ระบบกฎหมายเกาหลีอาจจะไม่เหมือนในประเทศไทยเสียทีเดียว แต่เมื่อดูซีรีส์ ‘อูยองอู ทนายอัจฉริยะ’ แล้ว อย่าดูเพลินจนปล่อยผ่านรายละเอียดที่ได้ความรู้อย่างคาดไม่ถึง นั่นก็คือความเข้าใจเกี่ยวกับบุคคลสำคัญในศาลระหว่างการพิจารณาคดี เหมือนที่ในซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo มีให้เห็นแทบทุกอีพี
-
ทนายความ
ทนายความในเกาหลีใต้มีทั้งทำงานในสำนักงานกฎหมายใหญ่โต อย่างในซีรีส์ อูยองอู ทนายอัจฉริยะ ก็มีการกล่าวถึงสองสำนักงานกฎหมายใหญ่ๆ อย่าง ฮันบาดา และแทซาน ซึ่งมักจะมีลูกความเป็นกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่เช่นกัน
อูยองอูเข้าทำงานกับสำนักงานกฎหมายฮันบาดาซึ่งนับเป็นบริษัทใหญ่ จากหลายคดีที่ผ่านมาทำให้เธอได้เห็นว่าการเป็นบริษัทใหญ่ย่อมแลกมาด้วยข้อดีและข้อเสียบางอย่าง ชนิดที่ว่าทนายความจำนวนไม่น้อยต้องพบกับปัญหาการบาลานซ์ตัวเองบนความถูกต้อง ว่าควรจะเป็นความถูกต้องของลูกความเป็นหลัก หรือความถูกต้องที่ควรเกิดขึ้นในสังคม
ขณะเดียวกันก็ยังมีสำนักงานกฎหมายขนาดเล็กที่เน้นทำคดีสิทธิมนุษยชน อย่างเช่นสำนักงานทนายความรยูแจซุก ทนายความหญิงสุดแกร่งที่คอยช่วยเหลือลูกความที่ถูกเอารัดเอาเปรียบโดยไม่ชอบธรรม เช่นเดียวกับสำนักทนายความฟางข้าวที่เราเคยดูกันในซีรีส์ Vincenzo ก่อนหน้านี้ ที่แม้จะมีสำนักงานขนาดเล็กแต่กลับมีหัวใจที่ยิ่งใหญ่
**ทนายความเกาหลีใต้ เมื่ออยู่ในศาลจำเป็นต้องสวมชุดสุภาพทางการ และติดเข็มกลัดทนายความ ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของเนติบัณฑิตยสภาเกาหลี (Korean Bar Association)
-
อัยการ
อัยการในซีรีส์ อูยองอู ทนายอัจฉริยะ ไม่ได้แตกต่างจากซีรีส์เรื่องอื่นๆ คือมีการสวมชุดครุยสีแดงเข้มทับชุดสูท โดยทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลคดีทั้งจากที่ตำรวจสรุปสำนวนคดีส่งมาให้ และข้อมูลที่ทางอัยการไปค้นหามาประกอบการว่าความ ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากประเทศไทย
อัยการเกาหลีมีอิสระในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา อย่างที่เราได้เห็นในซีรีส์หลายเรื่องที่อัยการลงไปยังที่เกิดเหตุด้วยตัวเอง และวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของคดี รวมถึงตามหาหลักฐานที่คนทั่วไปอาจมองไม่เห็น
**สำหรับแฟนซีรีส์น่าจะมีภาพจำของบุคคลในศาลที่มักใส่ชุดครุยแถบสีแดงเข้ม มีตราสัญลักษณ์ของเนติบัณฑิตยสภาเกาหลี (Korean Bar Association) ปรากฏอยู่บนแถบทั้งสองด้าน
-
คณะลูกขุน
คณะลูกขุน นับเป็นความแตกต่างจากระบบศาลและยุติธรรมของไทยเช่นกัน เพราะถ้าใครได้ดูซีรีส์ อูยองอู ทนายอัจฉริยะ ก็จะเห็นว่ามีคดีที่อาศัยความเห็นของคณะลูกขุนในการที่ผู้พิพากษาจะพิจารณาคดีเช่นกัน
ระบบลูกขุน หมายถึงระบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการพิจารณาพิพากษาคดี โดยจะมีสิทธิ์ในการตัดสินว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชน
- เกาหลีใต้มีการนำระบบลูกขุนไปใช้ในปี 2008 และประกาศใช้ระบบลูกขุนอย่างเป็นทางการในปี 2016
- กำหนดให้มีลูกขุน 5-9 คน ขึ้นอยู่กับประเภทของคดี โดยจะมีกระบวนการในการคัดเลือกอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เกิดความไม่เที่ยงธรรม
- คณะลูกขุนจะนั่งฟังการพิจารณาคดีโดยไม่มีสิทธิซักถามพยาน แต่หากมีข้อสงสัยสามารถถามได้ผ่านทางผู้พิพากษา
- คําตัดสินของคณะลูกขุนไม่ผูกพันกับผู้พิพากษา โดยผู้พิพากษาอาจมีคําพิพากษาแตกต่างไปจากคณะลูกขุนก็ได้ แต่จะต้องเปิดเผยคำตัดสินของคณะลูกขุน และอธิบายให้จำเลยฟังถึงเหตุผลที่คำตัดสินแตกต่างกันไป และในคำพิพากษาจำต้องมีคำตัดสินของคณะลูกขุนระบุเอาไว้ด้วย
-
ผู้พิพากษา
ผู้พิพากษาคือผู้ที่นั่งบัลลังก์สูงสุดในศาล ทำหน้าที่ดำเนินการพิจารณาคดีให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งยังตัดสินพิพากษาคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริง หลักฐาน และกฎหมายที่บัญญัติไว้ ซึ่งในซีรีส์ อูยองอู ทนายอัจฉริยะ เราได้เห็นผู้พิพากษาหลายคนในหลายคดี แต่กับผู้พิพากษาตระกูลรยูในอีพีที่ 12 น่าจะเป็นคนที่แฟนซีรีส์จำกันได้ดี กับกิมมิกที่สอดแทรกเรื่องสายตระกูลว่ามีความสำคัญกับสายสัมพันธ์ทนายรยูแจซุกที่สืบสายตระกูลเดียวกัน
หรืออย่างในซีรีส์อีพี 13 ที่มีการเดินทางไปว่าความกันถึงเกาะเชจู ก็มีผู้พิพากษาเช่นกัน เพราะในเกาหลีใต้มีระบบศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น โดยที่ศาลชั้นต้นทำหน้าที่พิจารณาตัดสินคดีทั่วไป ตั้งอยู่ที่กรุงโซล และเมืองใหญ่อีก 12 เมือง ซึ่งผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ตัดสินคดีความทั่วไปจะมี 1 คน แต่ถ้าหากเป็นคดีใหญ่และคดีร้ายแรงจะมีคณะผู้พิพากษาพิจารณาคดีร่วมกัน
**ผู้พิพากษาจะสวมครุยสีม่วงเข้ม