×

ชนเผ่าจิงโจ้เกาหลีใต้: วิกฤตคนรุ่นใหม่ที่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดย 2 ใน 3 ของคนรุ่นใหม่ยังต้องพึ่งพาพ่อแม่

14.06.2024
  • LOADING...

คิมยองจุน วัย 30 ปี ทะเลาะกับพ่อแม่บ่อยขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าเขาจะมีวุฒิปริญญาโท แต่กลับปฏิเสธข้อเสนองานหลายครั้ง เพราะรู้สึกว่าไม่ตรงกับระดับการศึกษา ทำให้เขายังไม่มีงานทำตั้งแต่นั้นมา

 

“พ่อแม่ของผมบอกว่ารู้สึกเครียดที่เห็นผมอยู่บ้านทั้งวันทั้งคืน ทำให้ผมรู้สึกเจ็บปวด” คิมกล่าว “ผมกลัวว่าสถานการณ์นี้จะแย่ลงเมื่ออายุมากขึ้น เพราะการหางานที่ดีและพึ่งพาตนเองทางการเงินได้ยากขึ้น”

 

กรณีของคิมเป็นตัวแทนผลสำรวจของชาวเกาหลีใต้ อายุระหว่าง 25-34 ปี กว่า 2 ใน 3 ที่ยังคงอาศัยอยู่กับพ่อแม่ หรือแม้จะแยกบ้านแล้ว ก็ยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ทางการเงิน พวกเขาถูกเรียกรวมๆ ว่า ‘캥거루’ หรือ ‘Kangaroo Tribe’ ที่แปลเป็นไทยคือ ‘ชนเผ่าจิงโจ้’ ซึ่งเป็นคำเปรียบเปรยเสมือนจิงโจ้ที่โตแล้ว แต่ยังไม่ออกจากกระเป๋าแม่

 

จากการศึกษาของ Korea Employment Information Service พบว่า 66% ของชาวเกาหลีใต้ อายุระหว่าง 25-34 ปี อยู่ในกลุ่มนี้ในปี 2020 ขณะเดียวกันอัตราดังกล่าวอยู่ในช่วง 60% มาหลายปี โดยตัวเลขอยู่ที่ 62.8% ในปี 2012, 66.6% ในปี 2016 และ 68% ในปี 2018

 

ในบรรดาชนเผ่าจิงโจ้ในปี 2020 73.4% ไม่มีวุฒิการศึกษาระดับวิทยาลัย ขณะที่ 69.4% มาจากกรุงโซลหรือปริมณฑล เด็กจำนวนมากขึ้นที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้ย้ายออกไปอยู่ด้วยตัวเอง เพราะพวกเขาไม่มีงานทำ ตัวอย่างเช่น บุคคลที่ว่างงานคิดเป็น 47.4% ของชนเผ่าจิงโจ้ทั้งหมดในปี 2012 และอัตรานี้เพิ่มขึ้นเป็น 66% ในปี 2020

 

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าเด็กที่มีงานทำทั้งหมดจะแยกกันอยู่กับพ่อแม่ 72.2% ของผู้ที่ทำงานชั่วคราว ไม่ได้รับค่าจ้างเพียงพอ หรือประสบกับสถานการณ์การจ้างงานที่ไม่มั่นคงอื่นๆ กล่าวว่า พวกเขายังไม่ได้ย้ายออกจากพ่อแม่ เด็กบางคนที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่แม้หลังจากโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ตอบว่า พวกเขาไปเรียนต่อระดับบัณฑิตศึกษา หรือเพิ่งเสร็จสิ้นการรับราชการทหารภาคบังคับ

 

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ชนเผ่าจิงโจ้สามารถ “ทำร้ายไม่เพียงแค่ครัวเรือนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเศรษฐกิจของประเทศ” ในวงกว้างด้วย

 

“ค่าใช้จ่ายในการจัดการกับชนเผ่าจิงโจ้จะเพิ่มขึ้น เมื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องมีอายุมากขึ้นและพ่อแม่ของพวกเขาเกษียณอายุ เนื่องจากในท้ายที่สุดรัฐบาลจะต้องสนับสนุนพวกเขาและช่วยให้พวกเขามีชีวิตรอด” จอนยองซู ศาสตราจารย์จาก Hanyang University’s Graduate School of International Studies กล่าว

 

เขาแนะนำว่า พ่อแม่ควร “เว้นระยะห่างจากลูกที่เป็นผู้ใหญ่ ในเรื่องการเงิน” เพื่อให้พวกเขา “ต้องหาวิธีทุกวิถีทางเพื่อเอาชีวิตรอดด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจอะไรก็ตาม”

 

ภาพ: Wirestock Creators / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising