×

ถอดรหัส 19 ปี คำขอโทษกับหนทางคืนสันติสุขสามจังหวัดชายแดนใต้

โดย THE STANDARD TEAM
25.02.2025
  • LOADING...
southern-peace-19years

หากย้อนไทม์ไลน์การแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่ต้นปี 2568 เริ่มตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ที่ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสั่งให้ทบทวนยุทธศาสตร์ไฟใต้ 

 

ทำไมสถานการณ์ผ่านมาเกือบ 20 ปี ยังไม่มีทิศทางที่ดีขึ้น และขณะนี้ก็ยังไม่มีการตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข พร้อมประกาศว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เตรียมลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียนของ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพื่อคืนสันติสุขให้กับคนในพื้นที่

 

ขณะเดียวกันสำนักข่าวอิศรารายงานว่า ตั้งแต่ทักษิณเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และพ้นโทษมา มีข่าวความพยายามที่จะพูดคุยแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการพบกับอันวาร์หลายครั้ง เนื่องจากมาเลเซียมีฐานะเป็นผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุขและสันติภาพของรัฐบาลไทย กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 

 

ทักษิณ ชินวัตร หารือ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

ทักษิณ ชินวัตร หารือ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย 

 

19 ปี ความรุนแรงในความทรงจำ

 

นับจากปี 2547 จวบจนวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 ภาพเหตุการณ์ระเบิดรถกระบะภายในท่าอากาศยานนราธิวาส ก่อนการลงพื้นที่ของทักษิณและคณะ แม้จะไม่พบว่ามีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต 

 

แต่เหตุการณ์ดังกล่าวกลับสะท้อนให้เห็นว่า 19 ปีที่ผ่านมา ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้หายไปไหน และยิ่งตอกย้ำความทรงจำเหตุการณ์หลังการปล้นปืน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต ที่ในวันนั้นทักษิณได้ลั่นวาจา ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นชนวนแห่งความรุนแรง ว่า “ไม่มีการแบ่งแยกดินแดน ไม่มีผู้ก่อการร้ายอุดมการณ์ มีแต่โจรกระจอก” 

 

หลังจากปี 2544 กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้เริ่มต้นใช้ยุทธวิธีที่เรียกว่า ‘ปืนของรัฐ คือ ปืนของเรา’ ทำให้เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนของทางราชการหลายครั้ง ต่อมาปี 2545 ทักษิณมีคำสั่งยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) 

 

ขณะเดียวกันมีความเคลื่อนไหวในลักษณะต้องการแบ่งแยกดินแดนบริเวณปัตตานีเริ่มบานปลายและปะทุขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2547 เผาโรงเรียน ปล้นปืนจากค่ายทหาร นำมาซึ่งการประกาศกฎอัยการศึกในหลายพื้นที่ 

 

จนในที่สุดเกิดเหตุการณ์สูญเสียที่หลายคนจดจำได้เป็นอย่างดี ปะทะกันที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี รวมถึงพื้นที่อื่นๆ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 และต่อมาเหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 มีผู้ประท้วงถูกจับ ภาพการขนย้ายผู้ประท้วงอย่างแออัดทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก สร้างความโหดร้ายให้กับคนในพื้นที่ ขณะที่ประเด็นปัญหาข้อวิจารณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเกินเหตุยังไม่ได้รับการแก้ไข

 

และเมื่อคดีตากใบหมดอายุความ โดยที่ไม่สามารถนำเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาขึ้นศาลได้เลย เมื่อผู้ต้องหาทั้งหมด จงใจหลบหนี ซึ่งหนึ่งในผู้ต้องหาเป็นสส. พรรคเพื่อไทย 

 

เกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า เจ้าของวลีโจรกระจอก และทักษิณผู้มีบารมีในพรรคเพื่อไทย ทำไมถึงไม่สามารถทำให้ผู้ต้องหา มาขึ้นศาลตามคำร้องขอของญาติผู้เสียชีวิตได้

 

ทักษิณ ชินวัตร และคณะ ลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทักษิณ ชินวัตร และคณะ ลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

คำขอโทษที่รอมานาน

 

“การทำงานมีความผิดพลาดได้บ้าง ถ้าผมมีอะไรผิดพลาดที่ไม่เป็นที่พอใจก็ขออภัยด้วยครับ เพื่อเราจะได้หันกลับมาช่วยกันแก้ปัญหาด้วยกัน ไม่อยากให้มีความเกรงใจเล็กๆ น้อยๆ แต่พี่น้องมุสลิมถูกสอนมาว่า รักสันติสุข รู้จักให้อภัย เพราะฉะนั้นเมื่อเราขออภัยในสิ่งที่ผมอาจจะทำเป็นที่ไม่ถูกใจหรือผิดพลาดบ้าง ต้องขออภัยด้วยครับ”

 

นี่คือคำขออภัยต่อพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จากอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ เพื่อที่จะได้รับการให้อภัยและกลับมาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าลงทุน และน่าท่องเที่ยว 

 

การเดินทางมาครั้งนี้มาใน 3 บทบาทคือ ที่ปรึกษาประธานอาเซียน อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้สนับสนุนรัฐบาลเพื่อไทยที่มีลูกสาวเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมย้ำว่ามีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ 100% ตอนนี้สันติภาพชายแดนใต้มองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เชื่อว่าภายในปีนี้สัญญาณจะดีขึ้น ปีหน้าจะเห็นความชัดเจนจากการพูดคุยและน่าจะจบ

 

รวมถึงการร่วมมือร่วมใจจากผู้นำประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย ทั้งจากมาเลเซียและ ยูซุฟ กัลลา อดีตรองประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่อยากเห็นประเทศไทยและอาเซียนสงบสุข มีการลงทุน การท่องเที่ยวกันมากขึ้น ฉะนั้นทุกคนร่วมมือกัน

 

ทักษิณย้ำด้วยว่า วันนี้จะมาสานต่อสิ่งที่ทำไว้ในสมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาจะจบได้ถ้าหันหน้ามาพูดคุยกัน การพูดคุยสันติสุขที่เริ่มขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เชื่อว่าทุกอย่างจะชัดเจนขึ้นในรัฐบาลนี้ 

 

ขณะที่ญาติผู้สูญเสียรายหนึ่งเปิดเผยกับไทยพีบีเอสว่า พร้อมที่จะให้อภัย พร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่ให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข กว่า 20 ปีที่รอคอยคำขอโทษของครอบครัวผู้สูญเสียที่จากเหตุการณ์ปะทะที่มัสยิดกรือเซะ ดีใจที่ได้ยินคำขอโทษที่จริงใจของทักษิณ 

 

อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา ภรรยา สมชาย นีละไพจิตร อดีตทนายความ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกอุ้มหาย โพสต์ข้อความระบุว่า “ขออภัยตากใบ แล้วจะคืนศพคนที่ถูกอุ้มฆ่าให้ญาติไหม จะคืนความเป็นธรรมโดยนำคนผิดมาลงโทษไหม หรือแค่ขอโทษตอนหมดอายุความ #การบังคับสูญหายไม่มีอายุความ สิ่งที่เหยื่อต้องการคือ #ความจริงและความยุติธรรม”

 

นอกจากนี้ยังโพสต์อีกว่า “ทักษิณไปใต้อย่างเป็นทางการ เหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน #กรือเซะ #ตากใบ #อุ้มหาย ก็รอ #คำขอโทษอย่างเป็นทางการ และคำมั่นในการ #ยุติการลอยนวลพ้นผิด เช่นกัน รัฐบาลเพื่อไทยต้องกล้ารับผิดในสิ่งที่เคยกระทำ”

 

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ทักษิณใช้คำว่าขออภัย ไม่ใช่การขอโทษ โดยกล่าวซ้ำๆ ถึง 3 ครั้งในการเยือนสถานที่ซึ่งแตกต่างกัน 3 จุดในวันเดียวกัน ทั้งที่นราธิวาส ปัตตานี และยะลา 

 

รอมฎอน ปันจอร์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ระบุว่า การกล่าวคำขออภัยเช่นนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะทักษิณเคยกล่าวถ้อยคำในลักษณะเช่นนี้มาแล้วในรายการสนทนาออนไลน์เมื่อวันครบรอบ 18 ปี เหตุการณ์ตากใบในปี 2565

ความจริงใจในการขอโทษมี 2 องค์ประกอบหลักคือ คำพูดและการกระทำ โดยเฉพาะการกระทำของรัฐบาลยังสะท้อนความไม่จริงใจในช่วงที่อายุความของคดีตากใบสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากจำเลยคนสำคัญมีสถานะเป็น สส. ของพรรคเพื่อไทย

 

“การที่คุณทักษิณพูดว่าเหตุการณ์ตากใบเป็นความผิดพลาดในการทำงาน เป็นการลดทอนความสำคัญของรากเหง้าปัญหา แล้วยังเรียกร้องฝ่ายเดียวให้ประชาชนให้อภัย โดยไม่ได้พูดสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรให้เกิดสันติภาพในพื้นที่ สิ่งนี้ยังคงคลุมเครือ ซึ่งอาจจะสะท้อนความไม่จริงใจ หรือไม่มีเจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้จริงๆ” รอมฎอนกล่าว

 

นโยบาย 66/2523

นโยบาย 66/2523

 

คำสั่งที่ 66/23 ปัดฝุ่นหรือตอบโจทย์?

 

ภูมิธรรมเคยเกริ่นว่าจะปัดฝุ่นคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ซึ่งเป็นนโยบายเมื่อ 45 ปีที่แล้วในสมัยของรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์ โดยเชิญชวนนักศึกษาที่เข้าป่าวางอาวุธกลับบ้าน โดยจะล้างความผิดทั้งหมด และส่งเสริมอาชีพ ให้กลับมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติ ซึ่งหนึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้ คือภูมิธรรมและหลายคนของพรรคเพื่อไทย 

 

แม้ทักษิณจะระบุว่า เรื่องนี้ต้องกลับไปดูว่าจะทำอย่างไรให้คนที่ผิดไปแล้วสำนึกผิดให้ได้กลับมาประเทศ และพูดคุยกัน ซึ่งยังมีอีกหลายขั้นตอนที่จะต้องพูดคุยกับหลายฝ่าย 

 

แต่คำสั่งนี้เคยถูกนำมาใช้ผ่านมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ.ความมั่นคง ในการแก้ไขความขัดแย้งและรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พาคนที่เคยต่อสู้กับรัฐกลับบ้าน ซึ่งมีเงื่อนไข เช่น

 

  • ให้ผู้ที่กลับใจเข้ารับการอบรม 6 เดือน เพื่อปรับทัศนคติ
  • ต้องถอด ‘ซูเปาะ’ หรือคำสาบานต่อพระเจ้าตามความเชื่อของอิสลาม

 

หลังจากนั้นจะไม่ถูกดำเนินคดีที่กระทำไว้แม้จะเป็นคดีอาญาก็ตาม ช่องทางนี้เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมแค่ 7-8 คนเท่านั้น เพราะกลุ่มผู้เห็นต่างไม่เชื่อว่ารัฐมีความจริงใจและจะได้รับการยกเว้นโทษจริง 

 

ขณะที่การถอดซูเปาะต้องทำกับผู้นำศาสนาซึ่งไม่มีผู้นำศาสนากล้ามาทำหน้าที่นี้ให้ เพราะกลัวตกเป็นเป้าของผู้ก่อความรุนแรง การอบรมที่นานเกินไป และไม่ได้รับการการันตีว่าได้รับการดูแลเรื่องอาชีพความปลอดภัยจากรัฐไทย รวมถึงพื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ไม่ได้ครอบคลุม ปัจจุบันมีแค่ 17 อำเภอ จากทั้งหมด 33 อำเภอในจังหวัดชายแดนใต้ แนวคิดนี้จึงกลายเป็นสิ่งที่เหมือนจะเป็นคำตอบที่ยังไม่ตรงกับโจทย์ 

 

เมื่อรวมกับแนวความคิดของผู้ก่อเหตุซึ่งไม่ได้คิดว่าตนเองเป็นคนไทย เหมือนกับนักศึกษาที่หนีเข้าป่าแล้ว การฟื้นคำสั่งที่ 66/23 อาจจะไม่ใช่คำตอบ

 

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา แกนนำกลุ่มวาดะห์ ให้การต้อนรับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา แกนนำกลุ่มวาดะห์ ให้การต้อนรับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

 

4 จุดลงพื้นที่แสดงสัญญะ 

 

การลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ของทักษิณในครั้งนี้ถูกกำหนดโดย พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง หัวหน้าพรรคประชาชาติ และ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา แกนนำกลุ่มวาดะห์ที่มีสายสัมพันธ์เหนียวแน่นกับทักษิณ ทั้งยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งแต่ละสถานที่เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ 

 

  • วัดประชุมชลธารา จังหวัดนราธิวาส กราบนมัสการพระธรรมวัชรจริยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดประชุมชลธารา ในฐานะที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 18 ผู้ที่ได้รับความเคารพจากประชาชนทุกศาสนาในพื้นที่ทั้งไทย พุทธ มุสลิม สามารถพูดภาษามลายูได้ เป็นพระนักพัฒนา 
  • โรงเรียนสัมพันธ์วิทยา อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เป็นโรงเรียนที่ มะแซ อูเซ็ง อดีตผู้ต้องหาในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนและอั้งยี่ซ่องโจร ที่เชื่อว่าเป็นผู้สั่งการในเหตุปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จุดเริ่มต้นของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2547 ของรัฐบาลทักษิณ และเป็นเจ้าของทฤษฎีบันได 7 ขั้นในการแบ่งแยกดินแดน 
  • โรงเรียนสายบุรีอิสลามวิทยา จังหวัดปัตตานี พบปะกับพบเพื่อนเก่า ดาโต๊ะ นิเดร์ วาบา ประธานโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเพื่อนและคนสนิทของทักษิณตั้งแต่ก่อนลงรับสมัครเลือกตั้งเมื่อกว่า 20 ปีก่อน
  • TK Park จังหวัดยะลา สถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งทักษิณเคยเป็นผู้ขับเคลื่อนและผลักดันโครงการอุทยานการเรียนรู้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อต่อยอดและพัฒนากลุ่มเยาวชนในพื้นที่ให้เป็นสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่เป็น DNA ของคนในพื้นที่

 

ดร.ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดร.ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ไฟใต้จบเมื่อไร ไม่สำคัญเท่าจบอย่างไร

 

แม้ภาพการต้อนรับทักษิณลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้จะดูอบอุ่น แต่การลงพื้นที่พูดคุยยังไม่ลงลึกถึงการแก้ไขปัญหาที่สะสมมานาน

 

ดร.ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า สังคมไทยประสบกับปัญหานี้มากว่า 20 ปี สูญเสียงบประมาณไปกว่า 5 แสนล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน เราควรจะนำข้อมูลมาดูกันอย่างจริงจัง เปรียบเทียบพื้นที่บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับพื้นที่อื่นว่าช่วยทำให้ความรุนแรงลดลงได้หรือไม่ รวมไปถึงตัวเลขการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

 

การขออภัยต่อประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนและกำหนดไทม์ไลน์ที่จะยุติสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ให้จบภายในปี 2569 ของทักษิณ ถือเป็นเรื่องดี แต่คำถามที่สำคัญคือหลังจากที่กล่าวขออภัยแล้ว รัฐบาลและทักษิณในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน จะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไรต่อไป 

 

ทั้งการจัดสรรทรัพยากร การจัดการกับกฎหมายพิเศษที่ยังบังคับใช้อยู่ในพื้นที่ เรื่องคดีความทางการเมืองต่างๆ ไปจนถึงมิติการพัฒนา ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องใหญ่ทั้งสิ้น

 

ทั้งนี้ ส่วนตัวเสนอว่ารัฐบาลควรจะเร่งดำเนินการแต่งตั้ง ‘คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้’ ขึ้นมาอีกครั้ง ภายหลังจากคณะพูดคุยสันติสุขฯ ชุดเก่าสิ้นสุดลงไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

 

ดร.ชญานิษฐ์ ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า เสถียรภาพทางการเมืองในหลายปีที่ผ่านมาเป็นส่วนหนึ่งที่ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้คาราคาซัง การพูดคุยกันก็ต้องสะดุดลงในทุกครั้งที่มีการรัฐประหารหรือเปลี่ยนรัฐบาล 

 

“คงไม่มีใครไม่อยากให้ปัญหาชายแดนใต้จบโดยเร็ว เพียงแต่การจบเร็วอาจจะสำคัญน้อยกว่าจบอย่างไร ส่วนตัวในฐานะที่เป็นผู้สอนวิชาความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงทางการเมืองมองว่า ปัญหาควรจะต้องจบด้วยวิธีการทางการเมือง ด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง และเป็นทางออกที่ยั่งยืน ความน่ากังวลก็คือถ้าเราไปตั้งเป้าและจำกัดตัวเองไว้ด้วยเงื่อนเวลาว่าจะจบปีหน้า คำถามคือจะจบอย่างไร เพราะเราคงไม่อยากให้มันจบด้วยการปราบปราม เพราะเราก็รู้ว่าการปราบปรามอาจทำให้เงียบสงบได้ แต่ไม่ได้ทำให้ปัญหาจบลง” 

 

ดร.ชญานิษฐ์ ปิดท้ายด้วยว่า สิ่งที่สำคัญและละเลยไม่ได้คือพื้นที่ของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันและกัน นอกจากนี้ควรจะให้ความสำคัญกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ รวมถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งอาจจะอยู่วงนอกของโต๊ะเจรจา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising