เกาหลีใต้ระบุผลการสอบสวนว่า ไม่พบหลักฐานที่แสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเสียชีวิตของคนจำนวน 8 คน กับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 โดยทั้ง 8 คนดังกล่าวเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว และแสดงอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca
“เราได้ข้อสรุปคร่าวๆ แล้วว่า เป็นการยากที่จะเชื่อมโยงระหว่างอาการไม่พึงประสงค์หลังจากได้รับวัคซีนเข้ากับการเสียชีวิตของพวกเขา” จองอึนคยอง ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมและป้องกันโรคแห่งเกาหลี (KDCA) กล่าวระหว่างการแถลงข่าว
เกาหลีใต้เริ่มฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ผู้ปฏิบัติงานในสถานดูแลคนชรา หรือคนไม่แข็งแรง รวมถึงบุคคลที่มีความเสี่ยงอื่นๆ ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และนับจนถึงวันอาทิตย์ที่ผ่านมามีผู้ได้รับวัคซีนโดสแรกไปแล้ว 316,865 คน
ในช่วงที่ผ่านมา ชาวเกาหลีใต้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะไม่ได้รับวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca เพราะหน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขภาพสรุปว่า จำเป็นต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมมากกว่านี้เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของวัคซีนต่อบุคคลในกลุ่มอายุดังกล่าว ทว่าในวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 มีนาคม) อึนคยองระบุว่า ขณะนี้คณะผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca ให้กับผู้สูงอายุได้แล้ว และ KCDA จะตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเร็วๆ นี้
การระบาดหลายครั้งในโรงงานและที่ทำงานเชิงอุตสาหกรรมอื่นๆ ทำให้ทางการต้องเริ่มตรวจสอบสถานที่ทำงานกว่า 12,000 แห่งพร้อมกับพนักงานต่างชาติ ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งสั่งให้คนงานต่างชาติต้องเข้ารับการตรวจหาโควิด-19 ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า อาทิ จังหวัดคยองกี ซึ่งสั่งให้คนงานต่างชาติประมาณ 85,000 คนเข้ารับการทดสอบในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า
มีรายงานว่า ในจังหวัดดังกล่าวมีผู้อาศัยชาวต่างชาติ 151 คนจากเมืองดงดูชอน มีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวกเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ต้นเหตุของการระบาดนั้นยังไม่ชัดเจน และมีชาวต่างชาติอีกอย่างน้อย 124 คนในเมืองนัมยางจู ที่มีผลตรวจเป็นบวกเช่นกัน หลังการระบาดที่โรงงานผลิตพลาสติกแห่งหนึ่ง
นอกจากนี้ในจังหวัดภาคกลางอีกจังหวัดหนึ่งพบว่า เมืองอุตสาหกรรมอย่างเมืองอึมซองและจินชอนก็สั่งให้ชาวต่างชาติกว่า 4,500 และ 5,000 คน ตามลำดับ เข้ารับการตรวจโควิด-19 หลังพบการติดเชื้อแบบกลุ่มจากโรงงานแก้วและบริษัทแปรรูปอาหาร
ทั้งนี้ อึนคยองระบุว่า สภาพแวดล้อมในการทำงานและที่อยู่อาศัยของชุมชนทำให้อันตรายจากการติดเชื้อสูงขึ้น แต่ถือเป็นเรื่องยากที่จะพบผู้ป่วยในช่วงต้น เนื่องจากการเข้าถึงทรัพยากรทางการแพทย์และการทดสอบที่จำกัด ตลอดจนปัญหาของการอยู่อาศัยอย่างผิดกฎหมาย
สำนักข่าว Reuters ระบุว่า มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพการทำงานของแรงงานข้ามชาติในเกาหลีใต้ หลังพบผู้หญิงจากกัมพูชาเสียชีวิตในเรือนกระจกแห่งหนึ่งในช่วงฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิเยือกแข็งเมื่อปลายปีที่แล้ว นอกจากนี้การเสียชีวิตของแรงงานไทยที่ไม่มีเอกสารในเกาหลีใต้หลายร้อยคนยังทำให้องค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับชะตากรรมของผู้อพยพเมื่อปีที่แล้วด้วย โดยจากข้อมูลของมูลนิธิ Thomson Reuters ระบุว่า จำนวนแรงงานไทยที่เสียชีวิตทำสถิติรายปีสูงสุดเมื่อปีที่แล้ว โดยมีแรงงานไทยเสียชีวิตในปี 2020 จนถึงกลางเดือนธันวาคมแล้ว 122 คน
ภาพ: Kim Hong-Ji – Pool / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: