×

รามยอนเกาหลีแพงขึ้น 13% จนรัฐบาลเกาหลีใต้ออกโรงวิพากษ์วิจารณ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 3 ยี่ห้อดัง เหตุไม่ปรับลดราคา แม้ราคาวัตถุดิบหลักจะลดลงทั่วโลก

21.06.2023
  • LOADING...

ชูคยองโฮ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ออกโรงวิพากษ์วิจารณ์ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือรามยอนยอดฮิต 3 ยี่ห้อดัง ที่ไม่ยอมปรับลดราคาลง หลังราคาวัตถุดิบแป้งสาลีเริ่มลดลงทั่วโลก

 

Nikkei Asia รายงานว่า ในช่วงการอภิปรายเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ ชูคยองโฮ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ได้แสดงถึงความกังวลกับราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จากเมื่อปี 2022 หลายๆ แบรนด์ได้พร้อมใจกันขึ้นราคาเพื่อรองรับต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นจากผลพวงของสงครามรัสเซียและยูเครน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

“เราจะไม่เข้าไปควบคุมหรือสั่งให้ผู้ผลิตลดราคาขายปลีกโดยตรง ซึ่งจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้บริโภคที่มีสิทธิ์เลือกซื้อสินค้าในราคาที่ต้องการได้ และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสร้างแรงกดดันไปยังแบรนด์สินค้าได้” ชูคยองโฮกล่าว 

 

แน่นอนว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของชูคยองโฮได้สร้างแรงกดดันให้กับประธานาธิบดียุนซอกยอล กลุ่มอนุรักษนิยมที่เคยให้คำมั่นว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตด้วยการผ่อนคลายกฎระเบียบและการแทรกแซงของรัฐในภาคเอกชน และต้องให้เป็นไปตามกลไกตลาด 

 

จากเดิมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าที่มีราคาไม่แพงมากและหาซื้อได้ในร้านสะดวกซื้อทั่วไป จึงเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ขณะที่เดือนพฤษภาคม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีราคาสูงขึ้น 13.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

 

ซึ่งปัจจุบันตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเกาหลีใต้มีผู้เล่นอยู่แค่ 3 บริษัท ได้แก่ Ottogi, Nongshim และ Samyang Foods โดยในปีที่ผ่านมาก็ต่างพร้อมใจกันขึ้นราคาสินค้า โดยให้เหตุผลว่าทางบริษัทต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น พร้อมกับขยายไปส่งออกในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน

 

ทั้งนี้ สำนักข่าว Nikkei Asia ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ไปยัง 3 บริษัทแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ แต่สื่อท้องถิ่นได้อ้างอิงถึงคำพูดของเจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรมว่า โดยทั่วไปแล้ว หลายๆ บริษัทจะนำเข้าและสต๊อกวัตถุดิบข้าวสาลีไว้ล่วงหน้า สะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างราคาอาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือน เพื่อให้สอดรับกับต้นทุนการผลิต

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลพยายามจะช่วยเรื่องค่าครองชีพผู้บริโภคในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือขอบเขตที่ต้องได้ประโยชน์ทั้งบริษัทและผู้บริโภค

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising