×

ธุรกิจในเกาหลีใต้ผุด ‘โซนห้ามผู้สูงอายุ’ อ้างมีมารยาทไม่ดีหรือส่งเสียงดัง จนเป็นที่มาของคำถาม เลือกปฏิบัติหรือไม่?

06.06.2023
  • LOADING...
โซนห้ามผู้สูงอายุ

ในเกาหลีใต้มีกระแสที่กำลังกระตุ้นให้เกิดการโต้เถียงคือ มีธุรกิจจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ปฏิเสธที่จะให้บริการลูกค้าที่สูงอายุ ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘No Senior Zone’ กำลังมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานที่ต่างๆ เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร และเกสต์เฮาส์ สถานประกอบการเหล่านี้ต้องการให้บริการลูกค้าที่มีอายุน้อยกว่า ซึ่งก่อให้เกิดการถกเถียงกันทั่วประเทศเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติและการเคารพผู้อาวุโส

 

กรณีตัวอย่างคือ เกสต์เฮาส์ Jeombonei บนเกาะเชจู ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของเกาหลีใต้ เจ้าของ Jeombonei ได้ตั้งกฎที่จะไม่รับผู้เยี่ยมชมที่มีอายุมากกว่า 39 ปี

 

เจ้าของเกสต์เฮาส์ซึ่งเป็นชายวัย 30 ปี อธิบายว่า การตัดสินใจครั้งนี้เป็นเรื่องยาก เขาอ้างถึง ‘ความไม่สะดวก’ ที่เกิดจากการปะปนของลูกค้าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในสถานประกอบการขนาดเล็กของเขา ซึ่งประกอบด้วยห้องพักรวม 3 ห้อง และเตียงรวม 12 เตียง

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

เขาบอกว่า ลูกค้าอายุน้อยมักจะนอนดึก พูดคุย และดื่ม ในขณะที่ลูกค้าที่มีอายุมากกว่าชอบเข้านอนเร็ว ด้วยตารางเวลาและนิสัยทางสังคมที่แตกต่างกันเหล่านี้ สามารถสร้างความตึงเครียดหรือความอึดอัดใจในเกสต์เฮาส์ได้

 

อย่างไรก็ตาม เจ้าของปฏิเสธว่ากฎของเขาเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้สูงอายุ เขามองว่า มันเป็นภาพสะท้อนของความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างรุ่นมากกว่า โดยเปรียบเทียบกับความชอบที่แตกต่างกันสำหรับกีฬาประเภทต่างๆ ระหว่างคนหนุ่มสาวและคนชรา

 

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับมุมมองนี้ บางคนโต้แย้งว่า เห็นได้ชัดว่าเป็นการเลือกปฏิบัติทางอายุ ในความเป็นจริงรัฐธรรมนูญของเกาหลีระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่ควรมีการเลือกปฏิบัติในชีวิตทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือวัฒนธรรม อันเนื่องมาจากเพศ ศาสนา หรือสถานะทางสังคม หลายคนเชื่อว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญนี้ควรรวมถึงอายุด้วย

 

ความขัดแย้งนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก เมื่อภาพถ่ายของร้านกาแฟบนเกาะเชจูกลายเป็นไวรัล คาเฟ่มีป้ายที่ประตูว่า ‘โซนห้ามผู้สูงอายุ-ห้ามผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเข้า’ ได้แพร่สะพัดทางอินเทอร์เน็ต สิ่งนี้ทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์ บางคนปกป้องการตัดสินใจของเจ้าของร้าน โดยกล่าวว่า ลูกค้าสูงอายุมักจะส่งเสียงดังหรือก่อกวน ส่วนใหญ่เป็นเพราะมีปัญหาในการได้ยิน ในทางกลับกันหลายคนวิพากษ์วิจารณ์นโยบายนี้โดยอ้างว่า เป็นการไม่เคารพและคำนึงถึงผู้อาวุโส

 

ในจุดหักเหที่น่าสนใจ ไม่ใช่แค่ลูกค้าที่มีอายุมากกว่าเท่านั้นที่ถูกเมินจากสถานที่บางแห่ง นอกจากนี้ยังมี ‘No Kid Zone’ ที่ไม่อนุญาตให้เด็กอายุไม่เกิน 12 ปีเข้าใช้บริการ นโยบายนี้ก็กลายเป็นประเด็นถกเถียงเช่นกัน เมื่อเร็วๆ นี้ ส.ส. คนหนึ่ง กลายเป็นจุดสนใจ เมื่อเธอพาลูกวัยเตาะแตะเข้าสู่สภาแห่งชาติ และเรียกร้องให้ยุติเขตดังกล่าว เธอแย้งว่า สังคมไม่ควรปฏิเสธเด็กหรือผู้สูงอายุ

 

หนึ่งในผู้วิพากษ์วิจารณ์แนวทางปฏิบัติที่กีดกันเหล่านี้คือ ศาสตราจารย์ฮอจุนซู จากมหาวิทยาลัยซุงซิลในกรุงโซล ตามที่เขาพูดโซนที่ห้ามทั้งผู้สูงอายุและเด็กเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งกลายเป็นการขยายช่องว่างระหว่างวัย และสร้างสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกับการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติ เพศ และศาสนา ที่แตกต่างกัน

 

เขากำลังเรียกร้องให้ดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อห้ามการเลือกปฏิบัติตามอายุดังกล่าว โดยแนะนำว่า รัฐบาลควรมีบทบาทอย่างแข็งขันในการส่งเสริมพื้นที่ชุมชนที่คนรุ่นต่างๆ สามารถโต้ตอบและสื่อสารได้ ในมุมมองของเขาโซนเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเด็กและผู้ใหญ่มากขึ้น รวมทั้งเป็นอันตรายต่อความสามัคคีในสังคม

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการคัดค้าน แต่ดูเหมือนว่าแนวโน้มนี้จะไม่ชะลอตัวลงในเร็วๆ นี้ นี่เป็นสาเหตุของความกังวล เนื่องจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุของเกาหลีใต้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและการแตกแยกของครอบครัวที่เพิ่มขึ้น ชี้ให้เห็นถึงการแบ่งแยกตามอายุที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งอาจมีนัยสำคัญต่อความปรองดองทางสังคมและการเลือกปฏิบัติในอนาคต

 

ภาพ: Carl Court / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X