×

ผู้เชี่ยวชาญมองเยาวชนชายแดนภาคใต้แต่งชุดมลายู-รวมตัวปฏิญาณตน เป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมือง สัญญาณบวกสันติภาพ

โดย THE STANDARD TEAM
05.05.2022
  • LOADING...
เยาวชนชายแดนภาคใต้ ปฏิญาณตน

จากกรณีที่วานนี้ (4 พฤษภาคม) เยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกันแต่งกายในชุดมลายู เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลฮารีรายอฮัจยีหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน รวมถึงมีการปฏิญาณตนร่วมกันถึงการต่อสู้และเสียสละเพื่อความเป็นธรรม

 

รอมฎอน ปันจอร์ คณะทำงานของคณะก้าวหน้าชายแดนใต้/ปาตานี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญประเด็นชายแดนภาคใต้และร่วมลงพื้นที่สังเกตการณ์ กล่าวกับ THE STANDARD ว่า วานนี้ก็ถือเป็นวันเที่ยวหลังจากช่วงวันอีดิลฟิตรี เยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เลยมีการนัดหมายร่วมกันแต่งชุดมลายู ซึ่ง 3-4 ปีก่อนหน้านี้ก็มีการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ เพียงแต่จำนวนผู้เข้าร่วมอาจไม่มากเท่าครั้งนี้

 

รอมฎอนกล่าวต่อไปว่า การนัดหมายรวมตัวในปีนี้ของเยาวชนในพื้นที่ถือเป็นรอบใหญ่จากสถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลาย อีกทั้งยังถือเป็นช่วงพิเศษเพราะอยู่ในช่วงรอมฎอนสันติ หลังจากทางการไทยและกลุ่ม BRN มีข้อตกลงร่วมกันในการลดปฏิบัติการทางการทหารและลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการเผชิญหน้ากันอย่างมาก มีความตึงเครียดอยู่ตลอด ดังนั้นช่วงนี้จึงเป็นช่วงผ่อนคลาย เป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้แสดงออกทางการเมือง

 

“ถ้าฟังจากที่พูดคุยกันในกิจกรรม ในคำปฏิญาณตนที่กล่าวในกิจกรรม รวมถึงรูปแบบและแบบแผน ก็มีการพูดถึงความเป็นตัวตน ความเป็นมลายูปาตานี พูดถึงเรื่องการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม พูดถึงการเสียสละของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ก่อนหน้านี้เรื่องพวกนี้มันกระจัดกระจายคนละที่ คนละหมู่บ้าน แต่ครั้งนี้พอมารวมก็ย่อมมีนัยอีกแบบหนึ่งในแง่ของจำนวน” รอมฎอนกล่าว

 

รอมฎอนกล่าวว่า จะเรียกกิจกรรมเมื่อวานนี้เป็นการชุมนุมก็ไม่เชิง เพราะไม่มีข้อเรียกร้องต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพียงแต่เป็นการรวมตัวเพื่อเรียกร้องต่อตนเอง ซึ่งดูได้จากคำปฏิญาณตนที่บอกว่าให้เสียสละเพื่อสร้างความยุติธรรมก็ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ และไม่แปลกที่หน่วยงานความมั่นคงบางส่วนจะรู้สึกอึดอัด แต่ก็ต้องนับถือน้ำใจที่เปิดโอกาสให้มีกิจกรรมอย่างนี้ เพราะการรวมพลเมื่อวานนี้ไม่มีการตั้งด่านสกัด ถือเป็นสัญญาณบวกต่อกระบวนการสันติภาพ

 

“ถ้าเราอยากแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี เราไม่อยากใช้ความรุนแรง เราต้องทำให้การใช้ความรุนแรงไม่มีอำนาจต่อรองมากเท่ากับการส่งเสียง การเรียกร้องในทางการเมือง หรือพูดอีกแบบคือการขยายพื้นที่ทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แม้ว่าจะมีเสียงที่แตกต่างหรือเห็นแย้งและน่าอึดอัดใจขนาดไหน แต่เมื่อพื้นที่แบบนี้มีมากขึ้น การใช้กำลังของทุกฝ่ายก็จะน้อยลง แต่หากเมื่อใดความรุนแรงถูกเลือกใช้ไม่ว่าจากฝ่ายใด ก็จะส่งผลให้ลดพื้นที่ทางการเมือง” รอมฎอนกล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X