×

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เนื้อหอม ต่างชาติแห่ลงทุนท่ามกลางเกมการเมืองที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

03.12.2023
  • LOADING...
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Nikkei Asia รายงานเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะความสนใจลงทุนจากประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน เนื่องจากความมั่นคงทางการเมืองและขนาดตลาดที่ใหญ่ อีกทั้งพื้นที่บริเวณนี้ยังเปรียบเสมือนเขตปลอดภัยจากผลกระทบความขัดแย้งทางการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้หลายประเทศสนใจมาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น โดยในปี 2022 มีมูลค่า FDI สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 222,500 ล้านดอลลาร์ (7.85 ล้านล้านบาท)

 

“เวียดนามเป็นหมุดหมายที่น่าสนใจในการทำงานร่วมกัน เพื่อให้มั่นใจว่าซัพพลายเชนของชิปเซมิคอนดักเตอร์มีการกระจายตัวและแข็งแกร่ง” ตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว สืบเนื่องจากการเยือนเวียดนามของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

 

หลังจากคำกล่าวนั้นไม่นาน Marvell Technology และ Synopsys บริษัทผู้ออกแบบและพัฒนาชิปเซมิคอนดักเตอร์ ได้แสดงความสนใจที่จะลงทุนในเวียดนามเป็นอย่างมาก และในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Amkor Technology ผู้ให้บริการแพ็กเกจจิ้งและทดสอบชิปเซมิคอนดักเตอร์ ได้เปิดโรงงานในเวียดนามแล้ว และสามารถสร้างงานได้กว่า 10,000 ตำแหน่ง

 

ในส่วนของฝั่งใต้ ประเทศมาเลเซียก็ได้รับความสนใจจาก Zhejiang Geely Holding Group บริษัทผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่สัญชาติจีน ที่ประสงค์จะลงทุนมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ และทางบริษัทยังมีแผนสร้างโรงงาน EV สำหรับประเทศไทยด้วย

 

นอกจากการลงทุนสร้างโรงงานแล้ว บริษัทสหรัฐฯ และจีนยังเข้าซื้อกิจการต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย เช่น Kimberly-Clark ประกาศซื้อ Softex ของอินโดนีเซียด้วยเงิน 1,200 ล้านดอลลาร์ และ Alibaba Group บริษัทยักษ์ใหญ่ในจีน ก็ได้มีการลงทุนใน Lazada อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของสิงคโปร์ กว่าหลายพันล้านดอลลาร์

 

โดยรวมแล้วยอด FDI ใน 11 ประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น 40% ในช่วงปี 2017-2022 ถือเป็นการเติบโตมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ความไม่ลงรอยกันของสหรัฐฯ และจีนทวีความตึงเครียดขึ้น

 

สำหรับสหรัฐฯ โฟกัสของพวกเขาอยู่ที่การลงทุนที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมชิปเซมิคอนดักเตอร์ โดยใช้กลยุทธ์ ‘Friendshoring’ ที่เป็นการย้ายหนีจากจีนไปพึ่งพาประเทศที่เป็นมิตรมากกว่า เหตุผลของการเลือกลงทุนที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเพราะภูมิภาคนี้เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดจากความใกล้กับประเทศจีน ทำให้การปรับโครงสร้างซัพพลายเชนไม่ซับซ้อนจนเกินไป

 

ในขณะที่ด้านของจีนเน้นไปที่การลงทุนรถยนต์ EV ในประเทศไทย และการทำเหมืองในอินโดนีเซีย ซึ่งกลยุทธ์ที่จีนใช้คือการย้ายถิ่นฐานการผลิตออกจากประเทศของตน เพื่อให้การส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยุโรปดำเนินต่อไปได้

 

ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจนี้ ปมความตึงเครียดเริ่มแผ่ขยายตัวมากขึ้น หลังจากที่ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้เข้าพบ หวอ วัน เถือง ประธานาธิบดีของเวียดนาม พร้อมพูดเตือนเวียดนามว่า “อย่าลืมความเป็นมิตรของกันและกันที่เคยมีมาอย่างช้านาน” ถือเป็นการแสดงความไม่พอใจอ้อมๆ ต่อการสานสัมพันธ์ของเวียดนามและสหรัฐฯ ที่พัฒนามากขึ้น

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X