อำเภอหาดใหญ่, อำเภอรัตภูมิ, อำเภอจะนะ, อำเภอเทพา, อำเภอนาทวี, อำเภอสะเดา และอำเภอสะบ้าย้อย
- จังหวัดปัตตานี 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปัตตานี, อำเภอโคกโพธิ์, อำเภอยะรัง และอำเภอมายอ
- จังหวัดยะลา 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอยะหา, อำเภอกาบัง, อำเภอบันนังสตา, อำเภอเบตง และอำเภอธารโต
- จังหวัดนราธิวาส 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีสาคร, อำเภอจะแนะ, อำเภอสุคิริน และอำเภอแว้ง
- จังหวัดระนอง 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองระนอง, อำเภอกะเปอร์ และอำเภอสุขสำราญ
- จังหวัดพังงา 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคุระบุรี, อำเภอตะกั่วป่า, อำเภอกะปง และอำเภอท้ายเหมือง
- จังหวัดภูเก็ต ทุกอำเภอ
- จังหวัดกระบี่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองกระบี่, อำเภอปลายพระยา, อำเภออ่าวลึก, อำเภอเขาพนม และอำเภอคลองท่อม
- จังหวัดตรัง 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองตรัง, อำเภอสิเกา, อำเภอห้วยยอด และอำเภอย่านตาขาว
- จังหวัดสตูล 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสตูล, อำเภอควนกาหลง, อำเภอทุ่งหว้า และอำเภอมะนัง
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงประสานแจ้ง 14 จังหวัดภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี, ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 สงขลา และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังได้ โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำ และเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะการติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้
ทั้งนี้ กำชับให้จัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังมีสถานการณ์น้ำท่วมอยู่เดิม ให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างเต็มกำลัง เพื่อลดผลกระทบจากเหตุอุทกภัยให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและปริมาณฝนอย่างใกล้ชิด
สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ในระยะนี้ขอให้ติดตามสภาพอากาศ ประกาศการแจ้งเตือนภัย สถานการณ์น้ำในพื้นที่ และข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน ‘THAI DISASTER ALERT’ และหากได้รับความเดือดร้อน สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทาง LINE ‘ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784’ โดยเพิ่มเพื่อน LINE ID: @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป